เปลือยความสุข (31) : ชีวิตที่มีความสุข คือ ชีวิตที่เข้าใจในรากเหง้าของตัวเอง


ผมอยากให้เขามีความสุขกับจังหวะชีวิตของแต่ละวัน สนุกเฮฮา หรือแม้แต่ร้องไห้ไปตามท่วงทำนองของแต่ละวันอย่างเป็น “ธรรมชาติ” ...

พักนี้ ขออนุญาตเขียนบันทึกถึงเรื่องราวส่วนตัวๆ ของตัวเองมากหน่อยนะครับ  ขอพับเรื่องงานไว้สักยกสองยก  เพราะหน่วงหนักเหลือเกิน  จึงจำต้องขอเติมพลังตัวเองด้วยบันทึกเหล่านี้อีกสักบันทึกสองบันทึกก่อนแล้วกัน

 

 

 

 

(๑)

 

ผมเป็นคนประเภทหัวโบราณไม่ใช่ย่อย  ดูง่ายๆ เลยก็คือ  ตั้งแต่แรกหนุ่มเมื่อร่วมยี่สิบกว่าปีที่แล้ว  ผมรักและหลงใหลเพลงลูกทุ่งมากกว่าเพลงสตริง

          จวบจนวันนี้  ก็ยังเป็นเช่นนั้นอย่างไม่ผิดเพี้ยน 

          เคยมีนิสิตมาสัมภาษณ์ผมเพื่อเขียนเป็นสารคดีส่งอาจารย์ประจำวิชาอยู่บ่อยครั้งเหมือนกัน 

หลายคำถามซ้ำกันอย่างแทบไม่น่าเชื่อ

          นั่นก็คือคำถามในประมาณว่า  อะไร คือ ความสุขของชีวิต

          ซึ่งผมก็ไม่เคยลังเลเลยนะว่าต้องตอบยังไง  หรือต้องสรรหาถ้อยคำใดๆ มาสร้างภาพให้ดูดี ดูน่าสนใจ  แต่รวมๆ แล้ว  ผมก็ตอบอย่างฉะฉาน ตรงไปตรงมาในแบบฉบับการเปิดเปลือยว่า  ชีวิตที่มีความสุข คือ ชีวิตที่เข้าใจในรากเหง้าของตัวเอง

 

 

 

 

 

 

(๒)


 

         

ในทุกๆ ปีของการปิดเทอมใหญ่  ลูกๆ มักถือแผ่นปลิวเรื่องการ ขายฝัน กลับมาบ้านเสมอ  ร้อยทั้งร้อยเป็นเรื่องเรียนพิเศษสำหรับลูกๆ  ทั้งที่เป็นอนุบาลและวัยประถมต้น  อาทิ  ดนตรี ภาษา ร้องเพลง วาดรูป


ปีที่แล้ว ดูเหมือนลูกๆ จะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ  ทั้งคนเล็กและคนโตบอกเล่าเรื่องเรียนพิเศษอย่างเป็นตุเป็นตะ

          บ้างยื่นเอกสารให้อ่าน  บ้างก็กล่าวอ้างว่า เพื่อนๆ ไปเรียนกันเยอะมาก

แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่เคยมีใครออกอาการให้เห็นชัดเจนว่า อยากเรียนๆ...

          ยิ่งในปีนี้ยิ่งเห็นได้ชัดว่า สองหนุ่มสองมุมของผมนั้น เย็นชาต่อเรื่องดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง  ตรงกันข้ามกลับรบเร้าที่จะกลับไปอยู่กับคุณปู่คุณย่า

          ซึ่งผมเองก็เรียกวิถีนั้นว่า เรียนพิเศษที่บ้านนอก  โดยมีหลักสูตรหลักที่ต้องเรียนรู้อย่างฝังลึก นั่นก็คือ รากเหง้าของชีวิต  ภายใต้ห้องเรียนอันหลากบรรยากาศ  เป็นต้นว่า  ครัวอันรกรุงรังในชายคาบ้าน  ต้นขี้เหล็กหน้าบ้าน  ทุ่งนาท้ายหมู่บ้าน ลานดินของเพื่อนบ้านข้างเคียง  ร้านค้าเพิงหมาแหงน  ถนนในตัวหมู่บ้าน  งานบุญ งานโศก วัด และโรงเรียน เป็นต้น

 

 

 

 

ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน  น้องดินและน้องแดนยังคงเลือกที่จะกลับไปสู่ห้องเรียนเหล่านั้นอีกครั้ง  ภาพชีวิต หรือฉากชีวิตของวันนี้  จึงไม่แตกต่างไปจากปีที่ผ่านมา  ราวกับเรื่องราวเหล่านั้น ถูกนำมาฉายซ้ำอีกรอบเท่านั้นเอง

          กล่าวคือ - น้องดิน ตัดสินใจบวชเณรอีกรอบ

          ขณะที่นักเลงลูกทุ่ง ก็ยืนกรานที่จะท่องทุ่งและหมู่บ้านกับปู่และย่า (รวมถึงการเป็นเด็กวัดยกบาตรให้ พี่เณร)

          เรื่องดังกล่าวนี้  ผมเชื่อเหลือเกินว่า  พวกเขาเองก็เลือกเพราะ ใจ  อยาก เลือก 

หาใช่เลือกเพราะรู้ว่า นั่นคือ  การเรียนพิเศษ

และเลือกเพราะรู้ว่า  นั่นคือ  ห้องเรียนอันทรงคุณค่าของชีวิต 

          หรือแม้แต่การเลือกเพราะรู้ว่า นั่นคือกระบวนการของการเรียนรู้รากเหง้าของชีวิต

          เพราะทั้งปวงนั้น  พวกเขาเด็กเกินกว่าที่จะขบคิดถึงวิถีเช่นนั้น 

ซึ่งจะว่าไปแล้ว  ก็ไม่จำเป็นต้องบอกย้ำให้เขารู้ว่า วิถีที่ว่านั้น  คือการเรียนรู้ชีวิต พร้อมๆ กับการสะกิดให้พวกเขาได้เข้าใจในความเป็นรากเหง้าของตัวเอง  ด้วยวิธีของการ ใช้ชีวิต

         

          เช่นเดียวกันนั้น  ผมเองก็มองว่า  มันยังไม่จำเป็นต้องกล่าวย้ำ หรือบังคับจัดแจงอะไรต่อมิอะไรให้มากกว่าที่เป็นอยู่ 

ผมอยากให้เขามีความสุขกับจังหวะชีวิตของแต่ละวัน  สนุกเฮฮา หรือแม้แต่ร้องไห้ไปตามท่วงทำนองของแต่ละวันอย่างเป็น ธรรมชาติ  ...

          ให้เขารู้สึกมีอิสระที่จะทำโน่นทำนี่  กินนอนร้องเพลงและดูทีวี

หรือแม้แต่ไล่ชกไล่ตีกับเพื่อนในยามเห็นแย้ง  ไม่สบอารมณ์

          มันเป็นธรรมชาติของเด็ก  และมันก็เป็นธรรมชาติของการเติบโตของชีวิตที่เขาจำต้องสัมผัสด้วยตัวเอง  ภายใต้ความอุ่นใจที่เขาสัมผัสได้ว่า  พื้นที่ตรงนั้นมีสายใยอันอบอุ่นผูกโยงตัวเขาไว้อย่างแน่นเหนียว

          และในทุกๆ วิถีที่โลดแล่น หรือมแต่ล้มลุกคลุกฝุ่นอยู่นั้น ก็ไม่ไกลเกินกว่าความรักและความอาทรของใครๆ จะเดินทางไปโอบกอดได้

 

 

 

(๓)

 

ปีนี้ ก่อนการตัดสินใจบวชของน้องดินนั้น น้องดินขนเสื้อผ้าหน้าแพรไปกินนอนอยู่ที่ทุ่งนากับพี่ชายของผม 
         
โดยทิ้งให้น้องแดนกินนอนอยู่บ้านกับปู่และย่า 

          กลางวันเจ้านักเลงลูกทุ่งหัวจุกก็จะล่องไหลลงมาเล่นกับพี่ที่ทุ่งนา 
         
พร้อมๆ กับการชวนเชิญเพื่อนร่วมรุ่นในหมู่บ้านมาวิ่งเล่นบนกองดินที่เททับเกยกองไว้สำหรับปลูกบ้านของพวกเขาเอง

          พอเหนื่อยมากๆ เข้าก็หันเหมาหลบลมร้อนอยู่ใต้ต้นขี้เหล็กที่เขียวครึ้ม และเย็นสบาย

          พ่อเล่าให้ผมฟังว่า  ในช่วงของการขนดินมาถมที่เพื่อเตรียมปลูกบ้านนั้น  น้องดินจะทำหน้าที่คอยตรวจนับเองว่าได้กี่เที่ยว ได้กี่กองแล้ว 

          ซึ่งมันก็จริงตามนั้น  เพราะเจ้าตัวโทรมาหาผมเป็นระยะๆ ว่า ... ตอนนี้ถมดินได้มาก-ได้น้อย  ใกล้เสร็จแล้ว...อยากให้พ่อมาดู  และอย่าลืม  เอาเงินมาจ่ายให้เขาด้วย...

          มิหนำซ้ำ ยังจัดแจงทางโทรศัพท์ว่า  พื้นที่ดังกล่าว ต้องปลูกบ้านกี่หลัง ปลูกต้นไม้อะไร  และมีอะไรเป็นองค์ประกอบของบ้านบ้าง  

 

 

 

 

 

(๔)

 

 

          ผมและเพื่อนชีวิตตัดสินใจแน่วแน่ว่ายังไงเสียก็คงต้องปักหลักปักชีวิตที่ชายทุ่งบ้านเกิดเป็นแน่ 

เรามีความฝันที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ  การปรารถนาที่จะกลับไปใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเท่าที่จะทำได้  ใช้ชีวิตแบบใช้เงินให้น้อยที่สุด  รวมถึงการขบคิดถึงวิถีของบ้านหลังนี้กับเส้นทางด้านการศึกษาของลูกไปพร้อมๆ กัน

ครับ- ฟังดูเหมือนนิยาย หรือไม่ก็อุดมคติซะเหลือเกิน  
         
แต่ถึงกระนั้น  ผมก็เตือนตัวเองเสมอว่า  เราต้องมีความฝัน - อันหมายถึง
ใฝ่ฝัน  
         
เพราะการมีความฝัน  มันหมายถึงการเดินทางอย่างมี
เป้าหมาย  ไม่เลื่อยลอย หรือลอยมาลอยไปอย่างไร้ทิศทาง

และทุกอย่างก็ดำเนินไปภายใต้แนวคิดที่ว่า ฝันแล้วต้องลงมือทำ ด้วยเหมือนกัน

 

 

 

 

(๕)

 

 

แต่สำหรับวันนี้  ผมเลือกให้ลูกๆ กลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดของผมเอง  เพียงเพื่อให้เขาได้ทำความเข้าใจกับความเป็นไปเป็นมาของรากเหง้าตัวเองเป็นสำคัญ

          แต่ก็มิได้หมายความว่า  ผมกำลังกักขังให้ลูกๆ จมจ่อมอยู่กับการเส้นทางชีวิตแบบที่ชาวบ้านๆ กำลังประสบอยู่

          และก็ไม่ใช่การขีดเส้นตายว่า ลูกๆ ต้องกลับมาใช้ชีวิตเยี่ยงผมและปู่ย่า

          ตรงกันข้าม  ผมเพียงปรารถนาให้เขารู้สึกว่า ในยามที่ต้องเดินทางไกลไปตามเส้นทางแห่งความฝันของตัวเองนั้น 

         -  ก็จงอย่าเคอะเขิน หรือหลงลืมที่จะหวนกลับมาเยี่ยมเยียนพื้นที่อันเป็นรากเหง้าของตัวเองบ้าง

          หรือแม้แต่ในห้วงยามที่ชีวิตบาดเจ็บจากการเดินทางไกล

         -  ก็จงอย่าลังเลที่จะกลับมาหนุนตักแผ่นดินเกิดเพื่อเยียวยาตัวเอง

          เพราะที่นี่คือพื้นที่ ของเขา

          เพราะที่นี่คือพื้นที่ที่เต็มไปด้วย คนของเขา  และมี เรื่องราวของเขา ขับขานด้วยท่วงทำนองอันคุ้นเคยอยู่อย่างไม่รู้จบ

          และถึงแม้ในภายภาคหน้านั้น หลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างไปบ้าง  แต่ในความหมายโดยนัยของคำว่า บ้าน และ รากเหง้า นั้น

ผมเชื่อเหลือเกินว่าทุกอย่างจะยังคงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง

          หรือหากเปลี่ยนแปลงไป  ก็คงไม่ถึงขั้น ไม่เหลือร่องรอยใดๆ ให้หวนรำลึก

          กระมัง

         

 

         

หมายเหตุ

ภาพในบันทึกนี้ เป็นภาพการบิณฑบาตของลูกเณรเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๒
วันนั้น ลูกเณรตื่นตี ๓ เพื่อทำวัตรเช้า
จากนั้นเวลาประมาณตี ๕ เศษๆ ก็ขึ้นรถไปบิณฑบาตข้าวสารอาหารแห้งในหมู่บ้านต่างๆ
วันนั้น  ผมร่วมเดินทางไปกับลูกเณร
เห็นบทเรียนของการฝึกความอดทน 
เห็นภาพชีวิตของชาวบ้านในรุ่งเช้าที่ร้อยรัดอยู่กับศาสนาอย่างอบอุ่น

และเชื่อว่า ลูกเณร จะเรียนรู้วิถีนั้นได้ด้วยเช่นกัน

 

 เปลือยความสุข (25) : เดินทางไกล ไปทางเรือ... (ส่งลูกไปเรียนพิเศษที่บ้านนอก ภาค 2

หมายเลขบันทึก: 254563เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2009 02:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (43)

สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน

เป็นความอิ่มเอมใจอย่างบอกไม่ถูก
กับภาพประทับใจที่หาดูได้ยากมาก
สำหรับวิถีชีวิตของแป๋ม..ขอบคุณค่ะ
ที่นำเรื่องราวและภาพดีดีให้นึกถึง
รากเหง้าที่เป็นปฐมบทของชีวิตชาวเราค่ะ.....



  • เป็นภาพที่น่าชื่นใจจริง  ๆ ค่ะ
  • การสอนให้ลูกรู้จักรากเหง้าของตัวเองเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ค่ะ
  • ครูอิงเองก็กำลังกระทำอยู่ค่ะ
  • ลูกชายคนโตก็กำลังไปหารากเหง้าให้ตัวเองอยู่ที่บ้านุคุณตาคุณยายที่สงขลา
  • และครูอิงกำลังจะนำเจ้าคนเล็กตามไปในวันสองวันนี้หล่ะค่ะ
  • ชอบบันทึกของคุณแผ่นดินมาก ๆ ค่ะ
  • จะแวะมาอ่าน มาชื่นชม ทุก ๆ บันทึกนะคะ
  • ขอบพระคุณมากค่ะ ขอให้ความดีคุ้มครองนะคะ

สวัสดีครับคุณแผ่นดิน

 สอนโดยการกลับคืนสู่รากเหง้า ให้เด็กเลือกทำ เลือกเป็น เลือกไป ไม่บังคับตามที่ผู้ใหญ่ยาก

เป็นความลึกทางการศึกษา ในขณะที่ผู้ปกครองหลายคนผลักไสให้เด็กเรียนประเภท"บ้าใบ ไกลบ้าน"มอบภาระให้กับผู้อื่นทั้งหมด

ขอบคุณบันทึกทำให้ไม่ลืมรากครับ

สวัสีดีคะอาจารย์พนัส

ชอบบันทึกชุดนี้มาก ๆคะ อ่านตั้งแต่ตอนน้องดินบวชเณร

การใช้ชีวิตที่บ้านเกิดเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจ และมีความสุข ได้กลับไปอยู่กับพ่อแม่ ปุ่ย่า

น้องดินน้องแดน โชคดีมากคะที่เกิดมาพร้อมทั้งปู่ย่า ลุกสาวพี่ปู่ ย่า เสียชีวติตั้งแต่สามีพี่ยังเล็ก ๆ เลยไม่มีโอกาสได้พบปู่ กับย่า

  • ร้อยเรียงเรื่องราวได้น่าอ่าน
  • พี่เขี้ยวชอบที่ว่า...เรามีความฝันที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ  การปรารถนาที่จะกลับไปใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเท่าที่จะทำได้  ใช้ชีวิตแบบใช้เงินให้น้อยที่สุด 
  • เพราะปัจจุบันกำลังพยายาม
  • ทำทุกอย่างในบ้านอย่างพอเพียง
  • บ้านหลังเล็กๆสำหรับคน 2 คน
  • แต่มีพื้นที่สำหรับให้ออกแรงมากๆหน่อย
  • เพื่อจะได้ออกกำลังกายแบบพอเพียง
  • คือ ได้สุขภาพแข็งแรง
  • ได้งาน  ได้สวนสวย
  • ที่สำคัญ คือได้ความสบายใจ

สวัสดีค่ะ

เขียนเล่าเรื่องได้น่าอ่าน

น้องที่ทำงานแนะนำมาอ่านบันทึกดีๆ

ไม่ผิดหวังเลย

เป็นการเลี้ยงลูกที่ถูกทางมากๆ

ดิฉันก็ไม่เคยลืม บรรยากาศท้องนา ดอกจานบานตอนหน้าแล้ง

ภาพไปหากบเขียด เลี้ยงควาย ฟังวิทยุ...

มีความสุขทุกครั้งที่ได้ระลึกถึง

สวัสดีครับพี่แผ่นดิน

โอ้ช่างอุ่นเท้าดีแท้ที่ได้แวะมาเดินกับน้องเณรด้วยคน

พี่เลี้ยงลูกได้ดีจริงๆ พ่อแม่คิดดี โตมาลูกเณรไม่ทำให้คุณพ่อผิดหวังแน่นอน

การเร่ขายฝันของโรงเรียนนั้นน่าจั๊กจี้ที่จะมารุกเร้ากับเด็กวัยกำลังเล่นกำลังเรียนรู้ โชคดีที่คุณพ่อเชื่ออีกอย่าง เห็นดีด้วยนะครับ :)

อ้อ อีกอย่างผมชอบแววตาของน้องเณรมากๆเลยครับ ดูแน่วแน่ มุ่งมั่น และดูครุ่นดีครับ :)

ขอบคุณมากๆครับกับเรื่องส่วนตัวดีๆที่เอามาเล่าให้อ่านเสมอ

มีคำถามมากมายว่ากะปุ๋มมาจมจ่ออยู่ทำไมที่ยโสธร ที่โรงพยาบาลยโสธร ...เรียนมาตั้งมากมายทำไมไม่เป็นสอนหนังสือ ทำไมไม่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย...ไม่ไปอยู่ในเมืองใหญ่...

หากย้อนไปเมื่อสี่ปีก่อน...ที่อยู่ ณ จุดตัดสินใจ

หากว่าพลังบางอย่างที่มีมากกว่านี้ ชีวิตคงไปโลดแล่นในวงวิชาการ แต่...เสียงแผ่วเบาในจิตใจ ที่ต้องตั้งใจฟังจึงได้ยิน...ว่านี่แหละคือ บ้านเรา บ้านที่เราอยู่ได้อย่างเรียบง่ายที่สุด ไม่ดิ้นรน แสวงหา หากแต่ทำเต็มที่และทำอย่างยิ่งใหญ่ในใจเรา

ที่สุดแล้ว...ได้ค้นพบชีวิตที่มีค่าอย่างมหาศาลอย่างที่ไม่คาดคิดว่าในชีวิตนี้จะได้พบ...ชีวิตเฉกเช่นนี้...

คือรากเหง้าสู่ตนเอง...วิถีแห่ง"ธรรม"ชาติ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้

เมื่อมองเข้าไปในแววตาของเณรดิน...พบกับความลุ่มลึกแห่งดวงจิต...

(^___^)

สวัสดี ครับ คุณ

P แผ่นดิน

ผมชอบเรื่องเล่า ฉบับนี้มาก

และชอบประโยคนี้ด้วย ครับ

...ผมเลือกให้ลูกๆ กลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดของผมเอง เพียงเพื่อให้เขาได้ทำความเข้าใจกับความเป็นไปเป็นมาของรากเหง้าตัวเอง...

ทำให้ คิด อะ... ไร   อะ.... ไร ได้ หลาย ๆ อย่าง

ขอบพระคุณมาก ครับ

สวัสดีค่ อ.แผ่นดิน

แวะมาดูห้องเรียนแห่งชีวิต+เรื่องราวส่วนตัวค่ะ

การศึกษา การเรียน ไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องสี่เหลี่ยมค่ะ

เรียนรู้ชีวิตตัวเอง จากธรรมชาติ จากรากเหง้าของเรา รากเหง้าน่าจะหมายถึงเรียนรู้ใจตัวเอง เรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบตัว เข้าใจแก่นชีวต

สวัสดีครับ ครูแป๋ม

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ..

วันนี้ประชุมทั้งวัน - สามเวทีเลยทีเดียว  รู้สึกสองวันมานี้ใช้พลังสมองไปมากๆ ก็ว่าได้  จึงเกิดอาการอ่อนเพลีย..

จึงได้แต่เปิดบันทึกดูรูปลูกๆ เพื่อเติมแรงใจให้ตัวเองอีกรอบ ครับ

สวัสดีครับ..อิงจันทร์

ผมดีใจมากนะครับที่มีคนชอบอ่านบันทึกของผม ถึงแม้จะยาวและเรื่อยไหลแบบไร้ประเด็นก็เถอะ...

ผมไม่คิดอะไรมากหรอกนะครับ..เอาความสบายใจเขียน เขียนแล้วตัวเองมีความสุข และยิ่งคนอ่านมีความสุข  ผมก็ยิ่งยินดีและถือเป็นเกียรติด้วยซ้ำไปครับ...

เป็นกำลังใจสำหรับการส่งลูกไปเรียนพิเศษตามหลักสูตรรากเหง้าของชีวิต-นะครับ

สวัสดีครับ.. ซวง ณ ชุมแสง

ขอบคุณนะครับ..

ขอบคุณรอยยิ้มน่ารักๆ ในบทสนทนาข้างต้น

ผมดูแล้ว..หัวใจของผมก็พลอยยิ้มไปด้วยเช่นกัน

สวัสดีครับ..วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

อันที่จริง ผมก็เคยคิดที่จะส่งลูกไปเรียนพิเศษ เพื่อเตรียมตัวในเรื่องวิชาการ ดนตรี ศิลปะ หรือกีฬาอยู่บ้างเหมือนกันนะครับ แต่เป็นความคิดชั่วแว้บเท่านั้น  เพราะสิ่งหนึ่งที่ตระหนักเสมอมาก็คือ-ยังไม่ถึงเวลา และที่สำคัญ ลูกๆ ก็ยังมีเวลาอีกเยอะกับเรื่องเหล่านั้น  แต่การส่งกลับบ้านเช่นนี้  จะช่วยให้เขาอยู่ใกล้กับธรรมชาติ และความอบอุ่นของเครือญาติ มีเสรีในการใช้ชีวิตตามบริบทของวัยตัวเอง

ไม่รู้ว่าผิดหรือถูก  แต่ผมก็เชื่อว่า ...ไม่เลวร้ายนักหรอกกับวิธีการเช่นนี้ กระมังครับ

สวัสดีครับ..พี่ ประกาย~natachoei ที่~natadee

ภาพข้างต้น เป็นภาพปีที่แล้ว เดินทางไกลเลยจำต้องแวะฉันเพลริมถนน ครั้งนั้นไปร่วมงานศพยายทวดที่อำนาจเจริญครับ 

จากบันทึก เปลือยความสุข (25) : เดินทางไกล ไปทางเรือ... (ส่งลูกไปเรียนพิเศษที่บ้านนอก ภาค 2)

มาให้กำลังใจเณรดินด้วยค่ะ

หน้าตาเหลื่อมใสไปกับผ้าเหลือง

เลือกเพราะรู้ว่า  นั่นคือ  ห้องเรียนอันทรงคุณค่าของชีวิต 

 

สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน

เข้ามาทักทายค่ะ นอกเรื่องหน่อยนะคะ

มีอะไรดีๆทางนั้น เกี่ยวกับวันสงกรานต์

เก็บมาฝากบ้างนะคะ

ขอบคุณค่ะ

มาตามรอยนวัตกรรม...เรื่องเล่ามีชีวิต ชวนคิด ชวนฝัน

ของคุณแผ่นดิน สงสัยตอนนี้กลายเป็นแฟนคลับไปแล้ว

ทุกเรื่องราวที่เล่าขานล้วนแล้วเเต่เป็นสีสันที่ชวนติดตาม

ถ้าเป็นเพลงก็คงอยากฟังซ้ำ และชวนให้คนอื่นๆได้เข้ามาฟังด้วย

ขอบคุณสำหรับสิ่งดีดีที่หยิบยื่นให้ชาว

G2K ทุกคน

ช่างเป็นภาพชีวิต ที่น่าจดจำของเณรน้อยและครอบครัวที่น่ารักครอบครัวหนึ่งค่ะ

ไม่ทราบจะพิมพ์อะไรลงไปรู้สึกเพียงอิ่มในหัวใจ ชื่นใจสุขใจ และท้ายสุดคือปิติ พ่อเณรน่ารักเหลือเกินค่ะ นี่แหละค่ะพ่อของลูก และลูกของพ่อ ลูกขององค์พระศาสดา ทายาทผู้เจริญธรรม หากเด็กๆได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างถูกต้อง เขาจะยินดีในเส้นทางที่เขาเดิน

ชอบทุกภาพ และภาพนี้ญาติโยมผู้ใส่บาตรเห็นแล้วเชื่อว่าต้องพูดคำว่าสาธุ เช่นครูต้อยนึกอนุโมทนาแน่ค่ะ

 ถ่ายความสุขสู่แผ่นดิน

สวัสดีครับ  พี่เขี้ยว - มนัญญา ~ natachoei ( หน้าตาเฉย)

สำหรับผมแล้ว คำว่า "บ้าน" ยิ่งใหญ่พอๆ กับคำว่า "แต่งงาน"  หลายปีให้หลัง ผมคิดเรื่องบ้านถี่ขึ้น  หลายครั้งเกือบจะกู้หนี้ยืมสินมาซื้อบ้านจัดสรร  แต่จนแล้วจนรอดก็ถอดใจ เพราะไม่ต้องการแบกรับอะไรให้หนักไปกว่าที่เป็นอยู่  ส่วนหนึ่งก็คือ  เหมือนได้ยินเสียงของหัวใจพร่ำเพรียกว่าอยากให้กลับไปอยู่ที่บ้านเกิดแถวชนบทๆ ...

อย่างน้อยก็ไม่ต้องวิ่งหาตังค์ซื้อที่ดิน  ...มีอิสระพอที่จะจัดสรรปันส่วนพื้นที่ให้เป็นไปตามใจปรารถนา..

ครับทั้งปวงนั้นยังเป็นเรื่องที่ยังต้องคิดต้องฝัน..ค่อยเป็นค่อยไป  และก็ไม่รู้หรอกว่าเอาเข้าจริงจะเป็นไปตามนั้นได้แค่ไหน..แต่ก็ย้ำกับตัวเองเสมอว่า ต้องทำให้ดีที่สุด 

บ้าน-เป็นความฝันอันสูงสุดอีกอย่างของชีวิต  ผมไม่อยากเป็นนกที่ไร้รังนอน  ตอนนี้เลยเริ่มทำการบ้านเรื่อง "บ้าน" ทีละนิดทีละนิด ครับ...

....

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ.... แดง

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ..ขอบคุณกัลยาณมิตรที่แนะนำมาสู่บันทึกของผมด้วยเช่นกันครับ...

ผมเองก็ชอบ "ดอกจาน" มากเช่นกันครับ...
เป็นสีสัน ที่มีพลังของท้องทุ่งมากๆ
ผมเองก็เติบโตมากับบรรยากาศเหล่านี้  ทุกวันนี้ก็ยังมีความสุขกับการหวนรำลึกถึงอย่างไม่รู้จบ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน

  • "เรื่องเล่าแห่งชีวิต"  ให้ภาพและความคิดคำนึงได้ดีจังค่ะ
  • ภาพประกอบ ทำให้จินตนาการชัดเจนขึ้น และรู้สึกถึงความอบอุ่น ศรัทธา
  • หวังว่า เมื่อ เณรดิน เติบโตขึ้น จะได้อ่านบันทึกจากพ่อ นะคะ.
  • อ่านบันทึกนี้ดวยความสุขค่ะ
  • สุขในวิถีทางที่เณรน้อยเลือกทำ
  • สุขในวิถีทางที่พ่อแม่ดูแลและปลูกฝัง ไม่ให้ลูกแปลกแยกจากรากเหง้าเดิม
  • ซึ่งขณะนี้แม้แต่ลูกหลานของลำดวนเอง...
  • มักลืมรากเหง้าส่งไปเรียนแล้วไม่ชอบกลับบ้านเกิด...

สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน

 การได้หวนคิดถึงอดีต วัยเด็ก งานวัด งานบุญผเวส

เวลามีงานพี่น้องมารวมกัน... รอยยิ้มเสียงหัวเราะ...

ตอนนี้แถวบ้านไม่ได้เป็นเหมือนเดิมแล้ว

 มีหนังสือที่แนะนำประเทศลาว หลวงพระบาง 2 เล่ม เอามาดูภาพบ่อยๆ...เด็กๆไม่มีรองเท้าใส่แต่ก็มีรอยยิ้ม มัความสุข

 ภาพแม่ใหญ่เตรียมไปวัดเห็นแล้วศรัทธา

                                                        ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

เห็นภาพลูกชายแล้วท่าจะอนาตดไกล

ราศีจับมากๆ เป็นคนมีบุญวาสนาเก่านะ

ทำให้อยากบวช...

วันนี้มาบ้านเกิด...เห็นทุ่งนา วัวตวาย

นอนฟังเสียงฝนตกกระทบสังกะสี...

หวนคิดถึงวัยเด็ก...

เคยอ่านเจอว่า

ประเทศไหนที่รักษา...ประเพณี ธรรมเนียมไว้...

จะยิ่งใหญ่...เช่นญี่ปุ่น ไหมค่ะ

สวัสดีครับ..adayday

ผมดีใจมากที่ลูกๆ เลือกที่จะกลับปใช้ชีวิตกับปู่ย่าในบ้านเกิดของผมเอง เพราะนั่นคือโอกาสอันดีที่เขาจะได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมดีๆ ที่ยังไม่แปลกแยกและซับซ้อนเหมือนสังคมเมือง

ส่วนการเรียนพิเศษในโรงเรียนนั้น ตอนนี้ผมเห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องรีบร้อนก็ได้  สมองเขายังอาจไม่พร้อมที่จะต้องอัดเนื้อหาใดๆ ลงไป ..ผมเชื่อว่าการค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยให้เขามีชีวิตชีวาในการเรียนรู้ชีวิต..

ขอบคุณในข้อคิดดีๆ ที่นำมาฝาก นะครับ...

สวัสดีครับ..คุณKa-Poom

ดีใจที่เห็นการมาเยี่ยมแบบมีร่องรอย..นะครับ (ยิ้ม)...

เกี่ยวกับเรื่อง เสียงแผ่วเบาในจิตใจ ที่ต้องตั้งใจฟังจึงได้ยิน.ที่คุณกะปุ๋มเล่าถึงนั้น ผมเองก็เคยใช้หัวใจฟังเสียงหัวใจของตัวเองมาแล้วหลายครั้งด้วยเช่นกัน เช่น...

การลาออกจากงานในกรุงเทพฯ ทั้งที่สร้างเงินให้กับตัวเองเป็นกอบเป็นกำ เพื่อกลับมาบ้านเกิด

การลาออกจากมหาวิทยาลยแห่งหนึ่ง เพื่อกลับมายังมหาวิทยาลัยของตัวเอง...เพื่อสานต่อในสิ่งที่ตกค้าง

การเลือกที่จะอยู่ในสายสนับสนุนมากกว่าการสอนหนังสือในสถาบันอุดมศึกษา เพราะรู้สึกว่า...วิถีนี้เป็นตัวตนของเรา...มากกว่าสายวิชาการ...

และล่าสุด การปลงใจที่จะกลับไปเริ่มต้นชีวิตที่บ้านเกิดของตัวเอง ก็คือเสียงที่ได้ยินอย่างชัดเจนในวันนี้  ครับ

 

สวัสดีครับ...แสงแห่งความดี

ผมดีใจนะครับที่มีคนชอบในวาทกรรมในบันทึกนี้...

ผมยังยืนยันว่า ชีวิตที่ดีควรผูกโยงด้วยรากเหง้าของตัวเอง... เมื่อได้ดีก็ไม่ลืมตัวลืมตน ลืมเพื่อนพ้องน้องพี่ และเครือญาติ ประมาณนั้น...

ผมว่า นั่นคือสิ่งที่จะเป็นหินก้อนใหญ่ถ่วงจิตใจให้คนเราไม่หลงระเริงไปกับสิ่งเร้าอันแปลกปลอมมากจนเกินไป...

ผมเชื่อเช่นนั้นเสมอมา นะครับ

สวัสดีครับ...berger0123

ขอบคุณสำหรับบทสรุปอันชัดเจนนี้ นะครับ..

รากเหง้าน่าจะหมายถึงเรียนรู้ใจตัวเอง เรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบตัว เข้าใจแก่นชีวต

สวัสดีครับ พี่นงค์ MSU-KM :panatung~natadee

วันนี้ยังยืนยันครับว่าลูกเณรเด็กเกินกว่าที่จะนั่งคุยว่าได้อะไรบ้าง  แต่ก็เชื่อว่า  สิ่งที่ได้จะยังตกตะกอนเป็นผลึกชีวิตอยู่ในตัวตนของตัวเอง ..โตขึ้นคงได้หยิบมาใช้บ้าง ไม่มาก ก็น้อย..

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ...ภัทรานิษฐ์ เจริญธรรม

ตอนนี้ผมเขียนบันทึกเรื่องสงกรานต์บ้างแล้วนะครับ...

เชิญแวะไปเยี่ยมและซึมซับบรรยากาศได้ที่นี่ ..เช่น

http://gotoknow.org/blog/pandin/256023
สงกรานต์ที่บ้านเกิด

 

http://gotoknow.org/blog/pandin/90642

สงกรานต์ : 1,100 กิโลเมตร .. บันทึกการเดินทางของชีวิตในเทศกาลน้ำ (1)

 

http://gotoknow.org/blog/pandin/90724

สงกรานต์ : 1,100 กิโลเมตร .. บันทึกการเดินทางของชีวิตในเทศกาลน้ำ (2)

 

http://gotoknow.org/blog/pandin/90827

สงกรานต์ : 1,100 กิโลเมตร .. บันทึกการเดินทางของชีวิตในเทศกาลน้ำ.. ค่ำคืนที่พ่อทำแผลให้กับผม (3

 

http://gotoknow.org/blog/pandin/91039

สงกรานต์ : 1,100 กิโลเมตร .. บันทึกการเดินทางของชีวิตในเทศกาลน้ำ ..เมื่อเจ้าแดนไทอยากเดินตามก้นพ่อเหมือนเป็ดที่เดินตามก้นเรียงกันเป็นแถว (4)

 

สวัสดีครับ..สุธีรา

ขอบคุณในมิตรภาพที่มอบให้นะครับ..ทำเอาผมรู้สึกเหมือนมรแฟนคลับก็ไม่ปาน..

ขอบคุณมากๆ ครับ

แม้นมีเวลา  ลองแวะไปเล่นสงกรานต์ย้อนหลังที่บันทึกเหล่านี้บ้างก็ได้นะครับ

 

http://gotoknow.org/blog/pandin/91052

สงกรานต์ : 1,100 กิโลเมตร .. บันทึกการเดินทางของชีวิตในเทศกาลน้ำ ..เมื่อแดนไทบอกว่าจะกลับมาอีก (5)

 

http://gotoknow.org/blog/pandin/91292

สงกรานต์ : 1,100 กิโลเมตร .. บันทึกการเดินทางของชีวิตในเทศกาลน้ำ ..เมื่อผมและคนที่รักกินข้าวฮวมพา - กินปลาฮวมปิ้ง (6)

 

http://gotoknow.org/blog/pandin/91876

สงกรานต์ : 1,100 กิโลเมตร .. บันทึกการเดินทางของชีวิตในเทศกาลน้ำ.. ภาพชีวิตเล็ก ๆ ในครอบครัวกลางถนน (7)

 

http://gotoknow.org/blog/pandin/92545

สงกรานต์ : 1,100 กิโลเมตร .. บันทึกการเดินทางของชีวิตในเทศกาลน้ำ..เปลือยท่อนบน..สวนเสเฮฮาในสวนน้ำ (8)

 

 

http://gotoknow.org/blog/pandin/92963

สงกรานต์ : 1,100 กิโลเมตร .. บันทึกการเดินทางของชีวิตในเทศกาลน้ำ ..ซาลาเปาของฝากจากหลานแดนที่ไปไม่ถึง "พ่อปู่" (9)

 

 

http://gotoknow.org/blog/pandin/92978

สงกรานต์ : 1,100 กิโลเมตร .. บันทึกการเดินทางของชีวิตในเทศกาลน้ำ...สิ่งที่ลูกชายคนหนึ่งพึงกระทำด้วยหัวใจ (จบ)

สวัสดีครับ...ปริม

ผมถือว่าเป็นบุญของผมครับที่ลูกสนใจในเรื่องวัดเรื่องวา..

ผมเองก็เป็นเหมือนเด็กวัดมาก่อน จึงรู้ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องวิถีใจที่เราไม่อาจขวางห้ามได้..

ขอบคุณนะครับที่แวะมาเยี่ยมเยียน

สวัสดีค่ะคุณ แผ่นดิน

  • มาเยี่ยมบันทึกดี ๆ ที่น่าเลื่อมใส...

  • รู้สึกอิ่มเอมใจ ...ชอบมาก ๆ ค่ะ ....สาธุ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ  krutoi

ผมชอบคำอธิบายภาพนี้มากๆ

ถ่ายความสุขสู่แผ่นดิน

 ..ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ..pis.ratana

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง นะครับ..

ผมเองก็ตั้งใจแน่วแน่ว่า บันทึกทุกเรื่องที่เกี่ยวกับลูก จะถูกจัดเก็บเป็นรูปเล่ม และส่งมอบให้กับเขาเมื่อโตขึ้น  และส่วนหนึ่งเมื่อเขาต้องไปเรียนไกลจากบ้าน ก็จะมอบเป็นของขวัญให้เขาติดตัวไปด้วย  ...จะได้เป็นเครื่องเตือนใจตัวเขา..ให้เขาสามารถเข้มแข็งพอที่จะหยั่งคิดในเรื่องหลายๆ เรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเขาเอง

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ. อ.ลำดวน

ไม่ว่ายุคสมัยใด  ผมก็ยังจำคำบอกกล่าวของผู้หลักผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดีว่า
"เลี้ยงได้เพียงกาย แต่หัวใจเราเลี้ยงไม่ได้"

ครับ-ผมเชื่อเช่นนั้น
แต่ก็ยังเชื่อว่า ...การเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด จะช่วยให้หัวใจของเด็กๆ เติบโตอย่างมีภูมิต้านทาน
แต่ก็อย่างว่า  สังคมภายนอก  มีพลังมากมายเหลือเกิน
ผมเองก็หวั่นใจว่า  วันข้างหน้านั้น
ลูกๆ ที่ยืนหยัดได้แค่ไหน
แต่วันนี้...พยายามอย่างเต็มที่ไว้ก่อน-ครับ

สวัสดีครับ พี่แดง

เห็นด้วยครับ  ประเทศใดที่รักษาขนบธรรมเนียมของตนไว้อย่างดีเยี่ยม จะเป็นประเทศที่มีความสุข มีความเป็นเอกภาพ และมีความเป็นชาติที่น่ายกย่อง

วันนี้  ผมก็ยังพาลูกๆ กินข้าวเหนียว พูดภาษาอีสาน
และรักสนทนากันถึงความเป็นชาติไทย  ผ่านรูปธงไตรรงค์
และชื่อของเขา

นั่นคือ....แผ่นดิน-แดนไท

ขอบคุณครับ 

สวัสดีครับ สีตะวัน

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม นะครับ

ถือซะว่า...มาร่วมแบ่งปันความสุข..
มาร่วมทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมบล็อก-นะครับ

เป็นบันทึกอมตะนะคะ สะท้อนตัวตนของอาจารย์มายาวนานแล้ว เป็นความดีที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงจริง ๆ 

“ชีวิตที่มีความสุข คือ ชีวิตที่เข้าใจในรากเหง้าของตัวเอง”

บุรุษที่น่ากราบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท