ระวังป้องกันโรคในฤดูร้อน


โรคหน้าร้อน

          ในช่วงฤดูร้อน เป็นช่วงที่มีสภาพอากาศเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ประกอบกับในหลายพื้นที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง จึงขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ โดยยึดหลัก กินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ คือกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หากยังไม่กินต้องเก็บในตู้เย็นและอุ่นให้ร้อนก่อนกิน ใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกัน ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม และดื่มน้ำที่สะอาด ซึ่งโรคติดต่อสำคัญที่อาจเกิดขึ้นระหว่างฤดูร้อนและภัยแล้งมี 2 กลุ่มใหญ่     

กลุ่มที่ 1  ได้แก่ โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ มี 6 โรค ประกอบด้วย อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ บิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อยหรือไทฟอยด์  และ โรคตับอักเสบชนิด เอ 

           จากการติดตามเฝ้าระวังทางด้านระบาดวิทยาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี   ตั้งแต่เดือนมกราคม-5 มีนาคม 2552 พบอัตราป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจำนวน 1,079 ราย อัตราป่วยเท่ากับ 236.59 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต  ส่วนใหญ่ในกลุ่มอายุ 0-4 ปี  อัตราป่วย 1900.0 รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี อัตราป่วย 1500.0 ต่อประชากรแสนคน

การติดต่อเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่เชื้อมีปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ อาการสำคัญของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ คือ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือมูกเลือดได้ การดูแลในระยะแรกไม่ต้องงดอาหาร สามารถกินอาหารได้ตามปกติ ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ อาทิ น้ำข้าว น้ำแกงจืด และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โอ.อาร์.เอส.) โดยใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ 1 ซองผสมน้ำต้มสุกเย็น 1 แก้ว หากไม่มีให้ใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายกับน้ำต้มสุกเย็น 1 ขวดน้ำปลากลมแทน ที่สำคัญต้องดื่มให้หมดภายใน 1 วัน โดยห้ามกินยาเพื่อให้ หยุดถ่าย เพราะจะเป็นการกักเชื้อให้อยู่ในร่างกายและถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ การป้องกันโรคเหล่านี้ทำได้โดยล้างมือให้สะอาดก่อนปรุง/กินอาหาร หรือชงนมให้เด็ก ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก กินอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ ควรงดการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ก้อย ลู่ และถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ 

 

             กลุ่มที่ 2 คือโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ ซึ่งเป็นโรคที่พบว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้เกือบทุกเดือน โดยเฉพาะในหน้าร้อน ซึ่งเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ เมื่อป่วยแล้วจะเสียชีวิตทุกราย หากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกัน

                 ในเรื่องการป้องกันโรคในฤดูร้อนในขณะนี้ ได้ให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง เร่งรัดมีการประชาสัมพันธ์เรื่องการกินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ ถ่ายลงส้วม และให้ดูแลความสะอาดของสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นแหล่งแพร่โรค ในเรื่องความสะอาดน้ำดื่มน้ำใช้ มีการประสานกับการประปา เทศบาลและอบต. เพื่อดูแลให้มีสารคลอรีนตกค้างตามมาตรฐาน อาหาร ตลาดสด ส้วม การกำจัดขยะมูลฝอยไม่ให้เป็นแหล่งแพร่แมลงวัน โดยให้ล้างตลาดสดทุกเดือน หากพื้นที่ใดมีโรคระบบทางเดินอาหารระบาด ให้ล้างฆ่าเชื้อทุกอาทิตย์ และสุ่มตรวจมาตรฐานความสะอาดในอาหารถุงร้านอาหารและแผงลอยต่างๆ 


                ดังนั้น ในสภาวะอากาศที่ร้อน หน้าแล้ง เช่นนี้ จึงขอให้พี่น้องประชาชนดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเด็ก และคนชรา หากเกิดโรคทางระบบทางเดินอาหาร มีอาการท้องเสีย ท้องเดินขอให้รีบพบแพทย์ ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านท่าน 

 

คำสำคัญ (Tags): #โรคหน้าร้อน
หมายเลขบันทึก: 247942เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2009 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท