เรียนรู้การทำวิจัย...จากเสื้อถักไหมพรม


“มันเหมือนอยากสักมังกรน่ะลูก... พอไม่ไหวก็ลดลงเป็นไส้เดือน... (แต่นี่ไม่ไหวจริงๆ ขอเป็นแค่พยาธิเส้นด้ายละกัน...)”

น่าแปลก  ที่ชีวิตการทำงานช่วงนี้ของผู้เขียนเวียนวนอยู่กับ งานวิจัย... สงสัยว่าชักจะทันสมัยตามคณะแพทย์ฯที่มุ่งเน้นวิจัยซึ่งเป็นทิศทางของมหาวิทยาลัยเสียแล้วแหละ

ผู้เขียนเพิ่งผ่านการอบรมเพิ่มเติมเพื่อเตรียมสอบเป็น APN วิสัญญีพยาบาล เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งในการเรียนนาน 2 เดือนครึ่งครั้งนั้นก็เน้นงานวิจัย เน้นการปฏิบัติงานบนพื้นฐานข้อมูล

...แล้วสองวันที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนโชคดีได้มีโอกาสเข้า อบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง เขียนโครงการอย่างไรจึงได้รับอนุมัติทุนอุดหนุนวิจัยสถาบัน เลยได้มีโอกาสทบทวนความรู้และปรับความคิดในการทำวิจัยไปได้อีกรอบ

วิทยากรเป็นอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิถึง 4 ท่าน  ได้แก่ ศ.นพ.วีระชัย  โควสุวรรณ(ภาพบนซ้าย) (ท่านผู้นี้เป็นแพทย์ผ่าตัดกระดูกที่ผู้เขียนเคยบันทึกเกี่ยวกับการระบายสีเศษ bone cementในบันทึกนี้ "ศิลปะ...ขณะเปลี่ยนข้อเข่าเทียม...เคยเห็นไหมคะ" ) และ รศ.นพ.สมภพ  พระธานี(ภาพบนขวา) จากคณะแพทยศาสตร์   รศ.ดร. มาลินี  เหล่าไพบูลย์(ภาพล่างซ้าย) และผศ.ดร.จิราพร เขียวอยู่(ภาพล่างขวา) จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ ...(ในเนื้อหานั้นผู้เขียนจะขอทยอยสรุปบทเรียนในบันทึกถัดๆไป)

โดยส่วนตัวนั้น  ผู้เขียนมิได้เน้นเรื่องการขอทุนวิจัย  เพราะไม่เคยมีประสบการณ์การสนับสนุนจากใครสักเท่าไหร่  ทำงานคุณภาพก็ได้รับการปลูกฝังให้ทุ่มเท  เสียสละ ทำด้วยใจ ไม่หวังสิ่งตอบแทนจนติดเป็นนิสัยที่ไม่เรียกร้อง... โอกาสเข้าร่วมแสดงผลงานในงาน National HA Forum ที่กรุงเทพฯนั้น  หากผู้เขียนมิได้ร่วมเป็นที่ปรึกษาของ HACC.KKU ก็คงไม่ค่อยจะมีโอกาส  ... ดังนั้นสมัยก่อนๆที่พอจะทำได้คือพาน้องๆทำงานพัฒนาคุณภาพแล้ว(แอบ)ส่งผลงานไป พรพ.เอง  ...ผลคือได้รับคัดเลือกให้นำเสนอผลงานในรูปโปสเตอร์หลายเรื่อง  ช่วยน้องๆประหยัดค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมประชุมได้โข

หลังๆมาทางโรงพยาบาลจับ(ทาง)ได้... เพราะเราชาววิสัญญีมีสายบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อภาควิชาฯ (มิได้ขึ้นตรงต่อทางโรงพยาบาล...) ทำให้คล่องตัวในการบริหารจัดการสูง จึงชอบหลอย(ขออภัยที่ใช้ภาษาอิสาน)ไปงานHAที่กทม.บ่อยๆ... สุดท้ายเลยให้พวกเราส่งผลงานไปให้ทางรพ.(ร่วมๆกับเพื่อนๆหน่วยงานอื่น) ดูก่อนแล้วคัดเลือกไป  นัยว่า...ง่ายในการบริหารจัดการ แต่ศักยภาพน้องๆของผู้เขียนมีมาก... เลยแอบอดรู้สึกเสียดายไม่ได้ที่น้องๆไม่ได้นำผลงานไปอวด  และนี่กำลังแอบบอกตัวเองว่า...ปีหน้าอย่าเผลอนะ จะแอบเอาผลงานน้องๆ(หลอย)ส่งไป พรพ.อีก... ไม่งั้นน้องๆคงไม่ค่อยจะมีโอกาสได้เห็นบรรยากาศดีๆ เร้าใจ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้ฮึกเหิม(อย่างที่ผู้เขียนเคยประสบ)  กระตุ้นได้มากๆ... มากกว่าบอกกับปากว่า... เฮ้ย!...ทำคุณภาพซี่

...แต่เดิมผู้เขียนเคยหันหลังให้งานวิจัยเพราะเป็นพยาบาลยุคโบราณที่ไม่มีการเรียนเรื่องวิจัย ผู้เขียนจึงไม่เข้าใจแนวคิดของวิจัย แม้จะเคยเป็นหัวหน้าโครงการจัดทำเรื่อง วิจัยทางการพยาบาล ให้แก่วิสัญญีพยาบาล มข.มาเมื่อหลายปีก่อน  แต่ก็ยังไม่อิน   ยังรู้สึกว่า ช้า... อืดอาด... ยืดยาด...เรื่องมาก  ไม่ทันใจ  ทำไมต้องการคำตอบเพียงแค่ว่าใช่  หรือไม่ใช่ เท่านั้น...ยืดหยุ่นบ้างไม่ได้เลยหรือ... หรือ ทำไมไม่ตอบหลายๆคำตอบในการทำวิจัย  ทำวิจัยออกจะยากเย็น(แทบกระอักเลือด)ตอบคำถามได้ข้อเดียว...น่าเสียดายเวลาและแรงงานที่ลงไปนัก

พักหลังๆมานี้  พอผู้เขียนได้มีโอกาสคลุกคลีกับงานวิจัยมากขึ้นๆ แม้จะยังคงไม่รู้เรื่องสักเท่าไหร่ แต่โชคดีที่มีแนวคิด R2R เข้ามาช่วย  ทำให้ความคิดเรื่องวิจัยของกลุ่มคนหน้างานโดยเฉพาะผู้เขียนออกมาทางบวกมากขึ้น

นานเข้าๆ... ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นๆแล้วว่า...ทำไมจึงต้องแก้ปัญหาไปทีละเปลาะๆ....

ตอนผู้เขียนแต่งงานใหม่ๆอยากถักเสื้อไหมพรมให้สามีใส่  อยากหัดถักนิ๊ตติ้งเอง  (แฮนด์เมดน่ะ) แบบเปิดตำราแล้วเลือกลายทำ...เรียกว่าหัดทำ  ทำทั้งทีก็ให้ยิ่งใหญ่หน่อย  คาดหวังผลลัพธ์เสียดีเลิศ(หรู) คงลืมตัวไป  อะไรประมาณนั้นแหละ 

...นิต เพอร์ๆ....

...ไม่ถักธรรมดานา... เอาแบบเปีย...

...ไม่เปียธรรมดานา... เปียไขว้ซะด้วย...

... เสื้อกั๊กไม่เอา  ง่ายไป   เอาแขนยาวเลย...

... สวมหัวไม่เอามันพื้นๆไป  ผ่าหน้าเลย  มีรังดุมด้วย...

ทุกวันนี้เมื่อรื้อของเก่าก็จะพบซากของเศษเสื้อไหมพรมในฝัน...ที่ถักไม่เสร็จ มันยังเป็นเศษเสี้ยว

คนที่อยากใส่เสื้อตัวนี้เคยถามว่า..เมื่อไหร่จะได้ใส่  ผู้เขียนสงสาร  เคยเอามาดูๆ  แล้วลดสเป็คลง  จากแขนยาวเป็นแขนสั้นแล้วเปลี่ยนเป็นแขนกุดแบบเสื้อกั๊ก...  จากผ่าหน้าเป็นสวมหัว  รื้อแล้วเลาะอีก  แต่จนป่านนี้  เกือบสามสิบปี... มันก็ยังเป็นไหมพรมเก่าๆที่ทำไว้ไม่เสร็จ  แต่ยังคงเก็บไว้

และวานนี้ก็ให้บังเอิญที่เจ้าของเสื้อไหมพรม(ไม่สำเร็จรูป)ดูละครทีวีและคงได้ยินคำพูดอะไรจากตัวละครไม่ทราบ  แต่มีเสียงแว่วๆมาจากโต๊ะอาหารว่า

แล้วเสื้อถักของคุณวัตร์ล่ะ...เมื่อไหร่จะได้ใส่จ๊ะ  เธอยังจำได้ (ทำตาชม้อยชม้ายมาทางผู้เขียน)

ผู้เขียนเลยได้มีโอกาสนำออกมาให้เด็กๆดู  แล้วเล่าให้ลูกๆฟัง เขาได้ยินบทสรุปจากแม่ว่า

มันเหมือนอยากสักมังกรน่ะลูก... พอไม่ไหวก็ลดลงเป็นไส้เดือน...  (แต่นี่ไม่ไหวจริงๆ  ขอเป็นแค่พยาธิเส้นด้ายละกัน...)

เสื้อไหมพรมนี้เอาไว้ให้เป็นเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ของพ่อสู่ลูกหลานฟังว่า

แม่ถักให้พ่อ...จากพ่อไม่มีพุงจนพุงโตนิดๆ... แม่คงกลัวเปลืองไหมพรมเลยไม่ถักเพิ่มเผลอๆ...  อาจจะเก็บไว้เป็นอนุสรณ์ถึงหลานปู่-ย่า, หลานตา-ยายละมั้ง

ผู้เขียนเสียดายแต่ว่า  หากสมัยโบราณได้รับการสอนเรื่องวิจัย  ที่สอนให้เริ่มจากการหัดทำงานเล็กๆง่ายๆก่อน  ทำให้สำเร็จเพื่อเกิดกำลังใจ... ฝึกทำและเรียนรู้ไปก่อนแล้วจึงค่อยๆทำเรื่องยาก  เรื่องใหญ่ขึ้นๆ...

ป่านนี้... คนบางคนคงได้ใส่เสื้อไหมพรมถักไปแล้ว...

หมายเลขบันทึก: 249546เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2009 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เสื้อสีสวยนะ ถ้าไม่ถักให้เสร็จ น่าเสียดายนะคะ

สวัสดีค่ะ พี่แก้ว

  • ถ้าติ๋วทำคงไม่ไหวแล้วค่ะ...สายตาแย่มากๆเลย...
  • ลูกชายบอกว่า..."แม่ลองเอามาวางๆซิ  เหลือตรงไหน...ให้เพื่อนตั้มทำให้มั้ย"  หากจะเสร็จก็คงเพราะเพื่อนลูกชายละค่ะ อิอิ...

สวัสดีคะพี่ติ๋ว

ทำได้ถึงแค่นี้เก่งแล้วคะ

น่ารักมากนะคะยังเก็บไว้ให้ลุกดู

สวัสดีค่ะ คุณน้องประกาย~natachoei ที่~natadee

  • ขอบคุณค่ะที่ยังชื่นชม...
  • ดูเหมือนจะรู้ใจพี่ว่า..."จะเก็บไว้อย่างนี้แหละ"...เอาไว้เมาท์ตัวเองค่ะ ....อิอิอิ
  • ฝีมือครับ
  • สวัสดีปีใหม่ไทยขอให้มีความสุข

สวัสดีค่ะ คุณ เบดูอิน

  • สวัสดีปีใหม่ไทยเช่นกันค่ะ
  • ...ขอบคุณนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท