เรื่องน่ารู้ก่อนเพาะพันธุ์สุนัขขาย


เรื่องน่ารู้ก่อนเพาะพันธุ์สุนัขขาย

เรื่องน่ารู้ก่อนเพาะพันธุ์สุนัขขาย

 

ใครต่อใครหลายคนเลี้ยงสุนัขไว้เป็นเพื่อนแก้เหงา บ้างเลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน แต่วัตถุประสงค์เหล่านี้ล้วนมาจากความน่ารัก ความซื่อสัตย์ในตัวสุนัขเอง ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้สนใจเพาะพันธุ์สุนัขกันมากขึ้น และผู้เพาะพันธุ์ควรศึกษาเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เพราะการเพาะพันธุ์สุนัขไม่ง่ายอย่างที่คิด


การเลี้ยงสุนัขให้ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญ คือ

1. สายพันธุ์สุนัขที่ดี โดยการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีมาเลี้ยง
2. การจัดการที่ดี การดูแลสุนัขให้มีสุขภาพ แข็งแรง ปราศจากความเครียดต่างๆ
3. การป้องกันโรคที่ดี ฟาร์มต้องมีสุขาภิบาลที่ดีและป้องกันโรคที่ร้ายแรงของสุนัขด้วย โดยมีโปรแกรมฉีดวัคซีนที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ

 


การผสมพันธุ์สุนัขให้ประสบความสำเร็จ ผู้เลี้ยงจะต้องรู้จักธรรมชาติของสุนัขในแง่มุมต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย

1. ลักษณะของสุนัข


สุนัขตัวผู้

สุนัขตัวผู้จะโตเป็นหนุ่มเมื่ออายุได้ 6 เดือน หรือเมื่ออัณฑะสุนัขลงถุงแล้ว ก็สามารถผสมพันธุ์ได้ แต่สุนัขจะสมบูรณ์ เมื่ออายุประมาณ 9-12 เดือน ถ้าผู้เลี้ยงไม่ต้องการให้สุนัขผสมพันธุ์ ก็ควรจะทำหมันเสีย สำหรับสุนัขที่ไม่ทำหมัน มักจะมีนิสัยก้าวร้าว ชอบกัดกัน วิ่งไล่รถมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ เช่น ชอบขี่ขาคน หรือขึ้นขี่เด็กๆ เห่าหอน เป็นต้น


สุนัขตัวเมีย

สุนัขจะเข้าสู่ระยะเป็นสาวและเริ่มเป็นสัดครั้งแรกเมื่ออายุแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาดของพันธุ์ และการจัดการ แต่โดยเฉลี่ยจะมีสัดครั้งแรกประมาณ 6-24 เดือนหรือมากกว่า สุนัขเป็นสัดเฉลี่ยปีละ 2 ครั้ง

2. วงจรการเป็นสัดของสุนัข


วงจรการเป็นสัดของสุนัข สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ คือ


1. ระยะก่อนสัด (PRO-OESTRUS) ระยะนี้โดยเฉลี่ยใช้เวลา 9 วัน อาการที่บ่งบอก ได้แก่ ปากช่องคลอดเริ่มบวมขึ้น มีน้ำเมือกใสข้นไหลออกมา บางทีอาจไม่พบเมือกเพราะแม่สุนัขกินหมด สุนัขถ่ายปัสสาวะบ่อย แต่มีน้ำปัสสาวะน้อยและมีการปล่อยสาร PHEROMONES ดังนั้น จะเริ่มพบว่ามีสุนัขเพศผู้มาติดพัน

2. ระยะสัด (OESTRUS) เป็นระยะที่นับจากการที่สุนัขตัวเมียยืนนิ่งยอมให้ตัวผู้ผสม จนถึงระยะที่ตัวเมียไม่ยอมให้ตัวผู้ผสม โดยเฉลี่ยใช้เวลา 9 วัน เป็นระยะที่มีการตกไข่มากจากรังไข่ ดังนั้น ผู้เลี้ยงจะต้องเช็คระยะนี้ให้ถูกต้องแม่นยำเพื่อการเพาะพันธุ์ลูกสุนัข

3. ระยะหลังสัด (METOESTRUS) ระยะนี้ใช้เวลา 90 วัน ท้องเทียมมักเกิดในช่วงดังกล่าว

4. ระยะพัก (ANOESTRUS) เป็นระยะที่รังไข่หยุดกิจกรรม จากระยะหลังสัดถึงระยะพักเฉลี่ยแล้วประมาณ 4-6 เดือน การที่ผู้เลี้ยงสุนัขเข้าใจวงจรการเป็นสัดของสุนัข จะช่วยให้ผู้เลี้ยงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ได้ง่ายขึ้น

3. การตั้งท้อง


สุนัขมีระยะเวลาการตั้งท้องประมาณ 55-64 วัน และจะสามารถตรวจได้เมื่อตั้งท้อง 4-6 อาทิตย์ โดยการคลำตรวจหรือการเอ๊กซเรย์ในวันที่ 45 ของการตั้งท้อง หรืออาจสังเกตจากอวัยวะเพศ

การดูแลสัตว์ในช่วงท้อง มีตั้งแต่การให้อาหาร โดยในช่วงเดือนแรกของการตั้งท้องผู้เลี้ยงควรให้ปริมาณปกติ เมื่อท้องได้ 5 สัปดาห์ ปรับปริมาณอาหารที่ให้พลังงานเพิ่มอีก 20-30% โดยเฉพาะตับ ไข่ นม หรืออาหารที่มีโปรตีนในช่วงท้ายของการตั้งท้องและช่วงให้นม เพราะลูกจะได้รับอาหารที่แม่สะสมไว้ แม่หมาจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนหลัง เมื่อน้ำหนักเพิ่มควรให้ปริมาณอาหารเพิ่มด้วย เน้นพวกโปรตีน ในสุนัขพันธุ์เล็กที่กินอาหารน้อยอยู่แล้ว ควรเพิ่มปริมาณอาหารที่มีไขมันปน เพื่อจะได้รับพลังงานด้วย อย่าให้อาหารมากเกินไป เพราะถ้าสุนัขอ้วนแล้วจะทำให้คลอดลำบาก ควรให้แม่สุนัขออกกำลังกายพอสมควร เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง การให้เดินออกกำลังกายก็เพียงพอแล้ว

การถ่ายพยาธิในแม่พันธุ์ ควรจะถ่ายพยาธิปีละ 3-4 ครั้ง รวมทั้งช่วงกลางของการตั้งท้อง โดยถ่ายให้ครอบคลุมพยาธิทุกชนิด

ภาวะท้องเทียม

ภาวะท้องเทียมจะเหมือนกับการตั้งท้อง คือ หลังจากผสมพันธุ์ประมาณ 5-6 สัปดาห์ แม่สุนัขจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นแต่ไม่ท้อง ภาวะท้องเทียมนี้อาจเกิดได้ในสุนัขที่เคยตั้งท้องปกติ ภาวะนี้ อาจโน้มนำให้เกิดปัญหามดลูกอักเสบและมะเร็งเต้านมได้ วิธีแก้ไขก็ด้วยการฉีดฮอร์โมนเพื่อให้น้ำนมหยุดไหล และทางที่ดีที่สุดคือ การทำหมัน

4. ความผิดปกติหลังการคลอด


มักจะไม่เกิดกับสุนัขที่เจ้าของให้อาหารอย่างถูกต้องและเลี้ยงดูอย่างถูกวิธี ปัญหาที่มักพบหลังคลอด ได้แก่ รกค้างมดลูกเข้าอู่ไม่สมบูรณ์ มดลูกอักเสบ ไม่มีน้ำนม เต้านมอักเสบ และอาการชักเนื่องจากขาดแคลเซียม

รกค้าง (RETAINED PLACENTA)

ในกรณีสงสัยว่ารกค้าง จะสังเกตได้จากมีน้ำสีเขียวเข้มจนถึงคล้ำไหลออกมาจากช่องคลอดต่อเนื่องเกิน 12 ชั่วโมง ถ้าคลำท้องจะพบว่ามดลูกมีขนาดใหญ่เป็นลูกคลื่น อาการรกค้างพบในแม่สุนัขที่คลอดลูกนานกว่าปกติ และสุนัขพันธุ์เล็ก (TOY BREED) ดังนั้น เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากรกค้าง ผู้เลี้ยงควรจะนับรกเวลาทำคลอดด้วยและเมื่อพบว่ามีรกค้างเกิดขึ้น ควรรีบพาสุนัขไปพบสัตว์แพทย์โดยเร็วที่สุด

มดลูกอักเสบ (METRITIS)

ปัญหานี้มักเกิดในสัปดาห์แรก ภายหลังการคลอดหรือแท้งลูก ทั้งนี้ เพราะมีการติดเชื้อเข้าไปในมดลูก ปัจจัยที่ทำให้เกิดมดลูกอักเสบ ได้แก่


- ลูกหรือรกค้างอยู่ในมดลูก

- การเอาเครื่องมือที่สกปรก สอดเข้าไปในช่องคลอด ในเวลาทำคลอด

- สิ่งแวดล้อมขณะทำคลอดสกปรก

- กล้ามเนื้อมดลูกเปื่อย

ปัญหาที่เกี่ยวกับการให้นม

การให้นมลูกของแม่สุนัขขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้ ได้แก่ พันธุกรรม สุขภาพปัจจุบัน โปรแกรมการให้อาหาร ปัญหาเรื่องการให้นม ประกอบด้วย ภาวะไม่มีน้ำนม เต้านมบวมน้ำ เต้านมอักเสบ เพราะฉะนั้น การคัดเลือกประวัติแม่สุนัขที่มีสุขภาพแข็งแรง การให้อาหารที่สมดุลย์ จะช่วยลดปัญหาภาวะไม่มีน้ำนมได้

ภาวะไม่มีน้ำนมนั้น เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงภาวะความผิดปกติของการให้นมของแม่สุนัข สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความผิดปกติของฮอร์โมน หรือความผิดปกติของต่อมน้ำนม ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำนม ผู้เลี้ยงควรจะรีบพาสุนัขไปพบสัตว์แพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะภาวะผิดปกติเช่นนี้จะไม่เพียงแต่จะมีผลกับแม่สุนัขเท่านั้น หากยังส่งผลต่อลูกสุนัขอีกด้วย

 

ที่มา http://www.ismed.or.th/SME2/src/bin/controller.php?view=knowledgeInsite.KnowledgesDetail&p=&nid=&sid=51&id=1785&left=54&right=55&level=3&lv1=3

 

รู้จักสุนัขก่อนคิดผสมพันธุ์ขาย

คำสำคัญ (Tags): #ผสมพันธุ์#สุนัข
หมายเลขบันทึก: 252120เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2009 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2014 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท