เรียนพัฒนาชุมชนเพื่อปริญญาหรือเพื่อพัฒนาตนเองและสังคม


เรียนพัฒนาชุมชนเพื่อปริญญาหรือเพื่อพัฒนาตนเองและสังคม

เรียนพัฒนาชุมชนเพื่อปริญญาหรือเพื่อพัฒนาตนเองและสังคม[1]

ความใฝ่ฝันที่จะเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นความหวังและความใฝ่ฝันของทุกคนอยู่แล้ว เมื่อถึงวันที่ได้เข้ามาศึกษาในภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนรู้สึกประทับใจและแอบภูมิใจเล็กๆอยู่เหมือนกัน เพราะว่า คำว่า ธรรมศาสตร์นั้นถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดกว้างทางความคิดสำหรับทุกคนที่แสวงหาอยู่แล้ว และมีโอกาสได้ย่างก้าวเข้าสู่ดินแดนแห่งความรู้และการแสวงหาวิชาความรู้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ยิ่งเมื่อได้รับการถ่ายทอดความรู้จากอาจารย์ในภาควิชาการพัฒนาชุมชนทุกท่านที่มีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้แก่นักศึกษา ทำให้ผู้เขียนได้เปิดโลกทัศน์ของตนเองได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

เมื่อได้สัมผัสกับสังคมการเป็นอยู่และชีวิตในมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นได้มีแหล่งเรียนรู้มากมายทั้งการอบรม สัมมนาทางวิชาการต่างๆที่มหาวิทยาลัยได้จัดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้เข้ามาศึกษาในภาควิชาการพัฒนาชุมชน ซึ่งผู้เขียนคิดว่าทำอย่างไรจะเก็บเกี่ยววิชาความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากคณาจารย์ทุกท่านไปให้ได้มากที่สุด โดยเริ่มต้นการเรียนรู้จากกระบวนวิชาที่มีในหลักสูตรการเรียนการสอนจนกระทั่งการได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง จนกระทั่งรู้จักกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่หลากหลายต่างสาขาอาชีพที่ได้เข้ามาศึกษา และได้รู้จักคำว่า CD ซึ่งย่อมาจากคำว่า Community Development นั่นเอง ซึ่งรุ่นที่ผู้เขียนได้เข้ามาศึกษานั้นเป็นรุ่น 12 หรือ เรียกกันว่า CD 12 และบังเอิญว่ามีนักศึกษาที่สอบเข้ามาได้ก็ 12 คนเหมือนกัน เลยได้รับฉายาว่า “รุ่นโหล” แต่ว่ารุ่น 12 ของผู้เขียนนั้นได้มีโอกาสที่สำคัญคือเป็นรุ่นที่มีโอกาสได้เรียนกับท่านรองศาสตราจารย์ชอบ เข็มกลัด เป็นรุ่นสุดท้ายเพราะว่า อาจารย์ชอบ กำลังจะเกษียณอายุราชการในปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่ผู้เขียนได้เข้ามาศึกษาพอดี ถือว่าโชคดีมากๆ นอกจากนั้นก็มีรองศาสตราจารย์ปาริชาติ วลัยเสถียร ที่ในรุ่นเรียกกันติดปากว่า “อาจารย์ปา” และมีรองศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม หรือเรียกกันว่า “อาจารย์โก” และรองศาสตราจารย์ ดร.วรวุฒิ โรมรัตนพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิตติ มงคลชัยอรัญญา รองศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์กมลทิพย์ แจ่มกระจ่างและที่ขาดไม่ได้คือ รองศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย ถือว่าเป็นคณาจารย์ที่ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการพัฒนาชุมชน

สิ่งสำคัญมากที่สุดคือ เพื่อนๆพี่ๆน้องๆในรุ่น CD 12 ที่ได้ร่วมเรียนรู้การพัฒนาชุมชนด้วยกัน ความรักความผูกพันธ์ที่มีต่อกันตลอดระยะเวลา 4 ปีเต็ม เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเรียนรู้กันและกัน รู้จักคำว่า เพื่อนแท้ว่าเป็นอย่างไร ทำให้เกิดการช่วยเหลือกันและกันทั้งในด้านวิชาการ การเรียน และให้กำลังใจกันในยามที่รู้สึกท้อแท้ ผิดหวัง ให้มีกำลังต่อสู้ต่อไป และอีกอย่างหนึ่งก็คือ รุ่นพี่ CD ซึ่งเป็นเหมือนที่ปรึกษาและให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ด้วยดีตลอดมา

การศึกษาในห้องเรียนนั้นเป็นไปตามหลักสูตรของภาควิชาการพัฒนาชุมชนอยู่แล้วเพื่อเป็นพื้นฐานในการคิดต่อยอดความรู้ ผู้เขียนยึดหลักที่ว่า “อ่านมาก สรุปได้ นำไปใช้เป็น”  และผู้เขียนรู้สึกประทับใจในการศึกษานอกห้องเรียนมากกว่า เพราะว่าเป็นสิ่งที่ได้ลงมือปฏิบัติจริงในภาคสนาม ไม่ว่าจะเป็น “มือปืนรับจ้าง” ในเก็บข้อมูลแบบสอบถามภาคสนาม และเป็นผู้ช่วยงานต่างๆของอาจารย์ในภาควิชาฯ ทำให้ได้ฝึกฝนประสบการณ์ไปในตัวด้วย นอกจากนั้นกิจกรรมที่ผู้เขียนชอบมากๆก็คือ กิจกรรม dialogue เป็นการพูดคุยกันภายในกลุ่มเพื่อรับฟังอย่างตั้งใจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในวงสนทนา กิจกรรมนี้อาจารย์ปาริชาติ วลัยเสถียรได้จัดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง เหมือนเป็นสื่อกลางที่ก่อให้เกิดความเข้าใจกันและกันมากขึ้นและได้เข้าใจภายในตัวเองมากขึ้น

แนวคิดหรือทฤษฎีการพัฒนาชุมชนที่ได้ศึกษามานั้น บางครั้งได้ปรากฎขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัวและเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ โดยการเกิดที่ตนเองก่อนคือได้พัฒนาตนเองทั้งความรู้ การปรับตัวและทัศนคติให้เข้ากับกลุ่มเพื่อนๆ และการเรียนการสอนในภาควิชาฯ  ดังที่ อาจารย์ชอบ เข็มกลัด ได้กล่าวไว้ว่า การพัฒนาคนเป็นเป้าหมายสำคัญในงานพัฒนาชุมชน  และคนแรกที่ควรจะได้รับการพัฒนาก่อนคนอื่นก็คือตัวของเราเอง  เพียงแต่ว่าเราจะให้โอกาสหรือสร้างโอกาสให้กับตัวเราเองที่จะเปิดใจให้กว้างรับการพัฒนาศักยภาพตนเองได้มากน้อยเพียงใด เพราะการพัฒนาชุมชนในมิติดังกล่าวเป็นกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้  พัฒนาศักยภาพตนเองทุกคนหากต้องการต้องทำเองเปรียบเสมือนดังคำกล่าวที่ว่า  ความดีไม่มีขาย  ถ้าอยากได้ต้องทำเอง    เพราะงานพัฒนาชุมชนไม่มีสำนัก หรือ School  of  Thought  ใดที่จะให้ความรู้ที่เป็นคำตอบแบบเบ็ดเสร็จได้  เพราะคน  ชุมชน  สังคม  มีลักษณะเป็นพลวัตร   เพราะฉะนั้น  การพัฒนาคน  ชุมชน  สังคม  จึงมีลักษณะเป็นพลวัตรด้วย    งานพัฒนาชุมชนจึงมีลักษณะเป็น Continuous  ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและดีขึ้นเรื่อย ๆ (Change  for  the  betterment)    งานพัฒนาชุมชนจึงมีลักษณะเป็น  Theory  of  Practice[2]

ประการที่สำคัญคือ “โอกาส” ที่คณาจารย์ในภาควิชาฯ ได้หยิบยื่นให้ได้พัฒนาศักยภาพของแต่ละคน ผ่านการสอน หรือแม้แต่การให้โอกาสได้ลงมือปฏิบัติและได้แสดงบทบาทของแต่ละคนอย่างเต็มที่เพราะว่าหลักการพัฒนาชุมชนเชื่อว่า “ทุกคนมีศักยภาพและสามารถพัฒนาได้”  ผู้เขียนก็พยายามอย่างเต็มที่ในการคว้าโอกาสนั้นไว้และสามารถที่จะพัฒนาตนเองได้ในระดับหนึ่ง

หลังจากได้จบการศึกษาไปแล้ว แต่ละคนต่างก็ไปทำหน้าที่ของตนเอง บางคนได้เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ บางคนทำงานในส่วนราชการ บางคนทำงานในภาคเอกชน  แต่ที่สำคัญไม่ว่าจะทำงานอะไรหรืออยู่ในหน่วยงานไหนก็ตาม เราสามารถนำองค์ความรู้ของหลักการพัฒนาชุมชนที่ได้ศึกษามาประยุกต์ใช้กับชีวิตและการทำงานของแต่ละคนได้

สุดท้ายต้องขอกราบขอบพระคุณคณาจารย์ทุกท่านในภาควิชาการพัฒนาชุมชนที่ได้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์ทุกคนอย่างเต็มที่ และองค์ความรู้ในการพัฒนาชุมชนนอกจากทำให้เกิดการพัฒนาตนเองแล้วยังสามารถนำไปช่วยเหลือสังคม ชุมชนหรือกลุ่มองค์กร หน่วยงานได้ ขึ้นอยู่กับว่าทุกคนจะนำหลักการพัฒนาชุมชนไปใช้ได้มากน้อยเพียงใด

ดังนั้น การพัฒนาชุมชนหรือพัฒนาสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการพัฒนาประเทศและเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสังคมในท่ามกลางวิกฤติทั้งทางด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจในปัจจุบัน หรือการใช้กระบวนการพัฒนาชุมชนให้เป็นทางเลือกในการพัฒนา โดยเริ่มต้นจากชุมชนเป็นฐานและให้ชุมชนเป็นผู้พัฒนา โดยเริ่มต้นตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคลหรือเริ่มต้นการพัฒนาที่ตนเองก่อนและแบ่งปันให้กับคนในสังคมโดยผ่านเครือข่ายต่างๆที่มีอยู่ในชุมชน และกระบวนการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจว่าทำอย่างไรจะให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน และทำอย่างไรจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือความแตกแยกของคนในสังคมได้ และส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และพึ่งตนเองได้ในที่สุด



[1] บุญยิ่ง ประทุม .[email protected] ศิษย์เก่าพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต รุ่น 12

[2] ชอบ เข็มกลัด.“รวมมิตร ทำเนียบรุ่นคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ สส.ม. (พัฒนาชุมชน) พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต    (พช.ม.)” ในโอกาสแสดงมุทิตาจิต (เกษียณอายุราชการ) รองศาสตราจารย์ชอบ เข็มกลัด ภาควิชาการพัฒนาชุมชน     คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 9 ตุลาคม 2547,หน้า 7-8.

หมายเลขบันทึก: 254860เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2009 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท