AAR กับ บล็อกและอนุทิน


AAR เป็นเครื่องมือง่ายๆ แต่ทรงพลังมากชิ้นหนึ่ง เป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ทบทวนงานที่ตนเองทำว่าคืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด

เกริ่นนำทาง

ห่างหายไป 2-3 วันกับการเขียนบันทึกเรื่องการนำบล็อกไปเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการความรู้

ซึ่งตัวสี่เองก็ใช่ว่าจะมีความรู้ความสามารถ อาศัยเพียงการอ่านและศึกษาจากบันทึกของหลายๆ ท่านและตีความ สกัดออกมาเท่านั้น

และยังคงต้องศึกษาต่อไป...

เมื่อหลายวันก่อนเขียนเรื่องสุนทรียสนทนากับบล็อก และ เรื่องเล่ากับบล็อกไปแล้ว

มาวันนี้ได้พยายามศึกษาและทำความเข้าใจกับกระบวนการทำ AAR ซึ่งเรียกได้ว่า น่าจะเป็นกระบวนการเดียวที่เคยทำมาก่อน

AAR หรือ After Action Review

AAR หรือ After Action Review ภาษาไทยนั้นแปลหลากหลายเหลือเกินทั้ง "เรียนรู้ระหว่าง" หรือ "ทบทวนหลังกิจกรรม"

สรุปแล้วก็ขอเรียก AAR ต่อไป เพราะไม่ว่าจะเรียกอะไรกิจกรรมและขั้นตอนก็น่าจะคล้ายๆ กันนั่นเอง

AAR นิยมทำหลังจากทำงานชิ้นเล็กๆ สำเร็จ หรืออาจจะนำมาใช้ทบทวนระหว่างการทำงานชิ้นใหญ่ๆ หรืองานประจำได้

AAR เป็นเครื่องมือง่ายๆ แต่ทรงพลังมากชิ้นหนึ่ง เป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ทบทวนงานที่ตนเองทำว่าคืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด มีอุปรรคหรือปัญหา และแนวทางแก้ไขใดบ้าง อีกทั้งยังสามารถเป็นเครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์ของผู้ปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี 

ส่วนใหญ่แล้วจะให้ผู้ร่วมงานนั่งล้อมวงเป็นรูปตัวยู (ตำราว่าอย่างนั้น แต่โดยส่วนตัวแล้ว ขณะทำ AAR ไม่เคยนั่งเป็นรูปตัวยูสักครั้ง) หลังจากนั้นจะให้คนที่อาวุโสน้อยที่สุดเริ่มพูดก่อน เพื่อลดความกดดัน โดยจะบอกว่าขณะนี้ตนเองจะพูดเรื่องกิจกรรมหรืองานใด หลังจากนั้นจะบอกเล่างานของตนออกมา ซึ่งมักจะสอดคล้องกับคำถามเหล่านี้

  1.  
    1. คาดหวังอะไรกับกิจกรรมที่ผ่านมา    หรือ มีวัตถุประสงค์อะไรบ้างกับกิจกรรมที่ผ่านมา
    2. อะไรบ้างที่เกินความคาดหมาย        หรือ วัตถุประสงค์ใดบ้างที่เกินความคาดหวัง เพราะเหตุใด
    3. อะไรบ้างที่ไม่บรรลุความคาดหมาย   หรือ วัตถุประสงค์ใดบ้างที่ไม่บรรลุความคาดหวัง เพราะเหตุใด
    4. ถ้ามีกิจกรรมอย่างนี้อีก จะมีข้อเสนอแนะใดบ้าง หรือควรปรับปรุงเรื่องใด
    5. จะนำความรู้ที่ได้จากกิจกรรมนี้ ไปทำประโยชน์อะไรต่อไป

หากแปลออกมาง่ายๆ ตามใจผู้เขียนก็คือ

  1. ก่อนเริ่มงานนั้น คุณตั้งเป้าหมายและวัตถุประสงค์อะไรไว้บ้าง มีกี่ข้อ อะไรบ้าง
  2. เป้าหมายในข้อ 1 นั้นเป้าหมายใดที่เราทำได้ดีเกินคาด เพราะอะไร
  3. เป้าหมายในข้อ 1 เป้าหมายใดที่ไม่ตรงตามที่คาดหวัง หรือได้น้อยกว่าที่คาดหวัง เพราะอะไร มีปัญหาอุปสรรคใดเกิดขึ้น
  4. จากกิจกรรมทั้งหมดนั้นเราควรที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือ เพิ่มเติมส่วนใด เพื่อให้งานดีขึ้น
  5. เมื่อจบกิจกรรมนี้แล้วคาดว่าจะนำความรู้ที่ได้จากงานนี้ไปปรับใช้กับอะไรได้บ้าง

ซึ่งจริงๆ แล้วในการทำ AAR แต่ละครั้งนั้นอาจจะไม่ต้องตอบครบถ้วนทุกข้อก็ได้ เพราะสี่ก็ไม่เคยพูดครบสักข้อเลยเหมือนกัน

ผลลัพธ์ของ AAR

หากสามารถทำ AAR ได้ทุกวันแล้วจะทำให้สามารถพัฒนางานได้อย่างดี เพราะผู้ปฏิบัติงานจะรู้ว่าขณะนี้ตนวางเป้าหมายใดไว้ และเป้าหมายที่วางไว้นั้นสำเร็จบ้างหรือไม่เพราะเหตุใด เป็นการกระตุ้นให้ active อยู่เสมอ และยังเป็นช่องทางที่จะบอกถึงความก้าวหน้าและอุปสรรคให้กับหัวหน้างานรับทราบอีกด้วย อีกทั้งยังสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยคิด ช่วยแก้ปัญหาได้อีกด้วย

AAR กับ บล็อก

แต่หากไม่สามารถทำได้ทุกๆ วัน เนื่องด้วยเหตุผลใดก็ตาม บล็อกก็เป็นทางเลือกหนึ่งของการทำ AAR ที่น่าสนใจมิใช่น้อย

หลายคนคงบอกว่าการเขียนบล็อกนั้นใช้เวลานานกว่าจะสามารถเรียบเรียงถ้อยคำออกมาได้ แถมบางครั้งก็จำไม่ได้ว่าทำอะไรไปบ้าง ก็อาจจะจริงอย่างที่ว่า 

จึงอยากนำเสนออีกช่องทางหนึ่งที่ชื่อว่า"อนุทิน"

อนุทินนั้นเหมาะที่จะใช้เขียนข้อความสั้นๆ เพื่อเตือนความจำระหว่างวัน จึงเหมาะสำหรับ AAR เป็นอย่างยิ่ง

AAR กับ อนุทิน

  1. ตั้งเป้าหมายของการทำงานในวันนี้ และเขียนไว้ในอนุทิน ไม่ต้องระบุวันเวลาเพราะอนุทินมีให้พร้อมสรรพ :)
  2. เมื่อทำงานบรรลุเป้าหมายหนึ่งอย่าง หรือทำกิจกรรมอะไรสักอย่างแล้วต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ก็ควรเขียนไว้ ในอนุทิน พร้อมทั้งเขียนปัญหาอุปสรรค แนวทางการแก้ไขที่ได้ทำไป หากสามารถระบุเวลาได้ก็ควรระบุด้วย และทำอย่างนี้ตลอดทั้งวัน
  3. เมื่อหมดเวลาทำงาน ให้สละเวลาตนเองสักนิด นั่งทบทวนอนุทินที่ได้เขียนไว้ แล้วนำมาบันทึกไว้ในบล็อกเพื่อจะได้เห็นภาพรวมว่า
  • วันนี้ หรือสัปดาห์นี้ท่านทำอะไรไปบ้าง
  • มีอะไรสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้บ้าง เพราะอะไร
  • และมีอะไรที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะเหตุใด
  • เกิดปัญหาอุปสรรคใด และได้ทำการแก้ไขหรือยัง หากทำแล้วท่านทำอย่างไรบ้าง
  • เกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง และสามารถนำไปปรับใช้กับงานต่อไปได้อย่างไรบ้าง

หรือ

ท่านอาจจะเลือก AAR งานครั้งเดียว โดยสรุปรวมทุกกิจกรรมที่ทำไว้ในบันทึกเดียวหรืออนุทินก็ได้ แต่ก็จงทำใจว่าท่านอาจจะลืมได้ ว่าท่านทำอะไรไปแล้วบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นข้อดี ข้อเสียของการทำแต่ละแบบนั่นเอง

จากวิธีการทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ท่านก็ได้ทำ AAR ทุกวันหรือทุกสัปดาห์แล้ว และยังได้รู้ด้วยว่าเหตุใดงานบางงานจึงช้ากว่าเป้าหมายนัก

โดยเฉพาะถ้าองค์กรของท่านได้ใช้บล็อกเป็นเครื่องมือในงานด้วยแล้วละก้อ นี่คือช่องทางที่ท่านสามารถสื่อสารให้กับหัวหน้างานได้รู้ถึงความคืบหน้าของงาน ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น ไม่แน่ว่าหัวหน้างานของท่านอาจจะเสนอแนะแนวทางการทำงาน และช่วยแก้ปัญหาให้ท่านโดยที่ท่านไม่ได้เรียกร้องเลยก็เป็นได้ หรือท่านอาจจะได้กำลังใจและข้อเสนอแนะดีๆ จากสมาชิกท่านอื่นๆ ก็เป็นได้

เห็นไหมค่ะว่าง่ายนิดเดียว แต่

ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งวันนะ

หลายคนบอกว่านี่ก็ยังเป็นเรื่องยาก เพราะไม่ได้ใช้อินเตอร์เน็ตตลอดเวลา และจะบันทึกตลอดนั้นคงไม่ได้เดี๋ยวโดนเพ่งเล็ง แต่ครั้นบันทึกวันละครั้งหรือสัปดาห์ละครั้งก็จะลืม วิธีนี้แก้ง่ายกว่าที่คิด แต่อาจจะต้องใช้วิธีเดิมๆ กันและอดทน บวกพยายามสักนิด นั่นคือ

เขียนบันทึกลงกระดาษหรือสมุดโน๊ตสั้นๆ กันลืม เมื่อครบวันหรือสัปดาห์จึงนำมาประมวลลงบันทึกต่อไป

เพียงเท่านี้ท่านก็ได้ทำ AAR ทุกวันแล้ว แต่อาจจะมีคำถามว่าถ้าเขียนลงบันทึกแล้วทำไมต้องมาเขียนในบล็อกให้ยุ่งยากอีก สี่ก็มีเหตุผลดีๆ นำเสนอเช่นกัน

ข้อดีของการเขียน AAR ในบล็อก

  1. เขียนบันทึกนั้นเมื่อเวลาผ่านไปอาจจะสูญหาย เขียนในบล็อกไม่หาย
  2. เพื่อใช่เป็นช่องทางสื่อสารกับหัวหน้างาน
  3. เพื่อเป็นวิทยาทานให้กับคนอื่นที่อาจจะทำงานแล้วมีปัญหาอุปสรรคเช่นเดียวกัน
  4. เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันกับสมาชิกท่านอื่นๆ
  5. ช่วยลดโลกร้อน ประหยัดกระดาษ กรณีที่บันทึกลงบล็อกเลย

เห็นไหมค่ะว่ามีมากมายหลายเหตุผลดีๆ ทั้งนั้น สนใจร่วมทำ AAR กับบล็อกกันไหมค่ะ ??

ท้ายที่สุดฝากบันทึกนี้ให้ท่านสมาชิกช่วยดู ช่วยอ่าน และช่วยเสนอแนะ แลกเปลี่ยนเรียรู้เพื่อเป็นการพัฒนางานต่อไปค่ะ

ปล. อยากเขียนว่าช่วยแนะนำเพราะสี่กลัวหลงประเด็น แต่อาจารย์ Wasawat Deemarn ห้ามไว้ บันทึกนี้สี่จึงมิได้เขียน เพราะศิษย์ที่ดีควรฟังที่อาจารย์เตือนค่ะ :)

 

อ้างอิง

หนังสือผู้บริหารองค์กรอัจฉริยะ ฉบับนักปฏิบัติ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

หนังสือการจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

หนังสือ KM วันละคำ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

และขอบคุณบันทึกของสมาชิกชาว GotoKnow.org  ซึ่งติดตามอ่านได้คำสำคัญ AAR

หมายเลขบันทึก: 253347เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2009 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (37)

ขอบคุณค่ะ  ที่นำสิ่งที่ดี มาแบ่งปัน  ครูอ้อยจะติดตามอ่านต่อไปนะคะ

ขอบคุณค่ะคุณครูอ้อย

คุณครูสบายดีนะค่ะ อากาศเปลี่ยแปลงบ่อย รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

สวัสดีครับ  หากไม่ได้เข้ามาบันทึกนี้เสียดายแย่เลย  ได้รับสิ่งดีดีเติมเต็มให้กับตัวเอง  ขอบพระคุณมากครับ โชคดี

สวัสดีค่ะท่าน ผอ

ขอบคุณมากค่ะ สิ่งดีๆ หาได้จากทุกๆ บันทึกใน GotoKnow เลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • แม่ลิง..มาเยี่ยมน้องสี่ค่ะ
  • เจอลูกลิง..จับส่งแม่ด้วยนะคะ

ฮัดเช่ย !! ครายพาดพิงผม :)

สวัสดีค่ะคุณครูคิม

โอ้โห! เสื้อสวยจังค่ะ นางแบบโพสท่าได้เยี่ยมมากเลยค่ะ

ว่าแต่ถ้าสี่สมัครเป็นลูกลิง สี่จะหาเสื้อแบบนี้ได้ที่ไหนค่ะ

รักและคิดถึงค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ Wasawat Deemarn

มายกมือบอกว่าสี่พาดพิงเองค่ะ

วันนี้อาจารย์มาแปลกจัง ไม่มีคำแนะนำมาด้วย

ขอยกมือถามอีกรอบค่ะ (แบบนอกเรื่องค่ะ)

ว่านามแฝงของอาจารย์นั้นมากจากนามขององค์วัสวสดีมารรึเปล่าค่ะ) ^_^

สวัสดีครับ น้อง สี่ซี่ ที่พาดพิง ฮัดชิ้ว !!!

AAR ของ "การไม่แนะนำ" คือ

1. ไม่ได้อ่านบันทึกโดยละเอียด

2. แอบเห็นชื่อของตัวเองก่อนพาดพิง

3. หมั่นไส้ อิ อิ ... ที่ชอบคำว่า "หลงประเด็น"

4. ไม่มีความรู้เรื่อง AAR อะไรนี่เลย

5. น้อง สี่ซี่ เรียนจบสาขาใดมา ... ข้อมูลประกอบการแลกเปลี่ยน

6. ปวดหัว ปิดใจ และขี้เกียจเขียน AAR

7. เรื่องทำงานในองค์กร ปวดตับ

8. รีบกลับบ้าน

9. น้อง สี่ซี่ คือ เจ้าหนูจำไม ... ในอิคิวซัง

10. AAR คล้าย ๆ ER ห้องฉุกเฉินหลังการทำงาน

 

อิ อิ .... คิดให้นอกระบบความคิดเข้าไว้ แล้วจะพบสิ่งแปลกใหม่เอง

 

ที่มาของชื่อ "วสวัตดีมาร" นี่คือคำตอบของคำถามครับ

ขอบคุณที่เอ่ยถึงแบบ OFTEN ไม่ใช่ ALWAYS นะครับ 555

ขอบคุณค่ะอาจารย์

  • นามแฝงอาจารย์ใช่อย่างที่คิด เพราะน่าจะอ่านเรื่องเดียวกัน แต่สี่แค่ยืมมาอ่าน เลยไม่มีอ้างอิงที่ถูกต้อง ลองถามพี่ google แล้ว ได้คำตอบว่าเขียนเช่นนั้น แหมสุดท้ายพี่ google ของเราก็ผิดจนได้
  • จากคำถามข้อ 5 สี่จบพยาบาล แต่ทำงานคนละทางกับที่เรียนมาค่ะ เหตุผลอยู่ที่นี่ค่ะ
  • อิอิ สี่กลายเป็นเจ้าหนูจำไมไปแล้ว ถ้าอย่างนั้นอาจารย์เป็นอิคิวซังให้หน่อยสิค่ะ

 

สวัสดีค่ะอาจารย์ Wasawat Deemarn

AAR คล้าย ER หลังการทำงาน แสดงว่าต้องรวดเร็ว แม่นยำ สินะค่ะ

เฮ้อ กว่าหนูจะคิดออก ต้องไปอ่านบันทึกมาหลายเรื่องเชียวค่ะ สมองไม่ค่อยได้ลับคมจริงๆ ด้วย

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ พี่สี่ซี่

AAR บางครั้งก็ปรับตามวัฒนธรรมขององค์กรด้วยค่ะ แล้วแต่สไตล์นะคะ

สวัสดีค่ะพอลล่า

จริงค่ะพอลล่า องค์กรพี่คนไม่มากเท่าไหร เลย AAR กันทุกเรื่องที่ทุกคนทำ มีคำแนะนำเมื่อเราติดขัด ไม่เคยนั่งเป็นรูปตัวยู แต่นั่งตามใจฉัน ไม่เคยเริ่มที่ผู้น้อยก่อน แต่เริ่มที่ใครอยากพูดก่อนก็พูดค่ะ

แล้วของพอลล่าเป็นอย่างไรค่ะ เล่าให้ฟังบ้างสิค่ะ

ขอชื่นชมบันทึกนี้ค่ะว่าเป็นข้อสรุปแนะนำกระบวนการ AAR ได้ดีมากทีเดียว เรียกว่าเป็นบันทึกประกอบสำหรับหัวข้อ การจัดการความรู้ ได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ น้องสี่น่าจะเติม tag คำว่า KM, การจัดการความรู้ ด้วยก็ดีนะคะ ขึ้นไปดู tag เลยได้เห็นว่า น.หนูในแลกเปลี่ยนเรียรู้หายไปด้วยค่ะ อิ...อิ..

สวัสดีคีพี่สี่ซี่

ห่างหายไปนานค่ะ ตามมาทักทายพี่สาว อิอิ

สบายดีนะคะ

สวัสดีค่ะ

  • รอฟังเรื่องเล่าจากยะลาค่ะ
  • รักและคิดถึงค่ะ
  • ข้อดีของ AAR มีมากมายและมีประโยชน์มากจริง ๆ ค่ะ
  • การจัดการความรู้ที่เป็นระบบใน Blog จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจและเกี่ยวข้องในวงการวิชาการนั้น ๆ มากค่ะ
  • จะขอนำความรู้ที่คุณสี่ซี่รวบรวมไว้ไปเผยแพร่ต่อและกระตุ้นให้คนที่ทำงานเผยแพร่ความรู้ประสบการณ์ที่เป็น tacit knowledge ออกมาให้ปรากฎแก่อนุชนรุ่นหลังให้ได้ค่ะ
  • ตอนนี้ปัญหาในหน่วยงานที่เจอคือคนที่กำลังเกษียณอายุราชการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านถูกขอให้ทำงานต่อในลักษณะการจ้างปีต่อปีค่ะ เพื่อถ่ายทอดสอนงานและอบรมให้แก่รุ่นน้อง
  • บางท่านก็คงเต็มใจอยากอยู่ต่อ หากไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ ขณะที่บางท่านก็คงอยากพักผ่อนเต็มที  ดังนั้น การเขียน Blog โดยการทำ AAR จะเป็นการตอบโจทย์ที่ดีของผู้บริหารนะคะ  เพราะเท่าที่ศิลาประสบ ..การเขียนเพราะอยากจะเขียน ต่างจากการเขียนเพราะถูกผู้ใหญ่สั่งให้เขียนไว้เป็นคู่มือปฏิบัติงาน...
  • ขอบพระคุณค่ะ

AAR เป็นเครื่องมือง่ายๆ แต่ทรงพลังมากชิ้นหนึ่ง เป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ทบทวนงานที่ตนเองทำว่าคืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด

 

มาเรียนรู้และทบทวนคำนี้

ทรงพลัง ค่ะ

มาเก็บเกี่ยวเอาไปใช้ครับ ขอบคุณมากครับ

มาเรียนรู้วิธีคิดคะ ขอบคุณมากคะ

สวัสดี+ขอบคุณค่ะพี่โอ๋

สี่เติมคำว่า KM และการจัดการความรู้ เรียบร้อยแล้วค่ะ แก้ไขเรียบร้อยแล้วด้วยค่ะ

เขินจังค่ะพี่โอ๋ เขียนภาษาไทยแต่สะกดผิดเรื่อยเลยค่ะ ^_^

สวัสดีค่ะหนูนา( กล้วยแขก~natadee~natachoei♥.•°♥ )

ยินดีต้อนรับค่ะ คิดถึงจังเลย ไปตี่ใดมาค่ะ

สบายดีไหมเอ่ย ^_^

สวัสดีค่ะคุณครูคิม

เพิ่งกลับมาถึงสดๆ ร้อนๆ เลยค่ะ

ไม่มีรูปถ่ายแต่มีเรื่องมาเล่าเยอะเชียวค่ะ

รักและคิดถึงเช่นกันค่ะ

ขอบคุณค่ะพี่ศิลา (Sila Phu-Chaya)

สี่ยินดีมากค่ะ หากบันทึกที่มีจะมีประโยชน์ต่อผู้อื่นบ้างค่ะ

จะรออ่านเรื่องเล่าดีๆ จากพี่ศิลานะค่ะ ^_^

สวัสดีค่ะอาจารย์ Wasawat Deemarn

ขอบคุณมากค่ะ ^_^

สวัสดีค่ะพี่หมอเล็ก (ภูสุภา)

ทบทวนและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันนะค่ะพี่หมอเล็ก

พี่หมอสบายดีนะค่ะ

ขอบคุณค่ะ  เป็นเรื่องที่ดีค่ะทำให้ได้รับความรู้และเป็นประโยชน์มากเลยค่ะ

                      

สวัสดีค่ะอาจารย์บวร

ยินดีอย่างยิ่งค่ะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ ตรรกะนนท์

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณครูตุ๊กตา

ขอบคุณมากค่ะ ยินดีที่คุณครูแวะมาค่ะ

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านเพื่อ AAR ตัวเองในการเขียนบันทึกค่ะ

ส่วนตัวแล้ว มักจะ AAR ทุกครั้งหลังงานเสร็จ แต่ปัจจุบัน หันมาทำ AAR ระหว่างงานด้วยค่ะ

และกำลังคิดที่จะ AAR....ทุกวันอีกด้วยค่ะ

ขอบคุณข้อคิดที่เป็นประโยชน์นะคะ

(^___^)

สวัสดีค่ะพี่คนไม่มีราก

ขอบคุณค่ะพี่ AAR มีประโยชน์มากค่ะ ช่วยให้ทราบว่างานถึงไหน มีอะไรต้องแก้ไขปรับปรุง ขณะนี้ สี่ก็กำลังพยายามทำเช่นกันค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีดีค่ะ

  • ปกติไม่ค่อยจะเป็นคนชอบเขียนสักเท่าไร  แต่เมื่อมีวัยวุฒิขึ้น  ถ้าไม่เขียนจะลืมเลย
  • จริงๆแล้วพี่ไม่ค่อยเข้าใจหรอกน่ะ AAR และอนุทิน มาอ่านที่น้องอธิบายไว้  จึงเข้าใจมากยิ่งขึ้น ขอบคุณค่ะ

 

แวะมาเยี่ยม มาชื่นชมการเขียนที่มีกระบวนคิดกระบวนความที่ชัดเจน

ขอบคุณภาพสะท้อนดีๆ ที่ปรากฏในบันทึกนี้ นะครับ

ตั้งแต่มีโกทูโน..ผมก็แทบเลิกเขียนบันทึกในสมุด และหันมาเขียนในบล็อกแทน

สวัสดีค่ะคุณภาศรี

เห็นด้วยค่ะ ว่าหากไม่จดบันทึกไว้ มักจะลืมทุกที

สี่ก็เป็นค่ะ บล็อกจึงเป็นทางเลือกที่ดีค่ะ ^_^

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะพี่แผ่นดิน

ขอบคุณมากค่ะพี่ เช่นกันค่ะ โกทูโนเป็นสมุดบันทึกเล่มใหญ่ค่ะ ยิ่งอ่านยิ่งได้ความรู้ ยิ่งบันทึกความรู้ยิ่งแตกยอดค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท