สื่อมวลชนกับการสร้างปัญญาของสังคม


มาช่วยกันสร้างสื่อที่มาจากมวลชนในระหว่างรอสื่อกระแสหลักพัฒนาให้มีพื้นที่ทางปัญญาให้มากกว่านี้

วันนี้ดูข่าวทีวี (ปกติไม่ค่อยได้ดูช่วงกลางวัน และช่วงกลางคืนก็เลิกดูมาพักใหญ่แล้ว) เลยคิดถึงคำพูดของอดีตคนทำข่าว CNN ที่เคยไปพูดในการประชุมที่จัดโดย US CDC ว่าด้วยเรื่องการเอางานวิจัยไปใช้ประโยชน์

คนทำงานวิชาการ โดยเฉพาะในประเทศที่มีเสรีภาพทางสื่อค่อนข้างสูงจะเชื่อกันมากว่า สื่่อมวลชนเป็นภาคีสำคัญในการสื่อเรื่องราวดีๆ ให้กับสังคม โดยเฉพาะความรู็ใหม่ๆจากการวิจัย และพย่ายามชักชวนสื่อมวลชนให้เข้ามามีบทบาทในลักษณะดังกล่าว

นักข่าวจาก CNN ท่านนั้นถูกเชิญให้มาเล่าประสบการณ์ในฐานะนักข่าว เพื่อแนะนำนักวิชาการว่าควรจะทำงานกับสท่อมวลชนอย่างไร

ผมตกใจมากเมื่อได้ยินเขาบอกว่า เขาเลิกทำงานที่ CNN แล้ว เพราะเขาคิดว่า แนวคิดเรื่องการทำข่าวไม่เหมือนกัน เพราะสำหรับสำนักข่าวอย่าง CNN สื่งสำคัญคือทำให้ข่าวน่าสนใจ พสกเขาไม่ได้ทำข่าว แต่พวกเขากำลังทำธุรกิจบันเทิง

ข่าวที่ผมได้ยินวันนี้จากโทรทัศน์ เป็นข่าวว่าด้วยความสัมพันธ์ของเสี่ยกับนักแสดงหนุ่ม (บางคนอาจพอทราบว่าผมพูดถึงข่าวอะไร ถ้าไม่ทราบก็คงอย่าไปทราบมันเลยครับ) อีกข่าวพูดถึงนักแสดงทีแม่ไปประกาศตามหาที่โรงพัก แต่ที่สุดก็ได้พบกัน แล้วปรากฏว่านักข่าวไปถามถึงพ่อ กลายเป็นการค้นพบความลับว่าด้วยเรื่องครอบครัวที่เจ้าตัวก็อาจจะไม่อยากให้ใครรู้ แต่ก็มารั่วไป เพราะนักข่าวไปรู้เข้าโดยบังเอิญ

ผม่คิดว่า เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เราบริโภคทุกวันนี้เป็นข่าว หรือเป็นเรื่องบันเทิง แต่ผมเชื่อว่า ข่าวที่เราอ่านและรายการที่เราดู ฟัง อ่าน ล้วน มีอิทธิพลต่อวิธีคิด และวิธีมองสังคมของเรา

และผมเชื่อว่า คนในวงการสื่อมวลชนมีหน้าที่ในการเรียกร้องให้สังคมได้มีสื่อที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ใช่มีแต่สื่อที่มุ่งขายความบันเทิง หรือทำเพราะเป็นไปตามกลไกตลาด

เรื่องแบบนี้ไม่ง่าย แต่ก็ต้องทำ เพราะมีเรื่องมากมายที่ไม่ง่าย

ผมเป็นหมอ และรู้สึกตลอดเวลาว่า ถ้าสังคมทยไม่จัดระบบให้ดี ก็คงไม่มีใครอยากไปทำงานในชนบท เพราะคนมีอำนาจซื้อนั้นอยู่ในเมือง และผมเชื่อว่ารัฐบาลกับ แพทยสภามีหน้าที่ คิดว่าระบบควรเป็นอย่างไร เพื่อให้เรามีแพทย์ในชนบท และคนชนบทมีคนดูแลสุขภาพ ไม่ใช่แค่คนไปขายบริการตามความต้องการ

บางทีอาจต้องถึงขั้นควบคุมการทำงานที่มีลักษณะทีเป็นอันตรายต่อสังคม ไม่ปล่อยให้อ้างได้ว่าเป็นเรื่องของ ตลาดต้องการ ก็ย่อมมีความชอบธรรมที่จะสนองตอบต่อความต้องการของตลาด

เพราะยาเสพติดก็มีตลาดของมัน แต่สังคมคงไม่ต้องการให้ตลาดนี้เติบโตขยายตัวตามความต้องการ แต่คงต้องการคนมาดูแลไม่ให้มันเติบโตขยายตัว

พูดเรื่องสื่อ แล้วไปต่อถึงเรื่องยาเสพติด เพราะอยากจะเห็นว่า กลไกสื่อ และกลไกรัฐมาช่วยกันทำให้เรามีสื่อที่สร้างเสริมปัญญา และมาช่วยกันกำหนดกติกา (ในหมู่วิชาชีพสื่อ) ที่จะช่วยกันเพิ่มพื้นที่ดี ลดพื้นที่ลบ

อะำไรดี อะไรลบ ช่วยกันหา ช่วยกันถกเถียง แล้วนำเสนอต่อสังคมให้ใสัดส่วนของเรื่องดีๆให้มากขึ้น ก็น่าจะช่วยได้ดี

ในฐานะคนชอบดูหนังมีหนังสองเรื่องที่อยากให้ทุกคนไปหามาดู ไม่ว่าจะเป็นคนทำสื่อ หรือคนบริโภคสื่อ

เรื่องนึงนานกว่า 5 ปี แล้วชื่อ quizshow ที่ทำให้ผมได้รู้ว่า แม้กระทั่งรายการเกมส์โชว์ที่ดูเหมือนเป็นการแข่งขันที่อาศัยความสามารถนั้น แท้จริงก็อาจเป็นเพียงการแสดง เหมือนมวยปลำ้้ที่มีคนชอบดูกันอยู่ไม่น้อย

อีกเรื่องคือ good night and good luck หนังเข้าชิงออสการ์ปีล่าสุด แต่ไม่ได้สักรางวัล ที่พูดถึงนักข่าวที่มีตัวตนจริงๆ ชื่อ edward R morrow กับนักการเมืองอิทธิพล McCarthy นักปลุกผีคอมมิวนิสต์ แถมด้วยเบื้องหลังธุรกิจทีวีที่มีอืทธิพลต่อคนดู แต่ตัวเองก็ถูกควบคุมด้วยอิทธิพลทางธุรกิจที่เชื่อมกับการเมืองอีกต่อหนึ่ง

ดูแล้วอาจจะทำให้เราตั้งตัวได้ดีขึ้น ในสภาวะสังคมไทยที่ เรายังต้องมีการพัฒนาคุณภาพสื่อกระแสหลักกันให้มากกว่านี้อีกมาก 

และอาจจะอยกาช่วยกันผลักดันให้มีกลไกและกติกาในสังคมไทยที่จะช่วยให้สื่อดีๆมีที่ยืนที่มั่นคงกว่านี้ มากกว่าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด แต่เพียงอย่างเดียว

หรือไม่พวกเราที่มีปัญญาก็มาช่วยกันสร้างสื่อที่มาจากมวลชนอย่างแท้จริง (ผมเขียนไว้ใน  http://gotoknow.org/archive/2006/04/22/23/09/55/e25057 ) เผื่อจะเป็นทางเลือกของคนอยากได้ข้อมูล และความรู้ที่หาไม่ได้ง่ายนักในสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ และอาจจะอีกนานกว่าจะมีที่ยืนที่มั่นคงกว่านี้ในสังคมไทย

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 25116เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2006 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยกับอาจารย์ในหลายๆแง่มุมค่ะ แต่เราจะสังเกตว่าสื่อจะขายได้ดี เมื่อมีเรื่องประเภทไม่สร้างสรรค์ ก็คือคนเราสนใจกับเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น มากกว่าข่าวสร้างสรรค์ แล้วจะให้เขาไม่จับได้อย่างไร สื่อที่เป็นกลุ่มสร้างสรรค์ก็ไม่สามารถสู้ได้ คงจะเป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องการเห็นสังคมเดินไปในทางที่ดีขึ้น ที่จะช่วยกันกระตุ้นเตือนให้คนไทย"คิด"กันมากขึ้น "ชี้นำ"สื่อไปในทางที่เหมาะสมมากขึ้น สร้างคนรุ่นใหม่ที่มองเรื่องสร้างสรรค์มากขึ้น

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ดูจะยากค่ะ แต่ก็คงไม่มีอะไรดีกว่า "ทำ ทำ ทำ เท่าที่จะทำได้" นั่นแหละค่ะ

เวลามีนักข่าว หรือคนในวงการมาบอกผมว่า ก็ชาวบ้านเขาชอบ ถ้าไปทำข่าวแบบอื่นเขาก็ไม่ซื้อ ผมมักจะนึกถึงสองเรื่องที่ผมคุ้นเคย

หนึ่งคือเรื่องหมอ เพราะเราก็รู้ว่ามีหมอบางประเภททำเงินได้ดีกว่าหมอประเภทอื่น แต่ความจริงก็คือ หมอส่วนใหญ่ยังไม่ได้วิ่งไปทำงานประเภทได้เงินแยะ แต่อาจจะมีผลต่อสุขภาพไม่มาก (อย่าให้ยกตัวอย่างดีกว่านะครับ) ซึ่งคงต้องมีสาเหตุมากกว่าแค่เรื่องว่าคนในวงการนี้เขาชอบทำงานที่มีประโยชน์ เพราะในอาชีพเดียวกนนี้ เราก็ยังเรียกร้องอยากได้ หมอเวชปฏิบัติทั่วไป กับหมอห้องฉุกเฉินกันอยู่บ่อยๆ เพราะมันมีประโยชน์มาก แต่ก็ยังมีคนเรียนน้อย

ที่แน่ๆคือผมเห็นคนในวงการแพทย์เขาคุยเรื่องพวกนี้กันบ่อยมาก ทำได้มากได้น้อย อย่างน้อยก็ยังได้คุยกัน ทำให้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ

ผมอยากเห็นอย่างเดียวกันกับเรื่องสื่อมวลชนกระแสหลัก แต่คนที่จะเข้ามาคุยดวยต้องไม่ใช่มีแต่คนในวิชาชีพสื่อ ต้องมีชาวบ้านอย่างเราๆท่านๆเข้ามาร่วมด้วย

อีกตัวอย่างคือวงการภาพยนตร์ ที่แม้จะมีหนังเอาใจตลาด แต่ก็มีหนังก้าวหน้า และที่สำคัญ การแจกรางวัลก็จะให้กับหนังที่ก้าวหน้าอยู่ไม่น้อย ถึงกับมีเทศกาลประกวดหนังนอกกระแส ที่เรียกว่าหนังอินดี้ ที่แต่ก่อนเป็นแค่เทศกาลเล็กๆ แต่เดี๋ยวนี้เป็นเทศกาลที่มีชื่อเสียง และปีล่าสุดก็ได้ข่าวว่าเสนอหนังที่วิพากษ์ สังคมอยู่ไม่น้อย หนังเข้าชิงออสการ์ปีนี้ก็มีหลายเรื่องที่แตะเรื่องความยุติธรรม และการเปิดโปงความไม่ตรงไปตรงมา อย่าง อุตสาหกรรมยา และธุรกิจนำ้มัน รวมทั้งสื่อมวลชนด้่วย

ผมไม่รู้ว่าวงการหนังใน ต่างประเทศเขามีกลไกอะไร ที่จะกระตุ้นให้คนทำหนังไม่ใช่มัวแต่เอาใจตลาด หรือว่ามันเป็นเพราะเขามีคนที่มีความคิดสร้างสรรค์เข้าไปทำงานกันแยะ ซึ่งถ้าพูดอย่างนี้ก็จะดูถูกวงการสื่อของเราไปหน่อย

แต่ที่แน่ๆคือต้องมีการสร้างกลไก มีการพูดคุย ถึงสิ่งท่ควรเป็น และไม่ควรเป็น อย่างกว้างขวางพอสมควร แล้วก็มีนเอาความคิดบางอย่างไปลงมือทำ อย่างที่ว่า

ทำแล้วก็สื่อสารทำความเข้าใจ ลปรร กับคนอื่นๆด้วย

การทำกับการ ลปรร ที่มีควบคู่กันไป โดยมีการเชื่อมต่อเครือข่าย คงจะเป็นเคล็ดสำคัญของการเปล่ยนแปลง ไม่ว่ามันจะเริ่มจากคนน้อยแค่ไหนก็ตาม

ท่านที่เรียนสื่อสารมวลชน  ท่านที่สนใจจะสื่อสารเพื่อสร้างสรรค์สังคม  ท่าสที่รู้สึกอึดอัดกับสื่อที่ไม่สร้างสรรค์  ผมคิดว่าท่านทั้งหลายน่าจะเป็นแนวร่วมสำคัญขอการทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมทางปัญญา ที่มีคุณภาพดีขึ้นสำหรับสังคมไทยนะครับ 

สำหรับผม สื่อสารมวลชนคือสิ่งแวดล้อมทางปัญญาที่มีมลภาวะอยู่มาก และดูท่าจะมีพิษต่อสมองมากกว่า ตะกั่ว เสียอีก เราต้องการการมาช่วยกัน ลดมลพิษ เพื่อคุณภาพปัญญาที่ดีขึ้นของทุกคนในสังคมไทย นะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท