อบรมโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงระดับชุมชนแบบบูรณาการ


เริ่มต้นกระบวนการอบรม เติมเต็มความรู้ สู่ เศรษฐกิจพอเพียง

หลังจากที่ไม่ได้เขียนบันทึกมานานเหลือเกิน วันนี้เกิดคิดถึงความทรงจำที่ดี ความรู้สึกดีดีที่ได้เขียนบันทึกของตัวเอง ผ่าน การทำงาน การเรียนรู้ และ ประสบการณ์ เพื่อแลกเปลี่ยน เติมเต็มสิ่งดีงาม

และหลังจากได้เกริ่นเกี่ยวกับโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงระดับชุมชนแบบบูรณาการมาแล้วในบันทึกที่แล้ว บันทึกนี้ขอเริ่มต้นด้วยกระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการตามแผนการดำเนินงานที่ได้วางไว้

ระยะเวลา 4 วัน ที่จัดอบรมโดยมีตัวแทนของอบต./เทศบาล พื้นที่เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และพะเยา  จำนวน 32 คน จาก 11 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ ใช้สถานที่ สวนพฤกษศาสตร์ทวีชล (ขอบอกว่าสวยมาก)บันทึกนี้จะขอเล่าให้ฟังวันแรกของการอบรม สนใจวันอื่น ๆ คงต้องติดตามบันทึกหน้าด้วยค่ะ

                               

เริ่มต้นด้วยบรรยากาศแบบวิชาการเล็ก ๆ โดยมีคุณลุงประยงค์  รณรงค์ จากบ้านไม้เรียง นครศรีธรรมราช มาเป็นแขกวีไอพี เจ้าของรางวัลแมกไซไซ เล่าประสบการณ์การบริหารจัดการยางพาราอย่างมีคุณภาพ ด้วยการเริ่มต้นของเศษเสี้ยวของกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ การก่อตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราโดยการระดมทุนของกลุ่มแกนนำชุมชน ทำแต่พอดี เพื่อแก้ปัญหาการกดราคาของพ่อค้าคนกลาง การประชาพิจัย หรือ การทำวิจัยโดยชุมชนเข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหาของชุมชน จนนำไปสู่แผนชุมชน การยกระดับและการเพิ่มมูลค่าของสินค้ายางพารา รวมถึงบุคลากรของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญในใจของลุงประยงค์และชุมชนบ้านไม้เรียงจริง ๆ

                                          

 จากนั้นวิทยากรคนสำคัญอีกท่านหนึ่งของเราก็คือ กำนันสุรินทร์  นิลเลิศ แกนนำเครือข่ายแผนแม่บท 4 ภาค และเป็นบุคคลสำคัญในการพลิกวิกฤติจากปัญหาอุทกภัยให้เป็นโอกาสของ ชุมชนบางเจ้าฉ่า จ.อ่างทอง จนปัจจุบันชุมชนนี้หยิบจับงานจักสานไม้ไผ่ภูมิปัญญาดั้งเดิมมากลายเป็นสินค้าส่งออกของชุมชนบางเจ้าฉ่า และรู้จักการใช้โอกาสจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยเข้ามามีส่วนช่วยเหลือและเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนบางเจ้าฉ่า กำนันได้เน้นความสำคัญของชุมชนให้ตระหนักถึงความเป็นเจ้าของทรัพยากร เป็นเจ้าของท้องถิ่น และ ความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนชุมชนและแผนแม่บทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                        

 เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนคอเดียวกัน คนของท้องถิ่นด้วยบรรยากาศสบาย ๆ แต่ก็สอดแทรกด้วยวิชาการที่ได้เติมเต็มทั้งความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์ใหม่ ๆ วันนี้ทั้งวันหน้าตาแต่ละคนดูจะเอาจริงเอาจังเป็นพิเศษทีเดียวทำให้ผู้จัดจนด้วยเกล้าถึงความรู้สึกภายในของแต่ละคน ตกเย็นย่ำค่ำ เปลี่ยนบรรยากาศแบบล้านนา "กาดหมั้วบ้านเฮา" และการแสดงจากน้อง ๆ โรงเรียนบ้าน   ป่างิ้วที่ได้รับความเมตตาของท่านผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่างิ้วและคุณครูโสพิณ  เดชยิ่ง ที่กรุณานำเด็ก ๆ มาร่วมด้วยค่ะ ต้องขอขอบคุณผ่านทางนี้ด้วยค่ะ มีโอกาสคงจะได้ร่วมงานกันอีกนะค่ะ

       

   

ก่อนปิดฉากของวันแรก วิทยากรอีกท่านที่ร่วมสร้างบรรยากาศอันน่าประทับใจของค่ำคืนนี้ก็คือ คุณบันเทิง เครือวงศ์ นายกอบต. ตับเต่า และ ประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคเหนือ ให้เกียรติมาเล่าท้าวความถึง การขับเคลื่อนและการหนุนเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน กรณีศึกษา เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดเชียงราย ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

บันทึกนี้เอาซะยาวเชียว แต่อย่าเพิ่งเบื่อกันก่อนนะค่ะ ยังมีให้ติดตามอีกตั้งสามวันแน่ะ

อย่าลืมติดตามบันทึกหน้านะค่ะ...

หมายเลขบันทึก: 254859เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2009 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ยินดีที่กลับมาเขียนค่ะ

กิจกรรมนี้ครั้งหน้า จัดอีกเมื่อไหร่ครับ

ขอบคุณค่ะ คุณ berger0123 ที่มาให้กำลังใจ คงต้องเขียนอีกค่ะ ติดคนอ่านไว้เพียบเลยค่ะ

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันฯ และ อบต./เทศบาล ที่เข้าร่วมโครงการระยะเวลา 1 ปีค่ะ กิจกรรมช่วงนี้เน้นอยู่ในพื้นที่ของอบต./เทศบาลที่เข้าร่วมโครงการ เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ของพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมค่ะ คุณ  บีเวอร์ ยังไงก็ช่วยติดตามกิจกรรมต่อนะค่ะ

เราก็สนใจงานเศรษฐกิจพอเพียงด้วยนะ

ชอบภาพน้ำตกสวย

ชอบภาพทุ่งนาด้วย

เอารูปผมลงด้วยนะครับ คิดถึงทุกคนครับ

ขอบคุณ คุณ saard2552 นะคะ ถ้าชอบต้องคอยติดตามต่อนะค่ะ

สำหรับคุณน้องตุ๋ย เดี๋ยวพี่หาเจอพี่จัดให้นะครับ ยังเหลืออีกหลายวันเลยล่ะที่ยังต้องบันทึกให้จบน่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท