พี่เลี้ยงผู้จุดประกาย


เรื่องราวของผมในช่วงที่เป็นเยาวชนกับอาจารย์พี่เลี้ยง ดร.เดวิด รูฟโฟโล

ตอนผมเรียนปริญญาตรีปี 3 ที่ ฟิสิกส์ จุฬาฯ (พ.ศ.2536) ผมมีแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าว่า ถ้าเรามีโอกาสทำโครงงานวิทยาศาสตร์ (senior project) ดีๆ สักหนึ่งเรื่อง จะทำให้เราจบเป็นนักฟิสิกส์อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะเป็นโอกาสเดียวตลอดหลักสูตรที่เราสามารถสร้างหรือสังเคราะห์องค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง จากที่ต้องนั่งเรียนความรู้ที่ผู้อื่นคิดจบไปนานแล้ว อย่างเช่น กลศาสตร์ที่นิวตันคิดไว้เมื่อ 300 กว่าปีที่แล้ว ควอนตัมมีอายุครบ 100 ปีแล้ว (เมื่อปี พ.ศ.2548) ไอน์สไตน์ตีพิมพ์บทความเรื่องสัมพัทธภาพพิเศษตั้งแต่ ปีพ.ศ.2448 หรือกว่า 100 ปีที่แล้ว

ในความเป็นจริงวิชา senior project เป็นวิชาที่นิสิตฟิสิกส์มักลงเทอมสุดท้ายปีสุดท้าย ด้วยบรรยากาศของประชาคมในตอนนั้นที่อาจมองเรื่องของการทำวิจัยเป็นเพียงการทำเพื่อให้จบหลักสูตรเท่านั้น แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวของผมที่มักไม่ทำอะไรตามอย่างคนอื่น และเนื่องจากเป็นเด็ก พสวท. จึงมีความคิดว่าอนาคตของเราน่าจะไกลกว่าแค่เรียนให้มันจบๆ กันไป ผมจึงเลือกทำงานวิจัยกับอาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง ดร.เดวิด รูฟโฟโล ด้วยอาจารย์เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยดี แม้จะเป็นคนต่างชาติ แต่อาจารย์พูด อ่าน เขียน ภาษาไทยได้ดี อย่างไรก็ตาม อาจารย์ก็มักจะกระตุ้นให้ผมพูด อ่าน เขียนเป็นภาษาอังกฤษเสมอ ที่สำคัญที่สุดคืออาจารย์อยู่ในช่วงตั้งต้นชีวิตการทำงานวิจัยของตัวเองจึงมีความกระตือรือร้นอย่างมาก พลอยทำให้ผมได้ไฟที่ลุกโชนนี้ไปด้วย

ในระหว่างที่ทำงานวิจัย (พ.ศ.2536-2538) อาจารย์เดวิด ได้ถ่ายทอดทักษะการวิจัย พร้อมทั้งให้แนวคิดและทัศนคติที่สำคัญหลายอย่าง อาจารย์มักกระตุ้นให้คิดต่อยอดความรู้ และชี้ให้เห็นความสำคัญของการตรวจสอบข้อมูล การทำงานที่ไม่ซ้ำกับคนอื่นๆ ในโลก เพราะการทำงานซ้ำนอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรและเสียเวลาแล้ว ยังเป็นการผิดคุณธรรมนักวิจัยด้วย อาจารย์มักพูดเสมอว่า “วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์สากล และเราควรสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับโลก” นอกจากนี้ อาจารย์ได้สอนให้ไม่รู้จักเหนื่อยและทำงานจนกว่าเวลาจะหมด (จบหลักสูตร) ผลก็คือได้ super senior project ที่เท่ากับ senior project ธรรมดา 2 เรื่อง และเขียนรายงานเป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่มซึ่งพิเศษมากในสมัยนั้น

เมื่อเรียนจบ ป.ตรี ผมได้รับทุน พสวท. ไปเรียนเมืองนอก (The university of Edinburgh, UK ระหว่างปี พ.ศ.2538-2542) แม้จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากมาย แต่สิ่งที่อาจารย์เดวิดสอนก็ยังฝังอยู่ในหัวตลอดเวลา ทำให้ระหว่างการเรียนการทำวิจัย เราต้องมีความปราณีตมาก นอกจากการตั้งใจทำงานวิจัยอย่างเต็มที่แล้ว เมื่อถึงเวลาที่ต้องตีพิมพ์ผลงาน เราต้องอ่านบทความ (review paper) จำนวนมากพอเพื่อให้มั่นใจว่างานไม่ซ้ำกับคนอื่น รวมไปถึงความปราณีตในการเขียนบทความและการอ้างอิงบทความของคนอื่น ด้วยหวังว่าบทความของเราจะสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับวงการวิทยาศาสตร์ และได้รับความสนใจในการนำไปใช้อ้างอิงอย่างกว้างขวางต่อไป

นอกจากการวิจัยแล้ว ในเรื่องความช่วยเหลืออื่นๆ อาจารย์เดวิดก็ได้ส่งเสริมสนับสนุนผมอย่างสม่ำเสมอ อาจารย์ได้เขียนจดหมายแนะนำตัวสำหรับไปเรียนเมืองนอก เขียนจดหมายแนะนำตัวไปยังแหล่งทุน (สกว.) หาห้องทำงานให้เมื่อเรียนจบกลับมาเป็นอาจารย์ที่ จุฬาฯ (พ.ศ.2543) พยายามดึงมาร่วมกลุ่มวิจัย ทำงานวิจัยร่วมกัน และมีบทความนานาชาติร่วมกัน 1 ฉบับ (Astrophysical Journal, impact factor 6.405, citation 59) อาจารย์เดวิดมักจะพาไปรู้จักคนและเครือข่ายวิจัยในหลายๆ โอกาส อาจารย์เป็นคนพาไปร่วมโครงการพัฒนาเยาวชน JSTP ของ สวทช. และพาไปร่วมทำงานวิจัยกับกลุ่มเมธีวิจัยอาวุโสของ ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว ซึ่งทำให้ผมได้มีผลงานร่วมกับอาจารย์สุพจน์จำนวนหนึ่ง

อาจารย์เดวิดยังเป็นตัวอย่างของความใจสู้และยืนหยัดเพื่อการผลิตผลงานวิจัย เพราะในสมัยนั้น (แถวๆ ปีพ.ศ.2543) ต้องยอมรับว่าผู้คนส่วนหนึ่งยังมีทัศนคติที่เป็นลบกับอาจารย์ที่ทำงานวิจัย โดยมองว่าเป็นเรื่องที่ได้กับตัวเอง ผู้อาวุโสบางท่านถึงกับรู้สึกผิดถ้าบอกใครๆ ว่าทำงานเพื่อหวังตำแหน่งวิชาการ โชคดีสำหรับผมที่ค่านิยมเหล่านั้นได้บั่นทอนกำลังใจในการทำวิจัยไปเพียงเล็กน้อย และเมื่อมองเห็นพี่เลี้ยงของผมมีความเข้มแข็ง ผมก็ยิ่งมีใจสู้เพิ่มขึ้น

เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงวันที่ผมอยากเติบโตเป็นตัวของตัวเอง มีกลุ่มวิจัยและงานวิจัยของตัวเองในสาขาที่ถนัด อาจารย์เดวิดก็เปิดทางให้อย่างเต็มที่ ผมจึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า ศ.ดร.เดวิด รูฟโฟโล เป็นนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงของผมในช่วงที่เป็นเยาวชนต่อมาจนถึงช่วงเริ่มต้นของอาชีพอาจารย์

หมายเลขบันทึก: 256522เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2009 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เป็นแนวคิด ที่จะปฏิบัติได้ดีเยี่ยมค่ะ

ครูอ้อยเป็นกำลังใจให้นะคะ

แวะมาอ่านนะเพื่อน

อ่านแล้วมีกำลังใจขึ้นเลยครับ

He is your inspiration, and you are one of my inspiration as well!

โต้งใช่ไหม ทำอะไรอยู่ครับ

เรียนจบหรือยัง

ยอซะผมตัวลอยเลย

Hi, I am in the last year at School of Matrials, The University of

Manchester krab. But everyday life I am at the Daresbury Lab.

Next year I am gonna graduate krab. Hope you are fine and say HELLO to P'Ake as well.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท