ชุมชนต้นแบบ: แบบไหนดี????


การจัดการเลือกตั้งในระดับชุมชน เช่น การเลือกตั้ง ผู้ใหญ่บ้าน อบต. กำนัน สจ. และ สส. ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มในชุมชน บางทีถึงขั้นที่จะไม่ร่วมกิจกรรมกันเลย เพราะถือว่าเป็นคนละพวก ก็ยิ่งทำให้การพัฒนา “ชุมชนเข้มแข็ง” ทั้งชุมชนเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ทำงานประสานงานการวางแผนยุทธศาสตร์การวิจัยระยะยาวของชาติ ที่เป็นภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่าชุมชนที่เป็นต้นแบบของการพัฒนานั้น ควรจะมีลักษณะอย่างไร

ผมได้รับหน้าที่ประสานกับปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำชุมชน เพื่อเข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ ที่จะถึงนี้

จากการหารือกันในเบื้องต้น ได้พบว่าแนวทางในการปฏิบัติอยู่อย่างน้อย ๒ แนวทางด้วยกันคือ

๑.   ชุมชนที่เป็น “ชุมชนเข้มแข็ง” ทั้งชุมชน ที่มีไม่มากนัก และ

๒.   ชุมชนที่มีครอบครัวเข้มแข็งอยู่บ้าง กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วไป แต่ ครอบครัวเหล่านั้น มารวมกันเป็นแบบ “เครือข่าย” ในพื้นที่ของตำบล หรืออำเภอ หรือ จังหวัด แล้วแต่จะเรียก

ลักษณะของชุมชนประเภทที่ ๒ นี้ เกิดขึ้นได้โดยทั่วไป อันเนื่องมาจาก เป็นการรวมตัวกันของครอบครัวที่พร้อม โดยไม่จำกัดขอบเขตของชุมชน และไม่ต้องรอครอบครัวที่ยังไม่พร้อม

นอกจากนี้ การจัดการเลือกตั้งในระดับชุมชน เช่น การเลือกตั้ง ผู้ใหญ่บ้าน อบต. กำนัน สจ. และ สส. ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มในชุมชน บางทีถึงขั้นที่จะไม่ร่วมกิจกรรมกันเลย เพราะถือว่าเป็นคนละพวก ก็ยิ่งทำให้การพัฒนา “ชุมชนเข้มแข็ง” ทั้งชุมชนเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ชุมชนต้นแบบในแบบที่ ๒ จึงดูเหมือนว่าจะปฏิบัติได้ง่ายกว่า

แต่ระบบราชการและหน่วยงานพัฒนา มักจะตีขลุมใช้คำ “ชุมชนเข้มแข็ง” โดยไม่ค่อยอธิบายว่าเป็นแบบไหน ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ไม่ชัดเจน และทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการวางแผนการทำงาน และการสนับสนุนทางวิชาการ

ดังนั้น จึงควรใช้คำให้ตรงกับความเป็นจริงว่า “ชุมชน” ที่กล่าวถึงนั้น เป็นหมู่บ้าน/ตำบล/เมือง หรือ เครือข่ายของครัวเรือนบางครัวเรือนมารวมตัวกัน ในลักษณะของ “เครือข่าย”

ทั้งนี้ เนื่องมาจากการจัดการทรัพยากรในชุมชนของบางครัวเรือนนั้น แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการจัดการทุกครัวเรือนในชุมชนเดียวกัน ที่มีทั้งข้อเด่น และข้อด้อย

เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำให้พอเพียงกับ ๒-๓ ครัวเรือน ในหนึ่งชุมชนนั้น จะมีการแข่งขันน้อย แต่ต้นทุนต่อครัวเรือนอาจจะสูง เพราะมีผู้ใช้น้อย ที่อาจมีประเด็นในเชิงความคุ้มค่าได้

 

แต่ถ้าเป็นการจัดการทรัพยากรน้ำให้พอเพียงกับ ๑๐๐ ครัวเรือนที่เป็นสมาชิกในหนึ่งชุมชนนั้น จะต้องใช้น้ำมาก มีการแข่งขันการใช้น้ำมาก แต่ถ้าทำได้ ก็จะมีต้นทุนต่อครัวเรือนที่ต่ำ และคุ้มค่า เพราะมีผู้ใช้มาก

การใช้คำกำกวมเช่นนี้ จึงมักเป็นปัญหาในการทำงานพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรในชุมชน

ในการหารือกับผู้นำชุมชน มีส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับการพัฒนา “ทั้งชุมชน” ที่จะทำให้แผนงานของทางราชการ และโครงการพัฒนาทำได้ง่าย เพราะทำในที่เดียวก็ได้ผลต่อประชากรจำนวนมาก

แต่ปัญหาก็คือ จะหาชุมชนที่มีความพร้อมเชิงทรัพยากร และสังคม ที่จะนำพากันไปได้ทั้ง “ชุมชน” นั้น หายาก แม้จะทำได้ ก็ขยายผลในลักษณะนี้ค่อนข้างยาก

อันเนื่องมาจากปัญหาทางทรัพยากร เศรษฐกิจ และ สังคม ดังกล่าวมาแล้ว

ดังนั้นประเด็นที่ผมขอเปิดให้คิดวันนี้ก็คือ

ชุมชนต้นแบบ แบบไหน ดีกว่ากัน

แบบที่ ๑ “ชุมชนเข้มแข็ง” ที่เหมาะกับระบบราชการและหน่วยงานพัฒนา แต่หาชุมชนที่พร้อม ทั้งเริ่มต้น และขยายผล ได้ยาก หรือ

แบบที่ ๒ ที่ทำงานเป็น “เครือข่าย” กระจายไปในพื้นที่ หมู่บ้านละไม่กี่ครัวเรือน มารวมกันเป็น “ชุมชนเสมือน” ที่พอจะขยายผลได้ง่ายกว่า แต่อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติของการทำงาน

เท่าที่ฟังเสียงผู้นำชุมชนส่วนใหญ่นั้น เห็นด้วยกับแบบที่ ๒

ซึ่งถ้าทางราชการเห็นด้วย ก็ต้องมีการปรับตัว และการวางแผนงานให้สอดคล้องกัน

ผมไม่แน่ใจว่าจะมีใครสนใจ หรือ เข้าใจ หรือ พร้อมจะปรับตัวสักเท่าไหร่

แต่ก็หวังว่าเราจะทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่าเดิมครับ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 249792เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2009 18:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะอาจารย์

- เคยทำยุทธศาสตร์ ในเรื่องชุมชนเข้มแข็ง นับว่าทำได้ยากค่ะ เพราะแค่เรื่องชุมชน คัดมาก็ยาก เพราะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งผู้นำ คนในชุมชน หน่วยงานราชการต่าง ๆ กว่าจะทำได้นับว่าลำบาก หากทำได้ผิวเผินก็พอทำได้ในบางเรื่อง แต่หากหยั่งรากลึก น้อยนัก ส่วนมากมักจะไม่ยืน เพราะเราเป็นผู้ริเริ่มแทนเขา คิดแทน ทำแทน

ครับ

ระบบราชการ และข้าราชการ ยังต้องพัฒนาอีกไกล กว่าจะทำได้ตามที่เขียนไว้ในภารกิจ

มันห่างไกลกันเหลือเกินระหว่างความฝันและความจริง

และยิ่งห่างขึ้นทุกวันๆๆๆๆ

น่าห่วงจริงๆ

ไม่รู้ใครจะช่วยได้บ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท