โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (4.1) คุณสนั่น เวียงขำ


...พอมีรถไถแล้ว งานก็เริ่มหนักขึ้น เมื่อตอนใช้ควายไถเพียงครึ่งวัน พอมีรถไถต้องไถเต็มวัน เพื่อให้งานเสร็จเร็ว ...
โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (3.2)

4. สุขภาวะนักเรียนชาวนา

           สนั่น เวียงขำ (ตอนที่ 1)        

         นักเรียนชาวนาคนเก่งคนขยันของโรงเรียนชาวนาวัดดาวคนหนึ่งที่ใคร่จะแนะนำให้รู้จัก คือ คุณสนั่น เวียงขำ หรือลุงสนั่นของหลานๆ แถวๆ วัดดาวนั่นเอง เป็นนักเรียนชาวนาอายุ ๖๓ ปี (๒๕๔๘) ซึ่งเป็นผู้ที่ชอบทดลองเรื่องจุลินทรีย์เพื่อใช้ประโยชน์ในกระบวนการทำนา อันนี้เป็นที่ทราบกันทั่ววัดดาวและทั่วโรงเรียนชาวนา

 ภาพที่ ๑๙ คุณสนั่น เวียงขำ กับแต่ละวันในชีวิตของชาวนา

คุณสนั่นจะขอย้อนความเก่าเล่าความหลังครั้งยังเลี้ยงควายทำนาว่า

"สมัยก่อนพอออกจากโรงเรียนก็เริ่มทำนา สมัยเป็นเด็กๆ อายุสัก ๑๒ – ๑๓ ปี (ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๗ – ๒๔๙๘) ก็เริ่มช่วยพ่อแม่ทำนาเรื่อยมา ตอนที่อยู่กับพ่อกับแม่ก็มีนาเป็นร้อยไร่ ทำเองกันไม่หมดหรอก แบ่งให้เขาเช่าบ้าง ทำเอง ๖๐ – ๗๐ ไร่

พอแต่งงาน พ่อแม่ให้ควายมาตัวหนึ่ง พร้อมที่นา ให้ควายไปไถนา ทำมาหากินกันเอง ถ้ามีนาเยอะก็แบ่งให้มาก ถ้ามีนาน้อยก็แบ่งกันคนละ ๕ – ๑๐ ไร่

สมัยก่อนนั้นหากินง่าย ปลาหาง่าย ปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ ปลาแขยง ปลาซิว ปลาอ้าว ปลาหางแดง ปลาแปลบ ปลาสร้อย เดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำก็ลง ปลาก็ลงตามน้ำ แต่ตอนนี้ปลาซิวกับปลาอ้าวไม่มีแล้ว

รายจ่ายไม่ค่อยจะมี ข้าวก็ปลูกเก็บเอาไว้กินกันเอง ปลาก็หากันเอง ผักก็ปลูกกินกันเอง แล้วพ่อค้าแม่ค้าก็ไม่มากมายเหมือนสมัยนี้ ขนมก็ทำกินกันเอง เตรียมกันไว้นะ ซื้อน้ำตาลไว้ ถึงหน้านาก็ทำนา ถึงหน้าแล้งก็ทำถั่วเขียว เกี่ยวเก็บเอาไว้ทำขนมหรือทำอะไรต่างๆ

ทำนาปีแบบข้าวขึ้นน้ำ (ข้าวไวแสง) น้ำมากน้ำน้อยข้าวสามารถอยู่ได้ แต่ถ้าน้ำขึ้นไวเกินไป ต้นข้าวก็ขึ้นไม่ทัน ก็อาจจะเสียหายได้ ถ้าน้ำขึ้นเรื่อยๆตามธรรมชาติ ต้นข้าวก็จะขึ้นสูงเรื่อยๆ จะปรับตัวได้

ข้าวเบาที่ปลูกกัน อย่างเช่น ข้าวเมล็ดเล็ก ข้าวจำปา ข้าวมะลิทอง ข้าวพวง ข้าวขึ้นจุด จนถึงข้าวหอมใหญ่ซึ่งเป็นข้าวหนักแล้ว...หนักที่สุด ทยอยปลูกไป ในสมัยก่อนแรงงานมีน้อย แล้วทำกันเองในครอบครัว จึงต้องทยอยเกี่ยวไปเรื่อยๆ แล้วก็ใช้วัวควาย

คนโบราณมีความรู้เยอะ จากที่นาดอนทำข้าวเบา พอที่ต่ำทำข้าวหนัก เพื่อให้ดินแห้ง จะได้วางระดับน้ำ ที่ต่ำลงไปอีกทำข้าวหนักไปอีกนิดหนึ่ง ดูให้เหมาะสมกับพื้นที่ ช่วงแรกๆ ถ้าทำข้าวเบา น้ำยังไม่ทันลง ข้าวออกแล้ว ต้องเกี่ยว จำต้องทำราวไม้ เมื่อเกี่ยวแล้วใช้มัดเป็นกลุ่มตากพาดราวไม้ เวลาแห้งแล้วก็ย่ำลาน ใช้ควายย่ำลาน แล้วนำมาบดนวดไปเรื่อยๆ ใช้แรงงานในครอบครัว ทำแต่ละวันๆ ทยอยทำไปเรื่อยๆ ตลอดเดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม (ประมาณเดือนธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์) ใช้เวลา ๓ เดือนเกี่ยวข้าว ซึ่งไม่เหมือนสมัยนี้ ใช้เวลาวันสองวันก็เสร็จ ทำเสร็จไวแล้วไปส่งโรงสี ให้โรงสีตีราคา สมัยก่อนทำกันช้า ชาวนาตีราคาเอง โรงสีมาหาชาวนา พ่อค้ามาเดินกันไขว่เลย เดี๋ยวคนโน้นเข้าเดี๋ยวคนนี้ออก ชาวนาสามารถเรียกราคาได้เต็มที่ พ่อค้าคนนี้ตีราคาให้เพียงเท่านี้ ถ้าอย่างนั้นก็รอให้อีกคนหนึ่งมาให้อีกราคาหนึ่ง จึงจะตกลงขาย มีอำนาจต่อรองเยอะ เพราะข้าวอยู่ในยุ้ง ชาวนาไม่ได้เดือดร้อน

ภาพที่ ๒๐ แม่บ้านเดินเกลี่ยข้าวเปลือกที่ตากไว้บริเวณลานบ้าน

ภาพที่ ๒๑ แม่บ้านตักข้าวเปลือกใส่กระสอบ หลังจากตากข้าวเปลือกแห้งได้ที่แล้ว และจะเก็บขึ้นยุ้งข้าว

พอช่วงอายุ ๒๕ – ๓๐ ปี (ประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๐ - ๒๕๑๕) ช่วงนี้เริ่มทำนาปรังกัน และก็เริ่มใช้ยาฆ่าแมลงกันแล้ว

ทำนาปรังกันตอนแรกๆ ยังเป็นนาดำกันอยู่ และยังไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลง นาปรังนั้นไว อายุสั้น ทำเมื่อไหร่ก็ได้ เริ่มแรกทำกันน้อยไม่กี่ไร่เอง ทำนาปีทำเพียงครั้งเดียว แต่ทำนาปรังทำเมื่อไหร่ก็ได้ ช่วงว่างมาก จึงเอาช่วงว่างๆ มาทำนาปรัง

ได้พันธุ์ข้าวมาใหม่ ในครั้งแรกก็มีลุงข้างบ้านเอาพันธุ์ข้าวมาจากนครปฐม เป็นข้าวนาปรัง เห็นว่าคัดมาดี จึงได้เอามาลองปลูกดู ถ้าทำนาปีจะได้ข้าวสัก ๓๐ – ๔๐ ถัง มาทำนาปรังช่วงแรกๆได้ถึง ๖๐ ถัง ก็ดีใจแล้ว ได้ถึง ๗๐ ถัง ก็ฮือฮากันเลย อันที่จริงทำนาปีได้ ๓๐ – ๔๐ ถัง ...นี่ก็ถือว่าได้กันเต็มทีแล้ว ... ลุงเขาเอามาทำก่อนเลย พอเห็นว่าเขาทำแล้วดี ก็จึงขอแบ่งข้าวปลูกจากลุงเขามาลองทำดู แล้วก็ดี ได้เนื้อดี ข้าวรวงใหญ่ดี ไวดี จึงแบ่งๆกันไป

ทำนาปีนาปรัง ข้าวที่ได้ก็กินด้วยขายด้วย เหลือจากกินค่อยเอาไปขาย กินกันไม่มาก...สักเกวียนหนึ่งก็พอแล้ว ส่วนที่เหลือก็ขายไป ข้าวขายกันง่าย นาปีเกี่ยวแล้วไม่ได้ขายสด ต้องตากในนาก่อน แล้วก็นวด จึงได้เป็นข้าวแห้ง แล้วค่อยเก็บใส่ยุ้ง ยามจะขาย พ่อค้าจะมาหาเอง มาสอบถามว่าจะขายหรือยัง เอาราคาเท่าไหร่ มาคุยถึงบ้านเลย เพราะข้าวแห้งจะขายเมื่อใดก็ได้ ช่วงที่เงินพอใช้ก็จะยังไม่ขาย นาปรังในช่วงแรกๆก็เกี่ยว แล้วก็ตากแห้งเช่นเดียวกัน

ตอนนั้นยังไม่มีความรู้อะไร ทำนาดำ เกี่ยวรวงเสร็จแล้ว ต้องมาเกี่ยวต้นทิ้งอีก แทนที่จะปล่อยเอาไว้ในนา ก็ต้องหอบตอขึ้นมาเผาบนคันนา ต้องเกี่ยวถึง ๒ ครั้ง เหนื่อยก็เหนื่อย ก็ต้องทำกัน แล้วในปัจจุบันรู้แล้วว่าสามารถแตกขึ้นใหม่ได้อีก แต่ตอนนั้นไม่รู้ จึงไม่เอาไว้ เพราะกลัวว่าจะไม่ดี

ต่อมาพออายุได้สัก ๔๐ ปี (ประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๕) ทำนาปรังได้เริ่มใช้รถไถกันแล้ว ทำนามากๆ ทำเองไม่ทัน จึงเริ่มจ้างเขาไถไร่ละ ๑๒๐ – ๑๓๐ บาท เมื่อก่อนอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ มีควายเป็นสิบ มีทั้งลูกเล็กลูกน้อย จะเลี้ยงแม่ควายมีลูกเล็ก พอโตขึ้นก็ใช้งาน เหลือจากการใช้งานก็แบ่งขายไป ควายบ้านหนึ่งๆ ก็จะมีสัก ๓ – ๔ ตัว ควายไถครึ่งวันก็จะได้ประมาณ ๑ ไร่ ตั้งแต่เช้ามืดถึงเพลก็เต็มที่แล้ว เช้ามืดหมายถึงเวลาประมาณตี ๔ – ๕ พอสามารถมองเห็นรอยก็เริ่มไถ ถ้าไถกัน ๔ คัน ก็ได้ ๔ ไร่ แต่ถ้าอากาศร้อนควายก็ไถไม่ไหว ถ้าเห็นท่าจะไม่ไหว ก็จะจ้างรถไถเขามาช่วย รถไถนี่มาภายหลังนะ ช่วงนั้นพอหันมาใช้รถใช้เครื่องจักรกลก็ถือเอาความสะดวก ใช้แล้วก็เอาจอดไว้ ไม่ต้องดูแลเอาใจใส่ ถ้าควาย...พอเลิกจากไถ ก็ต้องหาอาหารอะไรให้มันกิน หรือไม่ก็ต้องพามันไปกิน ซึ่งคนเลี้ยงก็ต้องตามไปด้วย แต่เครื่องจักรไม่ต้องไปด้วย หยุดไถแล้วก็หยุดเลย จะได้ไปทำอย่างอื่น

และแล้วก็ไปซื้อรถไถยันม่าในตลาดคอวัง (ตัวอำเภอบางปลาม้า) ราคา ๒๗,๐๐๐ ซื้อด้วยเงินสด พอมีรถไถแล้ว งานก็เริ่มหนักขึ้น เมื่อตอนใช้ควายไถเพียงครึ่งวัน พอมีรถไถต้องไถเต็มวัน เพื่อให้งานเสร็จเร็ว นาเคยทำปีละครั้ง ก็เพิ่มเป็นปีละ ๒ ครั้ง ไม่เคยใช้ปุ๋ย...ก็ต้องไปหว่านปุ๋ย ไม่เคยใช้ยา...ก็ต้องใช้ยา ช่วงที่ใช้ควายไถนา ไม่ต้องใช้ปุ๋ย ได้ข้าวเปลือกไร่ละ ๔๐ ถัง

จากนั้นมีหน่วยงานเกษตรเขาเริ่มมาแนะนำเรื่องยากับปุ๋ย ตอนแรกๆ ก็ไม่อยากจะใช้กันสักเท่าใดหรอก ใช้กันไม่เป็น เขาบอกให้ทำนาหว่าน ไม่ให้ทำนาดำ ทำนาดำต้นทุนสูง ต้องจ้างแรงงานมาดำมาก ให้มาทำนาน้ำตม ทำง่ายขึ้น ทำได้มากๆ แล้วก็ทำได้ไว ทำนาน้ำตม หว่านไป แล้วก็ใช้ปุ๋ยใช้ยา เขาก็ให้สูตรมา แนะนำสูตรยาว่าโรคอย่างนั้นให้ใช้ยาอย่างนั้น โรคอย่างนี้ต้องใช้ยาอย่างนี้ ใช้ปุ๋ยสูตรนั้นสูตรนี้ ระยะข้าว ต้องใช้กี่กิโลกรัม เขามาตีตารางกำหนดให้ทำเลยล่ะ เพราะยังไม่เคยใช้ ก็เอาตามเขา เพราะอยากได้ดี อยากได้มากๆ เขาแนะนำอะไรก็ทดลองทำตามเขาไป เขาเป็นคนของหน่วยงานจะไม่ให้เชื่อถือได้อย่างไร แต่ในวงชาวนาเองคุยกันว่าต้องเชื่อต้องฟังเขาไว้ก่อน เพราะเขาเองก็บอกว่าเขาทดลองกันมาแล้ว ก็จึงใช้ตามเขา

ใช้ปุ๋ย ก็เห็นผลทันตาเลย ใส่ปุ๋ยปุ๊บ...เขียวปั๊บเลย ตรงนี่แหละที่ชาวบ้านชอบ มันเป็นจริงอย่างที่เขาพูดแนะ ทันตาทันใจ ตอนที่เขามาแนะนำใหม่ๆแรกๆ...ไม่แพงหรอก พอชาวนารู้จักใช้กัน และใช้กันมากขึ้น สินค้าจึงขยับราคาขึ้นตามไปเรื่อยๆ ชาวนาติดใจกันแล้ว อย่างไรเสียก็ต้องใช้ เพราะเห็นทันตาแล้วนี่ ของแพงอย่างไรก็ต้องซื้อ ต้องสู้ราคา ไม่ได้คิดกันว่าจะหาวิธีไหนมาทดแทน ไม่ได้คิดกันเพราะใช้ปุ๋ยกันอยู่อย่างเดียว

ตอนแรกๆ ก็ใช้ตามสูตร เพียงไม่กี่ปีหรอก พอรู้ใช้ พอใช้ไปเรื่อยๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปบ้าง ดูว่าข้าวงามมากหรืองามน้อย ก็จะต้องปรับใช้กันเอง ส่วนตรงไหนที่เห็นว่างามก็ใส่กันน้อย กะกันเอาเอง แล้วแต่เทคนิคของแต่ละคนแต่ละพื้นที่ ตอนแรกๆนั้นต้องเคร่งครัดกันหน่อย เขาแนะนำมาอย่างไรก็ต้องทำตามอย่างนั้น แล้วค่อยมาเปลี่ยนแปลงกันภายหลัง ... ชาวนานี่เก่งนะ แก้ไขปัญหาได้เก่งมาก แต่จะแก้กันไปในทางที่ผิดหรือที่ถูก ถ้าชาวนาไม่เก่งจริงทำนาไม่ได้หรอก

พออายุ ๕๐ ปี (ปี พ.ศ.๒๕๓๕) ตอนนั้นเริ่มใช้ยาเม็ด เขาโฆษณามาดีทุกอย่าง กำจัดนั้นได้กำจัดนี่ได้ ก็ซื้อมาใช้ เมื่อใช้แล้วไม่ได้ผล ก็คิดว่ายายี่ห้อนี้ไม่ดี แล้วก็มียี่ห้อมาใหม่อีกแล้ว ก็บอกว่าดี ก็ต้องเปลี่ยนก็ต้องลอง เพราะยาเดิมไม่ดีแล้วนะ จึงเปลี่ยนซื้ออย่างใหม่ พอใช้ไม่ได้ ก็เปลี่ยนอีก ไปซื้อยี่ห้อใหม่อีก แพงก็ต้องเอา แล้วก็จะต้องเอาอย่างที่แพงขึ้นเรื่อยๆ เพราะยาเดิมราคาถูกกว่า แล้วไม่ได้ผล จึงต้องซื้อยาที่แพงกว่า เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ... ขอใช้ให้ได้ผลอย่างเดียว แพงเท่าไหร่ไม่ได้คำนึง เพราะชาวนาไม่เคยคิดถึงต้นทุน

ตอนฉีดยาฆ่าแมลง แม้จะมีผ้าปิดจมูก แม้จะเคร่งครัดตามคำแนะนำ แต่ก็ยังไม่วาย เพราะฉีดทุกวัน ไม่ใช่นานๆฉีด บางวันก็ฉีดกันทั้งช่วงเช้าช่วงเย็น ถ้านาเยอะๆ ก็จะไม่มีเวลาว่าง ฉีดแทบจะทุกวัน เพราะยิ่งฉีดแมลงก็ยิ่งมีมาก

หมายเลขบันทึก: 24752เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2006 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สามารถติดต่อคุณลุงสนั่นทางไหนได้บ้างค่ะ

สามารถติดต่อคุณลุงสนั่นทางไหนได้บ้างค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท