โรงเรียนบ้านพุต่อ ..กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


โรงเรียน สิ่งแวดล้อม สื่อการสอน การอนุรักษ์ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ป่าชุมชน

โรงเรียนบ้านพุต่อ....กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

โดย..ณัฐวุฒิ  ศิลาโชติ

 

 

 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง  เป็นที่รู้จักกันดี  เพราะได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก ระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคม 2534 ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย

ห้วยขาแข้งมีพื้นที่ครอบคลุม 6 อำเภอ 3 จังหวัดคือ อำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก อำเภอห้วยคต  จังหวัดอุทัยธานี อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีพื้นที่ 3,609,375 ไร่ หรือ 5,775 ตารางกิโลเมตร โดยมีการรวมพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเข้ามาด้วย ทำให้เป็นผืนป่าอนุรักษ์ต่อเนื่องที่อุดมสมบูรณ์และมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งในปัจจุบันก็กำลังประสบปัญหากับผู้บุกรุก เข้าไปทำลายทรัพยากรป่าไม้และล่าสัตว์เป็นจำนวนมาก  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะต้องร่วมกันอนุรักษ์   ซึ่งส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์นั้น   ต้องยอมรับว่าเยาวชนหรืออนาคตของชาตินั้น เป็นส่วนสำคัญและเป็นความหวังของผู้ใหญ่ ที่ต้องการเห็นสภาพป่าที่สมบูรณ์ต่อไปในอนาคต

ด้วยเหตุนี้   จึงเป็นที่มาของโครงการโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษา  ที่กองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย  ดำเนินงานขึ้น  เพื่อสร้างความเข้าใจและจิตสำนึกที่ดีให้กับครู  นักเรียน ชุมชนและบุคคลที่เกี่ยวข้อง  ได้เข้าใจถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างถูกวิธี  โดยทำการคัดเลือกโรงเรียนจากแต่ละอำเภอ ๆ ละ 2 โรงเรียน เพื่อเข้าร่วมโครงการนี้

ความจริงแล้วการสอนเรื่อง สิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติศึกษา  นั้นมีมาตั้งแต่บรรพบุรุษในอดีตแล้ว ดังจะเห็นได้จาก  การท่องทำนองบทร้องขับขาน ของเด็กๆ ในสมัยก่อนๆ จะว่าเป็นนิทานก็ไม่ใช่ อะไรเอ่ยก็ไม่เชิง  ว่า 

เด็กๆ ทำไมจึงร้อง.............................................................. (ซ้ำ)

จำเป็นที่ฉันร้องเพราะว่าท้องมันปวด

ท้องเอยทำไมจึงปวด.........................................................  (ซ้ำ)

จำเป็นที่ฉันต้องปวดเพราะว่าข้าวมันดิบ

ข้าวเอยทำไมจึงดิบ..............................................................                (ซ้ำ)

จำเป็นที่ฉันต้องดับเพราะว่าฟืนมันเปียก

ฟืนเอยทำไมจึงเปียก..............................................................             (ซ้ำ)

จำเป็นที่ฉันต้องเปียกเพราะว่าฝนมันตก

ฝนเอยทำไมจึงตก..............................................................  (ซ้ำ)

จำเป็นที่ฉันต้องตกเพราะว่ากบมันร้อง

กบเอยทำไมจึงร้อง..............................................................                (ซ้ำ)

จำเป็นที่ฉันต้องร้องเพราะว่างูมันรัด

งูเอยทำไมจึงรัด...............................................................     (ซ้ำ)

จำเป็นที่ฉันต้องรัดเพราะว่าเป็นอาหาร

 

นี่คือ การสอนสิ่งแวดล้อมศึกษาหรือธรรมชาติศึกษา ที่ได้ผล  เข้าใจง่าย และชี้ให้เห็นธรรมชาติใกล้ตัวใกล้วิถีชีวิตของเด็กๆในสมัยก่อน  พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงกฎเกณฑ์  การพึ่งพา

อาศัย  เชื่อมโยงกันของสรรพสิ่งอย่างสนุกสนานและเป็นรูปธรรม  นอกจากนั้นผู้ใหญ่ในสมัยก่อน ยังได้ใช้ความเชื่อในเรื่องผีสางนางไม้ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งเร้นลับในธรรมชาติมาเป็นเครื่องมือ(สื่อการสอน) เพื่อสอนให้เด็กๆ เกิดความเชื่อ กลัวเกรงต่อ

ผลของการทำลายธรรมชาติด้วย

ในวันที่ 4  มกราคม พ.ศ. 2550  ข้าพเจ้าและคณะนิสิตดุษฎีบัณฑิต  สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร  ซึ่งโดยการนำทีมของท่าน ผศ. ดร.รุจโรจน์  แก้วอุไร  ได้พาคณะไปศึกษา

ดูงานโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษา  ที่อำเภอบ้านไร่  จังหวัดอุทัยธานี  ซึ่งโรงเรียนนี้มีจุดแข็ง

คือด้านหลังของโรงเรียนมีผืนป่าใหญ่ของชุมชน  เป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์สำคัญของจังหวัด

อุทัยธานี  และก็ได้พบกับคุณครูอนงค์  คุณเดช  ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ  ได้ออกมาให้การต้อนรับด้วยหน้าตาชื่นมื่น  จากนั้นก็ได้นั่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันที่โต๊ะม้าหินอ่อนหน้าอาคารเรียนแล้วท่านก็เริ่มเล่าให้ฟังว่า  โรงเรียนบ้านพุต่อ  เป็นโรงเรียนในโครงการโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษา  ที่ดำเนินงานของโครงการ โดยเน้นวัตถุประสงค์เพื่อปลูกจิตสำนึกให้นักเรียน ครู และชุมชน ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของสิ่งแวดล้อมและเพื่อปลูกฝัง ให้นักเรียนรักและหวงแหนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  โดยมีรูปแบบ ของกิจกรรมตามโครงการ ประกอบไปด้วย กิจกรรมการคัดแยกขยะ การจัดให้มีบล็อกสำหรับใส่เศษใบไม้ เพื่อสะสมเอาไว้ให้ย่อยสลายตามธรรมชาติจนกลายเป็นปุ๋ย   มาตรการในการประหยัดน้ำ โดยจัดทำที่กักเก็บน้ำใช้แล้ว น้ำที่นักเรียนใช้แล้วจะถูกนำมารวมกันที่นี่  และมีจักรยานไว้สำหรับปั่นเพื่อสูบน้ำที่กักเก็บไว้จนตกตะกอนของเสียแล้วขึ้นมาใช้ในการรดน้ำต้นไม้ต่อไป  และนอกจากนั้นยังมีกิจกรรมในด้านอื่นๆ อีก  เช่น กิจกรรมดูนก  กิจกรรมคนรักษ์ป่า   เกษตรรุ่นเยาว์   กิจกรรมเรารักสิ่งแวดล้อม  กิจกรรมนักประดิษฐ์น้อย  เป็นต้น  ส่วนภายในพื้นที่โรงเรียนนั้นก็ยังได้จัดให้มีสวนสมุนไพรไว้ให้นัก เรียนได้ศึกษาถึงพืชสมุนไพรที่มีอยู่ตามธรรมชาติอีกด้วย

ครูอนงค์  ท่านเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มและภูมิใจว่านับตั้งแต่นำนโยบายโครงการโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษามาปฏิบัติกับนักเรียนนั้น   พฤติกรรมต่างๆ ของนักเรียนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น   นักเรียนรู้จักช่วยกันประหยัดไฟและน้ำ  รู้จักทิ้งขยะเป็นที่เป็นทาง  และแยกประเภทของ ขยะ   และผลผลิตที่สำคัญที่สุด  คือนักเรียนได้ตระหนัก   รู้ถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและชีวิตสัตว์มากขึ้น 

จากที่นักเรียนชอบยิงนกเล่นเป็นที่สนุกสนาน ปัจจุบันกลับกลายเป็นยิงเมล็ด พืชธรรมชาติที่ติดอยู่บนยอดสูงของต้นไม้แทน  เพื่อให้สัตว์กินพืชตามพื้นดิน  ได้อานิสงส์กินเป็นอาหาร และหันมาสนใจศึกษาชีวิตนกแทนการล่าสัตว์ตัดชีวิต

คุณครูอนงค์  คุณเดช  เล่าว่าท่านเป็นทั้งครูนักต่อสู้  นักอนุรักษ์นิยม  เป็นประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ป่าชุมชน) โรงเรียนบ้านพุต่อ  เล่าให้ฟังต่อไปว่า  "เครือข่ายอนุรักษ์เริ่มจากกลุ่มชาวบ้านที่เห็นความสำคัญของป่าที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านของตัวเอง   แล้วขยายออกไปรอบๆ ใกล้เคียง  รวมตัวกันเป็นชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจ  โดยผ่านความคิดเห็นที่ประชุมหมู่บ้าน   ร่วมแรงร่วมใจ ในการรักษาป่า  การบวชป่า  เพื่อพิทักษ์ป่าต้นน้ำ  การดับไฟป่า และสร้างแนวกันไฟ   การสร้างอ่างพุก่าง  ไว้เก็บกักน้ำจากแหล่งน้ำซึมน้ำซับ  ตลอดการดูแลรักษาความสะอาดอ่าง  พอทำๆ ไปกลุ่มผู้ใหญ่รุ่นนี้มีเวลาที่จะอยู่ดูแลรักษาป่าอีกไม่นาน  ถ้าตายไปสิ่งต่างๆที่ร่วมกันคิด  ร่วมกันสร้าง  ก็จะสูญหายไปด้วย  จึงมีแนวคิดที่จะหาผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของพวกเรา....  และแล้วก็มองเห็นเด็กๆ  เพราะอยู่ใกล้ชิดคลุกคลีกับเรา  อะไรที่จะสอดแทรกปลูกฝังให้เขาก็เริ่มทำมันน่าจะดีกว่า   ก็เริ่มโดยพาเขาไปปลูกป่า  ไปเรียนในธรรมชาติ  เพื่อให้เขาซึมซับว่า  ป่าเป็นของเค้านะ  พวกเค้าน่าจะมีมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา "        

ด้วยแนวคิดนี้เอง  ทางโรงเรียนจึงจัดตั้ง "ชมรมคนรักษ์ป่า" ขึ้น...คุณครูอนงค์ เล่าพร้อมถ่ายทอดความรู้สึกที่ประทับใจให้ฟังต่อว่า.... " การจัดตั้งชมรมฯ นับเป็นการสร้างโอกาสที่ดี ให้เด็กๆ ได้มาสัมผัสธรรมชาติ  ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้เล็ก  ต้นไม้ใหญ่  เป็นการสร้างความรัก

ความผูกพันให้เกิดขึ้นในใจเด็ก  ทั้งยังจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดรับกับห้องเรียนธรรมชาตินี้ด้วย  ไม่ว่าจะเป็นวิชา สร้างเสริมลักษณะนิสัย  ภาษาไทย   ภูมิศาสตร์ หรือแม้แต่ศีลธรรม  พระสงฆ์ก็เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ในตอนแรกเริ่มกิจกรรมการปลูกป่าก็เป็นที่ตื่นเต้นของเด็กๆ    มือหนึ่งถือกล้าไม้   อีกมือถือจอบเสียมเท่าที่จะพกพาได้  พากันเดินตามผู้ใหญ่ไปปลูกป่า   แต่ด้วยระยะทาง  ความเหน็ดเหนื่อยกว่าจะถึงจุดหมายก็เกิดความอ่อนล้าและหมดสนุกซะแล้ว  จึงไม่สัมฤทธิ์ผล   เราเป็นครูก็ต้องมาคิดหาวิธีการ ทำอย่างไรเด็กจะสนุกสนานในการเข้าไปปลูกป่าและศึกษาธรรมชาติ  ซึ่งก็ต้องใช้เวลาไม่ใช่น้อย.... 

จนมาวันหนึ่งหลังเลิกเรียน    คุณครูเห็นเด็กเอาหนังสตี๊ก  มีลูกกระสุนเป็นก้อนหินมาไล่ยิงนก  ตุ๊กแก  กิ้งก่า   ยิงต้นไม้   ต้นหญ้าเล่นกันอย่างสนุกสนานอยู่เป็นนานสองนาน   ครูจึงได้คิดว่า.  น่าจะสร้างวิกฤติให้เป็นโอกาส   เอาเจ้าหนังสตี๊กที่เป็นของเล่นอันโปรดปรานของเด็กๆ  จากที่มันเป็นผู้ทำลาย....ทำไมเราไม่ทำให้มันกลายเป็นผู้สร้างสรรค์  จากลูกกระสุนก้อนหินเปลี่ยนเป็นเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ  เพราะโดยธรรมชาติเวลาเมล็ดที่แก่จัดจะแตกและดีดตัวออกไปงอกขึ้นเอง  ทั้งนี้เด็กๆจะได้สนุกสนานด้วย " และแล้วจากความคิดเพียงแว๊บนั้นก็จุดประกายให้เกิดโครงการ  "ปลูกป่าอากาศยาน" ขึ้น.....โดยทุกๆ บ่ายวันศุกร์พวกเด็กๆนักเรียนโรงเรียนบ้านพุต่อ  จะขะมักขเม้นกับการเตรียมเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ ที่เก็บมาจากเรือกสวน  ไร่นา  และที่บ้าน  มานั่งล้อมวงเป็นกลุ่มๆ เพื่อนำดินเหนียวมาปั้นใส่เมล็ดพันธุ์พืชต่างๆเช่น  หางนกยูง  ลิ้นจี่  ประดู่   ขนุน  จามจุรี ฯลฯ โดยมีรุ่นพี่คอยเป็นผู้แนะนำน้องในการปั้นดินเหนียวให้เป็นลูกกลมๆ ขนาดพอเหมาะ  เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำลูกกระสุนของเจ้าหนังสะติ๊กผู้สร้างสรรค์   สำหรับกิจกรรมปลูกป่าที่จะทำในช่วงตรงกับฤดูฝน  อันเป็นเวลาที่เหมาะสมกับการสร้างกล้าไม้ใหม่ให้กับป่าชุมชนสวนพลูพุต่อ   

ครูอนงค์เล่าให้ฟังต่อไปว่า  ในการเดินทางไปปลูกป่าเด็ก ๆ นั้น จะพากันเดินไปเป็นแถว   เดินไปตามถนน  โดยมีคุณครูมานิต   คุณครูอนงค์   และลุงทิดหนึ่ง  คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้นำทางเข้าสู่ป่าชุมชนสวนพลูพุต่อ   ในระหว่างการเดินทางจะมีกฎกติกาที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติร่วมกัน คือการไม่เก็บของป่า  ไม่ฉีกใบไม้เล็กไม้น้อยระหว่างทาง   ไม่ส่งเสียงดังรบกวนสัตว์ป่าต่างๆ   ไม่วิ่งเล่นแตกกลุ่มไปโดยลำพัง    แม้กฎบางข้ออาจขัดต่อวิสัยเด็กๆไปบ้าง ด้วยเมื่อมีโอกาสต่างก็ลิงโลดไปตามประสาเด็กที่ได้เดินทางเที่ยวป่า  ตลอดเส้นทางเด็กๆได้เห็นและเรียนรู้ความเป็นธรรมชาติ   ได้ดูนก  ทั้งหยอกล้อกันเล่นสนุกสนาน    ได้รู้จักพรรณไม้  รู้จักสมุนไพรอันมีประโยชน์ต่อคนเรา  ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่เด็กๆ อันเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ของภูมิปัญญาชาวบ้านสู่ลูกหลานโดยแท้   สิ่งเหล่านี้นับเป็นประสบการณ์ที่ดี   อีกทั้งยังสร้างความเพลิดเพลินให้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า  เมื่อมาถึงจุดหมายบริเวณเนินเขา  คุณครูก็จะให้กระจายเป็นกลุ่มๆเพื่อให้เด็กๆ ได้เลือกมุมในการยิงเจ้าง่ามยางพร้อมกระสุนไปตามวิถีที่แต่ละคนต้องการ ทั้งอธิบายถึงวัตถุประสงค์ในกิจกรรมการปลูกป่าอากาศยานครั้งนี้  เด็กๆรับฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ บ้างพูดคุยล้อกันเล่นลูกกระสุนของใครจะไปได้ไกลกว่ากันเป็นที่สนุกสนานด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มและเสียงหัวเราะ.    แล้วต่างก็กระจายกันยิงเจ้าง่ามยางโดยเล็งวิถีกระสุนให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้   เสียงร้องนับหนึ่ง..สอง.....สาม....พลันสายตาของแต่ละคนจับจ้องมองตามกระสุนเมล็ดพันธุ์ที่ดีดตัวลอยล่องไปไกลจนสุดสายตา   พร้อมความหวังว่าเจ้ากระสุนเมล็ดพันธุ์นี้จะได้เติบโตเป็นต้นกล้าน้อยกลางผืนป่าในไม่ช้า   แต่สำหรับความรู้สึกของคุณครูนั้น  ภาพเหล่านี้ได้สร้างความรู้สึกปลาบปลื้มและอิ่มเอมใจเป็นอย่างยิ่ง  ที่สามารถเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งหน้าที่ในการรักษาป่าลงในเบ้าหลอมจิตใจของเด็กๆได้สำเร็จ

จะเห็นได้ว่า โครงการหรือกิจกรรมของโรงเรียนบ้านพุต่อนั้น  เป็นเพียงส่วนหนึ่งในเท่านั้น  ถ้าหากทุกๆ โรงเรียนได้หันมาให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้   มิใช่แค่ว่าการที่จะสอนให้เด็กได้เรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อท่องจำ หรือ ท่องไว้ใช้ตอบคำถามในการทำข้อสอบ  ก็จะทำให้การสอนสิ่งแวดล้อมศึกษา  ล้มเหลวหรือไม่ได้ผลโดยสิ้นเชิง    ทำอย่างไรจึงจะทำให้เนื้อหาของสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เป็นเพียงแค่วิชา  แต่เป็นเนื้อหาของวิถีชีวิต   อนึ่ง  ถ้าหากเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศชาติได้รับการปลูกฝัง  สร้างจิตสำนึกที่ดีเกี่ยวกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม   ก็จะสามารถรักษาให้คงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 247369เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2009 23:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

เข้ามาร่วมรับฟังด้วยความอิ่มเอมใจค่ะ คุณ Donut

อ่านเพลินเลย...

สำนวนการเขียน และบรรยากาศ (ของตัวอักษร) คล้ายๆ หนังสือ ต่วย'ตูน ของคุณพ่อเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ แล้วเดือนจะตามมาอ่านตอนต่อๆ ไปอีกนะคะ

แวะมาเยี่ยมครับ

กิจกรรมลักษณะนี้ที่ จ.กำแพงเพชร และพิษณุโลก ก็มีหลายแห่งนะครับ

หวัดดีค่ะ

หนูเคยเรียนอยู่ที่รรบ้านพุต่อ

เพราะพ่ออยู่ซอยโนนสว่าง

สวัสดีนะคะ

หนูเป็นลูกสาวของ คุณครูอนงค์ คุณเดช

ต้องขอบคุณมากนะค่ะที่นำข้อมูลที่คุณแม่เล่ามาเผยแพร่ คุณแม่ได้ทำอะไรให้สังคมเยอะมากค่ะ

แต่ตอนนี้คุณแม่เสียแล้วค่ะ แต่ความดีของแม่ยังอยู่ ขอบคุณนะค่ะ ที่นำสิ่งที่แ่ม่ได้กระทำมาเผยแพร่

ปล.แม่เสียเมื่อ 29 ธ.ค. 2553 ค่ะ โรคมะเร็งได้พรากแม่ไปจากพวกเรา

วัดดีครับวันนี่วันแม่

ผมอย่าเห้นหน้าแม่จังเลยครับ

รักแม่ครับ

L๏v€ แม่

ขอแสดงความเสียใจ..กับญาติๆ..ที่สูญเสีย ครูอนงค์..ไป นะครับ..ท่านได้ทิ้งความดีงาม ทั้งหลายทั้งปวง..ไว้ ณ บ้านพุต่อ..

ขอให้ดวงวิญญาณท่าน จงไปสู่สุคติ..นะครับ

ร.ร.บ้านพุต่อ

ใครจะย้ายหรือครับ

ตอบ.........

โทดครับ .-.

ไม่ต้องตอบ .-.

อ่านผิดครับ .-.

ตอนนี้ฉันเรียนอยู่ที่พุต่อจะจบป.6แล้วค่ะ

ชื่อหมูหยองค่ะ ตอนนี้ฉันเรียนอยู่ ร.ร.บ้านพุต่อกำลังจะจบแล้วค่ะ

สวัสดีค่ะ เพื่อนๆสบายดีไหมค่ะ

เตยรักครูทุกคนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท