มะเร็งลำไส้ใหญ่...ภัยที่คนกรุงต้องระวัง..!!!!


มีนาคมเดือนแห่งการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

          ทุกปีในเดือนมีนาคม สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้จัดให้มีการรณรงค์เรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักขึ้นเพื่อเตือนภัยถึงอันตายที่เกิดขึ้นในคนไทยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในสังคมแห่งการเร่งรีบอย่างคนกรุง ทำให้มีปัญหาเรื่องการขับถ่ายไม่เป็นระบบ ท้องผูก ความเครียด งานยุ่งจนไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ ส่งผลถึงการกินอาหารที่ไม่มีกากใย การบริโภคอาหารแบบชาวตะวันตกที่มีไขมันสูง จากสถิติโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้นอุบัติการณ์ก็มากขึ้นด้วย พบได้ทั้งในเพศชายและหญิง

                         

          ลักษณะมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 

          เกิดจากการแบ่งตัวและมีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์เยื่อบุผิวหนังในลำไส้ใหญ่เกิดเป็นก้อนที่มีขนาดผิดปกติแล้วกลายเป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรง ตำแหน่งที่พบ่อยคือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย 50 % รองลงมาคือลำไส้ใหญ่ส่วนตรง 20-25% และลำไส้ใหญ่ส่วนต้น 15% ที่ลำไส้ด้านขวาและลำไส้ด้านซ้าย 6-8% อีก1%พบที่ทวารหนัก

     

          มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนใหญ่ก้อนโตเร็วและก่อให้เกิดอาการจากก้อนมะเร็งที่โตขึ้นไปกดเบียดอวัยวะใหล้เคียงหรือลำไส้ใหญ่อุดตันและการลุกลามของมะเร็งไปทำลายเนื้อเยื่อปกติและหลอดเลือดเกิดเป็นแผลและสูญเสียเลือด เมื่อมะเร็งลุกลามทำให้เกิดการแตกทะลุของลำไส้ใหญ่และแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ไกล โดยผ่านทาาางระบบน้ำเหลือง ระบบการไหลเวียนเลือด ซึ่งมักแพร่กระจายไปที่ตับ ปอดและกระดูกเป็นส่วนใหญ่

          สาเหตุ  ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ทั้งนี้พบว่ามียีนเป็นตัวควบคุมให้เซลล์ธรรมดาเปลี่ยนเป็นเซลมะเร็งและมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคคือ

                         

1.      ประวัติเป็นโรคของลำไส้บางชนิด ได้แก่ ติ่งเนื้องอกที่ผนังลำไส้ (Adenomatous Polyps) โรคแผลอักเสบของลำไส้เรื้อรัง(Chronic ulcerative colitis)นาน 10 ปีหรือมากกว่า จะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ 5-10 เท่า

2.      กรรมพันธุ์ ยีน มีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว จะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น

3.      อาหาร ประเภสเนื้อสัตว์และไขมันสัตว์สูง อาหารที่มีแคลอรี่สูง กากใยน้อย อาหารปนเปื้อนสารพิษหรือการสะสมของแบคทีเรียในลำไส้ การคั่งค้างของเสียจนเกิดเป็นสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเป็นบริเวณที่สัมผัสกากอาหารที่มีสารก่อมะเร็งเป็นเวลานาน

4.      ปัจจัยอื่นๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่มากและนานกว่า 35 ปี จนเพิ่มอัตราการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยไม่พบสาเหตุ

อาการและอาการแสดง  ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็งที่เป็น

1.      ลำไส้ใหญ่ด้านขวา มักมีอาการอ่อนเพลีย ปวดท้องเป็นประจำหรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร คลำได้ก้อนที่ท้องบริเวณด้านขวา ซีด น้ำหนักลด

2.      ลำไส้ใหญ่ด้านซ้าย มักมีอาการของลำไส้ใหญ่อุดตันหรือถ่ายผิดปกติ ท้องผูกสลับกับท้องเสีย ท้องอืด ไม่ผายลม ปวดท้องรุนแรงหรือถ่ายมูกปนเลือด

3.      ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย มีอาการปวดทวารหนัก ถ่ายเป็นเลือดสด รู้สึกถ่ายไม่สุด ปวดเบ่ง

4.      ช่องทวารหนัก คลำได้ก้อน ถ่ายเป็นเลือดสด ถ่ายแล้วปวดหรือมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต

การตรวจวินิจฉัย

1.      ซักประวัติ ปัจจัยส่งเสริม อาการและอาการแสดง ประวัติการเป็นมะเร็งของครอบครัว

2.      การตรวจทางห้องปฏิบัติการเช่น การตรวจเลือดในอุจาระ(Fecal Occult Blood Test) การตรวจหาแอนติเจนของเซลล์มะเร็ง (Carcino Embryonic Antigen:CEA)

3.      การตรวจทางทวารหนัก(Digital Rectal Examination : DRE) ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป

4.      การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนตรงและลำไส้ใหญ่ส่วนโค้ง (Flexible Sigmoidoscopy) สามารถส่องกล้องดูลำไส้ได้ประมาณ 60 ซม. ไม่ตลอดความยาวของลำไส้ใหญ่ทั้งหมด

5.      การตรวจทางรังสี โดยการใช้สารแบเรียม (Double Contrast Barium Enema :DCBE) สามารถเห็นเนื้องอก แต่ไม่เห็นความผิดปกติในบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนตรงและส่วนกลาง

6.      การส่องกล้องตรวจภายในลำไส้ใหญ่(Colonoscopy) สามารถตรวจดูได้ตลอดความยาวของ colonและเห็นก้อนมะเร็งที่อยู่ส่วนบนของลำไส้ใหญ่ชัดเจน ระหว่างส่องกล้องสามารถตัดชิ้นเนื้อเยื่อของลำไส้ใหญ่ตรวจหาเซลล์มะเร็ง

 การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

1.      ลดอาหารที่มีปริมาณไขมันสัตว์ให้น้อยลง

2.      เพิ่มปริมาณของเส้นใยอาหาร บริโภคธัญพืชที่ไม่ขัดสี ผักหลากสีและผลไม้หลากชนิดตามฤดูกาลเป็นประจำ เช่น ข้าวกล้อง กะหล่ำปลี ข้าวโพดอ่อน ขี้เหล็ก ดอกแค ดอกกุ่ยช่าย ขนุนอ่อน ถั่วฝักยาว ผักกระเฉด มะเขือเทศ มันฝรั่งพร้อมเปลือก กล้วย เงาะ ฝรั่ง ชมพู่ แอปเปิ้ล มะม่วง  ส้มเขียวหวาน ละมุด เป็นต้น

3.      เพิ่มอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีจากแสงแดดอ่อนๆให้ได้แคลเซียม ไม่น้อยกว่า 1000 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งใหญ่และยังลดความเสี่ยงของโรคกระดูกผุ ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง

4.      พักผ่อนให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมงต่อวันและทำจิตใจใสห้แจ่มใส

5.      ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 15-30 นาทีต่อครั้งไม่น้อยกว่า 3ครั้งต่อสัปดาห์

6.      ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว

7.      ขับถ่ายให้เป็นเวลา อย่ากลั้นอุจจาระไว้และควรรับการตรวจเมื่อมีอาการท้องผูกหรือท้องผูกสลับท้องเสียเป็นประจำ

กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจหาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

1.      ผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระทุกปี และส่องกล้องดูลำไส้ใหญ่ทุก 5 ปี

2.      ผู้ที่มีประวัติมีเนื้องอกที่ผนังลำไส้ใหญ่หรือมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรได้รับการส่องกล้องตรวจดูลำไส้ใหญ่ทุก 1-2 ปี หรือตรวจเมื่ออายุน้อยกว่าญาติที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ทุก 5-10 ปี

3.      ผู้ที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หลังผ่าตัดแล้ว ควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่หลังการผ่าตัด 1 ปี ถ้าผลปกติให้ตรวจซ้ำทุก 3 ปีและทุก 5 ปี

 

          การใส่ใจสุขภาพในเรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถตรวจพบและหามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้และรักษาหายได้ ดังนั้นเดือนมีนาคมทุกปี จึงมีการจัดงานรณรงค์ขึ้นเพื่อให้ได้ตระหนักถึงภัยร้ายของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ..ใส่ใจสักนิด...แล้วชีวิตจะปลอดภัย....ปีนี้คุณตรวจสุขภาพแล้วหรือยัง?

 

*****ขอบคุณข้อมูล แนะนำการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก   สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โทร 02-3547025 หรือสายด่วนโรคมะเร็ง 1678  ****

                                                                                                    IMM2…Post



ความเห็น (2)

ขออนุญาตลิ้งค์ อนุทิน ของคุณ สี่ซี่  เพิ่งอ่านเมื่อวานนี้ ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องมีความสัมพันธ์กับลำไส้ใหญ่ มาไว้ที่บันทึกนี้ด้วย ขอบคุณค่ะ

ข่าวดีของคนชอบเต้าหู้และถั่วเหลืองค่ะ แต่จะดีอย่างไร มากน้อยขนาดไหนนั้นหาอ่านได้ที่นี่ค่ะhttp://healthy.in.th/categories/diet/news/195

ข่าวดี!! ถั่วเหลืองช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

โดย สี่ซี่   อนุทิน   ลิงก์ถาวร: 34660  
สร้าง: จ. 16 มี.ค. 2552 @ 21:21   แก้ไข: จ. 16 มี.ค. 2552 @ 21:21   ขนาด: 330 ไบต์

สวัสดีค่ะคุณ Moon smiles on Venus&Jupiter

·       ขอบคุณที่นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

·       ดีใจที่แวะมาเยี่ยมค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท