NUQA : คิด ทำ ผล และก้าวต่อไป


การประกันคุณภาพ ต้องเน้นที่การปฏิบัติ และการมีส่วนร่วม

         ผมเริ่มเขียน blog นี้ เมื่อ 9 ส.ค.48 ขณะนี้อยู่ในช่วงของความพยายามที่จะสื่อสารถึงเพื่อน ๆ ที่ทำงานอยู่ด้วยกันในแวดวงวิจัย – QA - KM ในมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยในวันแรกได้พยายามชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการเขียน blog พยายามสื่อสารเรื่องทิศทางของนเรศวรวิจัย (ประเด็นนี้ผมไม่ต้องชี้แจงเอง ท่านอาจารย์มาลินี ช่วยนำเรื่องที่ผมได้พูดคุยที่ระยองมาเล่าใน blog ของท่านเมื่อ 7 ส.ค.48 ใน “ทิศทางการวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร” โดยมิได้ร้องขอ จึงขอขอบคุณอีกครั้ง ที่ช่วยกันด้วยดีเสมอมา) ต่อมาผมได้พยายามชี้แจงเรื่องการจัดการความรู้ในมหาวิทยาลัยนเรศวร (NUKM) ดังนั้นวันนี้ ขอเปลี่ยนเป็นเรื่อง การประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร (NUQA) บ้าง จะได้เป็นการทบทวนแนวความคิดพื้นฐาน และสิ่งที่ได้เรียนรู้เป็นหลัก ความจริงเรื่อง QA นี้มีเรื่องใหม่และสำคัญมาก ๆ ที่อยากพูดคุยด้วย แต่วันนี้ขอเอาของเก่ามาทบทวนกันก่อน 
         วันนี้ผมขอนำเอาต้นฉบับบทความที่ผมเขียนลงจุลสาร “ศุภสาระ” ของ สกอ. ฉบับที่ 7 ประจำเดือน กรกฎาคม – กันยายน 2546 มาให้ทบทวนกัน (โดยมิได้แก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ เลย) ดูออกจะเก่าไปหน่อยเวลาผ่านมาสองปีแล้ว แต่ก็เพื่อเอามาทบทวน เพื่อเตือนใจตัวเอง และเพื่อที่จะก้าวต่อไป บทความนี้ผมเขียนเมื่อสมัยผมเป็นผู้ช่วยอธิการบดีด้าน QA เป็นดังนี้ครับ

NUQA : คิด ทำ ผล และก้าวต่อไป
โดย ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร
(ผู้ช่วยอธิการบดีด้านการประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร)


แนวความคิดพื้นฐาน 
         1. จุดประสงค์หลักของการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร (NUQA) คือ การทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมั่นใจว่า เมื่อเวลาผ่านไปการบริหารจัดการและผลผลิตของมหาวิทยาลัยจะมีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้มหาวิทยาลัยมีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นที่พึ่งทางปัญญาของสังคมต่อไปได้เป็นอย่างดี 
         2. หลักการที่สำคัญใน NUQA คือ การมุ่งเน้นหาสภาพจริงของตัวเองและแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อนำผลที่ได้มาใช้ในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงาน โดยอาศัยวงจร PDCA (Plan, Do, Check, Act) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเป็นที่ที่เหมาะสำหรับการอบรมบ่มนิสัยเยาวชนให้เป็นบัณฑิตที่ดีมีคุณภาพ และโดยการร่วมแรงร่วมใจกันทั้งมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมให้มหาวิทยาลัยเป็นสังคมที่มีสมรรถภาพ ให้ทุกคนในมหาวิทยาลัยมีอิสระ เสรีภาพ ให้มหาวิทยาลัยมีความยุติธรรมครอบงำอยู่ และให้คนในมหาวิทยาลัยมีความเมตตากรุณาซึ่งกันและกัน

ปฏิบัติการ
         1. มหาวิทยาลัยนเรศวรดำเนินการประกันคุณภาพ โดยอาศัยการประเมินและการติดตามตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอแล้วนำผลการประเมินมาพิจารณาหาแนวทางใหม่ ๆ ในการพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ดูรูปที่ 1) ส่วนกลไกหลักในการดำเนินงานจะอยู่ในรูปของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ โดยมีอธิการบดีเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการและรับผิดชอบโดยตรง มีผู้ช่วยอธิการบดีด้านประกันคุณภาพคอยช่วยงานและมีหน่วยประกันคุณภาพการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นทีมเลขานุการและผู้ประสานงาน 

         2. การประเมินคุณภาพภายใน (IQA) เป็นการประเมินโดยการเทียบเคียงสภาพจริงของตนเองกับ 
                  2.1 ข้อกำหนดด้านปัจจัยนำเข้าที่กำหนดไว้ในเกณฑ์มาตรฐานอุดมศึกษา (เน้น Input) 
                  2.2 ปฏิบัติการที่ดี ที่กำหนดไว้ในองค์ประกอบคุณภาพ 9 ด้านตามมติ ครม. เมื่อ 21 มี.ค. 2543 (เน้น Process) 
                  2.3 ผลลัพธ์ที่ได้มาตรฐาน รวม 8 มาตรฐานที่กำหนดไว้โดย สมศ. (เน้น Output, Outcome) 
                  2.4 ปรัชญา ปณิธาน วัตถุประสงค์และเป้าหมายของตนเอง (Autoimage, Identity) (สำหรับปี 2547 เป็นต้นไป) 
                  2.5 ดัชนีและเกณฑ์ที่แสดงความเป็นสากล (Internationalization) (สำหรับปี 2547 เป็นต้นไป) 
         3. ดังนั้น คำว่า “คุณภาพ” ของมหาวิทยาลัยนเรศวรในทางปฏิบัติจึงหมายถึงการที่มหาวิทยาลัยสามารถกระทำได้ตามที่มีการกำหนดแนวทางไว้ ในข้อ 2 (2.1-2.5) 
         4. ขณะนี้มหาวิทยาลัยนเรศวร (เฉพาะในส่วนที่หน่วยประกันคุณภาพการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยรับผิดชอบ) กำลังดำเนินการให้มีการประเมินใน 3 ระดับ คือ (1) ระดับสถาบัน (ระดับมหาวิทยาลัย) (2) ระดับคณะ/ภาควิชา (ในปี 2544 มี 11 คณะวิชา ปัจจุบันมี 15 คณะวิชา และในเดือนตุลาคม 2546 จะมี 20 คณะวิชา) และ(3) ระดับหน่วยงานสายสนับสนุน (non-teaching) (ปัจจุบันมี 20 หน่วยงาน) นอกจากนี้ ในปี 2546 มหาวิทยาลัยยังได้ทำการขยายขอบเขตของกิจกรรมด้านประกันคุณภาพการศึกษาให้ครอบคลุมถึงระดับนิสิตด้วย ทั้งนี้เนื่องจากนิสิตเป็นทั้ง Input และจะกลายเป็น Output ที่สำคัญของมหาวิทยาลัย (บัณฑิต) นิสิตจึงควรที่จะได้รับทราบและเข้าใจว่าตนเองเป็นหัวใจและเป็นส่วนสำคัญในระบบประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตในมหาวิทยาลัยได้อย่างมีจุดมุ่งหมายและถูกต้องเหมาะสม

ผลของการปฏิบัติ 
         1. เกิดวิวัฒนาการของวัฒนธรรมการประเมินขึ้นในมหาวิทยาลัยนเรศวร ดังนี้ 
                  1.1 ประเมินสภาพจริงของตนเองโดยการเทียบเคียงกับข้อกำหนดขั้นมาตรฐาน (Basic Requirement) 
                           1.1.1 ช่วงแรก (ปี 2533-2540) เน้นควบคุม ปัจจัยนำเข้า (Input Approach) ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานอุดมศึกษา 
                           1.1.2 ต่อมา (ปี 2540-2544) เน้นควบคุมกระบวนการการทำงาน (Process Approach) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการและการปกครองที่ดี (Good Governance) 
                           1.1.3 ปัจจุบัน (ปี 2545-2546) เน้นควบคุมผลลัพธ์ Output, Outcome Approach) เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและสามารถแข่งขันได้ 
                  1.2 ประเมินสภาพจริงของตนเองโดยการเทียบเคียงกับข้อกำหนดขั้นความเป็นเลิศ (Progressive Requirement) หรือโดยการเทียบเคียงกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก (World Class University) กล่าวคือ ต่อไปในอนาคต (ปี 2547 เป็นต้นไป) จะเน้นภาพรวมทั้งองค์กร (Holistic Approach) เพื่อแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของสถาบัน (Autoimage, Identity) เช่น ความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนภาคเหนือตอนล่าง ความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ความเป็นที่ยอมรับในแวดวงนักวิชาการ และความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับสากล 
         2. เกิดความมั่นใจในการที่จะดำเนินการตามแผนกลยุทธ์หรือแผนระยะยาวด้านประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย (2544-2550) ที่ใช้ชื่อว่า “DIMAR” 

                 
ระยะที่ I (2544-2546) : การพัฒนาและวางระบบ (Development and Implementation) 
                  ระยะที่ II (2546-2548) : การรักษาระบบให้ยั่งยืนและถาวร (Maintenance) 
                  ระยะที่ III (2548-2549) : การพิจารณาเพื่อรับรองหรือไม่รับรองคุณภาพ (Accreditation) 
                  ระยะที่ IV (2549-2550) : การจัดอันดับ (Ranking) 

        
3. เกิดทัศนคติที่ดีต่อการประเมินไปทั่วทั้งมหาวิทยาลัย โดยที่ทุกคณะวิชาและทุกหน่วยงานสายสนับสนุนให้ความร่วมมือในการประเมินตนเอง (Self Assessment) และการประเมินตรวจสอบ (Check Assessment) จากคณะกรรมการประเมินเป็นอย่างดี 
         4. เกิดฐานข้อมูลด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ในทุกระดับที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ในอนาคต ได้อีกมาก 
         5. เกิดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในทุกระดับ ทุกคนที่เข้าร่วมในการประเมิน (Assessor & Assessee) จะมีจิตสำนึกในเรื่องของคุณภาพมากขึ้น และจะมีความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งเห็นความสำคัญที่จะต้องช่วยกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ 
         6. ทำให้แต่ละหน่วยงานได้ตระหนักในภารกิจหลักและเป้าหมายของตนเองมากขึ้น มีการจัดทำกรอบและแนวทางในการดำเนินงานที่เป็นระบบเป็นระเบียบมากขึ้น 
         7. เกิดแรงกระตุ้นให้มีการทำงานเป็นทีมและการมีส่วนร่วมในการทำงานภายในแต่ละหน่วยงานเป็นอย่างมาก 
         8. ได้เห็นว่าโอกาสที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยยังมีอีกมากและทุกคนควรมีส่วนช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องช่วยกันปรับวงจรการพัฒนาจาก pDca ให้เป็น PDCA (กล่าวคือให้ช่วนกันเพิ่มความสำคัญกับทุกส่วนของวงจร PDCA) 
         9. เกิดการแก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติงานเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์การตรวจสอบและประเมินผลที่มหาวิทยาลัยกำหนด 
         10. เกิดการแข่งขันกันทำความดี ทำให้ผลการประเมินในภาพรวมดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง 
         11. เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเกิดความสามัคคีในหมู่ผู้ดำเนินงานด้านประกันคุณภาพ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เกิดเป็นสังคมเครือข่ายที่ต่างฝ่ายต่างกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน (Teaching-Learning Society) 
         12. เกิดแนวความคิดว่าจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันทั้งมหาวิทยาลัยเพื่อปฏิรูปการศึกษาให้ครบทุก ๆ ด้านไปพร้อม ๆ กัน และทุกด้านต้องมุ่งสู่การเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (เน้นพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน) 
         13. เกิดแนวความคิดว่าการประเมินกับการแก้ไขปรับปรุงจะต้องไปคู่กัน (QA=R&D) และต้องช่วยกันปรับสภาพจริงในปัจจุบันจาก QA=R&d ให้เป็น QA=R&D (กล่าวคือต้องข่วยกันเพิ่มการนำผลการประเมินมาใช้ในการแก้ไขปรับปรุง) 
         14. เกิดความคิดที่สอดคล้องตามกับบรมครูด้านประกันคุณภาพ (W. Edwards Deming) ว่า “ผู้บริหาร” (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กร) คือ ผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความสำเร็จในการวางระบบประกันคุณภาพ การรักษาระบบให้ยั่งยืนและถาวรและต่อคุณภาพของการบริหารจัดการและคุณภาพของผลผลิต 
         15. และสุดท้ายได้ข้อสรุปว่าการประกันคุณภาพต้องเน้นที่การปฏิบัติและการมีส่วนร่วม หลักการที่สำคัญของ NUQA ในปัจจุบันจะคล้ายกันกับหลักที่สำคัญทางพุทธศาสนาอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับการปฏิบัติและการได้รับผลจากการปฏิบัติ กล่าวคือ ทั้งพุทธศาสนาและการประกันคุณภาพจะไม่เน้นที่ความรู้เพ้อเจ้อ ตรรกะ หรือปรัชญา หรือทฤษฎีต่าง ๆ โดยไม่ปฏิบัติ ผลของการปฏิบัตินั้นจะสร้าง “ความรู้” ขึ้นมาเพื่อหนุนการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น (Knowledge about QA by Itself is not QA. QA is a process of learning by doing in real life situation under close participation of everyone.)

ก้าวสำคัญต่อไป 
         โดยสรุป ถ้านับจากต้นปี 2544 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน (กรกฎาคม 2546) มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ทำการประเมินคุณภาพมาแล้ว ดังนี้ 
         1. รวม 3 รอบในระดับคณะวิชา (ใช้ข้อมูลปีการศึกษา 2543-2544-2545) (สำหรับรอบที่ 4 เป็นต้นไปอาจเปลี่ยนไปใช้ข้อมูลตามปีงบประมาณแทน) 
         2. รวม 2 รอบในระดับหน่วยงานสายสนับสนุน (ใช้ข้อมูลปีงบประมาณ 2544 และ 2545) 
         3. ในระดับมหาวิทยาลัยก็มีการประเมินทั้งภายใน (IQA) และภายนอกโดย สมศ. (EQA) (ใช้ข้อมูลปีการศึกษา 2544 และ 2545) (ในการประเมินครั้งต่อไปอาจใช้ข้อมูลตามปีงบประมาณแทน) 

         ดังนั้น เมื่อนำผลการประเมินต่าง ๆ ดังกล่าวมารวมกับสรุปผลการดำเนินโครงการ “โครงการฝึกอบรมนิสิตเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการประกันคุณภาพภายใน” ซึ่งจะจัดระหว่างวันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม-วันจันทร์ที่ 1 กันยายน 2546 ณ ทรัพย์ไพรวัลย์ แกรนด์โฮเต็ล แอนด์รีสอร์ท จังหวัดพิษณุโลก ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยมีรายงานสรุปสำหรับผู้บริหารจำนวนมากจากทุกระดับ เรียกว่ามากเพียงพอที่จะนำมาวิเคราะห์กันครั้งใหญ่เป็นวาระพิเศษเพื่อใช้ประโยชน์ในการกำหนดก้าวย่างที่สำคัญในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้สามารถผลิตบัณฑิตที่ทั้งเก่งและดีให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นเลิศทางวิชาการและสามารถก้าวเข้าสู่ระดับสากลได้อย่างที่มหาวิทยาลัยมุ่งหวัง 
         แนวทางสำหรับการปฏิบัติอาจเริ่มต้นที่การกำหนด วัตถุประสงค์และผู้รับผิดชอบในการพัฒนาแต่ละด้านให้ชัดเจน แล้วร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น วันที่ที่น่าจะเหมาะที่สุดสำหรับการเริ่มต้นอย่างจริงจังและอย่างเป็นระบบ คือ วันที่ได้รับรายงานการประเมินภายนอกจาก สมศ. อย่างเป็นทางการซึ่งก็คาดว่าจะได้รับภายในเดือนกันยายน 2546

เอกสารอ่านประกอบ 
         1. วิบูลย์ วัฒนาธร “ปฏิบัติการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวรกับการประเมินโดย สมศ. ครั้งแรก”, โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ, ธันวาคม 2545. 
         2. ป๋วย อึ้งภากรณ์ “ศาสนธรรมกับการพัฒนา”, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, กรุงเทพฯ, กรกฎาคม 2530. 
         3. จรัส สุวรรณเวลา, “อุดมศึกษาไทย”, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ, 2545. 
         4. ไพฑูรย์ สินลารัตน์, “พูดเรื่องอุดมศึกษา”, เจ้าพระยาการพิมพ์, กรุงเทพฯ, สิงหาคม 2526. 
         5. พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโน), “การศึกษากับการวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทย”, สำนักพิมพ์มูลนิธุทธธรรม, กรุงเทพฯ, สิงหาคม 2542. 
         6. ประเวศ วะสี, “ปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อแก้ความทุกข์ยากของคนทั้งแผ่นดิน”, ในสารปฏิรูป, หน้า 62-64, กันยายน 2543. 
         7. ราฟาเอล อาเกวโญ่, (แปลโดย ชูเกียรติ ชาญสง่าเวช), “ดร.เดมมิ่ง อเมริกันชนผู้ปูรากฐานเรื่องคุณภาพให้ญี่ปุ่น”, โรงพิมพ์สุรวัฒน์, กรุงเทพฯ, 1990. 
         8. K R McKinnon, S H Walker and D Davis, “Benchmarking : A manual for Australian Universites”, Department of Education, Training and Yout Affairs, Commonwealth of Australia, 1999.
 

         ก่อนจบผมขอให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมนิดเดียว ตรงข้อ 15 ของผลการปฏิบัติ จะเห็นว่า NUQA ก็เน้นที่การปฏิบัติ และการมีส่วนร่วม เช่นเดียวกันกับ KM ตามแนวความคิดของ สคส. เลยครับ ถึงได้ต่อยอดกันได้ และไปด้วยกันได้อย่างเป็นเนื้อเดียว 

         วิบูลย์ วัฒนาธร

หมายเลขบันทึก: 2458เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2005 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ต้องขอบคุณ อ.มาลินี ที่ทำให้ผมได้มาอ่านบันทึกแรกของ นเรศวรวิจัย-QA-KM ของท่านอาจารย์วิบูลย์
  • เป็นบันทึกแรกที่บันทึกไว้เมื่อ วันอาทิคย์ ที่ 14 สิงหาคม 2548
  • แต่จริงๆ แล้วบันทึกนี้เริ่มเขียนเมื่อ 9 ส.ค.48 เวลา 9 นาฬิกา แต่ถูกตีพิมพ์จริงในวันที่ 14 ส.ค. 48
  • เป็นที่น่าแปลกมากคือบันทึกนี้ยังไม่มีการคอมเม้น หรือข้อคิดเห็น ถ้าหากไม่ผิดผมเป็นคนแรกเลยที่ได้เปิดบริสุทธิ์กับข้อคิดเห็นของบันทึกนี้
  • บันทึกนี้ได้รับการแก้ไขเมื่อวันจันทร์ 15 ส.ค. เวลา 09:36:41 2005  
  • ณ วันนี้ วันที่ 21 เมษายน 2548 เวลา 19.09 น.มีผู้อ่านบันทึกนี้แล้ว 211 ครั้ง
  • เลขที่กรอกข้อคิดเห็นคือ 98634 โดยน้องจ้าเป่า
รัตน์ทวี อ่อนดีกุล

เรียน อ.หนึ่งที่เคารพค่ะ

อ.คะ ขอแก้ข่าว นิส นึง (นิด เติม เอส เลย ออกเสียงเป็น "นิส") เนื่องจากบันทึกแรกของ นเรศวรวิจัย-QA-KM ของท่านอ.วิบูลย์ จริง ๆ แล้วคือบันทึกเรื่อง "The occasion for B2B80+" ค่ะ

ส่วนในบันทึกนี้ ขึ้นต้นว่า "ผมเขียน blog นี้เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 48"  ซึ่งบันทึกนี้ยังไม่ใช่บันทึกแรกที่แท้จริงค่ะ  หมายถึงเริ่มเขียน blog วันแรกก็วันที่ 9 ส.ค. 48 น่ะค่ะ

ที่ตามมาแก้ข่าวให้ อ.วิบูลย์ เพราะกลัวจะเสียฤกษ์งามยามดีของวันที่ 9 เวลา 9 นาฬิกาของเค้าน่ะค่ะ  (ไม่ได้ด้วยอะไร ก็เอาฤกษ์เอายามเข้าว่าค่ะ .. แต่ก็ว่าไม่ได้นะคะ ฤกษ์งามอย่างนี้เลยคว้ารางวัลสุดคะนึงมาซะ 2 เดือนซ้อน)

ปล. อ.หนึ่งยังตามไปเปิดบริสุทธ์กับข้อคิดเห็นของบันทึกแรกได้นะคะ เมื่อสักครู่ดูยังไม่มีใครไปเขียนข้อคิดเห็นเลยค่ะ ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท