สีสันสงกรานต์บ้านนอก (ตอนที่ 3)


ด้วยการทำบุญในเทศกาลสงกรานต์ หากเพ่งพินิจว่าการทำบุญเป็นภาพสะท้อนของการใช้และรับรองสิทธิในระดับปฏิบัติการเช่นนี้ ผมจึงเห็นว่า ชาวบ้านมีรูปแบบของการตระหนักรู้และปฏิบัติในเรื่องสิทธิทั้งในแง่สิทธิแบบปัจเจก และสิทธิชุมชนที่สอดประสานกันอยู่แล้ว และอาจจะลึกซึ้งไปกว่าสิทธิแบบตะวันตก เพราะสิทธิ อย่างเรื่องการทำบุญนี่ ครอบคลุมหมดเลย ทั้งในแง่สิทธิแบบปัจเจก และสิทธิชุมชน ลึกลงไปทั้งในแง่กาย (การสงเคราะห์วัตถุสิ่งของ) วาจา (การกล่าวถ้อยคำที่ดี) ใจ (มีจิตสุภาพอ่อนโยนไม่ก้าวร้าว คิดปรารถนาดีต่อกัน)

·14 เมษายน 2549


              วันนี้ ในชุมชนไม่มีกิจกรรมอะไรมากมาย ส่วนใหญ่หยุดอยู่บ้าน กินเหล้ากินเบียร์พักผ่อนกัน ผมก็ไปตั้งวงกับเค้าด้วยตั้งแต่สาย ร้องเพลงคาราโอเกะกับญาติพี่น้องฝ่ายเมีย และเพื่อนบ้านที่เข้ามาร่วมไป พอบ่ายแก่ๆก็ขอเบี่ยงบ่ายไปนอนเพราะไม่อยากดื่มจนเมา ดื่มพอสมควรก็พอ
                 คนเฒ่าคนแก่ก็จะไปเดินเที่ยวเยี่ยมเยือนกินน้ำชากัน และก็เตรียมของไปทำบุญที่วัดในวันพรุ่งนี้
                  ส่วนเด็กๆก็จะเล่นน้ำกันสนุกสนาน บ้างก็ช่วยผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่เตรียมของที่จะไปวัด
                   ตกค่ำ หลังจากกินข้าวเย็นกันแล้ว ชาวบ้านก็มานั่งพักผ่อนหย่อนใจกันที่ใต้ถุนบ้านใหม่ ภรรยาผมก็เอาวีซีดีลิเกไทใหญ่ไปเปิดฉายอีกรอบ ก็ดูกันเพลินไป ส่วนผมก็ปลีกตัวมาทำงานตามระเบียบ


·15 เมษายน 2549


            ภรรยาผมตื่นตั้งแต่หกโมงเช้ามาเตรียมข้าวของไปทำบุญและขนทรายเข้าวัด ผมตื่นช้ากว่าเธอไปครึ่งชั่วโมง ยังงัวเงียอยู่เพราะเมื่อคืนทำงานจนดึก แต่สักพักก็หายง่วงเพราะตื่นเต้นที่จะได้ไปทำบุญที่วัดตามแบบไทใหญ่ 


                 ผมบอกกับแฟนว่า อันที่จริง เราทำบุญได้หลายแบบนะ แบบที่ไปทำบุญที่วัดนี่ก็แบบหนึ่ง เป็น “ทานมัย” ทำบุญด้วยสิ่งของ แต่ที่ได้บุญไม่แพ้กัน หรืออาจจะมากกว่าก็คือ “ศีลมัย” คือ การทำบุญด้วยการรักษาศีล โดยเฉพาะการช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลาย และเพื่อนมนุษย์ด้วยกันให้พ้นทุกข์นี่ก็เป็นบุญอีกแบบ ยิ่งช่วยคนให้รอดตายนี่ก็บุญใหญ่ 


            พูดถึงบุญนี่ ทำให้ผมนึกถึงเรื่องสิทธิ ที่ผมเพิ่งอ่านงานของ ดร. วีระ สมบูรณ์ เมื่อคืนเกี่ยวกับสิทธิชุมชน (ดูในจดหมายข่าวสิทธิชุมชน ฉบับที่ 1 คอลัมน์ “หน้าต่างบานแรก” ใน www.crep.info ) เพราะผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน ก็คือต่างก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางสังคม


                บุญอยู่แบบปัจเจก หรือเกิดขึ้นลอยๆเป็นเอกเทศไม่ได้ หากแต่บุญของปัจเจกจะสำเร็จได้ ต้องสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น พระสงฆ์ หรือผู้ที่เราทำบุญ สงเคราะห์ให้ เช่นเดียวกับสิทธิแบบปัจเจกจะสำเร็จได้ ต้องมีพื้นที่สัมพันธ์กับผู้อื่น กับชุมชน


            การทำบุญก็คืออีกด้านของสิทธิ นั่นคือ ชาวบ้านทำบุญ แก่คนยากจน เพราะชาวบ้านยอมรับว่าคนจนมีสิทธิที่จะได้รับการแบ่งปันสิ่งของจำเป็นเพื่อการมีชีวิตรอด รวมถึงน้ำจิตน้ำใจ ความอบอุ่นทางใจ 


                ชาวบ้านทำบุญ แก่ผู้ทรงศีล (พระ) ไม่ปฏิเสธว่า ในด้านปัจเจกก็เพื่อมุ่งหวังสะสมทุนหนุนนำให้ชีวิตส่วนตัวของตนเจริญก้าวหน้า แต่ในด้านสิทธิชุมชน ก็สะท้อนให้เห็นว่า ชาวบ้านแสดงการยอมรับว่าผู้ที่ถือศีล (หรือผู้ที่ละวางการเบียดเบียนผู้อื่น) มีสิทธิที่จะได้รับการยกย่องนับถือจากสังคม ทั้งทางการให้วัตถุ การกล่าวถ้อยคำที่ดี การมีจิตใจระลึกถึงในแง่ดี

                 ด้วยการทำบุญในเทศกาลสงกรานต์ หากเพ่งพินิจว่าการทำบุญเป็นภาพสะท้อนของการใช้และรับรองสิทธิในระดับปฏิบัติการเช่นนี้ ผมจึงเห็นว่า ชาวบ้านมีรูปแบบของการตระหนักรู้และปฏิบัติในเรื่องสิทธิทั้งในแง่สิทธิแบบปัจเจก และสิทธิชุมชนที่สอดประสานกันอยู่แล้ว และอาจจะลึกซึ้งไปกว่าสิทธิแบบตะวันตก เพราะสิทธิ อย่างเรื่องการทำบุญนี่ ครอบคลุมหมดเลย ทั้งในแง่สิทธิแบบปัจเจก และสิทธิชุมชน ลึกลงไปทั้งในแง่กาย (การสงเคราะห์วัตถุสิ่งของ) วาจา (การกล่าวถ้อยคำที่ดี) ใจ (มีจิตสุภาพอ่อนโยนไม่ก้าวร้าว คิดปรารถนาดีต่อกัน) 

          ถ้าการทำบุญในวันนี้ จะได้ผลบุญละก็ สำหรับผม ผลบุญที่ผมได้รับคงเป็นเรื่องที่ผมได้รู้จักแง่มุมของการทำบุญมากขึ้น หากไม่ได้อ่านบทความการบรรยายของอาจารย์วีระชิ้นนั้น ความคิดก็คงยังสับสน และหากไม่ได้ร่วมทำบุญกับชาวบ้าน ก็คงไม่ซึมซาบ ความดีงามหากผมพอจะมี ก็ขอคืนกลับไปสู่อาจารย์ทั้งสองฝ่ายด้วย


สาธุ

หมายเลขบันทึก: 24467เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2006 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2012 04:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท