ระบบบริหารงานคลังสาธารณะที่มีความโปร่งใสและมีความยั่งยืน


นับแต่นี้ไป ภาคประชาชนจะต้องช่วยกันตรวจสอบติดตามการบริหารงานคลังสาธารณะของรัฐบาลกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ร่วมกันสร้างระบบการคลังภาครัฐที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความยั่งยืนสืบต่อไป

ระบบบริหารงานคลังสาธารณะที่มีความโปร่งใสและมีความยั่งยืน:
บทวิเคราะห์บางประการพร้อมข้อเสนอแนะ

โดย วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

            ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารการเงินการคลังของรัฐบาลปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ตัวอย่างเช่น ปัญหาการรั่วไหลของการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ปัญหาการทำงบประมาณแบบขาดดุลมาอย่างต่อเนื่องหลายปีในอดีต ปัญหาการใช้จ่ายงบกลางแบบหมกเม็ดและสุรุ่ยสุร่าย หรือเมื่อเร็วๆ นี้ได้แก่ปัญหาการขาดสภาพคล่องอันเนื่องมาจากการมีเงินคงคลังที่ร่อยหรอ เป็นต้น

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ทำให้หลายฝ่ายเกิดความตื่นตระหนกว่าในระยะสั้นนั้น รัฐบาลจะมีเงินเพียงพอสำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน หรือสำหรับการจ่ายเงินเดือนข้าราชการหรือไม่ และเกิดความกังวลว่าในระยะยาวนั้น รัฐบาลจะสามารถบริหารประเทศให้บรรลุเป้าหมายตามที่ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยไม่ก่อให้เกิดภาระหนี้สาธารณะจนล้นพ้นตัวได้หรือไม่

สาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหาต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นน่าจะมาจากความบกพร่องของการออกแบบเชิงโครงสร้างและการกำหนดบทบาทหน้าที่ของสถาบันทางการคลังของไทยอย่างน้อย 3 ประการ ดังที่จะอภิปรายโดยย่อต่อไปนี้ ประการแรกคือการที่ฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) มีอำนาจอิสระในการตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารการเงินการคลังและการจัดทำงบประมาณในขอบเขตที่เกินพอดี ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารได้อย่างมีประสิทธิผลเท่าใดนัก บ่อยครั้งจึงพบว่าการดำเนินมาตรการทางการคลังจำนวนมากของรัฐบาลมิได้ถูกตรวจสอบถึงเหตุผลความจำเป็นอย่างรอบด้านและเพียงพอ โดยเฉพาะการตรวจสอบการเบิกจ่ายงบประมาณและการตรวจสอบผลกระทบจากการดำเนินมาตรการต่างๆ ที่มีต่อสถานะทางการคลังของรัฐทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ยกตัวอย่างเช่น การที่รัฐบาลมีอำนาจตัดสินใจปรับเปลี่ยนอัตราภาษีหรือยกเว้นการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ ได้โดยที่ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภานั้น (ในทางวิชาการเรียกมาตรการลดหย่อนหรือมาตรการจูงใจทางภาษีอากรเหล่านี้ว่า tax expenditures) แม้ว่าจะมีข้อดีตรงที่มีส่วนช่วยให้การดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้นก็ตาม
อย่างไรก็ดี การใช้อำนาจในการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีที่เกินพอดีและไม่มีเหตุผลอันสมควร
ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์หลายประการ เช่น ส่งผลให้รายได้ของรัฐสูญเสียไปโดยไม่จำเป็น อาจกลายเป็นช่องทางในการใช้อำนาจหน้าที่ในการลดหย่อนภาษีอากรเพื่อเป็นการช่วยเหลือพวกพ้อง หรืออาจนำไปสู่การแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากอำนาจที่มีดังกล่าว ซึ่งในท้ายที่สุด อาจส่งผลต่อเนื่องทำให้สถานะทางการคลังของรัฐอ่อนแอลง และย่อมส่งผลให้ระบบภาษีอากรขาดความเป็นธรรมอีกด้วย

ตัวอย่างในกรณีต่อมาได้แก่การที่รัฐบาลใช้อำนาจในการเพิ่มขนาดงบกลาง โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล อย่างไรก็ดี งบกลางที่จัดทำขึ้นโดยมากมักเป็นการประมาณการรายจ่ายที่มิได้มีแผนงานรองรับที่ชัดเจนนัก ฝ่ายนิติบัญญัติและประชาชนทั่วไปจึงไม่สามารถตรวจสอบเป็นการล่วงหน้าได้ว่าเงินงบกลางเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้จ่ายอย่างไร
จะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเมื่อเทียบกับเงินภาษีอากรที่ประชาชนได้จ่ายให้หรือไม่ ฯลฯ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นก็คือการใช้จ่ายงบกลางขาดความรอบคอบ มีการใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย สิ้นเปลือง หรือกลายเป็นช่องทางที่นำไปสู่การสร้างภาระผูกพันทางการเงินให้กับรัฐบาลในระยะยาวโดยปราศจากการถูกตรวจสอบอย่างเปิดเผย และอาจก่อให้เกิดแรงจูงใจที่นำไปสู่การใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองในระยะสั้น มากกว่าการคำนึงถึงเป้าหมายของการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมโดยรวม และต่อการรักษาเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว

ประการที่สอง การกำหนดบทบาทหน้าที่ของสถาบันทางการคลังมีลักษณะรวมศูนย์ ไม่มีการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ในการบริหารระบบการคลังสาธารณะด้านต่างๆ ให้เป็นอิสระออกจากกัน และขาดกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ข้อจำกัดนี้อาจพิจารณาได้จากกรณีตัวอย่างหลายประการ ดังเช่นในตัวอย่างแรก เป็นที่ทราบกันดีว่าสถาบันหลักแห่งหนึ่งในระบบบริหารงานคลังสาธารณะของไทยได้แก่กระทรวงการคลัง ซึ่งมีหน้าที่อย่างกว้างขวางในระบบบริหารงานคลังสาธารณะ ตั้งแต่การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการคลัง การบริหารจัดเก็บรายได้ การบริหารหนี้สาธารณะ การบริหารเงินคงคลัง การรายงานทางการเงินการบัญชีของภาครัฐ การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจต่างๆ เป็นต้น

การทำหน้าที่ในการบริหารงานคลังที่ค่อนข้างจะเบ็ดเสร็จรวมศูนย์อยู่ภายในกระทรวงการคลังเช่นนี้ ส่งผลให้ข้อมูลการเงินการคลังที่จำเป็นสำหรับใช้ในการตรวจสอบติดตามผลการทำงานของรัฐบาลมิได้ถูกเปิดเผยต่อกลไกภายนอกภาคราชการมากนัก ประชาชนทั่วไปจึงไม่อาจตรวจสอบติดตามได้ว่าการบริหารงานของรัฐบาลส่งผลต่อสถานะทางการคลังของรัฐเช่นใดบ้าง มีการใช้จ่ายเงินอย่างเกินตัวหรือไม่ หรือว่ามีระดับหนี้สาธารณะและภาระผูกพันทางการเงินต่างๆ มากหรือน้อยเพียงใด ดังนี้เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ข้าราชการกระทรวงการคลังยินยอมทำตามความประสงค์ของฝ่ายการเมืองในการเพิ่มระดับรายจ่ายเพื่อให้เป้าหมายทางการเมืองบรรลุผลมากกว่าการคำนึงถึงการรักษาวินัยทางการเงินการคลังแล้ว ย่อมไม่มีองค์กรใดอีกที่มีข้อมูลทางการเงินการคลังครบถ้วนเพียงพอสำหรับตรวจสอบติดตามการทำงานของรัฐบาล ตัวอย่างในประเด็นนี้คงไม่ต้องอธิบายมากนัก เพราะว่าในช่วง 2-3 ปีมานี้ ความจริงปรากฏชัดเจนแล้วว่าข้าราชการกระทรวงการคลังจำนวนมากยินยอมปฏิบัติตามความต้องการของฝ่ายการเมืองในการเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ มากกว่าการมุ่งรักษาวินัยทางการเงินการคลัง และร่วมกันปกปิดข้อมูลระดับหนี้สาธารณะและภาระผูกพันที่แท้จริงทั้งหมด จนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการรักษาความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว

นอกจากนี้แล้ว การกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับส่วนราชการที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจมิได้เป็นไปอย่างอิสระ หากแต่มีการพยายามแทรกแซงการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจทั้งในทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ เช่น การแต่งตั้งบุคคลของฝ่ายการเมืองเข้าไปทำหน้าที่บริหารจัดการรัฐวิสาหกิจต่างๆ เพื่อใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ตอบแทนโดยมิชอบ หรือเพื่อใช้เป็นช่องทางในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ซึ่งย่อมส่งผลให้การดำเนินนโยบายนั้นๆ ไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารงบประมาณรายจ่ายและย่อมไม่ถูกตรวจสอบจากรัฐสภา หรืออาจใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์จากการใช้อำนาจหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินต่างๆ ที่รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นถือครองอยู่ ดังนี้เป็นต้น ทั้งนี้ การแทรกแซงการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ปรากฏในแทบทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของสถาบันการเงินการธนาคาร (เช่น ธนาคารกรุงไทย กองทุนต่างๆ) รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง (เช่น การรถไฟฯ การบินไทย) รัฐวิสาหกิจด้านการพลังงาน (เช่น ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) ฯลฯ

การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจในลักษณะต่างๆ เช่นนี้ทำให้กลไกกำกับดูแลการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจเกิดความบกพร่อง เมื่อผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียกับรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม ถ้าหากมีความผิดพลาดหรือความสูญเสียเกิดขึ้นในการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นแล้ว ย่อมเป็นการยากที่จะสืบเสาะค้นหาว่าเป็นความผิดพลาดของใครหรือมีสาเหตุมาจากสิ่งใด แน่นอนว่าผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นย่อมไม่มีทางที่จะยอมรับว่าตนเองเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดปัญหา ผลเสียที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือนอกจากจะทำให้การบริหารรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างขาดประสิทธิภาพแล้ว กลับกลายเป็นการสร้างภาระทางการคลังให้กับรัฐมากขึ้นอันเนื่องมาจากความสูญเสียของรัฐวิสาหกิจที่ถูกแทรกแซงเหล่านั้น

ประการสุดท้าย การขาดกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ ที่กำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลการเงินการคลังและการบัญชีของรัฐอย่างครบถ้วนเพียงพอ ทั้งในส่วนของรายละเอียดการใช้จ่ายและการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ หรือรายงานทางการเงินและการบัญชีที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับทรัพย์สิน หนี้สิน และสถานะทางการเงินของรัฐในแต่ละรอบเวลาของการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่อาจประเมินได้ว่าเมื่อสิ้นสุดวาระในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลแล้วนั้น มีการเปลี่ยนแปลงในฐานะทางการเงินการคลังของประเทศเช่นใด ภาระหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้นหรือลดลง สภาพคล่องในระบบการเงินการคลังของรัฐเป็นอย่างไร หรือระดับทรัพย์สินของรัฐร่อยหรอลงหรือสูญหายไปหรือไม่และมากน้อยเพียงใด ฯลฯ

เมื่อไม่มีการกำหนดให้รัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อสาธารณะเช่นนี้แล้ว ย่อมก่อให้เกิดแรงจูงใจในการหมกเม็ดข้อมูลต่างๆ ไว้ภายในส่วนราชการ เช่น ข้อมูลหนี้สาธารณะและภาระผูกพันที่แท้จริงทั้งหมด การปกปิดสถานะทางการคลังที่แท้จริง ผลสำเร็จของการใช้จ่ายในโครงการต่างๆ และเมื่อไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ต่อสาธารณะแล้ว ระบบการคลังภาครัฐย่อมขาดความโปร่งใส และกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการบริหารงานคลังภาครัฐที่มีความยั่งยืน

เมื่อนำเสนอมาถึงจุดนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอแนวทางบางประการสำหรับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ข้างต้น ทั้งนี้ ข้อเสนอเหล่านี้เป็นเพียงแนวทางกว้างๆ เพื่อที่จะนำไปสู่การถกเถียงต่อยอดและหาข้อสรุปกันต่อไปในอนาคต ข้อเสนอต่างๆ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. กำหนดขอบเขตการใช้อำนาจทางการคลังของฝ่ายบริหารให้เหมาะสมและเพียงพอสำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน และส่งเสริมต่อการรักษาวินัยทางการเงินการคลังของรัฐในระยะยาว ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้วางรากฐานในการบริหารงานคลังของรัฐบาลไว้ค่อนข้างรอบด้าน สิ่งที่ควรผลักดันในขณะนี้คือการเร่งตรากฎหมายการบริหารการเงินการคลังของรัฐ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจของรัฐบาลในการบริหารงานคลังสาธารณะที่เหมาะสม เช่น การกำหนดกฎกติกาในการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง แนวทางการจัดทำงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งรวมถึงหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการจัดทำงบกลาง หลักเกณฑ์การก่อหนี้สาธารณะและการรับรู้ภาระหนี้/ภาระผูกพันต่างๆ หลักเกณฑ์การบัญชีภาครัฐ และหลักเกณฑ์การบริหารการเงิน การบริหารเงินคงคลัง และการบริหารทรัพย์สินของรัฐ ฯลฯ ในการนี้ ภาคประชาชนควรเป็นหูเป็นตาและร่วมตรวจสอบการตรากฎหมายดังกล่าวของฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป

            2. เสริมสร้างความเข้มแข็งในการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบการบริหารงานคลังสาธารณะของรัฐบาล โดยมีจุดประสงค์ให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีข้อมูลทางการเงินการคลังเพียงพอที่จะประเมินได้ว่าการดำเนินงานของรัฐบาลในด้านต่างๆ ก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรของรัฐมากน้อยเพียงใด มีความถูกต้องโปร่งใสเพียงพอหรือไม่ ระดับความเข้มแข็งทางการคลังของรัฐอยู่ในเกณฑ์ดีหรือไม่ หรือมีการดำเนินงานที่ซุ่มเสี่ยงต่อการขาดวินัยทางการคลังหรือไม่อย่างไร ฯลฯ

ในการนี้ อาจต้องร่วมกันพิจารณาว่าควรจัดให้มีสำนักงบประมาณแห่งรัฐสภาหรือไม่ (หรือองค์กรที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น) ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวทำหน้าที่เป็นหน่วยเทคนิควิชาการสนับสนุนการทำงานให้กับสมาชิกรัฐสภาในการตรวจสอบฝ่ายบริหารในด้านการจัดทำนโยบายเศรษฐกิจการคลัง การบริหารการเงินการคลัง และการจัดทำงบประมาณ นอกจากนี้แล้ว องค์กรดังกล่าวยังมีส่วนช่วยตรวจสอบถ่วงดุลการทำหน้าที่ของกระทรวงการคลังอีกต่อหนึ่งด้วย

3. ออกแบบและกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการคลังต่างๆ ให้ทำงานเป็นอิสระจากกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น การแบ่งแยกภารกิจในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ภารกิจในการบริหารระบบการคลังสาธารณะ และภารกิจในการตรวจสอบด้านการเงินการบัญชี ให้ดำเนินงานเป็นอิสระออกจากกัน แต่สามารถทำงานประสานร่วมกันได้ การออกแบบภารกิจเชิงสถาบันการคลังเช่นนี้นอกจากจะมีส่วนส่งเสริมให้ข้อมูลทางการเงินการคลังไม่กระจุกตัวหรือรวมศูนย์ที่ส่วนราชการใดเพียงส่วนเดียวแล้ว ยังทำให้เกิดการทำงานตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันด้วย ในการนี้ เราอาจแยกงานกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือ สศค.) ออกจากงานบริหารจัดเก็บรายได้ งานบริหารหนี้สาธารณะ และงานบริหารเงินคงคลัง และแยกออกจากงานด้านการตรวจสอบและการจัดทำรายงานทางการเงินการบัญชี โดยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติงานขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังก็ได้ ดังนี้เป็นต้น

4. เร่งสร้างธรรมาภิบาลทางการคลัง (fiscal democracy) โดยการทำให้ระบบการบริหารงานคลังสาธารณะมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้น เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดในการจัดทำรายงานข้อมูลทางการเงินการคลังและการบัญชีอย่างสม่ำเสมอและครบถ้วนเพียงพอสำหรับใช้ในการตรวจสอบติดตามผลการปฏิบัติงานของรัฐบาล โดยที่รายงานข้อมูลต่างๆ เหล่านี้อาจรวมถึงงบแสดงฐานะทางการเงิน รายงานแสดงรายรับรายจ่าย รายงานหนี้สาธารณะและภาระผูกพันต่างๆ รายงานการใช้มาตรการลดหย่อน/มาตรการจูงใจทางภาษี รายงานการจัดซื้อจัดจ้างและบัญชีแสดงทรัพย์สินของรัฐ ฯลฯ ทั้งนี้ รายงานเหล่านี้ควรครอบคลุมถึงหน่วยงานของรัฐทุกประเทศ ทั้งรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และองค์กรของรัฐประเภทอื่นๆ ทั้งในสังกัดฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ

5. เสริมสร้างความเข้มแข็งในการตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งนอกเหนือไปจากการเสริมสร้างความเข็มแข็งในการตรวจสอบให้กับองค์กรอิสระดังเช่นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือองค์กรอื่นๆ แล้ว อาจกำหนดให้ส่วนราชการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบภายในขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งก็ได้ และอาจกำหนดให้ขอบเขตเนื้อหาในการตรวจสอบกินความถึงการตรวจสอบในด้านการเงินการบัญชี และตรวจสอบผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างรอบด้าน เป็นต้น กลไกต่างๆ เหล่านี้ย่อมมีส่วนช่วยลดความสูญเสียในการใช้ทรัพยากรของรัฐได้บ้างไม่มากก็น้อย

พึงสังเกตว่าข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ย่อมทำให้การทำงานของรัฐบาลมีความคล่องตัวลดน้อยลง และอาจมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้เป็นต้นทุนของประชาธิปไตยที่ประชาชนคนไทยจำเป็นต้องช่วยกันแบกรับตราบเท่าที่เราต้องการระบบการคลังสาธารณะที่มีความยั่งยืน มีความโปร่งใส และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะสั้นนี้อาจช่วยลดความสูญเสียในระบบการคลังภาครัฐได้ในระยะยาว และย่อมเป็นการเสริมสร้างหลักประกันถึงความมีเสถียรภาพของระบบการคลังว่าลูกหลานของเราจะได้รับบริการสาธารณะที่เพียงพอจากรัฐต่อไปในอนาคต มิได้หมดหายไปกับความสุรุ่ยสุร่ายในการใช้จ่ายของกลุ่มคนในรุ่นปัจจุบัน

นับแต่นี้ไป ภาคประชาชนจะต้องช่วยกันตรวจสอบติดตามการบริหารงานคลังสาธารณะของรัฐบาลกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบองค์กรอื่นๆ ของรัฐในระดับท้องถิ่น และองค์กรของรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ เพื่อร่วมกันสร้างระบบการคลังภาครัฐที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความยั่งยืนสืบต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน มิให้เสื่อมสลายไปพร้อมกับนักการเมืองที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐอย่างขาดความรับผิดชอบแล้วหนีหายไปจากประชาชน

หมายเลขบันทึก: 243782เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2009 03:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท