ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ สคส.


ขับเคลื่อนเครือข่ายที่มีชีวิต

ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ สคส.
           วันที่ ๑๕ สค. นี้ มีการประชุม “กลุ่มสามพราน”    ซึ่งเป็นการนัดประชุมกลุ่มคนที่มีจิตสาธารณะ รวมตัวพร้อมใจกันมาประชุมปรึกษาหารือเรื่องใหญ่ๆ ของบ้านเมือง     มี ศ. นพ. ประเวศ วะสี เป็นประธานของการประชุม    กลุ่มนี้ประชุมกันอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนมากว่า ๒๐ ปีแล้ว     ในวันที่ ๑๕ นี้ จะคุยกันเรื่องความร่วมมือระหว่างหน่วยงานตระกูล ส. ทั้งหลาย อาทิ สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข),  สปรส. (สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพ),  สสส.,  สป. สช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ),  สกว.,  มสช. (มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ),  สคส.  เป็นต้น    เพื่อผลักดันให้เกิดกลไกเชิงสถาบันในการทำยุทธศาสตร์การพัฒนา   เรียกชื่อในเบื้องต้นว่า  สถาบันส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนา (สยพ.)     ผู้จัดการประชุมแจ้งว่า ขอให้แต่ละ ส. นำเสนอยุทธศาสตร์การดำเนินการขององค์กร     ผมจึงขอให้คุณอ้อม (อุรพิณ ชูเกาะทวด) เป็นผู้นำเสนอ     คุณอุรพิณได้เตรียมเอกสารไปแจกประกอบการนำเสนอดังข้างล่าง     ผมเอามาอวดให้ได้เห็นมุมมองของคุณอ้อม ว่าเธอมอง สคส. ในภาพรวมอย่างไร


ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) จัดตั้งขึ้นเพื่อร่วมขบวนการขับเคลื่อนสังคมไทยให้มี “การจัดการความรู้ในทุกหย่อมหญ้า” ภายใต้บริบทของตนเอง  โดย สคส. ให้ความสำคัญต่อความแตกต่างหลากหลายในวิธีคิดและรูปแบบของการจัดการความรู้ที่จะนำไปสู่   “สุขภาวะทางสังคม” อันเป็นพื้นฐานต่อสุขภาพที่ดีของชุมชน ครอบครัวและบุคคล
สคส. เน้นการทำงานร่วมกับภาคีและเครือข่ายให้มากที่สุด ทำเองให้น้อยที่สุด เพื่อดำรงความเป็นองค์กรขนาดเล็กที่มีเจ้าหน้าที่เพียง 10 คน และไม่เน้นการเป็นแหล่งทุน จึงกำหนดท่าทีและบทบาทของตนเองในฐานะผู้เชื่อมโยงเครือข่ายการจัดการความรู้ และดำเนินงานผ่านภาคีเครือข่ายที่แทรกซึมอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคมไทย ส่งเสริมให้คนไทยสร้างความรู้ขึ้นใช้เองจากการปฏิบัติจริง เกิดการจัดการความรู้ที่แนบแน่นอยู่กับงานและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา หวังผลให้เกิด “เครือข่ายที่มีชีวิต” ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นผลแล้ว เช่น โรงเรียนชาวนา จ.สุพรรณบุรี, เครือข่ายเกษตรปลอดสาร จ.พิจิตร
ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานจึงมีหลายแนวทางดังนี้
1. การสร้างศาสตร์ด้านการจัดการความรู้ โดยไม่เน้นเครื่องมือที่ซับซ้อน แต่เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ จากแนวคิดที่คิดขึ้นเองภายในกลุ่ม ร่วมกันสรุปบทเรียน ยกระดับความรู้ขึ้นเป็น “ความรู้ที่สร้างบนแผ่นดินแม่”  โดยไม่ปฏิเสธความรู้ เทคนิค วิธีการ เทคโนโลยี ด้านการจัดการความรู้จากภายนอกแต่จะนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทไทยๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเครื่องมือที่ผ่านการปรับให้เหมาะกับบริบทไทยแล้ว คือ โมเดลปลาทู, โมเดลปลาตะเพียน, ธารปัญญา, ตลาดนัดความรู้, Blog (http://gotoknow.org), โมเดลองค์กรแห่งการเรียนรู้แบบไทยๆ
2. การสร้างคน ที่จะไปขยายการดำเนินการจัดการความรู้อย่างกว้างขวาง ประกอบด้วยคน 7 ประเภทต่อไปนี้ “คุณกิจ” “คุณอำนวย” “คุณเอื้อ” “คุณประสาน” “คุณลิขิต” “นักฝึกอบรม” “นักวิจัย”  โดยมีกิจกรรมหลัก 2 รูปแบบคือ การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการ, การบรรยาย  อีกรูปแบบหนึ่งคือ การส่งเสริมให้เกิดเครือข่าย เช่น ตลาดนัดความรู้ ส่งผลให้เกิดเป็น “ชุมชนนักปฏิบัติ” ในที่สุด
3. การสร้างเครือข่าย โดยเข้าไปร่วมมือกับ “ศูนย์กลาง” (hub) ของเครือข่าย เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ), สำนักงานเลขาธิการการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมพัฒนาระบบราชการ (กพร.), เครือข่ายนครสวรรค์ฟอรั่ม, เพื่อให้สามารถแพร่กระจาย อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการด้านการจัดการความรู้ออกไปอย่างรวดเร็วและคล่องตัว โดย สคส. ลงแรงน้อยที่สุด  เช่น เครือข่ายโรงพยาบาลภาคเหนือตอนล่าง, เครือข่ายมหาวิทยาลัย, เครือข่ายหน่วยงานราชการ, เครือข่ายชาวนา, เครือข่ายแก้ปัญหาความยากจน, เครือข่ายเบาหวาน, เครือข่ายไข้หวัดนก, เครือข่ายผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นเยาว์, เครือข่ายไข้เลือดออก
4. การสร้างกระแสการจัดการความรู้ร่วมกับภาคี ผ่านกิจกรรมที่ดำเนินการทั้งโดยภาคีเครือข่ายและ สคส. เอง ประกอบด้วย 3 ช่องทางหลักคือ 1) การประชุม ได้แก่ การประชุมวิชาการ, การประชุมภาคีจัดการความรู้ในท้องถิ่น, มหกรรมการจัดการความรู้  2) สิ่งพิมพ์ ได้แก่ จดหมายข่าวถักทอสายใยแห่งความรู้, บทความในสื่อมวลชน, รายงานประจำปี  3) เว็บไซต์ สคส. (www.kmi.or.th) และ Blog (http://gotoknow.org)
อุรพิณ ชูเกาะทวด

คำสำคัญ (Tags): #เครือข่าย#km
หมายเลขบันทึก: 2451เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2005 05:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท