“ปล่อยวาง” ไม่เท่ากับ “ขว้างทิ้ง”


อุเบกขา

“ปล่อยวาง” ไม่เท่ากับ “ขว้างทิ้ง”

นลเฉลย

            สวัสดีครับวันนี้ผมมีโอกาสดี ที่ได้ไปฟังการเสวนาธรรมที่น่าสนใจมากครั้งหนึ่ง ผู้ที่เข้าร่วมฟังการเสวนามาจากแวดวงธุรกิจ แต่ละท่านต้องคอยดูแลรักษา ธุรกิจ กิจการใหญ่ๆโตๆมากมาย ในวงสนทนามีการตั้งคำถามถึงการ “ปล่อยวาง” กับการดำเนินงานธุรกิจ ว่าทั้งสองอย่างนี้ไปด้วยกันได้หรือไม่ นักธุรกิจจะปล่อยวางได้อย่างไรหากมีภาระความรับผิดชอบที่ต้องดูแลลูกน้องไม่ให้ตกงาน ผมนั่งฟังแล้วคิดว่ายังมีความเข้าใจผิดบางประการในเรื่องของการปล่อยวาง จึงอยากจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผมให้ฟัง เผื่อท่านที่อ่านจะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ก่อนอื่นคงต้องท้าวความก่อนว่าผมเป็น จิตแพทย์ คนยิ่งทุกข์มากธุรกิจผมยิ่งดี แต่ทุกครั้งที่ผมบอกว่าผมมีอาชีพเป็นจิตแพทย์ ก็มักจะมีคำถามยอดฮิตตามมาว่า ผมทำได้อย่างไร นั่งฟังเรื่องน่าปวดหัวของคนไข้(และญาติ)ได้ทั้งวัน พอคนหนึ่งบ่นจบ ก็ต้องมานั่งฟังคนต่อไปบ่นอีก ผมก็มักจะตอบว่า ก็ต้องรู้จักปล่อยวางครับ ปล่อยวาง ที่มีความหมายอย่างเดียวกับ อุเบกขา และต้องเป็นอุเบกขาที่มาพร้อมกับ พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา หลายท่านคงจะตั้งคำถามว่า แล้วมันต่างจาก ปล่อยวางอย่างเดียวอย่างไร ผมขออธิบายอย่างนี้ครับ เวลาที่พูดถึงการปล่อยวาง เรามักจะนึกถึงการ วางเรื่องเหล่านั้นทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ต้องไปยุ่ง ไม่ต้องไปเกี่ยวกับมันอีก หรือ จะพูดอีกอย่างก็ไม่ต่างจากการ “ขว้างทิ้ง” ไม่สนใจใยดีมันอีก ซึ่งจริงๆไม่ใช่อุเบกขาครับ การมีอุเบกขา หรือปล่อยวางนั้น เป็นเพียงแค่บอกได้ว่า มัน(เรื่องกังวลเหล่านั้น)มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่เรื่องของเรา มันไม่ถาวร ตอนที่ผมดูคนไข้ผมก็จะเตือนตนเองเสมอว่า มันไม่ใช่เรื่องของเรา แต่ที่สำคัญคือ ในขณะเดียวกันนั้นก็ต้องเจริญเมตตา หวังให้เขามีความสุข เจริญกรุณาหวังให้เขาพ้นทุกข์ เจริญมุทิตา ยินดีที่เขามีความสุข หลายท่านอ่านถึงตรงนี้แล้วคงสงสัย ว่าผมไปยินดีอะไรกับคนไข้ผม เขามาหาด้วยเรื่องทุกข์ใจ จะมีเรื่องอะไรให้ยินดี ถูกครับผมไม่ได้ยินดี จริงๆต้องใช้คำว่า ชี้ให้เห็นเรื่องดีๆ เพราะจริงๆแล้ว ไม่มีใครหรอกครับที่เจอแต่เรื่องร้าย ในความไม่ดีมักจะมีเรื่องดีสอดแทรกเสมอ แต่คนที่กำลังทุกข์มักจะมอง เรื่องดีเหล่านั้นไม่เห็น พอเราช่วยชี้เรื่องดี ก็ช่วยให้เขาหาทางออกจากทุกข์ได้ง่ายขึ้น อุ๊บเผลอออกนอกเรื่องไปนิด ว่าจะคุยเรื่องปล่อยวาง กลายเป็นคุยเรื่องการช่วยผู้ป่วยซะนี่ กลับเข้าเรื่องเดิมก่อนนะครับ การปล่อยวางที่ถูกนั้นต้องอย่าวางแบบใช่อุเบกขาข้อเดียว ต้องใช้ทั้ง เมตตา กรุณา มุทิตาไปพร้อมๆกันด้วย เป็นการปล่อยวาง “ความกังวล” แต่ยังสนใจที่จะช่วยอยู่ หลายท่านคงจะนึกแย้งว่า ผมพูดเรื่อง การดูแลผู้ป่วย นะพูดง่ายเพราะเรื่องเหล่านั้น เป็นเรื่องคนอื่นจริงๆ แต่เรื่องธุรกิจเป็นเรื่องของเจ้าของหรือผู้บริหารเอง เลยปล่อยได้ยากกว่า ผมไม่โต้แย้งครับ แต่อยากให้ทุกท่าน ตั้งคำถามว่า ท่านดูแลธุรกิจของท่านให้ดีเพื่ออะไร หลายท่านก็คงจะตอบได้ว่าเพื่อให้มีกำไร คำถามต่อว่า มีกำไรเพื่ออะไร หลายท่านอาจจะบอกว่า เพื่อผู้ถือหุ้น เพื่อพนักงาน หรือบางท่านอาจจะบอกว่าเพื่อตนเองจะได้มีเงินเพิ่ม หลายท่านอาจจะบอกต่อได้ว่า เพื่อให้ลูกเมียสบาย เอาละครับ ถึงตรงนี้คงจะเห็นแล้วใช่ไหมครับว่าเราทำธุรกิจไปเพื่อใคร เพื่อตัวเราหรือไม่ หลายท่านอ่านถึงตรงนี้อาจคิดในใจว่า พูดง่ายแต่ทำยาก จริงครับพูดง่ายแต่ทำยาก อย่างไรก็ดีผมอยากจะเน้นว่า การปล่อยวางนั้นมิใช่การไม่สนใจ แต่เป็นการสนใจอย่างมีสติ ไม่ถูกครอบงำด้วยความทุกข์ความกังวล  ถ้าจะอุปมาอุปไมย การสนใจอย่างไม่ปล่อยวาง คล้ายกับการดูรูปโดยเอารูปมาอยู่ใกล้ชิดติดกับตา มองเห็นรูปครับแต่มองไม่เห็น “ภาพรวม” เห็นแต่เพียงบางส่วน การปล่อยวางเหมือนกับการมองดูรูปนั้นในระยะสุดแขน ซึ่งช่วยให้เรามองเห็นรูปนั้นทั้งรูป มองเห็นภาพรวม การปล่อยวาง ช่วยให้เรามองเห็นทั้งด้านที่ดี และไม่ดี ตามความเป็นจริง ซึ่งจะช่วยให้เรามองเห็นทางแก้ไขปัญหา ได้ดียิ่งขึ้น

            ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงจะพอเห็น ความแตกต่าง ของการปล่อยวาง กับการขว้างทิ้ง หรือไม่สนใจ เห็นประโยชน์ ของการปล่อยวาง ที่สำคัญคือเข้าใจว่า หลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงจัดไว้เป็นหมวดหมู่นั้น เพื่อเน้นให้เห็นว่า ควรเจริญหลักธรรมเหล่านั้นไปทุกข้อพร้อมๆกัน อุเบกขา จึงควรมาพร้อม พรหมวิหาร ๔ ข้ออื่นๆด้วย (จริงๆแล้วอุเบกขา ยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ โพชฌงค์ ๗ ไว้วันหลังจะมาคุยต่อครับว่า เอาหลักในการบำบัดรักษาโรคมาประยุกต์ใช้กับ การรักษาธุรกิจ ได้อย่างไร)    ครับหวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์กับท่านไม่มากก็น้อย อานิสงฆ์ใดๆ จากบทความนี้ของอุทิศให้ทุกท่านที่อ่านแล้วลองนำไปปฏิบัติ ขอให้ท่านสามารถปล่อยวาง เจริญอุเบกขาได้อย่างตั้งใจ หากมีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะประการใด เขียนเมล์มาคุยกันได้ที่ [email protected] ขอบคุณและสวัสดีครับ

หมายเลขบันทึก: 255627เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2009 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 11:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท