ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

ปรับหลักสูตรพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน...ริมทะเลชะอำ


ครุศาสตร์สวนสุนันทาร่วมมือร่วมใจ..

     สามวันมานี้ (8-10 เมษ.09) ขณะที่บรรยากาศการเมืองในกอทอมอร้อนระอุด้วยสีแดงเดือด  ป้าเจี๊ยบพาเพื่อนๆ ร่วมงานประมาณ 30 ชีวิต ไปชะอำกันค่ะ

     ไม่ไปเที่ยวหรอกนะคะ ไปทำงานกัน และทำกันอย่างจริงจังซะด้วย เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องประชุม

     เป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จคือปรับหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตที่ใช้เวลาเรียน  5 ปี ฉบับบุกเบิกฉบับแรกของประเทศไทย  ซึ่งมีชื่อเรียกกันในหมู่นักพัฒนาหลักสูตรว่า "หลักสูตรพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน" เพราะเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวที่เป็นหลักสูตร "อิงผลลัพธ์การเรียนรู้" บวกกับ "ชุดวิชา" ที่ไม่เหมือนใคร  ปี้นี้ใช้มาครบ 5 ปีแล้วก็ได้เวลาปรับปรุงค่ะ

     หลักสูตรนี้คลอดเมื่อปี 2547 แต่กว่าจะออกมาได้ก็ใช้เวลาทำนานตั้ง 4 ปีค่ะ  เริ่มตั้งแต่สมัยปฏิรูปการฝึกหัดครูปี 2544  ด้วยความตั้งใจยกระดับวิชาชีพครูให้มีความเข้มข้น  ได้ครูมืออาชีพ และเป็นอาชีพที่ได้รับความคุ้มครอง แบบว่าใครจะเป็นครูต้องมีใบอนุญาตสอน  ซึ่งตอนนี้ก็เป็นอย่างนั้นแล้ว

     สมัยโน้น กระทรวงศึกษาฯ มอบหมายให้สวนสุนันทาไปคิดหลักสูตรกู้ชาติ..เอ้ย กู้อาชีพครูขึ้นมา ในฐานะที่อยู่ในวงการมาเก่าแก่ เป็นหนึ่งในพี่เบิ้มของการผลิตครู 

     ป้าเจี๊ยบก็เกะกะๆอยู่ในสวนสุนันทา ตอนที่ท่านอธิการบดีในยุคนั้นมาบอกกับชาวครุศาสตร์ว่า ช่วยคิดทำหลักสูตรใหม่กันหน่อย เอาแบบว่าพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินเลยนะ  โห..พูดจริงรึเปล่า? แน่นะ เพราะถ้าไม่จริง ป้าเจี๊ยบขี้เกียจเสียเวลาทำ  เพราะเท่าทีผ่านมา ยังไม่เห็นว่าในวงราชการนี่จะทำอะไรที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า นวัตกรรม ได้จริงสักที

     แต่ด้วยความที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง และมีคำสั่งให้เป็นคณะกรรมการวางกรอบแนวคิดของหลักสูตร  น่าจะถูกเลือกให้เป็นด้วยความที่ติดกลุ่มพวกคิดและทำอะไรนอกกรอบจนเข้าตากรรมการ  ก็เลยลุยดูซักตั้งด้วยการประชุมแบบทุบโต๊ะกับเพื่อนๆ จนได้ข้อสรุปออกมาเป็นหลักสูตรแบบชุดวิชา แต่ไม่ใช่ชุดวิชาแบบมสธ.นะคะ  เป็นแบบที่ทีมงานคิดว่าน่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีได้จริง  แต่หลักการใหญ่ๆ คือ อิงผลลัพธ์การเรียนรู้ (outcomes-based) และอิงปรีชาสามารถ (competency-based) 

     การพัฒนาหลักสูตรนี้เป็นอะไรที่หนักหนาสาหัสจริงๆค่ะ สำหรับป้าเจี๊ยบเพราะ in มาก ขนาดที่ว่าคณะกรรมการชุดอื่นๆ ที่แต่งตั้งมากมายหลายคณะมีประชุมอะไร ป้าเจี๊ยบก็แจ๋เข้าไปร่วมทั้งนั้น แบบว่าเกาะติดสถานการณ์ด้วยใจรักจริง เพราะไม่มีคำสั่งให้ทำ  กล้าพูดได้เต็มปากเลยค่ะว่า ป้าเจี๊ยบมีข้อมูลการทำงานเรื่องนี้สมบูรณ์กว่าทุกคน  เพราะส่วนใหญ่จะทำเฉพาะส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบ  

     สมัยนี้ หลายคนอาจลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่า ตอนแรกกระทรวงศึกษาฯ สั่งให้ทำเป็นหลักสูตร 6 ปีค่ะ (ป้าเจี๊ยบเขียนบทความเรื่องการพัฒนาหลักสูตรครู 6 ปี ลงหนังสืออะไรสักเล่มของจุฬาฯไปเมื่อปี 2546 ถ้าสนใจอยากรู้อ่านต้นฉบับที่นี่ก็ได้ค่ะ)

     การปรับหลักสูตรครั้งนี้ก็เริ่มแบบเครียดหน่อยๆ  เพราะสมาชิกที่พากันมาส่วนใหญ่เป็นอาจารย์รุ่นเด็กๆ ทั้งนั้น แบบว่ามีช่องว่างระหว่างวัยราวๆยี่สิบปี  คนที่ทำหลักสูตรนี้มาด้วยกันกับป้าเจี๊ยบก็เกษียณไปเกือบหมดแล้ว เหลือที่มาคราวนี้ 4-5 คนเท่านั้น 

     ทุกคนตั้งใจและเอาจริงเอาจังมากค่ะ  จนคาราโอเกะที่ป้าเจี๊ยบติดไปงั้นๆ  ก็ได้ใช้ทำหน้าที่คลายเครียดให้เพื่อนๆได้...

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #หลักสูตร
หมายเลขบันทึก: 254824เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2009 08:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หนูเคยร่วมทำSWOT กับคณะผู้บริหาร เป็นแผนปฏิบัติงาน ของโรงเรียน บรรยากาศเครียด แต่ภาพรวมออกมาดี เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่น่าจดจำค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท