KM สัญจร (๒)


ผลงานของ คุณหญิง (นภินทร ศิริไทย)

KM สัญจร (๒)

ผมเพิ่งสังเกตเห็นว่าเรื่อ KM สัญจรที่ลงไว้เมื่อวาน เนื้อความตอนท้ายขาดหายไปมาก    เข้าใจว่าบทความยาวเกินความจุที่จัดให้    จึงได้เอาเฉพาะของวันที่ ๗ กค.  และบทสรุปมาลงไว้ในวันนี้

วันที่  ๗  กรกฎาคม ๒๕๔๘
          ในวันสุดท้ายของการสัญจรในครั้งนี้ คณะของเราไปร่วมงาน Regional Forum ที่สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก โดยมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บรรยายเรื่อง “เส้นทางแห่งการเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศในการบริการสุขภาพ”  ซึ่งมีผู้เข้าร่วมฟังจำนวนกว่าพันคน  หลังจากการฟังบรรยาย คณะ KM สัญจร ก็ย้ายไปฟังการสรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาเครือข่ายการจัดการความรู้ในโรงพยาบาลภาคเหนือตอนล่าง หรือ HKM ที่ สคส. ให้การสนับสนุนอยู่
โครงการพัฒนาเครือข่ายการจัดการความรู้ในโรงพยาบาลภาคเหนือตอนล่าง เกิดจากการรวมตัวกันของสมาชิกโรงพยาบาล ๑๗ แห่งในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ด้วยจุดหมายในการเสริมสร้างสัมพันธภาพและความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพงานของกลุ่มสมาชิกเครือข่ายโรงพยา-บาล  โดยการค้นหาความรู้ การสร้างและแสวงหาความรู้ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวิธีการปฏิบัติที่เกิดจากความสำเร็จในงาน ด้วยการปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกและผู้ที่สนใจในรูปแบบของเวทีพบปะ เสวนา  การประชุมสัมมนา  และการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มารวบรวมสังเคราะห์องค์ความรู้และจัดเก็บเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้  แล้วนำความรู้เหล่านั้นไปเผยแพร่ใน Website, Web Board และในเอกสาร หนังสือ นิทรรศการ ให้กับกลุ่มสมาชิกและผู้สนใจอื่นๆ  อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาทีมงานบริหารโครงการ พัฒนางานการจัดการความรู้ในโรงพยาบาล และการสร้างรูปแบบการจัดการความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ  ต่อไป
โครงการฯ เริ่มจากกิจกรรม Kick-Off  เพื่อการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่เป็นพื้นฐานในการสร้างความผูกพัน  ความไว้วางใจในระยะต่อมา   อีกทั้งการฝึกอบรมพื้นฐานความรู้ด้านทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ให้กับสมาชิกเครือข่าย  การใช้เครื่องมือชุดธารปัญญา  อันได้แก่  การจัดทำตารางแห่งอิสรภาพ การประเมินตนเอง และบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีวิสัยทัศน์การจัดการความรู้ของกลุ่มสมาชิกเป็นหลัก และใช้ประเด็นย่อยคือ กิจกรรมหัวหน้าพาทบทวน ๑๒  กิจกรรม มาเป็นเวทีทดลองนำร่องพัฒนาการจัดการความรู้ นอกจากนั้นยังใช้เครื่องมือ Peer Assist,  After Action Review  และ  CoP  ในการพัฒนาการจัดการความรู้ในกลุ่มสมาชิกเครือข่าย   โดยใช้วิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวิธีปฏิบัติในเวทีต่างๆ อีกทั้งทีมจัดการความรู้ในแต่ละโรงพยาบาล  ยังนำการจัดการความรู้ไปประยุกต์ใช้ในองค์กรและขยายวงการจัดการความรู้ภายในและทีมข้ามองค์กร
          ในปัจจุบัน ทีมบริหารโครงการฯ ได้ขยายเครือข่ายการพัฒนาองค์ความรู้  พัฒนาทักษะคุณอำนวย  ทั้งภายนอกและภายในเครือข่าย เพื่อให้องค์กรและหน่วยงานสามารถขับเคลื่อนการจัดการความรู้และนำไปปฏิบัติในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล   ทำให้เกิดการขยายวงการจัดการความรู้และนำไปใช้อย่างแพร่หลาย โดยส่งทีมวิทยากรและทีมที่ปรึกษาของสมาชิก  HKM  ไปให้ความรู้และให้คำแนะนำแก่หน่วยงานต่างๆ ที่มีความต้องการพัฒนาองค์ความรู้ในระดับเครือข่าย  และระดับองค์กร อาทิ เครือข่ายการเรียนรู้ในระดับจังหวัดนครสวรรค์  เครือข่ายการเรียนรู้ในระดับจังหวัดหนองคาย เครือข่ายการเรียนรู้ในระดับจังหวัดพิษณุโลก เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อพัฒนาระบบงานสารบรรณ  มหาวิทยาลัยนเรศวร   เครือข่ายการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์
          จากผลสรุปของโครงการนี้ พบว่า หน่วยงานราชการที่ได้ดำเนินการจัดการความรู้ดังเช่นเครือข่ายโรงพยาบาลภาคเหนือตอนล่างนี้ จะได้ประโยชน์อย่างมหาศาลจากการจัดความรู้ ดังนี้ คือ
          ๑. เครือข่ายได้พัฒนาวิธีการและกระบวนการทำงานใหม่ๆ
          ๒. ทำให้เกิดความริเริ่มสร้างสรรค์มากขึ้น เพิ่มทักษะการทำงาน
          ๓. ทำให้บุคลากรเกิดศักยภาพในการทำงานมากขึ้น
          ๔. ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย ทำให้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้น
          ๕. สร้างความรัก ความสามัคคีภายในและภายนอกหน่วยงาน
          ๖. ประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนากระบวนการและวิธีปฏิบัติงาน
          ๗. รู้จักการเป็นผู้ให้และผู้รับ
          ๘. เพื่อให้เกิดการยอมรับ ความไว้วางใจ
          ๙. สร้างความสงบสุขแก่สังคมในอนาคต

          ส่วนมหาวิทยาลัยนเรศวร อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการนำการจัดการความรู้มาใช้พัฒนามหา-วิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกฝ่ายได้เห็นความสำคัญของความรู้ การเรียนรู้ และการนำเอาความรู้มาใช้ในการทำงาน รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติงานจริง เน้นดำเนินกิจกรรมในเชิงบวก โดยเริ่มต้นจากความสำเร็จต่างๆ  ซึ่งต่อมาจะมีผลทำให้เกิดการขยายและต่อยอดผลสำเร็จนั้นๆ ให้แพร่หลายไปทั่วทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อผลักดันให้เกิดผลการปฏิบัติงานตามนโยบาย และบรรลุเป้าหมายตามความมุ่งหวังในทุกๆ ด้าน ด้านที่มุ่งเน้นเป็นพิเศษในช่วงเริ่มต้นนี้คือด้านการประกันคุณภาพการศึกษา (QA) และด้านการวิจัย

          สำหรับกิจกรรมที่ได้ทดลองนำเอา KM ไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน เช่น  
๑. การประยุกต์ใช้เครื่องมือชุดธารปัญญากับผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน (IQA) ๔  ปีย้อนหลัง (๒๕๔๔ - ๒๕๔๗)  
๒. การจัดการความรู้เรื่องการเลี้ยงผึ้ง  
๓. การพัฒนาบุคลากรหน่วยประกันคุณภาพการศึกษากับงานวิจัย โดยเอาความสำเร็จมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  
๔. การจัดการความรู้เรื่องการทำวิจัยสถาบันของบุคลากรสายสนับสนุน  
๕. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคลากรที่ทำงานในสำนักงานเลขานุการคณะต่างๆ  
๖. การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการของสถาบันอุดมศึกษา ๑๔ สถาบันในเขตภาคเหนือตอนล่าง  
๗. การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบบริหารงานวิจัยในมหาวิทยาลัยนเรศวร
         
เมื่อได้รับฟังสรุปผลการดำเนินการ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันแล้ว  พวกเราทั้งหมดจึงได้  AAR  ภาพรวมของ KM  สัญจรในครั้งนี้  (หลังจากที่เรา AAR  แต่ละจุดกันมาตลอดทาง)  ซึ่งแต่ละคนก็พูดแสดงความรู้สึกออกมา เห็นร่วมกันบ้าง เห็นต่างมุมมองกันบ้าง  ซึ่งแต่ละความคิดเห็นของแต่ละคนล้วนเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับการนำมาปรับปรุงการดำเนินงานของ สคส.  ได้เป็นอย่างดี  แต่สำหรับผู้บันทึกจะขอ  AAR  KM  สัญจรในครั้งนี้ ตามมุมมอง ความคิดของตัวเองดังนี้คือ
          ผู้บันทึกคาดหวังว่า จะได้ไปเห็นการดำเนินการจัดการความรู้ที่เป็นของจริง จากตัวจริงเสียงจริง  หลังจากที่ได้รับฟังจากผู้ร่วมงานคนอื่นๆ  มาแล้ว  ครั้งนี้ก็ได้เห็นกับตาตัวเองว่า เขาดำเนินการจัดการความรู้กันอย่างไร  มีกระบวนการอะไรบ้าง  ทำแล้วผลเป็นอย่างไร  แต่ละส่วนภาคคือ ภาคราชการและภาคประชาสังคม  มีการใช้การจัดการความรู้เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ซึ่งไม่ผิดหวัง เพราะได้เห็นทั้งในส่วนของภาคราชการและส่วนของประชาสังคม  อีกทั้งยังได้เห็นจุดเด่นของกลุ่มหรือหน่วยงานประเภทเดียวกัน แต่ละหน่วยงานในภาคต่างๆ  ด้วย  คือ 
การจัดการความรู้ของภาคราชการ เช่น
- โรงพยาบาลบ้านตาก  จังหวัดตาก  ที่มีการทำการจัดการความรู้อยู่แล้ว  อีกทั้งยังมีการใช้เครื่องมืออื่นๆ  มาช่วยในการพัฒนาการทำงานอีกด้วย  รวมทั้งได้เห็นวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กร   การร่วมมือร่วมใจของบุคลากรทุกคน  จนทำให้โรงพยาบาลบ้านตากเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กที่มีคุณภาพและการบริการสูงยิ่ง
- โรงพยาบาลต่างๆ ของจังหวัดนครสวรรค์  ที่ สคส. เกี่ยวข้องด้วยน้อยมาก  แต่สามารถนำแนวคิดการจัดการความรู้ไปปรับใช้ ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง  แต่ก็ถือว่ามีการพัฒนาก้าวหน้ากันไปพอสมควร 
- โรงพยาบาลทั้ง ๑๗ แห่งของภาคเหนือตอนล่าง  จะเน้นลักษณะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามโรงพยาบาลกันมากกว่า ภาพการแลกเปลี่ยนความรู้ภายในแต่ละโรงพยาบาลไม่ค่อยชัดเจนมากเท่ากับภาพของเครือข่าย 
สำหรับภาคประชาสังคม ผู้บันทึกได้เห็นการจัดการความรู้ในเรื่องของเกษตรปลอดสารในมุมมองและกระบวนการที่ต่างกัน  คือ
- โรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี  เน้นการดำเนินการจัดการความรู้แบบช้าๆ  แต่ยั่งยืน  เน้นการพัฒนาความคิดและจิตใจควบคู่กันไปด้วย  ไม่ค่อยได้เชื่อมโยงกับส่วนภาคอื่นๆ  มากนัก  แต่กลุ่มค่อนข้างเข้มแข็ง  และให้ความสำคัญกับทุกคนอย่างเท่าเทียม 
- โรงเรียนชาวนา ของนครสวรรค์ฟอรั่ม จังหวัดนครสวรรค์ เน้นความร่วมมือหรือดึงทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ ทุกแหล่งทุกทางเท่าที่ผู้ประสานงานหลักจะรู้จักและเข้าถึง มีการร่วมมือกันทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคชาวบ้านหรือเกษตร  รวมทั้งเน้นขยายปริมาณและพื้นที่ที่กว้างขวางครอบคลุมเกือบทั้งจังหวัด
- กลุ่มเกษตรปลอดสาร มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร จังหวัดพิจิตร เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งมาก   มีผู้ประสานหรือคุณอำนวยที่ทรงพลัง มุ่งมั่นอย่างยอดเยี่ยม   มีเกษตรหรือชาวบ้านที่รวมกลุ่มอย่างเหนียวแน่น  และมองเห็นถึงข้อดีของการทำเกษตรแบบปลอดสาร  เห็นความพอเพียง  การมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย  การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  การร่วมมือกันเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ  ร่วมกัน 
ผู้บันทึกคิดว่า นี่คือข้อดีที่สุดของการนำการจัดการความรู้มาใช้กับกลุ่มชาวบ้านและเกษตรกร  เพราะชีวิตของชาวบ้านและเกษตรกรไม่มีความซับซ้อน  งานกับชีวิตส่วนตัวเป็นเรื่องเดียวกัน  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือการทำการจัดการความรู้จึงค่อนข้างเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม  เพราะยิ่งทำการจัดการความรู้มากเท่าไหร่  ตัวชาวบ้านหรือเกษตรกรก็จะได้ผลที่ดีไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย  น่าชื่นชม
ส่วนสิ่งที่ผู้บันทึกคิดว่า ควรเพิ่มเติมหรือปรับปรุงในการจัดกิจกรรมสัญจรเช่นนี้ครั้งต่อๆ ไป คือ ควรจะต้องมีการระบุเป้าหมายและกำหนดกิจกรรมการเยี่ยมชม หรือ พุ่งเป้าการเรียนรู้ไปยังจุดใดจุดหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่น  จะเยี่ยมชมการจัดการความรู้ของโรงเรียนชาวนา  ในหลายๆ พื้นที่  หรือจะเยี่ยมชมการจัดการความรู้ของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เป็นต้น  เพราะจะทำให้คณะสัญจรได้เห็นและเข้าใจในเนื้อหารายละเอียดอย่างลึกซึ้งชัดเจนมากกว่า  โดยเฉพาะหากมีคนจากหลายๆ กลุ่มร่วมเดินทางไปด้วย เช่น สื่อมวลชน เป็นต้น  เพราะแต่ละกลุ่มก็จะมีเป้าหมายในการเรียนรู้ ในการเจาะลึกแต่ละประเด็นแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน และหากเป็นกลุ่มใหม่ที่ยังไม่มีพื้นความรู้หรือความเข้าใจเรื่องของการจัดการความรู้มากนัก  ก็จำเป็นที่จะต้องมีการปูพื้นหรือสรุปแนวคิดเรื่องของการจัดการความรู้ให้ก่อนการเดินทางด้วย เมื่อเดินทางถึงในแต่ละพื้นที่แล้ว จะได้สามารถจับประเด็นที่เชื่อมโยงกับการจัดการความรู้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในการเดินทางครั้งนี้ ได้มีการทำ AAR บนรถระหว่างการเดินทางหลังเสร็จสิ้นการเยี่ยมชมแต่ละพื้นที่แล้ว  ซึ่งช่วยทำให้แต่ละคนสามารถจับประเด็นเพื่อเชื่อมโยงกับแนวคิดของการจัดการความรู้ได้อย่างดีทีเดียว  ทำให้เราไม่ตกหล่นในบางประเด็นหรือบางมุมมองต่างๆ  ที่เราอาจจะไม่ทันได้คิดหรือมองเห็นได้ 
ผู้บันทึกคิดว่า การ AAR  ช่วยทำให้เกิดการเติมเต็มระบบความคิดจากการปฏิบัติสู่แนวคิดการจัดการความรู้ได้เป็นอย่างดีที่สุด   นี่คือพลังที่สำคัญของการจัดการความรู้อย่างแท้จริง
คำสำคัญ (Tags): #เครือข่าย#km
หมายเลขบันทึก: 2452เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2005 05:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท