บทบาทของกรรมการสถานศึกษา สวนกุลาบวิทยาลัย นนทบุรี


หากกรรมการสถานศึกษา มีหลักการที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ในบทบาทของกรรมการ จะเป็นแรงผลักที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการขับเคลื่อนโรงเรียนสู่ความสำเร็จตามทิศทางที่พึงประสงค์

        วันนี้ (18 มีนาคม 2552) ในช่วงบ่าย ได้ไปร่วมประชุมกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต 2 โรงเรียนแห่งนี้ เป็นโรงเรียนชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศไทย ในปีการศึกษา 2551 ที่ผ่านมา เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงที่ให้โอกาสเด็กในเขตพื้นที่ได้จับฉลากเข้าเรียนชั้น ม. 1 ถึงร้อยละ 50  ซึ่งถือเป็นโรงเรียนชั้นนำในประเทศเพียงไม่กี่แห่งที่เปิดโอกาสในการจับฉลากมากถึงร้อยละ 50 (ในปี 2551 โรงเรียนที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ใช้วิธีสอบคัดเลือกเด็กในเขต ร้อยละ 25-50 และสอบทั่วไปร้อยละ 50)

        ในการประชุมวันนี้ เป็นการเข้าร่วมประชุมครั้งแรกของผม ในฐานะกรรมการสถานศึกษาชุดใหม่(2552-2555) ประธานกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียนแห่งนี้ คือ นายบรรจง  พงศ์ศาสตร์ อดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษา และ สว.  สส. หลายสมัย   จากการเข้าร่วมประชุม  ผมเห็นจุดเด่นบางประการที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับสถานศึกษาอื่น ๆ  โดยเฉพาะบทบาทของประธานกรรมการ เช่น

        1) ในการพิจารณาแผนหรือให้การรับรองแผนปฏิบัติการประจำปีของโรงเรียน

-ประธานให้ความสำคัญในเรื่อง การทำแผนและปฏิทินงานตลอดปีของโรงเรียน

-ยึดมั่นในหลักการจัดสรรงบประมาณ ระหว่าง งานวิชาการ/กิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียน :  งานบริหารจัดการ ในสัดส่วนร้อยละ 70 : 30 (ถือเป็นการจัดสรรงบประมาณแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ)

2) ในการทำงานในบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษา ให้ความสำคัญกับการประชุมที่มีปฏิทินที่แน่นอน  โดยกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการที่มีวาระแน่นอน(อย่างน้อย) ปีละ 4 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1  มีนาคม 2552.....สรุป ประเมินผลงานในการจัดการศึกษาปีที่ผ่านมา และ รับรองแผนปฏิบัติการในปีการศึกษาถัดไป(แผนปฏิบัติการ ปีการศึกษา 2552)

ครั้งที่ 2 พฤษภาคม...รับทราบ และสัมมนาความพร้อมของสถานศึกษา สำหรับการจัดการศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552

ครั้งที่ 3  สิงหาคม 2552...สัมมนาความก้าวหน้าผลการจัดการศึกษาภาคเรียนที่ 1

ครั้งที่ 4  พฤศจิกายน 2552 ..รับทราบและสัมมนาความพร้อมของสถานศึกษา สำหรับการจัดการศึกษาภาคเรียนที่ 2

เมื่อจบภาคเรียนที่ 2  ประมาณมีนาคม 2553 ก็จะเข้าสู่วงจรอีกครั้งหนึ่ง

3) ในการจัดการศึกษาเพื่อท้องถิ่น/ชุมชน  ยึดหลักสำคัญ ๆ เช่น  ให้โอกาสกับเด็กในเขตพื้นที่บริการได้เข้าเรียนในโรงเรียน(ระดับชั้น ม.1) ให้มากที่สุด ทั้ง ๆ ที่โรงเรียนมีโอกาสในการคัดเลือกเด็กสูงยิ่ง( ใน 2 ปีที่ผ่านมา ให้โควต้า ร้อยละ 50 )   ส่งเสริมให้นักเรียนที่จบชั้น ม.3 ได้เรียนต่อในระดับชั้น ม.4 (หากประสงค์จะเรียนต่อที่เดิม) แม้ผลการเรียนใน ม.ต้น ไม่สูงนัก(ถือว่า “เป็นลูกของเรา ที่เราสอนมาด้วยมือเราเอง” ถ้าเด็กเรียนอ่อนหรือมีผลการเรียนในระดับ ม.ต้นไม่ดี  ก็เป็นเพราะฝีมือของโรงเรียนด้วย)

ที่เล่ามาทั้งหมด ดูเหมือนจะพูดว่า เป็นบทบาทของประธานกรรมการ ที่ให้ความสำคัญกับการทำงานที่เป็นระบบ  แท้จริงแล้ว ต้องยอมรับว่า การทำงานที่ประสบความสำเร็จได้อย่างดีนั้น ส่วนสำคัญยิ่งก็คือ ฝ่ายเลขานุการ(ผู้อำนวยการโรงเรียนและทีมงาน) ที่เตรียมงานอย่างยอดเยี่ยม น่าชมเชยอย่างยิ่ง เช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 249395เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2009 20:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท