หลังจากที่เราได้นำเสนอความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาไปในครั้งที่แล้ว
เพื่อนๆ คงได้เห็น ประเภท
และลักษณะการใช้งานของเครื่องปั้นดินเผากันพอสมควรแล้วนะคะ
วันนี้เรามาทำความรู้จักกับเครื่องปั้นดินเผากันต่อในเชิงลึกอีกหน่อยค่ะ
ในประเทศไทยของเราได้พบหลักฐานทางโบราณคดีประเภทเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เดียวค่ะ
นานไม่ใช่เล่นเลยใช่ไหมค่ะ แล้วเพื่อนๆ
เคยสงสัยไหมค่ะว่าเครื่องปั้นดินเผาที่พบแต่ละสมัยมีรูปทรงอย่างไร
มีลักษณะการใช้งานอย่างไร
และความนิยมในแต่ละสมัยแตกต่างกันอย่างไร ถ้าพร้อมแล้ว..เรามาดูพร้อมๆกันเลยค่ะ
เครื่องปั้นดินเผา
เครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์
เครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยได้ปรากฏร่องรอยของมนุษย์ย้อนหลังไปประมาณห้าแสนปีมาแล้ว
ครั้งนั้นมนุษย์ยังอยู่ในสังคมล่าสัตว์ อาศัยตามถ้ำหรือเพิงผา
หากินโดยการล่าสัตว์และเก็บพืชผักผลไม้ หลักฐาน
ของมนุษย์สมัยนั้นมีเพียงเครื่องมือหินรุ่นแรกๆ ต่อมาประมาณสี่หมื่นปี
ก่อนปัจจุบัน มนุษย์จึงพัฒนาเข้าสู่ลักษณะชีวิตที่ซับซ้อนขึ้น
แต่หลักฐานการเริ่มใช้เครื่องปั้นดินเผายังไม่ชัดเจนนัก
ประมาณหกพันปีต่อมา มนุษย์ก้าวเข้าสู่สังคมกษตรกรรม
ภาชนะดินเผาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตและพิธีกรรม
ดังได้พบภาชนะดินเผาต่างๆในหลุมศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาเรมมีความประณีต
เนื้อภาชนะบางขึ้น
และบางครั้งมีการขัดผิวให้มันและมีลายเขียนสี
ภาชนะดินเผาที่ปรากฏในสมัยก่อนประวัติศาสตร์
พบในทุกภาคของประเทศไทย ในภาคกลาง
เช่น ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น
เครื่องปั้นดินเผาสมัยประวัติศาสตร์
สมัยทวารวดี
เมื่อสังคมมนุษย์พัฒนาการเข้าสู่ยุคที่เป็นบ้านเมือง มีแคว้นหรือรัฐเกิดขึ้น เครื่องปั้นดินเผาก็มีพัฒนาการมากขึ้นทั้งในด้านเทคโนโลยีและด้านการผลิต มีการทำสิ่งของเนื่องในงานสถาปัตยกรรม เช่น อิฐ และกระเบื้องมุงหลังคา เป็นต้น มีการเผาด้วยเตาที่ควบคุมอุณหภูมิ รวมทั้งมีการรับอิทธิพลรูปแบบและลวดลายการตกแต่งผิวเครื่องปั้นดินเผาจากประเทศอินเดีย การเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากภายนอกนั้นเริ่มมีพัฒนาการเด่นชัดในอาณาจักรทวารวดี ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา ดังได้พบภาชนะมีพวย เช่น กาน้ำ (กุณฑี) คนโท ตะเกียง หม้อน้ำ ซึ่งมีรูปแบบและลวดลายแตกต่างไปจากของที่เคยทำมาทั้งสิ้น
สมัยศรีวิชัย
ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ บ้านเมืองต่างๆ มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น เช่น การค้าขายทางทะเล ทำให้รัฐต่างๆ ที่อยู่ใกล้ทะเลรับความรู้เกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาแบบเนื้อแกร่งและแบบเคลือบจากประเทศจีน เครื่องปั้นดินเผาจึงกลายเป็นสิ่งของมีค่าที่แสดงฐานะความมั่งคั่งของบุคคลในสังคม ทำให้เกิดความนิยมเครื่องปั้นดินเผาแบบเนื้อแกร่งและแบบเคลือบจากบ้านเมืองใกล้ทะเล เข้าสู่ดินแดนภายใน โดยเหตุนี้จึงปรากฏเศษภาชนะเคลือบของจีนสมัยราชวงศ์ซ้องในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย
สมัยลพบุรี
ประมาณพุทธศควรรษที่ 17 - 18
เครื่องปั้นดินเผาจากประเทศกัมพูชาได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในอาณาจักรลพบุรี จึงพบหลักฐานที่เป็นเตาเผาแบบเนื้อแกร่งและแบบเคลือบเป็นจำนวนมากในแถบเชิงเขาพนมดงรักในเขตจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์
โดยเฉพาะที่อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์
นอกจากผลิตสิ่งของที่เป็นภาชนะแล้ว
แหล่งผลิตที่บ้านกรวดยังทำสิ่งของที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมอีกด้วย
เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ปั้นลม และบราลี
เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคเริ่มต้นของอุตสาหรรมเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบ
เป็นแห่งแรกในดินแดนประเทศไทย
สมัยสุโขทัย
นับแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นไป
คนไทยได้รวมตัวกันก่อตั้งบ้านเมืองเป็นอาณาจักรขึ้นเป็นครั้งแรกในชื่อ
อาณาจักรสุโขทัย
ซึ่งมีความรุ่งเรืองมากทั้งในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสืบเนื่องมาจากการค้าขายกับต่างประเทศ
และมีชาวจีนที่เป็นพวกพ่อค้าและช่างเข้ามาตั้งหลักแหล่ง
มีการกระจายความเจริญเข้าสู่บ้านเมืองภายใน
จึงเกิดแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาทั้งแบบเนื้อแกร่งและแบบเคลือบขึ้นทุกภูมิภาค
หลักฐานเด่นชัดได้แก่
แหล่งผลิตที่เมืองสุโขทัย
และเมืองศรีสัชนาลัย
-
เครื่องถ้วยสังคโลก
พุทธศตวรรษที่ 20
อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาของสุโขทัยและศรีสัชนาลัย
(เครื่องถ้วยสังคโลก) แห่งเมืองสวรรคโลกรุ่งเรืองมาก
การส่งออกไปขายทางทะเลตามหมู่เกาะต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย
และฟิลิปปินส์
-เครื่องถ้วยล้านนา
ในแคว้นล้านนาก็มีการส่งผลิตภัณฑ์ให้กับชาวป่าชาวเขาทางตะวันตก
และบ้านเมืองหลายๆ แห่งในลุ่มนำสาละวินในเขตมอญ - พม่า
ดังปรากฏแหล่งโบราณคดีที่มีเครื่องปั้นดินเผาจากเตาสันกำแพง
เตาเวียงกาหลง และเตาเมืองพาน เป็นจำนวนมากในที่ต่างๆ
บนเทือกเขาที่กั้นเขตแดนระหว่างไทยและพม่า
รู้จักกันในนามเครื่องถ้วยล้านนา
หลังพุทธศตวรรษที่ 21
อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่สุโขทัย สวรรคโลก
และล้านนาได้สิ้นสุดลงเนื่องจากการศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่า
ในขณะเดียวกันสินค้าเคลือบลายครามของจีนก็เข้ามาเป็นที่นิยมแพร่หลายในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์
สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์
แม้บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ และเกิดความรุ่งเรืองดังเดิม
ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ลงมาไม่มีการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบขึ้นอีก
เพราะนิยมซื้อหรือสั่งทำเครื่องปั้นดินเผาเคลือบจากเมืองจีน
ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป คือ เครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง
ซึ่งเป็นเครื่องถ้วยที่ช่างไทยเป็นผู้กำหนดลวดลาย และสี
จึงมีเอกลักษณ์ความงามที่เป็นเอกลักษณ์ไทย
อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา
คงมีแต่แหล่งเครื่องปั้นดินเผาแบบเนื้อแกร่ง
และแบบเนื้อธรรมดาที่มีความจำเป็นต่อการใช้สอยในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไปเท่านั้น
และมีการพัฒนาการสืบเนื่องจนเกิดเป็นแหล่งชุมชนหรือย่านอุตสาหกรรมที่ผลิตภาชนะ
และสิ่งของเครื่องใช้ไปยังท้องถิ่นต่างๆ
ที่เป็นรากฐานของอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาสมัยหลังๆ
จนถึงปัจจุบัน
เป็นอย่างไรบ้างค่ะ สำหรับข้อมูลเรื่องเครื่องปั้นดินเผาในประเทศไทยที่เรานำมาผากเพื่อนๆ และถ้าเพื่อนๆ ท่านไหนต้องการรู้จักเครื่องปั้นดินเผาให้มากขึ้น สามารถมาชมนิทรรศการพิเศษ เรื่อง เครื่องปั้นดินเผา ได้ที่ห้องนิทรรศการชั่วคราว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2549 เวลา 09.00 - 16.00น. ชมฟรี โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมค่ะ แล้วพบกันนะคะ