สัมผัสจิตวิญญาณผ่านการร่ายรำปัญจลีลา (๓)


ในการฝึก "ฉึกฉักหักมุม" เริ่มฝึกด้วยการเดินแล้วหยุด แล้วเปลี่ยนทิศทาง แล้วหยุด แล้วเปลี่ยนทิศทาง ขณะเดินนั้นก็ต้องอกผายไหล่ผึ่ง เชิดหน้าขึ้นด้วย ไม่ใช่เดินแบบหดหู่

หลังจากเดินไปเดินมาระยะหนึ่งแล้ว ลูซี่ก็ให้พวกเราทำอย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกสนุกขึ้นมาทันที นั่นคือให้เราจินตนาการว่ากำลังเล่นตั้งเต (ที่บ้านเกิดผม อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เรียก "มิดลอ"  โดยเราต้องกระโดดเขย่งๆ ด้วยเท้าข้างเดียวไปในช่องตารางที่เราใช้ถ่านหรือชอล์กวาดบนพื้นเพื่อไปเก็บก้อนหินในช่องที่โยนไปลง โดยมีช่องให้เราสามารถกางขาสองข้างพักเท้าได้เป็นระยะ บางทีก็เรียก "เครื่องบิน" เพราะวาดตารางเป็นรูปเครื่องบิน ตรงปีกเครื่องบินคือที่ที่เรากระโดดไปยืนกางขาพักเท้าได้ ฝรั่งเขาก็เล่นกันเรียกว่า hopscotch 

วันนั้นเราไม่ได้วาดตารางบนฟลอร์จริงๆ ต่างคนต่างจินตนาการตารางของตัวเอง ผมเล่นแล้วไม่อยากหยุด แต่ลูซี่ก็ให้เราทำแบบนั้นเพียงครู่เดียว ก่อนที่จะเข้าสู่กิจกรรมเต้นฉีกฉักหักมุม (Staccato) ตามจินตนาการของแต่ละคนแบบ non-stop จนถึงเวลาอาหารเที่ยง

ก่อนเที่ยง หลังจากฝึกเต้นกันจนได้ที่ คือ แต่ละคนคุ้นเคยกับการฝึกเต้นโดยใช้พลังจากศูนย์ท้องกันพอสมควรแล้ว ลูซี่ให้ตั้งแถวตอน ๖ แถว ให้อาสาสมัคร ๖ คน ออกมายืนกลางห้องตรงกับแต่ละแถว แล้วให้สมาชิกของแต่ละแถวตอนเต้นฉึกฉักหักมุมออกมา หากคนที่ยืนตั้งหลักขวางอยู่กลางห้องเห็นว่า ผู้ที่เต้นออกมายังไม่เข้มแข็งหรือให้ความรู้สึกว่า grounded พอ ก็ให้กลับไปที่แถวแล้วเต้นออกมาใหม่ แต่หากเห็นว่าเต้นได้เข้มแข็งดีแล้วก็ให้ผ่านไปได้

ผมไม่ได้ถามลูซี่ว่าทำไมการฝึกปัญจลีลาจึงไม่มี tea-break เหมือนอย่างการอบรมเรื่องอื่นๆ ทั่วไป (แต่ให้ดื่มน้ำได้ตลอดเวลาที่ต้องการ) ผมคิดเอาเองว่า การมีมื้ออาหารระหว่างการฝึก แม้จะเป็นมื้อเล็กๆ แล้วไม่ได้มีเวลาพักย่อยเพียงพอก็อาจทำให้เราจุกเสียดได้ (ไม่ใช่เหตุผลของการประหยัด เพราะปรากฏว่ามีอาหารว่างเช้าทุกวัน แต่เขายกไปรวมกับอาหารกลางวันที่กินเสร็จแล้วมีเวลาได้พักย่อยอีกราวหนึ่งชั่วโมง ลูซี่บอกว่าใครอยากนอนกลางก็นอนไปเลย และอาหารว่างของช่วงบ่ายก็ถูกยกไปหลังการฝึกก่อนกลับบ้านแต่ละวัน)

สรุปคือเย็นวันศุกร์เป็นคล้ายๆ บทนำ ที่เราได้วอร์มอัฟกับทุกลีลา พอวันเสาร์ก็ได้ฝึกหนักๆ ๒ ลีลา คือ ไหลลื่น (flow) ในภาคเช้า และ ฉีกฉักหักมุม (staccato) ในตอนบ่าย อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องมีอีก ๓ ลีลาผสมเข้ามาในตอนท้าย ไปจบที่สงบนิ่ง (stillness) เพื่อให้ครบเครื่องแบบองค์รวม 

วันอาทิตย์เป็นการฝึกลีลาที่เหลือ คือ เคออส (Chaos) พริ้วไหว (Lyrical) และสงบนิ่ง (Stillness)

เคออสเป็นลีลาการร่ายรำที่ใช้หัวด้วย คนอายุมากหน่อยอย่างผม ส่ายหัวมากๆ ก็มึนเหมือนกัน แต่ละคนก็ต้องประเมินตัวเองกันเอาเอง ไม่ให้เกินพอดี 

คนเราล้วนพานพบประสบการณ์ชีวิตที่ chaos (ปั่นป่วน สับสน วุ่นวายภายใน) กันมาทุกคน และจะพบต่อไปอีก ขึ้นกับว่าเราจัดการกับมันอย่างไร chaos เป็นอะไรที่จำเป็นในชีวิต ครั้งไหนที่จัดการได้ดีชีวิตเราก็เติบโตขึ้น เข้มแข็งขึ้น ผมเองชอบเคออสเพราะหลัง "พายุใหญ่ลมแรงฟ้าคะนอง" ทุกครั้งผมจะพบกับท้องฟ้าที่สดใส เคออสจึงเป็นเรื่องดี

นึกถึงเรื่องเคออสภายในจิตใจของบุคคลแล้ว ทำให้ผมคิดถึงเคออสในระดับสังคม (ผมมักใช้คำ เคออส ทับศัพท์อยู่เสมอเพราะผมไม่ค่อยชอบคำที่มีผู้แปลตามดิกชันนารีว่า ไร้ระเบียบ เท่าไร แต่ผมก็คิดไม่ออกว่าจะเรียกคำนี้ว่าอะไรดี เช่นเดียวกับคำ Dialogue ที่ผมไม่ค่อยสนิทใจกับที่มีผู้แปลว่า สุุนทรียสนทนา เลยชอบเรียกทับศุัพท์ไปว่า Bohm's Dialogue โดยใส่ชื่อโบห์มไปด้วย เพื่อให้หมายถึงไดอาล๊อกที่โบห์มเสนอ จะได้ไม่สับสนกับไดอาล๊อกแบบอื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้านี้) เมื่อเกิดความขัดแย้งสับสนวุ่นวายในสังคม หากผู้คนในสังคมตั้งสติได้ ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาไตร่ตรองร่วมกัน สังคมก็จะเห็นทางเลือกต่างๆ เกิดขึ้นในภาวะเคออสหลายๆ ทาง ไม่ใช่ทางเดียวทางนี้ของฉันเท่านั้น! และอาจไม่ใช่ทางเดียวทางนั้นของคุณ! ทางเลือกเหล่านี้อาจไม่มีใครฝ่ายไหนหรือทั้งสองฝ่ายสามฝ่ายสี่ฝ่ายเห็นเลย หากไม่ "หันหน้าเข้าหากันก่อน"

ลูซี่ให้พวกเราแต่ละคนแนะนำตัวโดยให้บอกว่าตนเองทำอาชีพอะไร แต่ให้แนะนำด้วยภาษาท่าทางเท่านั้น (ไม่พูด) โดยให้พวกเรายืนล้อมวงเป็นวงกลมใหญ่ แต่ละคนต้องออกมาทำท่าทางกลางวงให้ทุกคนเดาเอาว่าอาชีพอะไร อาชีพครู อาชีพหมอ อาชีพผู้จัดการ ดูเหมือนจะเข้าใจได้ง่าย แต่ที่ประหลาดคือ พนักงานขององค์กรเอกชนเพื่อสังคมที่เรียกว่า NGO หลายคน ทำท่าเดียวกันหมดคือ ทำท่าพิมพ์และคลิกเมาส์อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทำให้ผู้ที่ออกมาทำท่าทางขำตัวเองว่าดูคล้ายพนักงานธุรการ

หลังจากเต้นลีลาเคออสกันจนเหนื่อยพอแรงแล้ว ลูซี่ให้พวกเราจับกลุ่ม ๓ คน (และต่อมาก็ใช้กลุ่ม ๓ คนแบบนี้ไปตลอดวัน จนสิ้นสุดการฝึกในวันอาทิตย์) สิ่งที่สมาชิกในกลุ่ม ๓ คนต้องทำก็คือ นั่งพับเพียบหันหน้าเข้าหากัน นึกถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งของตน แล้วเล่าเรื่องของตัวเองให้สมาชิกในกลุ่มอีกสองคนฟังใช้เวลาเล่าคนละ ๓ นาที (ลูซี่จะคอยเคาะระฆังเมื่อหมด ๓ นาทีของแต่ละคน) อีกสองคนต้องฟังโดยไม่ถามแทรก ไม่แสดงความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ต้องให้คำแนะนำใดๆ ทั้งสิ้น ให้ใส่ใจในการฟังอย่างเต็มที่

คนแรกในกลุ่มผมเล่าเรื่องหนึ่งของตัวเองแล้วก็เกิดมีน้ำตาไหลออกมา ผมศึกษาจิตวิทยามาบ้างก็พอสังเกตออกว่าเธอนึกถึงเรื่องที่เล่าแล้วก็เกิดอารมณ์กับเรื่องนั้นขึ้นมาอย่างลึกซึ้ง ความจริงเธอไม่ได้บอกรายละเอียดอะไรของเรื่อง ไม่มีตัวละคร มีแต่เธอคนเดียวเท่านั้นที่ีมีรายละเอียดในใจ แต่ด้วยแกนเรื่อง น้ำเสียง และสีหน้าท่าทาง เราก็พอจับอารมณ์เข้าใจความรู้สึกของเธอได้ ผมเองในใจรู้สึกขอบคุณเธอที่ก็ไว้ใจเล่าให้ฟัง จนลูซี่เคาะระฆังเธอก็หยุดเล่า ผมเองเผชิญเหตุการณ์แบบนี้ทุกภาคการศึกษา จากประสบการณ์ที่เป็นอาจารย์สอนวิชาเกี่ยวกับการพัฒนาชีวิตด้านใน ที่บางครั้งอาจารย์ต้องทำหน้าที่ให้การปรึกษา (Counseling) ไปพร้อมกันด้วย และได้พบเหตุการณ์ที่นักศึกษาที่เกิดภาวะ chaos ขึ้นในใจขณะกำลังเล่าเรื่องของเขาอยู่เนืองๆ (โปรดสังเกตว่าผมใช้คำว่า ให้ "การ" ปรึกษา ไม่ใช่ "คำ" ปรึกษา เพราะคำว่า การ สะท้อนกระบวนการปฏิบัติทั้งกระบวน คำว่า คำ ให้ความรู้สึกไปในทางการให้คำพูดแนะนำอย่างเดียว) ในภาวะเคออสเช่นนี้ ผู้ให้การปรึกษาที่ผ่านขั้นตอนการได้รับความไว้วางใจแล้ว สามารถช่วยให้เขาสามารถเปิดรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างสงบ อย่างมีสติ (ด้วยเหตุนี้ counselor จึงต้องเป็นผู้ฝึกตนจนสามารถตั้งสติได้ดีมากไม่เกิดอารมณ์ไหลตาม ร้องห่มร้องให้ตาม หรือกระพือไฟแค้น) และช่วยต่อไปอีกให้เขาสามารถเห็นทางเลือกได้หลายๆ ทาง (ผมเชื่อว่าโดยธรรมชาติแล้วไม่มีปัญหาใดที่ไม่มีทางเลือกเลย หรือมีเพียงทางเลือกเดียว หากสามารถตั้งสติและใช้ปัญญาแล้วก็จะพบทางเลือกที่หลากหลายเสมอ) แล้วพิจารณาตัดสินใจเลือกทางที่คิดว่าดีที่สุดด้วยตนเอง ซึ่งโดยทั่วไปทางเลือกที่ดีๆ มักเป็นทางเลือกที่อิงกับความจริง ความดี ความงามที่เป็นสากล เช่น ความรัก (ที่ไม่มีเงื่อนไข) ความเมตตา การให้อภัย ความกรุณา อุเบกขา ฯลฯ) ก็ต้องถามตนเองว่าทางเลือกนั้นมันมีพื้นฐานหรือเชื่อมโยงกับสิ่งเหล่านี้บ้างไหม อย่างไร เมื่อเลือกแล้วก็พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนต่อไป (ตามกฏแห่งกรรม)

ผมใช้มือซ้ายวางบนไหล่ขวาเธอเพื่อช่วยให้เธอรู้สึก grounded ขึ้น แล้วยื่นมือขวาออกไปให้เธอจับไว้ ซึ่งเธอก็บีบมือผม สักครู่ก็สงบลง ได้ยินเสียงลูซี่บอกว่าให้ทั้งสามคนทำอะไรก็ได้ที่เป็นการแสดงความรู้สึกของสมาชิกแต่ละกลุ่ม พวกเราสามคนเลยกอดคอกันโดยอัตโนมัติ ผมกระซิบที่ข้างหูเธอเบาๆ ด้วยการถามเธอให้เธอได้สติว่า "สถานที่และเวลาที่เราแต่ละคนมีชีวิตอยู่จริงคือที่ไหน?" ซึ่งผมไม่ได้ต้องการคำตอบ เพราะทราบว่าทุกคนรู้คำตอบดีว่า คือ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ (here and now) เท่านั้น ไม่มีใครกลับไปอยู่ในอดีตได้จริงและก็ไม่มีใครบอกได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างที่เราคิดได้จริง เป็นคำถามเพื่อช่วยปลุกสติให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน

ผมเคยอ่านพบในหนังสือ Bohm's Dialogue มีตอนหนึ่งโบห์มบอกว่ามนุษย์เรามีความสามารถทางจิตที่พิเศษกว่าสัตว์อื่นๆ คือ สามารถจินตนาการเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นนานมาแล้วหรือยังไม่นาน (หรืออนาคตที่ยังไม่เกิด) เป็นมโนภาพที่ชัดเจนขนาดเกิดความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้นซ้ำได้ราวกับว่ามันกำลังเกิดขึ้นขณะนี้ (ขณะที่กำลังคิด) ผมก็เชื่อว่าหมูหมากาไก่ไม่น่าจะมีความสามารถนี้ พวกมันอยู่กับปัจจุบันได้มากกว่ามนุษย์ จึงมีทุกข์ทางใจน้อยกว่า ถ้าจะมีทุกข์ก็เป็นทุกข์กายจริงๆ เช่น ความหิว

ผมเชื่อโบห์ม แต่ก็ใช่ว่าจะ "ทำใจ" กับเหตุการณ์ต่างๆ ได้เสมอไป เมื่อเดือนที่แล้วขับรถออกจากบ้าน ตีวงเลี้ยวออกจากซอยแคบไปหน่อย ข้างรถไปเบียดเข้ากับเสาไฟฟ้าต้นมุมถนน ตัวถังข้างซ้ายบุบและสีถลอกเป็นทางยาว แม้ใจสงบลงได้อย่างรวดเร็ว ค่อยๆ ขับต่อไปจนถึงที่ประชุมโดยไม่ประมาทอีก แต่ในขณะนั่งประชุมอยู่ ภาพรอยถลอกข้างรถก็แทรกเข้ามาในความคิดหลายครั้ง แต่ก็จับได้อย่างรวดเร็วว่า "อ๊ะ คิดอีกแล้ว" ก็วางลงได้ เรื่องนี้รบกวนจิตใจเป็นระยะๆ อยู่เนืองๆ ตั้ง ๓ วันกว่าที่จะสงบลงได้อย่างเด็ดขาด นี่ขนาดเรื่องเล็กๆ ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ (เช่น รถหายทั้งคัน สูญเสียคนที่เรารัก ฯลฯ) คงใช้เวลามากกว่านี้กว่าจะสงบลงได้ แต่ก็มีความเพียรพยายามที่จะปฏิบัติให้ถึงขั้นที่ "ปล่อยวาง" ในทุกเรื่องได้จริง (ไม่มีอะไรเป็น "ตัวกูของกู" จริง)

เมื่อถึงคราวผมต้องพูดอะไรบ้าง ๓ นาที ผมก็เล่าเรื่องที่ผมเองก็มีอะไรที่ผิดพลาดหลายเรื่องในอดีต ผมรู้สึกเสียใจกับพฤติกรรมของตนเองในหลายเหตุการณ์ ผมพยายามให้อภัยตัวเอง ปล่อยวาง ผมตั้งใจว่าจากนี้ไปผมจะพยายามทำ ๓ อย่าง คือ จะดูแลตนเองไม่ให้ทำชั่วใดๆ อีก (รักษาศีล ๕) ทำดี (ปฏิบัติตามคำสอนของพุทธศาสนา โดยเฉพาะในเรื่องพรหมวิหาร ๔ อิทธิบาท ๔ และมงคลชีวิต ๓๘) และทำใจให้จะสงบ ผมเชื่อว่าจากนี้ไป อนาคตไม่มีอะไรน่ากลัวอีกตราบเท่าที่ผมมีปฏิปทาใน ๓ อย่างที่กล่าวมา ผมก็เข้าสู่วัยชราอย่างมีคุณภาพ (ในบรรดาคนที่เข้าอบรมทั้งหมด ผมมีอายุมากที่สุด เป็นคนเดียวกระมังที่ห้าสิบกว่าแล้วมาร่วมกิจกรรมนี้)

เมื่อทำเช่นนี้ครบ ๓ คนแล้ว ลูซี่ให้พวกเราทำกิจกรรมอีกอันหนึ่งในกลุ่ม ๓ คนเดิม นั่นคือ ให้เราแต่ละคนคิดถึงท่าทางที่แสดงให้เห็นถึงด้านที่เราไม่พอใจในตัวเอง (เช่นหดหู่ ไร้พลัง) กับอีกท่าที่ตรงกันข้ามคือ ความปรารถนา ความสุข และพลังของเรา โดยให้สมาชิกกลุ่มคนหนึ่งเลียนแบบท่านั้น ทำท่านิ่งท่าแรก(ท่าลบ)ค้างไว้ แล้วอีกคนหนึ่งยืนห่างออกไปประมาณ ๓ เมตร หันหน้ามาหาคนแรกแล้วทำท่านิ่งท่าที่สอง(ท่าบวก)ค้างไว้ เมื่อจัดท่าทั้งสองท่าให้เพื่อนทั้งสองคนจนเราพอใจแล้ว เราก็เข้าไปยืนตรงกลาง จากนั้นก็เริ่มร่ายรำจากท่าที่เราไม่พอใจ(ท่าลบ)แล้วค่อยๆ เปลี่ยน (transform) กลายเป็นท่าหลัง อันเป็นท่าที่แสดงออกถึงความสุข ถึงพลัง ความพอใจของเรา ผลัดกันทำเช่นนี้จนครบ ๓ คน

วิธีการฝึกการร่ายรำในลีลาเคออสอีกกิจกรรมหนึ่ง คือ ทุกคนยืนเป็นวงกลมใหญ่รอบห้อง ลูซี่เปิดเพลงที่ใช้ในลีลาเคออส แล้วให้ทุกคนเริ่มเต้นอยู่ในที่ของตัวเอง เมื่อใครพร้อม (ได้ที่) ก็เข้ามาเต้นที่กลางวง คนที่ยังอยู่วงนอกก็จัดวงให้ล้อมเข้ามา เมื่อคนที่เข้าไปเต้นกลางวงเต้นจนพอใจแล้วจะออกมาหรือจะกลับเข้าไปใหม่เมื่อไรก็ได้อย่างอิสระ

มีคนหนึ่งเข้ามาก่อนคนอื่น เต้นไปก็ส่งเสียงดังลั่นออกมา ฟังน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วเป็นเสียงที่อมความทุกข์อยู่ภายใน ลูซี่ก็บอกว่าใครอยากส่งเสียงอะไรก็ทำได้ ผมเองก็เข้าๆ ออกๆ อยู่หลายครั้ง

ผมสังเกตตัวเองว่าทำเช่นนี้แล้ว ผมได้ปลดปล่อยตัวเองมากทีเดียว ได้ความรู้สึกดีๆ ผมสังเกตคนอื่นๆ ก็เป็นเช่นเดียวกัน ... สุดยอดจริงๆ กิจกรรม chaos ของลูซี่

(วันนี้บันทึกแค่นี้ เหลืออีกสองลีลาคือพริ้วไหวกับสงบนิ่ง)

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๑๔ มี.ค.๕๒

หมายเลขบันทึก: 248467เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2009 20:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับ พี่สุรเชษฐ เก็บรายละเอียดกาเรียนกับลูซี่ได้ชัดเจนและน่าสนใจดีนะครับ

สวัสดีชาลี

สบายดีหรือเปล่า?

มีละเอียดบางตอน แล้วก็ข้ามไปหลายกิจกรรม เช่น กิจกรรมแย่งชิงพื้นที่

แล้วก็มีหลายตอนที่เป็นเรื่องของความรู้สึก

อ.ลูซี่ ว่าจะส่งอีเมล์มาแนะนำ CD สำหรับฝึก 5 ลีลา แต่ยังไม่ได้รับอีเมล์

ชาลีมีความเห็นเรื่องดนตรีไหม (ในฐานะนักดนตรี)

  • ขอแค่อย่าได้ผิดศีลธรรม ข้อ 4 อย่าพูดเท็จ
  • ข้ออื่นๆก็ไม่ผิดหรอกค่ะ


-ขอบคุณคุณคะที่ส่งเมล ส่งข่าวบันทึกกิจกรรมที่ อ. ไปมา ให้ได้อ่าน

แวะมาเยี่ยม อ่านบันทึกคะ

ไม่มีความเห็น

มีแต่ :)

สวัสดีค่ะ อาจารย์สุรเชษฐ์ ไม่อยากจะเชื่อว่าอาจารย์อายุขนาดนี้แล้ว ยังดูไม่แก่เลยค่ะ แอนเองก็ชอบจังหวะเคออส รู้สึกว่าได้ปลดปล่อยอะไรๆออกไปมากเลย รวมทั้งได้เห็นความยุ่งเหยิงข้างใน ให้ความรู้สึกแตกต่างจากการไปเที่ยวเธคนะคะ กลับยิ่งยุ่งเหยิงไปกันใหญ่(เคยไปแล้ว พบว่าไม่ชอบไปหรอกค่ะ)กิจกรรมอีกอย่างที่ชอบกขอบคุณที่ส่งลิงค์มาให้นะคะ ดีจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท