ทักษะการบริหารสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก


ทักษะการบริหาร เป็นความสามารถเฉพาะตัวที่ต้องอาศัยประสบการณ์บูรณาการเข้ากับหลักวิชาการ

บทความ   ทักษะการบริหาร   (สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก)                   

ธนสาร     บัลลังก์ปัทมา                     

 [email protected]                

พิมพ์ครั้งแรก The City Journal ปีที่ 5 ฉบับที่ 103 เดือนมีนาคม 2552 หน้า 56.

                    การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กนับว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะจากการประเมินภายนอกของ สมศ. จะพบว่าโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก ยังไม่ผ่านการประเมินมาตรฐาน ทั้งนี้เพราะโรงเรียนขนาดเล็กได้รับงบประมาณน้อย ขาดแคลนอัตรากำลัง และบางครั้งกลายเป็นโรงเรียนฝึกการบริหารของผู้บริหารมือใหม่ป้ายแดง อีกประการหนึ่งคือทักษะการบริหารส่งผลต่อขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน และความเครียดของผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน ผู้บริหารจึงต้องมีทักษะการบริหารที่ดี

                ทักษะการบริหาร เป็นความสามารถเฉพาะตัวที่ต้องอาศัยประสบการณ์บูรณาการเข้ากับหลักวิชาการ ซึ่งครูผู้สอนสามารถนำไปใช้ในการบริหารห้องเรียน การจัดการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพได้ ซึ่งการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพย่อมส่งผลให้การประเมินภายนอกออกมาดี มีคุณภาพงานตามตัวชี้วัด(KPI)

                   จากงานวิจัยเรื่องการใช้ทักษะการบริหารของผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต 2   ของนาวสาวนวลละออ  ไทยนิยม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้เสนอแนวทางในการใช้ทักษะการบริหาร ดังนี้

                       ทักษะด้านเทคนิค  จากผลการวิจัย พบว่า ผู้บริหารสามารถใช้กระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนางานมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด   ผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กควรได้รับประสบการณ์ในการทำวิจัยเพื่อพัฒนา โดยการวางแผนพัฒนาตนเองซึ่งมีวิธีการศึกษาที่หลากหลาย  และเขตพื้นที่การศึกษาควรมีแผนพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กในด้านการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ  การจัดให้มีเครือข่ายการทำวิจัย  การสร้างแนวร่วมและพัฒนาการทำวิจัย  การวิเคราะห์และการนำผลการวิจัยไปใช้  อาจช่วยให้ผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กสามารถแก้ปัญหาการจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                       ทักษะด้านมนุษย์  จากผลการวิจัย พบว่า ผู้บริหารสามารถบูรณาการความคิดของบุคลากรไปใช้ในการปฏิบัติงานมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด  ผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กควรพัฒนาตนเอง โดยการเปิดใจกว้างและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงาน การเข้าร่วมอบรม  ประชุมสัมมนา หรือการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการร่วมกันกับผู้บริหาร  ทำให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นกระบวนการสร้างความมีส่วนร่วม  สร้างการรับรู้ร่วมกัน และมีการทำงานเป็นทีม  การฝึกฝนตนเองโดยการนำหลักธรรรมมาประยุกต์กับทักษะทางการบริหาร  เช่น  กัลยาณมิตตา โยนิโสมนสิการ และพรหมวิหาร 4  จะช่วยให้ผู้บริหารโรงเรียนสามารถครองตน  ครองคนและครองงาน  เป็นการเพิ่มสมรรถนะทางการบริหารและสามารถบริหารจัดการศึกษาให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ

                       ทักษะด้านความคิดรวบยอด  ผลการวิจัยพบว่า  ผู้บริหารสามารถคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมในการปฏิบัติงานมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด  ผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก  ควรได้รับการฝึกฝนและพัฒนาทักษะด้านวิสัยทัศน์  การได้รับประสบการณ์ตรงจากการอบรมสัมมนา หรือการศึกษาดูงานการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา ที่เป็นองค์ความรู้ใหม่  เป็นการเพิ่มพูนความรู้ และเป็นการจุดประกายความคิดในการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม  โดยเขตพื้นที่การศึกษาควรวิเคราะห์ปัญหาและวางแผนพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนให้ครอบคลุม  เพื่อให้ส่งผลต่อการพัฒนาทักษะทางการบริหาร  การสร้างเครือข่ายการพัฒนา เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมทักษะทางการบริหารอย่างมีประสิทธิผล

                        ทักษะด้านผู้นำ  จากผลการวิจัย พบว่า ผู้บริหารสามารถใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อลดความขัดแย้งของบุคลากร มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด  เนื่องจากผู้บริหารต้องทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่น  คนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด  ดังนั้น   ผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กควรฝึกฝนและพัฒนาตนเองในการใช้ทักษะการบริหารทั้ง 4 ด้านอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ  บูรณาการเข้ากับการใช้เทคนิคและกระบวนการบริหารในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามสถานการณ์ เพื่อบริหารจัดการศึกษาให้บรรลุวัตถุประสงค์

                จากแนวทางที่กล่าวมานี้ จะพบว่าหลายเรื่องสามารถนำบูรณาการในการบริหารห้องเรียนหรือการจัดการเรียนการสอนของครู โดย ครูควรมีการทำวิจัยเพื่อพัฒนา มีการวางแผนพัฒนาตนเองซึ่งมีวิธีการศึกษาที่หลากหลาย  การวิเคราะห์และการนำผลการวิจัยไปใช้  อาจช่วยให้ครูในโรงเรียนขนาดเล็กสามารถแก้ปัญหาการจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครูควรมีการฝึกฝนตนเองโดยการนำหลักธรรรมมาประยุกต์ในการเรียนการสอน เช่น หลักกัลยาณมิตตา โยนิโสมนสิการ และพรหมวิหาร 4  ครูควรพัฒนาตนเองด้านความคิดรวบยอดโดยการแสวงหาประสบการณ์ตรงจากการอบรมสัมมนา หรือการศึกษาดูงานการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา ที่เป็นองค์ความรู้ใหม่  เป็นการเพิ่มพูนความรู้ และเป็นการจุดประกายความคิดในการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม 

                ปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อการบริหารในโรงเรียนขนาดเล็กประการหนึ่ง คือ โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งมีครูไม่พอหรือไม่ครบชั้นเรียน ผู้บริหารไม่สอนหนังสือเพราะติดราชการประชุมที่เขตพื้นที่อยู่เนือง ๆ ในการบริหารจัดการจึงควรให้ผู้ใหญ่ในเขตพื้นที่เป็นฝ่ายมาหาครูที่โรงเรียนโดยผ่านศึกษานิเทศก์ควรไปช่วยสอนหรือนำสื่อการสอนไปสนับสนุน รวมถึงรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งแต่ละเขตพื้นที่มีรองผู้อำนวยการเขตหลายคน ควรมีการแบ่งกระจายไปช่วยพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนขนาดเล็ก และที่สำคัญคืองบประมาณ เพราะผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมีทักษะการบริหารที่ครบถ้วนตามหลักวิชาการ แต่ไม่มีงบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนการศึกษาคงไม่เกิดขึ้น เหมือนกับการปฏิรูปการศึกษาที่ก้าวย่างมาครบ 1 ทศวรรษในปีนี้ แต่งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าล้มเหลว

************

      

 

หมายเลขบันทึก: 249641เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2009 07:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

น่าสนใจครับ ขอบคุณมากครับที่นำข้อมูลดีๆ มาให้อ่าน

ดีมากครับ ได้แนวทางนำมาประยุกต์ใช้ได้ดี ขอบคุณครับ

ขอบคุณมากค่ะ เพราะกำลังค้นหาเอกสารอ้างอิงเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์

มีงานวิจัยของคุณนวลละออ ไทยนิยม แบบเต็มเล่มไหมคะ พอดีกำลังทำวิจัยเรื่องนี้ค่ะ

งานวิจัยของคุณนวลละออ ไทยนิยม แบบเต็มเล่ม มีที่ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา หรือติดต่อที่ สพท.นครปฐม เขต 2 ลองค้นในกูเกิลน่ามีข้อมูลเจ้าตัวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท