เรื่องเล่าวันที่ ๑๖ - ๒๐ มีนาาคม ๒๕๕๒


เล่าเรื่องที่เมืองเพชร

วันที่ ๒๑  มีนาคม  ๒๕๕๒

เรียน  เพื่อนครู  ผู้บริหาร ที่เคารพรักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ ๑๖  มีนาคม  ๒๕๕๒   ออกจากบ้านพักเมืองนนท์ประมาณ ๐๕.๐๐ น. รถไม่มากเพราะเช้าอยู่ ใช้ถนนรัตนาธิเบศร์ ข้ามสะพานพระนั่งเกล้าที่สร้างใหม่ยกระดับสูงกว่าเดิม  แก้ปัญหารถติดไปได้มาก  ขึ้นทางด่วนที่งามวงศ์วาน  ต่อเนื่องไปจนสุดถนนบูรพาวิถีที่ชลบุรี  จึงออกถนนเลี่ยงเมืองจนถึงแยกกระทิงลาย อำเภอบางละมุง  จึงเข้าสุขุมวิทวกกลับไปเล็กน้อย  จึงเข้าวิทยาลัยมหาดไทย เก็บกระเป๋าที่ห้องพัก  ลงไปเข้าแถว  และเข้าชั้นเรียน ไม่ได้ทานอาหารเช้า  เพราะทานข้าวต้มลูกโยนของฝากจากชุมพรกับกาแฟมาจากบ้านแล้ว   ภาคเช้าเป็นการสรุปภาพรวมการเสริมสร้างภาวะผู้นำ มีอาจารย์ ดร.สมบัติ  กุสุมาวดี เป็นผู้ดำเนินการ  อาจารย์เห็นว่าพวกเรากำลังจะสอบกลางเทอมในตอนบ่าย จึงแบ่งหัวข้อที่เรียนมาตั้งแต่ต้นให้ไปศึกษา  พวกเราแยกย้ายกันไปอภิปรายและจัดทำ Mind Map มานำเสนอเป็นรายกลุ่ม   อาจารย์สรุปให้อีกครั้ง  จึงรู้สึกอุ่นใจขึ้นในการตอบข้อสอบ  ผมเองไม่มีโอกาสทบทวนตำราเลยเพราะวันเสาร์ขับรถลงไปช่วยงานบวชที่ชุมพร  พบปะสังสรรค์กับพรรคพวกเพื่อนฝูง ตลอดระยะเวลาที่อยู่  วันอาทิตย์ขับรถกลับกรุงเทพฯ จึงเหนื่อยล้าเกินกว่าจะอ่านหนังสือได้เข้าใจ  เมื่อมีบทสรุปประเด็นต่าง ๆ ให้บ้างจึงพอจะมีเรื่องเขียนไปได้  หลังอาหารกลางวัน  พวกเราเข้าห้องสอบ ก็เป็นห้องเรียนและที่นั่งเดิม  กติกาการสอบสามารถขนตำรามาเปิดตอบได้ อย่างอิสระ  ท่านผู้ว่าฯพินัย  อนันตพงศ์  ที่ปรึกษาโครงการ ชี้แจงวิธีทำข้อสอบซึ่งมีเพียงข้อเดียว แต่แยกเป็น ๓ หัวข้อย่อย เป็นแบบอัตนัย  ที่พอจำได้ถามว่า “๑.๑  จงระบุและอธิบายให้เข้าใจว่าภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและส่งให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวต่อเนื่องในขณะนี้  ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่หน่วยงานของท่านต้องให้บริการกลุ่มใดมากที่สุดและอย่างไร  ๑.๒  ภายใต้ภาวการณ์ที่ท่านวิเคราะห์ในข้อ ๑.๑ ท่านคิดว่าการรบริหารงานตามภารกิจของหน่วยงานของท่านต้องมีการปรับปรุงให้มีสมรรถนะเพิ่มขึ้นในสองด้านต่อไปนี้หรือไม่อย่างไร (๑) ในการตอบสนองปัญหาความต้องการของประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่กำลังเดือดร้อนได้ตรงและเร็ว  (๒) ในการร่วมคิดร่วมทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  ๑.๓ จงประเมินเชิงวิพากษ์เบื้องต้นว่า การดำเนินงานนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากด้วยโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลนี้มองทะลุเข้าใจเงื่อนไขและปัจจัยพลังโลกาภิวัตน์ต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อกลุ่มประชาชนที่ท่านวิเคราะห์ในข้อ ๑.๑ ได้ถูกต้อง แม่นยำ คมชัด และเชื่อว่าได้สามารถรับมือ ตอบโต้ได้อย่างเหมาะสมแล้วเพียงใดและหน่วยงานของท่านได้กำหนดบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของตนได้อย่างเหมาะสมเพียงใดและได้วางแนวปฏิบัติในการร่วมมือกับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมเพียงใด เพื่อที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้ได้ผลตามจุดมุ่งหมาย (ขอให้เลือกนโยบายใดนโยบายหนึ่งของรัฐบาลที่หน่วยงานของท่านมีส่วนร่วมในการนำไปปฏิบัติ)”  นั่งเขียนไปตามประเด็นต่าง ๆ จนรู้สึกเบื่อและเมื่อยมือจึงหยุด นับจำนวนได้  ๘ หน้ากระดาษ  จึงยุติ นำไปส่งกรรมการคุมสอบ  เย็นนี้นายอำเภอสมหวัง  เรืองเพ็ง  นายอำเภอศรีบรรพต  จังหวัดพัทลุง มาชวนไปทานอาหารข้างนอก  นัยว่า นักธุรกิจชาวพัทลุงจะเลี้ยงต้อนรับในฐานะคนเมืองลุง  จึงจัดทีมได้ ผอ.ณรงค์ วุ่นซิ้ว ผอ.กองกิจการพิเศษ  ศอบต.  นายอำเภอราตรี  บุญยง  นายอำเภอไชโย  จังหวัดอ่างทอง  และนายอำเภอพูนศักดิ์ วาณิชวิเศษกุล นายอำเภอห้วยคต  จังหวัดอุทัยธานี  ผมเป็นพนักงานขับรถไปพบที่จุดนัดหมายสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ตรงข้ามห้างโลตัสพัทยา  จากนั้นขับตามกันไปลัดเลาะเข้าทุ่งนาตำบลห้วยใหญ่  แวะร้านอาหารลุงหมูกลางทุ่งนา บรรยากาศลูกทุ่งเมืองชล สั่งอาหารทะเลสด ๆ มาทานกันทั้งทอด ทั้งต้มยำ และผัดฉ่า  เจ้าภาพเป็นชาวพัทลุงทำธุกิจรับเหมาก่อสร้าง ศิษย์เก่าโรงเรียนพัทลุงรุ่นน้องผม  ชื่อ วิเชน  สงมาก  ประธานกรรมการบริษัทวิษณุ การโยธาแอนด์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  ผู้มีชื่อปรากฏในสื่อมวลชนเรื่องปลากระป๋องชาวดอยเน่าที่พัทลุงเมื่อเร็ว ๆ นี้ เขาเล่าให้ฟังว่าได้บริจาคปลากระป๋องช่วยชาวพัทลุงที่ประสบภัยน้ำท่วม ซื้อจากห้างบิ๊กซี ในวงเงินประมาณ ห้าหมื่นบาท ไม่เคยรู้จักปลากระป๋องชาวดอยที่เป็นข่าว และแปลกใจว่าเกิดเหตุการณ์เรื่องนี้ได้อย่างไร คงมีเบื้องหน้าเบื้องหลังในวงราชการของกระทรวง พม.กันเอง น้อยใจเหมือนกันที่ทำดีกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง  กินพออิ่มจึงย้ายมาต่อที่โรงแรมลีลาวดี ในตัวเมืองพัทยา  เป็นห้องคาราโอเกะขนาดใหญ่ มีพรรคพวกจากเมืองพัทยามาสมทบอีก ๒ – ๓ ราย เที่ยงคืนจึงขอตัวกลับวิทยาลัยเพื่อพักผ่อน

วันอังคารที่ ๑๗  มีนาคม  ๒๕๕๒  ภาคเช้า ดร.สมชาย  ปัญญเจริญ  ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ ได้มาบรรยายเรื่อง “ภาวะผู้นำ”   เน้นทฤษฎี  วิธีการวัด และรูปแบบภาวะผู้นำที่ดี ที่นักปกครองจะต้องพัฒนาตนเอง  บ่ายอธิบดีกรมการปกครอง นายวงศ์ศักดิ์  สวัสดิ์พาณิชย์ ได้บรรยายเรื่อง “บทบาทของฝ่ายปกครองกับการแก้ปัญหาในพื้นที่” ท่านให้ข้อคิดนายอำเภอน่าสนใจอย่างยิ่งฟังแล้วสมเหตุสมผล  ท่านบอกว่าต้องคิดว่าหัวหน้าส่วนราชการอื่น ๆ คือ นายของเราที่เขามอบหมายงานให้เราทำ  ถ้าเราเห็นเกษตรอำเภอ เป็นลูกน้องเรา  เราก็ต้องเห็นอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นนายเราด้วย    ต้องคิดว่าข้าราชการเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลและเป็นสะพานทอดไปสู่ประชาชน ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจ เน้นโครงการชุมชนเพียงพอ  สร้างความสมานฉันท์และการปกป้องสถาบัน ทำงานแบบใจเกินเงินและใจเกินงาน ขอให้อดทน  ขยัน พยายามให้ถึงที่สุด  เย็นนี้งดออกกำลังกาย ไปคืนหนังสือและยืมต่อ  กลับมาทำเอกสาร IS จนสี่ทุ่มจึงนอน

วันพุธที่ ๑๘  มีนาคม  ๒๕๕๒   ภาคเช้า ศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย    เชียงใหม่ มาชีแจงรายละเอียดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง (Action Learning) ซึ่งจะให้พวกเราแยกย้ายกันไปศึกษาระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๘  มีนาคม  ๒๕๕๒ นี้  โดยให้ลงไปหมู่บ้านเป้าหมายในจังหวัดพิจิตร  ชุมพร  หนองคาย และน่าน  มีประเด็นการเรียนรู้ที่สำคัญ  ๓ รายการ คือ การศึกษาเรียนรู้ภูมิสังคมและวิถีชีวิตของชุมชน   การศึกษาระบบการจัดการชุมชน และการศึกษานโยบายภาครัฐและผลกระทบต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยแต่ละกลุ่มเลือกนโยบายของรัฐ ๑ เรื่องมาทำการศึกษา  ผมอยู่ในกลุ่มที่ลงไปศึกษาจังหวัดชุมพร  จำนวน ๒๘ คน ไปศึกษาที่อำเภอหลังสวน ๓ หมู่บ้าน คือ บ้านเกาะพิทักษ์  บ้านแหลมริ่ว บ้านท่ามะปราง อำเภอสวี  ๒ หมู่บ้าน  คือบ้านในไร่ บ้านเขาทะลุ และอำเภอพะโต๊ะ  ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านคลองเรือ บ้านศรีสมุทร รวม ๒๘ ชีวิตที่ลงชุมพรประกอบด้วยตัวผมและพวก คือ  คุณจิตราภรณ์  อาภรรัตน์  ผู้อำนวยการกองเอเชียใต้ กระทรวงการต่างประเทศ คุณพัชรี  พงษ์พิทักษ์  พาณิชย์จังหวัดตาก กระทรวงพาณิชย์  คุณราตรี  บุญยง  นายอำเภอไชโย  จังหวัดอ่างทอง  คุณพันทิพา  พราหมณ์มณี  ผู้อำนวยการสำนักแผนและการต่างประเทศ  กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง  คุณจินตนา  ศรีทอง  ผู้ตรวจราชการกรมที่ดิน  คุณสุพรรัตน์  แสงมาลี  หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น  คุณรัฐฐะ  สิริธรังศรี  นายอำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น  คุณวิศิษฐ์  เดชเสน  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดร้อยเอ็ด  นายแพทย์ ณรงค์  สายวงศ์  ผู้อำนวยการกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  คุณสุชน  ภัยธิราช  นายอำเภอโนนสุวรรณ  จังหวัดบุรีรัมย์  คุณสุชาติ  ทีคะสุข  นายอำเภอดอยหลวง  จังหวัดเชียงราย  คุณต่อลาภ  เลขธนากร  ท้องถิ่นจังหวัดอ่างทอง  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  คุณธีรวัฒน์  วุฒิคุณ นายอำเภอแม่ลาน้อย  จังหวัดแม่ฮ่องสอน    คุณพิภัช  ประจันเขตต์  นายอำเภอป่าแดด  จังหวัดเชียงราย  คุณศักดิ์ดา  วิเชียรศิลป์  ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๑ (พิษณุโลก) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  คุณปัญญา  มีธรรม  ท้องถิ่นจังหวัดนครพนม  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  คุณสมชัย  คล้ายทับทิม  นายอำเภอจังหาร  จังหวัดร้อยเอ็ด  คุณสุรพล  บุรินทราพันธุ์  นายอำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง  คุณประสาท  พาศิริ  ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานโครงการพื้นที่ภาคกลาง  สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(กปร.)  คุณครรชิต  พุทธโกษา  ผู้อำนวยการภารกิจสร้างเศรษฐกิจและสันติสุข สกว.  คุณชัชพงษ์  เอมะสุวรรณ  นายอำเภอวังชิ้น  จังหวัดแพร่  คุณธีรศักดิ์  ทรัพย์ศิริ  หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลพบุรี  คุณประพนธ์  เอี่ยมสุนทร  โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงราย  คุณอเนก   สีหามาตย์  ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา  กระทรวงวัฒนธรรม   คุณพยนต์  อัศวพิชยนต์  นายอำเภอวังทรายพูน  จังหวัดพิจิตร  คุณวิเชียร  อนุสาสนนันท์  นายอำเภอบ้านโคก  จังหวัดอุตรดิตถ์   คุณวานิตย์  อินทรักษ์  เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี กรมที่ดิน  อาจารย์ที่ปรึกษาในกลุ่มชุมพรประกอบด้วย อ.สุดจิต  นิมิตกุล  ผศ.ดร.สมศักดิ์  ดำหริชอบ ผอ.เกื้อพร วานิชชัย พร้อมเจ้าหน้าที่โครงการอีก ๒ ท่าน  จะออกเดินทางเช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๒ มีนาคม  ๒๕๕๒  โดยสายการบินไทย ลงสนามบินสุราษฎร์ธานี  กลางคืนไปพักค้างที่โรงแรมโนโวเทลชุมพร เพื่อรับฟังนโยบายจากผู้ว่าราชการจังหวัดในวันรุ่งขึ้น  ภาคบ่ายคงแยกย้ายกันไปหมู่บ้านเป้าหมายข้างต้น  สำหรับที่พักอำเภอหลังสวนทั้ง ๓ หมู่บ้านพักรวมกันที่โฮมสเตย์เกาะพิทักษ์  อำเภอสวีพักที่มุกดารีสอร์ทและบ้านสวนรีสอร์ท  ส่วนอำเภอพะโต๊ะ พักที่โฮมสเตย์คลองเรือ และรีสอร์ทหน้าอำเภอ   จะศึกษาชุมชนจนถึงวันที่ ๒๗  มีนาคม  ๒๕๕๒ ภาคเช้าจะรายงานข้อมูลคืนหมู่บ้านและอำเภอ  ภาคบ่ายจะนำเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ จะค้างที่ชุมพร อีก ๑ คืน โรงแรมนานาบุรี  วันเสาร์ที่ ๒๘  มีนาคม  ๒๕๕๒  จึงเดินทางกลับโดยสายการบินไทยจากสนามบินสุราษฎร์ธานี  หลังการประชุมตามสายแล้วได้พบอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำ IS   งานผมไม่คืบหน้าเท่าที่ควรเพราะต้องจัดทำแบบสอบถาม ทดลองใช้ และหาคุณภาพเครื่องมือ   บ่ายเรียนเรื่องยุทธวิธีการให้บริการที่เป็นเลิศ  จากอาจารย์อานนท์  ดำหริชอบ  ธนาคารไทยพาณิชย์  เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานภาคธนาคาร ที่มุ่งเน้นบริการและหากำไรไปพร้อมกัน  ค่านิยมหลัก (Core Value) ที่ธนาคารใช้คือ มีคุณธรรม (Integrity)  รับผิดชอบ(Accountability) ทำงานเป็นทีม (Teamwork)  “เราต้องสร้างความแตกต่างเพื่อความอยู่รอด และเราจะต้องแตกต่างลึกลงไปถึง DNA ซึ่งคนอื่นจะลอกเลียนแบบได้ยากและใช้เวลานานมาก”   Attitude is everything.    Change  your attitude….. And you change your life. !!!!!!  ยึดทัศนคติ “เราทำได้” พูดว่า “ทำได้” มากกว่า “ทำไม่ได้” และหาวิธีแก้ปัญหาโดยเร็ว   การมองลูกค้าตามแนวคิดของมหาตมะ คานธี   “บุคคลที่สำคัญที่สุดที่มาเยือนเราในสถานที่นี้ เขามิได้มาพึ่งเรา  เราต่างหากจำเป็นต้องพึ่งเขา  เขามิได้มาขัดจังหวะการทำงานของเรา   หากแต่การรับใช้เขา คือวัตถุประสงค์ของงานของเรา  ในการบริการเขา เรามิได้ช่วยเหลืออะไรเขา  หากแต่เขาเป็นฝ่ายช่วยเหลือเรา โดยให้เรามีโอกาสได้บริการเขา”   RATER  คือ ปัจจัยที่ลูกค้าใช้เพื่อประเมินคุณภาพของการบริการ  Reliability (วางใจได้) Assurance  (มั่นใจได้) Tangibles (จับต้องได้)   Empathy (เห็นอกเห็นใจ) และ Responsiveness (ตอบสนอง)   อาจารย์ได้ตรวจวัดสไตล์การบริหารของพวกเรา และให้เคล็ดลับในการบริหารงานอีกหลายประการ  เย็นออกกำลังกาย ๑๐ ท่าพญายม เสร็จกลับขึ้นห้องพักทำงานเอกสารที่ค้างให้แล้วเสร็จ 

วันพฤหัสบดีที่ ๑๙  มีนาคม  ๒๕๕๒  ตื่นนอนตี ๕ อาบน้ำแต่งตัว ลงไปทานอาหารเช้า วันนี้ทานอหารฝรั่ง กับกาแฟ  ไปขึ้นรถบัสคันที่ ๒ เวลา ๐๖.๐๐ น. รถบัส ๒ คันแรกเคลื่อนตัวออกจากวิทยาลัย มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร วันนี้พวกเราต้องไปศึกษาดูงานที่ GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มที่ ๑ (กป.๑ – ๕)ไปดูที่บางเขนเป็นอันดับแรก  กลุ่มที่ ๒ (กป.๖ – ๑๐) ไปดูที่ลาดกระบัง สลับกันไปทั้งเช้าและบ่าย  พวกเราถึงที่ดูงานตั้งแต่เช้าตรู่ เจ้าหน้าที่เพิ่งมาเตรียมการต้อนรับ แต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปด้วยดี  ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ NASA ERTS-1 ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของโลก เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2514 ภายใต้การดำเนินงานของโครงการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดย ทำหน้าที่ ประสานงาน จัดหาข้อมูลดาวเทียม ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล ถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนจัดหาทุนฝึกอบรม ดูงาน และการประชุม ทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ด้วยผลสำเร็จของโครงการ จึงได้มีการเปลี่ยนสถานภาพโครงการฯ เป็นหน่วยงานระดับกองชื่อ กองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม ใน พ.ศ.2522 และใน พ.ศ.2525 ได้ดำเนินการจัดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียมขึ้นที่ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร นับเป็นสถานีรับแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อปี 2541 รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูประบบราชการเพื่อให้การทำงานคล่องตัวขึ้น จึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 และด้วยความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีด้านการสำรวจข้อมูลระยะไกลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ใน พ.ศ.2543 กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่โดยรวมกองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ ฝ่ายประสานงานและส่งเสริมการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ตามพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 ในนามของ " สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) " ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) มีตัวย่อว่า "สทอภ." และมีชื่อภาษาอังกฤษ "Geo-Informatics and Space Technology Development Agency (Public Organization) - GISTDA" เป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์การมหาชน ซึ่งมุ่งเน้นการบริหารและดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ บริการวิชาการต่าง ๆ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน  วิทยากรนำเสนอคุณลักษณะของดาวเทียม ผมเองก็เพิ่งทราบว่าถ้าเป็นดาวเทียมสื่อสารจะหมุนตามเส้นศูนย์สูตร และจะมีความเร็วเท่ากับความเร็วที่โลกหมุนรอบตัวเอง แปลว่าดาวเทียมอยู่คงที่กับจุดที่ต้องการสื่อสารบนผิวโลก  ส่วนดาวเทียมถ่ายภาพจะหมุนจากขั้วโลกเหนือไปใต้  การถ่ายภาพก็มีกล้องขาวดำและกล้องสี  ภาคพื้นดินจะมีสถานีรับสัญญาณ แปลผลไปประยุกต์ใช้อย่างหลากหลาย  เช่น ทรัพยากรน้ำ ป่าไม้ พืชสวน ไฟป่า  ภัยพิบัติ  การวางผังเมือง ฯลฯ  เที่ยงเดินทางกลับมาทานข้าวกลางวันที่ร้านอาหารไทยอีสานถนนนวมินทร์  จากนั้นเดินทางไปยังสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน  บริเวณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง  ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการรับสัญญาณจากดาวเทียม การผลิตข้อมูลจากดาวเทียมต้นฉบับ และการจัดการคลังข้อมูลจากดาวเทียม เพื่อการจัดเก็บและบำรุงรักษาข้อมูลจากดาวเทียม ตลอดจนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะและขีดความสามารถของดาวเทียมสำรวจทรัพยากร รวมทั้งการดำเนินงานโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศด้านเทคโนโลยีอวกาศ  วิทยากรบรรยายให้เราเห็นกระบวนการผลิตแผนที่จากสัญญาณดาวเทียม  เวลา ๑๖.๐๐ น. จึงเดินทางกลับ มาแวะทานข้าวเย็นที่ร้าน ป. ประมง อำเภอบางละมุง  เข้าวิทยาลัยมหาดไทยเรียนวิชาแพทย์แผนไทยของอาจารย์กิตติพงษ์  ปังศรีวินิจและคณะ จน ๓ ทุ่ม  ผมปวดหลังอยู่หลายวัน จึงให้หมอตรวจดู เขาบอกว่ากระดูกสันหลังสองข้อล่างยุบเข้าไปข้างใน  ต้องเอาออกมาจึงจะหาย  ตกลงให้เขารักษาด้วยการนวด  จ่ายค่ารักษาไป ๕๐๐ บาท ต้องรอดูผลสักระยะว่าหายหรือเปล่า

วันศุกร์ที่ ๒๐  มีนาคม   ๒๕๕๒  ภาคเช้าเรียนเรื่องการรักษาสุขภาพโดยแพทย์แผนไทยต่อจากเมื่อคืนที่ผ่านมา  ผมเองอาการปวดหลังหายไป แต่ปวดจุดที่เขากดมากขึ้น บางจุดแค่เอานิ้วไปแตะก็ปวดแล้ว เช้านี้มีการเปิดห้องกดจุดเพื่อรักษาอาการปวดหลัง  มีลูกค้ามากเป็นพิเศษ   บ่ายเรียนเรื่องงบประมาณแบบมุ่งผลงาน  อ.สรวิชญ์  กนกวิจิตร จากสำนักงบประมาณ เป็นผู้สอน    การบริหารงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานเป็นระบบงบประมาณที่แสดงความเชื่อมโยงระหว่างทรัพยากรที่ใช้ไปกับผล (Results) ที่จะได้รับจากโครงการ ลักษณะสำคัญของ PBB คือ  •ให้ความสำคัญกับ Output และ Outcome ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายของรัฐบาล •ใช้การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) เป็นเครื่องมือในการกำหนดผลผลิต(Output) ผลลัพธ์ (Outcome) และงบประมาณ •กระจายอำนาจ (Devolution)ในการตัดสินใจให้กับผู้บริหารของหน่วยงาน •จัดสรรงบประมาณเป็นวงเงินรวม (Block Grant) ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้งบประมาณ •คำนวณค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณจากผลผลิตหรือกิจกรรม •กำหนดวงเงินงบประมาณล่วงหน้า (Medium term Expenditure Framework ;MTEF ) •ใช้ระบบบัญชีพึงรับพึงจ่าย (Accrual Basis) •เน้นการควบคุมภายใน •การรายงานผลจะเชื่อมโยงระหว่างการดำเนินงานกับนโยบายของหน่วยงานและรัฐบาล
                   การจัดทำงบประมาณที่มุ่งเน้นผลงานเป็นแนวทางที่ครบวงจรตั้งแต่การวางแผน การจัดสรรงบประมาณ การจัดการที่เน้นผลผลิต (Outputs) และผลลัพธ์ (Outcomes) ที่เกิดขึ้น โดยผลผลิต (Outputs) คือสิ่งของหรือบริการเป็นรูปธรรมหรือรับรู้ได้ที่จัดทำโดยหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้บุคคลภายนอกได้ใช้ประโยชน์ ในขณะที่ผลลัพธ์ (Outcomes) หมายความถึง ผลประโยชน์ที่ได้จากผลผลิตและผลกระทบที่มีต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญในการจัดทำงบประมาณที่มุ่งเน้นผลงาน คือ การวัดผลการดำเนินงาน (Performance Measures) ที่เป็นการกำหนดหน่วยนับในการตรวจวัดและประเมินผลการดำเนินงาน การวัดผลการดำเนินงานนี้จะต้องชัดเจน สมบูรณ์ สามารถนำมาใช้ได้จริงและเหมาะสมกับเวลา โดยทั่วไปหน่วยนับในการตรวจวัดจะต้องครอบคลุมทั้งปริมาณ คุณภาพ ค่าใช้จ่าย มีประสิทธิผลและทันเวลาตามต้องการ     การบริหารงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน ทำให้หน่วยงานของรัฐได้รับข้อมูลทางการเงินและการจัดการที่บ่งบอกถึงผลผลิต (Outputs - สิ่งของและบริการ) ที่จัดทำโดยส่วนงานนั้นๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการได้มาซึ่งผลผลิตนั้น และความเชื่อมโยงของผลผลิตและผลลัพธ์ (Outcoms -ผลที่ตามมา ผลกระทบและผลสำเร็จ) ที่รัฐบาลต้องการ โดยแนวทางนี้การตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรจึงอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลด้านผลผลิตและผลลัพธ์ที่สอดคล้องกันกับวัตถุประสงค์ของนโยบาย เพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลภายใต้งบประมาณที่จำกัด จำเป็นต้องดำเนินการเงื่อนไขการจัดการทางการเงินซึ่งเรียกว่า มาตรฐานการจัดการทางการเงิน 7 ด้าน (Hurdles) ดังนี้ 1.การวางแผนงบประมาณ (Budget Planning) 2.การคำนวณต้นทุนผลผลิต (Output Costing) 3.การจัดระบบการจัดซื้อจัดจ้าง(Procurement Management) 4.การบริหารทางการเงินและควบคุมงบประมาณ (Financial Management and Budget Control) 5.การรายงานทางการเงินและผลการดำเนินงาน (Financial and Performance Reporting) 6.การบริหารสินทรัพย์ (Asset Management) 7.การตรวจสอบภายใน (Internal Audit)

กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒

 

ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้ : ตั๊กแตน

หมายเลขบันทึก: 249639เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2009 07:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

รู้จักวิทยาลัยมหาดไทยก็เพราะเรื่องเล่านี้ และได้รู้ว่าเขาทำอะไรกันที่นี

หลักสูตร นปส.กับ นบส. ต่างกันอย่างไรครับท่าน ผอ.

ไม่รู้จักทั้งสองอย่าง น่าจะอธิบายให้รู้บ้าง

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2543 กำหนดให้บุคคลที่จะรับคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นักบริหารระดับสูง (รองอธิบดี, รองผู้ว่าราชการจังหวัด, อธิบดี,ผู้ว่าราชการจังหวัด) ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง(นบส.)(ของสำนักงาน ก.พ.) หลักสูตรนักปกครองระดับสูง(นปส.)(ของกระทรวงมหาดไทย) หรือ วปอ.จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร กรณีไม่ผ่านการอบรมก็จะเข้ากรณีข้างล่างนี้

"สำหรับคดีประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดตัดสินการยื่นอุทธรณ์ของกระทรวงการคลังหลังศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งเพิกถอนการแต่งตั้งรองอธิบดีกรมสรรพากร 4 คน ตามที่นายไพรัช ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองและศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษาคดีนี้ว่า คำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเป็นเด็ดขาดแล้วว่าให้ยืนคำตัดสินคดีตามศาลชั้นต้น

สาระสำคัญ ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ยังพบว่า การแต่งตั้งรองอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าว ไม่ได้แจ้งเกณฑ์การประเมินกำหนดน้ำหนักของคะแนนไว้เป็นการล่วงหน้า การประชุมคัดเลือกขาดความโปร่งใสและไม่เป็นธรรม เพราะไม่ได้พิจารณาคัดเลือกผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผลการประเมิน แต่เป็นไปตามตัวบุคคลที่กำหนดไว้แล้ว ทั้งการพิจารณาคุณสมบัตินายบุญศักดิ์ ก็ได้ดำเนินการภายหลังจากการประชุมพิจารณาคัดเลือกแล้ว ส่วนนาย ช.นันท์ ไม่ปรากฏรายละเอียดการตรวจสอบคุณสมบัติของการฝึกอบรมและสถานภาพการสมัคร บุคคลทั้งสองไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะหลักทางการบริหารของสำนักงานก.พ. ซึ่งไม่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2543 ที่กำหนดให้จัดทำบัญชีผู้มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูงจากผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมนักบริหารระดับสูง ซึ่งทาง ก.พ.ได้มีหนังสือยกเว้นให้ผู้ที่ไม่เคยผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมนักบริหารระดับสูง ผู้ที่ไม่ผ่านการประเมินสมรรถนะหลักทางการบริหารของนักบริหารระดับสูง และผู้ที่ไม่มีรายชื่อในบัญชีผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะหลักสามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้

นอกจากนี้ ยังยกเว้นให้ส่วนราชการเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกได้ด้วย เป็นการเปิดโอกาสให้คณะกรรมคัดเลือกที่เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 สามารถคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตามมติครม. ให้มาดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูงได้ ทั้งนี้หลักสูตรที่สำนักงาน ก.พ.รับรองให้มีสิทธิสมัครเข้ารับคัดเลือกประกอบด้วย หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน หลักสูตรนักปกครองระดับสูง และผู้ที่ผ่านหลักสูตรนักบริหารระดับสูงของสำนักงานก.พ.

ส่วนรายงานการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกลงวันที่ 25 กันยายน 2544 ที่มีมติแต่งตั้งให้นาย ช.นันท์ เป็นลำดับที่ 2 แต่คะแนนประเมินอยู่ในลำดับที่ 4 นั้น ถือว่ายังอยู่ในกลุ่มผู้ได้รับคัดเลือกและเป็นไปตามบัญชีรายชื่อที่กรมสรรพากรเสนอเข้ารับการคัดเลือกตำแหน่งรองอธิบดีลำดับที่ 2 ซึ่งรายงานการประชุมเป็นเพียงรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเท่านั้น ไม่ได้ระบุเรียงลำดับคะแนนจากมากไปหาน้อยแต่อย่างใด โดยนาย ช.นันท์และนายบุญศักดิ์ไม่มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะหลักทางการบริหาร การคัดเลือกบุคคลทั้งสองคนเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหาร 9 จึงไม่ถูกต้องตามมติครม.

จากการไต่สวนพบว่านายบุญศักดิ์ เป็นบุคคลที่กรมสรรพากรเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกนั้น ฝ่านเลขานุการของคณะกรรมการคัดเลือก ได้ลงชื่อตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรายนี้เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ได้มีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2544 เป็นการแสดงให้เห็นว่าฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการคัดเลือกได้รับรองต่อที่ประชุมว่ามีการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว โดยที่ยังไม่ได้รับใบสมัครอันมีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับสมัครรายนี้ จนได้รับตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากร"

พอจะเข้าใจแล้ว ขอบคุณมาก

แบบนี้เข้าข่ายเรื่องการแต่งตั้งผู้บริหารโรงเรียนบ้านท่ายางหรือไม่ท่านผอ.(นปส)เพราะมันเป็นการแต่งตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย

ผมไม่รู้เรื่องแต่งตั้งผู้บริหารโรงเรียนบ้านท่ายางใครทราบช่วยบอกด้วย อ่าน เพลิงมรกต

หน้าสุดท้านของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐแล้วงงมากครับไม่รู้เรื่องตั้งแต่ต้น

อยากรู้รายละเอียดคลิก http://gotoknow.org/blog/bosspbi2/220387  

ที่ผมอยากทราบเพราะเปิดเจอปัญหาของบุรีรัมย์คล้ายๆกันครับ ผมขอบคุณ คุณบอกให้รู้ผอ.เขต ๒เพชรบุรีคนใหม่ เขียนเหตุเกิดที่ท่ายาง ผมก็ยังคิดตามประสาครูผู้น้อยว่า เหตุใดท่านจึงไม่เสนอคนได้ที่๑ ก่อน ถ้ากรรมการไม่เห็นชอบน่าจะให้เขียนเหตุผลและคราวต่อไปถึงจะเสนอคนที่ ๒ ไม่น่าตอบว่า"ไม่ทราบ" อ่านแล้วพิลึก ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท