บทเรียนจากนักเรียนชาวนา บทที่ ๙ การทำนาแบบประหยัด ยากตรงไหน


ความยากของการทำนาแบบประหยัด ก็อาจมาจากชาวนา ไม่ยอมเป็นชาวนา

ทุกครั้งที่ผมไปบรรยายเรื่องการทำนาแบบประหยัด และพึ่งตนเอง

ผมมักได้รับคำถามเดิมๆ ว่า

ถ้าไม่ไถจะกำจัดหญ้าโดยวิธีไหน

ผมก็เลยบอกว่า ถ้าจำเป็นก็ยอมหน้าแตก ไถสักครั้งก็ได้ แล้วต่อไปก็พยายามเก็บบ่อยๆ หญ้าก็จะหมดไปเอง

เก็บหญ้าสักสัปดาห์ละครั้ง จะมีหญ้าไหนมางอกทันมือเรา

พอหญ้าหมด ก็ไม่ต้องไถ ปล่อยให้ลูกข้าวขึ้น ก็ไม่ต้องหว่านอีก

เพราะลูกข้าวจะมีเมล็ดให้เราเหลือเฟือ แล้วจะหว่านไปทำไม

พอมาถึงตรงนี้ทุกตนก็เริ่มไม่อยากคุยกับผม เพราะแค่ไปนาสัปดาห์ละครั้งก็ทำไม่ได้แล้ว

ส่วนใหญ่ เขาถนัดไปนากันปีละ ๕-๑๐ วัน

ทำแบบ “รีบไถ รีบหว่าน แล้วก็รีบ (หนี)กลับ”

หาชาวนาตัวจริงยากเหลือเกิน

เพราะผมพยายามเทียบว่า ผมมีอีกอาชีพหนึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

ถ้าผมไปทำงานต่ำกว่า ๒๕๐ วัน ผมจะถูกเพ่งเล็งว่าหนีงาน

เอาละ ถือว่าหักวันลาสารพัดออกแล้ว ก็จะเหลือไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ วัน ที่ต้องไปถึงที่ทำงาน (โดยที่เพื่อนร่วมงานเริ่มมองเราไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก เพราะลาบ่อย)

ผมก็เลยใช้หลักการคล้ายๆกันว่า

ถ้าผมหรือคนอื่นๆไปนาน้อยกว่า ๒๐๐ วัน ต่อปี ก็น่าจะถูกเพ่งเล็ง และอาจพิจารณาให้ออก หรือไล่ออกจากการเป็นชาวนา

(แบบเดียวกับการไล่ออกจากงานอื่นๆ)

พอพูดถึงประเด็นนี้ คนก็จะเริ่มเกร็งว่าจะถูกไล่ออกจากการเป็น “ชาวนา”

นั่งกันเงียบกริบ

ผมจึงสรุปในเบื้องต้นว่า

ความยากของการทำนาแบบประหยัด ก็อาจมาจากชาวนา ไม่ยอมเป็นชาวนา

และส่วนใหญ่อ้างสิทธิ์ แต่ไม่ยอมทำหน้าที่ของตนเอง

พอเจ้าของไม่ทำหน้าที่ชาวนา นาก็จะโกรธ หนีไปอยู่กับพวกมีเงิน ธกส และธนาคารต่างๆ

บางทีก็หนีไปไกลถึงยุโรป หรือแม้กระทั่งตะวันออกกลาง

น่ากลัวจริงๆ

ผมกลัวนาจะโกรธ เลยต้องไปนาบ่อยๆ

แต่คนที่เรียกตัวเองว่าชาวนากลับไม่กลัวนาจะโกรธ แปลกจริงๆ

หรือใครคิดว่ายังไงครับ

หมายเลขบันทึก: 249355เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2009 18:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 09:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • เรียน อาจารย์แสวงที่เคารพ
  • ดิฉันเป็นลูกชาวนา แต่บางปีไม่เคยไปนาเลย ต้องโดนไล่ออกรึเปล่าคะ
  • เข้ามาชื่นชมความมุ่งมั่นของอาจารย์
  • ไม่เคยมีอะไรทำให้อาจารย์ท้อเลยจริงๆ ค่ะ

ไม่ได้สัมผัสสำนวนของอาจารย์นานแล้ว อ่านไปก็ยิ้มๆ พลางนึกถึงชีวิตวัยเด็ก เพราะอาตมาก็เป็นลูกชาวนา ไม่จำเป็นต้องรุ่นบรรพบุรุษ ลุงป้าน้าอาของอาตมาเกือบทุกครอบครัว เมื่อก่อนก็ทำนา แต่เดียวนี้ก็เกือบทุกครอบครัวเหล่านั้นก็เลิกทำนาหมดแล้ว...

เฉพาะบันทึกนี้ของอาจารย์และย้อนถึงบรรดาญาติของอาตมา อาจสะท้อนถึงสภาพบางอย่างของสังคมไทยได้...

เจริญพร

 

จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิดครับ

 

สวัสดีค่ะอาจารย์  ขอแสดงความคิดเห็นหน่อยนะคะ

ดิฉันก็เป็นลูกสาวชาวนา เมื่อก่อนสมัยเด็กๆพ่อพาทำนาแบบใช้ควายไถนา ใช้แรงคน ค่อยๆดำนาทำไปจนเสร็จ จากการดำนา ดูแลข้าวการถอนวัชพืชที่มาแย่งอาหารจากต้อนข้าว เก็บเกี่ยวข้าวด้วยแรงของคนในครอบครัว และตีข้าวด้วยแรงคนในครอบครัว  จนกระทั่งขนข้าวขึ้นยุ้งฉางลงแขกกัน

ปัจจุบัน ดิฉันไม่ทราบว่าทุกคนจะรีบไปไหนกัน ทั้งๆที่อาชีพทำนาคืออาชีพของตัวเอง ไม่ค่อยๆทำไปเหมือนเมื่อก่อน ทุกอย่างจ้างหมด จ้องตั้งแต่ไถนา ดำนา พอมีวัชพืชก็ฉีดยาแรงๆๆ พอหน้าเก็บเกี่ยวจ้างรถเกี่ยวข้าว รถสีข้าวแป๊บเดียวเสร็จแต่เสียตังค์เยอะมาก ปัจจุบันเนื่องจากพ่อแก่แล้วดิฉันก็ส่งเงินให้ท่านจ้างคนทำ

ผลที่ตามมานะคะ  กบเขียด  หรือวัชพืชตายหมด 

ชาวบ้านไม่รู้คิดอะไร  ชอบความสบายจริงๆค่ะ 

ลืมอาชีพชาวนาที่ปู่ย่าตายาย  สั่งสอนกันมา  ภูมิปัญญาคนสมัยก่อนดีกว่าคนสมัยนี้เยอะค่ะดิฉันคิดเองนะคะ

ขอโพสอีกนะคะอาจารย์

ทำไมชาวนาไม่เข้าใจวิถีชีวิตของตัวเองซะทีนะ

โพสเยอะเพราะรู้สึกอยากให้ชาวนาคนอื่นๆได้มาอ่านที่อาจารย์เขียนจังเลยค่ะ  เค้าจะได้เข้าใจอาชีพที่แท้จริงว่าชาวนาจะมีนาและมีรายได้เพิ่มต้องทำแบบนี้ค่ะ  และพัฒนาอาชีพชาวนาแบบประหยัดตามแบบที่อาจารย์เขียนให้อ่านเป็นวิทยาทานค่ะ

สมัยนี้นะคะที่หมู่บ้านดิฉันไม่มีใครสอนให้ลูกๆทำนาเลยค่ะ  เลิกเรียนมาไม่ต้องไปนา  สมัยดิฉันเด็กๆที่ต้องไปนาทุกวัน   นาก็ไม่ให้ไป แล้วเด็กจะรักทุ่งนาได้ยังไงค่ะ  กู้เงินมาส่งลูกเรียนอย่างเดียวทำยังกะเรียนจบจะมีงานดีๆเงินเดือนดีทิ้งนาหมดสมัยลูกคงไม่เหลือนาแล้วค่ะ

เขียนแจมด้วยเยอะเพราะรู้สึกว่าอาจารย์เขียนได้ตรงกับที่ดิฉันรู้สึกค่ะ  ขอบคุณค่ะอาจารย์

เรียนอาจารย์ด้วยค่ะ

เห็นด้วยกับอาจารย์จริง ๆ คะ

และขอชื่นชมกับความมุ่งมั่นของอาจารย์คะ

สวัสดีครับท่านดร. แสวง รวยสูงเนิน

  • พอเจ้าของไม่ทำหน้าที่ชาวนา นาก็จะโกรธ หนีไปอยู่กับพวกมีเงิน ธกส และธนาคารต่างๆ
  • ท่านเขียนความเป็นจริงวิถีชีวิตชาวระบบทุนนิยม
  • ผมเองจะนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปขยายผลให้ชุมชนโดยจะทำเป็นแบบอย่างและจะให้คณะกรรมการหมู่บ้านมาศึกษาเรียนรู้

เข้ามาชื่มชม+ให้กำลังใจค่ะ

ขอบคุณครับสำหรับกำลังใจที่ให้

ผมไม่เคยคิดที่จะยอมแพ้ จะสู้ต่อไปจนลมหายใจเฮือกสุดท้ายครับ

และยินดีต้อนรับทุกท่านที่จะเข้ามาร่วมเรียนรู้ครับ

เพื่อชีวิตและสังคมที่ดีกว่าเดิมครับ

ได้แค่ไหนก็พอใจเท่านั้นครับ

เพราะอุปสรรคและข้อจำกัด ก็เป็นเช่นนี้เอง

ผมจะไม่นำโลกสมมติ มาปนกับวิมุติครับ

ขอบคุณอีกครั้งครับ

เห็นภาพชัดเจนมากเลยครับคุณครูแสวง

ชาวนาบอกว่ามีอาชีพทำนา แต่ไม่ยอมออกไปที่ทำงานทุกวัน แล้วอย่างงี้จะเรียกไปทำงานได้อย่างไร

คุณครูแสวงเปรียบเทียบได้ชัดเจนที่สุดครับ ที่เปรียบกับการทำงานในระบบปัจจุบัน ถ้าเราไม่ไปทำงานก็ต้องโดนไล่ออกอยู่แล้ว

หวัดดีค่ะ อาจารย์ เป็นครั้งแรกที่ได้เข้ามาอ่าน และอยากเรียนรู้ชีวิตการเป็นชาวนามานาน คิดหลายๆ ครั้ง เราจะทำไหวหรือเปล่า (ใจอยากจะเป็นชาวนามาก) ไม่เคยทำนา เป็นลูกชาวนา เพราะการเป็นชาวนา ชาวสวนต้องทุ่มเท เวลา ให้กับเค้าจริงๆ บางครั้งอยากลาออกจากงานมาใช้ชวิตเป็นชาวนา ก็กลัวไปไม่รอด เพราะไม่เคยลงมือทำอะไรด้วยตัวเอง มีแต่จ้างให้คนอื่นทำให้ หนูอยากสมัครเป็นลูกศิษย์อาจารย์จังเลยค่ะ อยากจะเรียนรู้การทำเกษตร ก็เริ่มทำแล้วนะค่ะ ก็จ้างเหมือนเดิม หนูชื่นชมทุกคนที่ขยัน และทำการเกษตรได้ อยากใช้ชวิตพอเพียง ปลูกผัก ปลูกข้าวกินเอง ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี หนูมีที่ดินนะค่ะ ใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ แต่ก่อนพ่อทำให้ทุกอย่าง ตอนนี้พ่อเสียชีวิตแล้ว สิ่งที่พ่อทำไว้ กลายเป็นป่า ก่อนนี้น่าอยู่มาก มีผักผลไม้ครบทุกอย่าง ตอนนี้หนูก็หาวิธีจะจัดการกับพื้นแผ่นดินที่มีอยู่ จะทำอย่างไร ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด อีกอย่างหนุก็ไม่ค่อยได้มีเวลาไปดูแลด้วยค่ะ ขออาจารย์ชี้แนะศิษย์ด้วยค่ะ( ขอเคยโทรศัพท์ไปปรึกษาเกษตรจังหวัดขอคำชี้แนะ เค้าก็ให้ไปถามสหกรณ์อำเภอ ถามไปเจ้าหน้าที่บอกว่าตอนนี้ยังไม่ว่าง ยังไม่ได้ติดต่อไปอีกค่ะ)

ด้วยความยินดีครับ

ลองไปอ่านวารสารเกษตรธรรมชาติที่เขาลงเรื่องของผมซิครับ จะได้แนวคิดมากกว่าไปปรึกษาเกษตรจังหวัดแน่นอน ยกเวันจะไปเจอเกษตรจังหวัดที่เป็นชาวนาจริงๆ จึงจะไม่พลาด

ไม่งั้นเสียเวลาเปล่าๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท