เพชรบุรี รวมพลัง เร่งรัด หยุดยั้ง วัณโรค เนื่องในวันวัณโรคโลก


วัณโรค

               วันที่ 24 มีนาคม 2552 นี้ กำหนดให้เป็น วันวัณโรคโลก ถือว่าทั่วโลกให้ความสำคัญกับโรคนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากวัณโรคเป็นโรคติดต่อที่สำคัญยังเป็นปัญหาสาธารณสุข  เป็นสาเหตุของการป่วยและการตายในหลายๆประเทศทั่วโลก  สาเหตุที่ทำให้วัณโรคกลับมามีปัญหาใหม่ทั่วโลก เนื่องจากการแพร่ระบาดของเอดส์  ความยากจน  การอพยพย้ายถิ่น  และแรงงานเคลื่อนย้าย องค์การอนามัยโลก(WHO)รายงานว่า  1 ใน 3  ของประชากรทั่วโลกติดเชื้อวัณโรคแล้ว  และประมาณครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังแพร่เชื้อ  นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกได้มีการจัดอันดับประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยมากตามลำดับ  ซึ่ง 3 ประเทศแรกที่มีผู้ป่วยมากที่สุดในโลก ได้แก่ ประเทศอินเดีย  จีน  อินโดนีเซีย  สำหรับประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 18  และคาดการณ์ว่าน่าจะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละ 90,000  ราย  และประมาณ  40,000  ราย เป็นผู้ป่วยที่แพร่เชื้อ        จังหวัดเพชรบุรี  (ปีงบประมาณ  2549,  2550 และ 2551)  พบว่ามีผู้ป่วยวัณโรคขึ้นทะเบียนรักษา ณ  โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง  จำนวนมีแนวโน้มลดลง  414,  363  และ 379  ราย ตามลำดับ ในจำนวนนี้พบว่าเป็นผู้ป่วยวัณโรคเสมหะพบเชื้อรายใหม่  จำนวน  191,  204  และ  208  ราย จากจำนวนประชากรของจังหวัดเพชรบุรี 456,061  คน  คาดการณ์ว่าจังหวัดเพชรบุรีน่าจะมีผู้ป่วยวัณโรคเสมหะพบเชื้อรายใหม่จำนวน  282  ราย    แต่มาขึ้นทะเบียนรักษาเพียง  208  ราย คิดเป็นร้อยละ 74 ฉะนั้นน่าจะมีผู้ป่วยวัณโรคเสมหะพบเชื้อรายใหม่ อยู่ในชุมชนและไม่ได้รับการรักษาอีก  74  ราย

 ผลการรักษาพบว่า    อัตราผลสำเร็จของการรักษาวัณโรคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือร้อยละ 82, 79 และ 92  ตามลำดับ   ปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราผลสำเร็จของการรักษาวัณโรคไม่ได้100 เปอร์เซนต์  เนื่องจากมีผู้ป่วยเสียชีวิตร้อยละ  5.05   การรักษาล้มเหลวร้อยละ 2.02  และขาดยาร้อยละ 0.51 ผู้ป่วยวัณโรคที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มีการติดเชื้อเอชไอวีและมีโรคเรื้อรังอื่นๆร่วมด้วย   ในปี 2552   กระทรวงสาธารณสุข  ได้กำหนดนโยบายการเร่งรัดแก้ไขปัญหาวัณโรคทั่วประเทศโดยเน้นกิจกรรมการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งดูแลติดตามให้รักษาหายและกินยาให้ครบ   กลุ่มที่เสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรค ที่สำคัญที่สุด ได้แก่ กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV   เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงโอกาสที่ผู้ติดเชื้อ HIV จะป่วยเป็นวัณโรคสูงถึงร้อยละ 10 ต่อปี   จังหวัดเพชรบุรี พบว่าผู้ป่วยวัณโรคติดเชื้อ HIV ร่วมด้วยร้อยละ 26  กลุ่มที่สองได้แก่ ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อโดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี  กลุ่มที่สามได้แก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเช่น โรคเบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง  โรคหอบหืด  โรคเอสแอลอี  โรคตับ  โรคไต  โรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด  ฯลฯ   กลุ่มอื่นๆที่เสี่ยง  ได้แก่  ผู้สูงอายุ   ผู้ต้องขังในเรือนจำ  และแรงงานต่างด้าว

            

ค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ โดยเจ้านหน้าที่สาธารณสุขร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ดำเนินการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น จำนวน136,818คน (30 % ของประชากรจังหวัดเพชรบุรี)   โดยใช้แบบคัดกรองวัณโรค  ถ้าพบผู้มีอาการสงสัยวัณโรคจะส่งตรวจเสมหะและเอ็กซเรย์ปอด   ในกรณีที่พบว่าป่วยเป็นวัณโรคโรงพยาบาลทุกแห่งจะขึ้นทะเบียนรักษา  ดูแลจนผู้ป่วยรักษาหายและกินยาครบ   วัณโรครักษาหายได้   หากกินยาอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอใช้เวลาเพียง 6-8 เดือน เท่านั้น    ผู้ป่วยวัณโรคหากได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง ขาดยา หรือกินยาไม่ต่อเนื่องจะทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยา ทำให้ยากต่อการรักษาและอาจแพร่เชื้อวัณโรคดื้อยาสู่ผู้อื่นได้    สำหรับการป้องกันวัณโรคที่ดีที่สุดคือ   การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและให้การรักษาอย่างถูกต้อง  เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อต่อไป

 

ข้อควรปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วไป คือ 1.  ควรปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอ  จาม 2. ถ้าพบผู้มีอาการสงสัย  คือมีอาการไอเรื้อรังเกิน  2 สัปดาห์   มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรืค่ำ  เบื่ออาหาร  น้ำหนักลดมากกว่า 5 % ภายใน 1 เดือน  อ่อนเพลีย  เจ็บหน้าอก  เหนื่อยหอบ  แนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล  3. ญาติหรือผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคโดยเฉพาะเด็ก  ควรไปรับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล  4. ญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยวัณโรค  ต้องดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานครบถ้วน  ต่อเนื่อง  และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง  จนกว่าแพทย์จะสั่งหยุดยา              5. ควรตรวจสุขภาพประจำปี  อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

 

                   เพื่อเป็นการสร้างกระแสและส่งเสริมให้ชุมชน  เข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัณโรค  ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญในการนำผู้สัมผัสโรคร่วมบ้านกับผู้ป่วย        และผู้มีอาการสงสัยไปรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง  เนื่องในโอกาสที่วัน    วัณโรคโลก      ในวันที่  24  มีนาคม  2552  นี้  จึงขอให้ทุกท่านร่วมมือกัน ...ช่วยกันแนะนำ..ให้กลุ่มเสี่ยงหรือผู้ที่มีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นวัณโรค เข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรค โดยการตรวจเสมหะและเอ็กซเรย์ปอด ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี โทร 032-425100  ต่อ 108 ในวัน และ เวลาทำการ ครับ

.......................................................................................

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #วัณโรค
หมายเลขบันทึก: 247938เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2009 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 23:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท