เด็กและเยาวชนร้อยละ 37 เห็นว่ากิจกรรมสร้างสรรค์ที่ควรทำคือ


วาเลนไทน์,เด็กและเยาวชน,ครอบครัว

เด็กและเยาวชนร้อยละ 37 เห็นว่ากิจกรรมที่ดีที่สร้างสรรค์ที่ควรทำในวันวาเลนไทน์มากที่สุด

คือ ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว

 

แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน(สสย.)มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เครือข่ายพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก และศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้ร่วมกันสำรวจความเข้าใจของเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 10 ถึง 25 ปี จำนวน 792 คนและผู้ปกครองจำนวน 651 คน ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับวันวาเลนไทน์ และกิจกรรมที่คาดว่าจะทำในวันวาเลนไทน์ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ สามารถสรุปผลที่สำคัญได้ดังนี้

 

ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวันวาเลนไทน์

                เด็กและเยาวชนในกรุงเทพฯ มากกว่าครึ่ง คือ ร้อยละ 54 เข้าใจว่าวันวาเลนไทน์เป็นวันแห่งความรักระหว่างใครกับใครก็ได้  แต่ผู้ปกครองในกรุงเทพส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 41 ยังเข้าใจว่าเป็นวันแห่งความรักระหว่างหนุ่มสาวเท่านั้น  เด็กและเยาวชนหญิงเข้าใจความหมายของวันวาเลนไทน์ถูกต้องมากกว่าเด็กและเยาวชนชาย (ร้อยละ 60 และร้อยละ 49) แต่ผู้ปกครองที่เป็นชายและหญิงเข้าใจความหมายถูกต้องพอๆ กัน (ร้อยละ 40 และร้อยละ 39)

 

การให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์

                เด็กและเยาวชนตลอดจนผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ถึงร้อยละ 61 และร้อยละ 39 รู้สึกเฉยๆ กับวันวาเลนไทน์ ที่ให้ความสำคัญมากมีเพียงร้อยละ 16 และร้อยละ 14 ตามลำดับเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเด็กและเยาวชน และผู้ปกครองร้อยละ 4  และร้อยละ 5  ที่เห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ สำหรับเด็กและเยาวชนชายและหญิงที่ให้ความสำคัญกับวันดังกล่าวมีมากถึงร้อยละ 14 และร้อยละ 15 ตามลำดับ

 

ความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมที่ดีที่สร้างสรรค์ซึ่งเด็ก-เยาวชนควรทำในวันวาเลนไทน์

                เด็กและเยาวชนในเขตกรุงเทพฯ เห็นว่ากิจกรรมที่ดีที่สร้างสรรค์ซึ่งเด็กและเยาวชนควรทำในวันวาเลนไทน์มากที่สุดคือ ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว (ร้อยละ 37 ) รองลงมาคือการชวนคนที่เรารักทำความดี (ร้อยละ 23)  ชวนคนที่เรารักทำกิจกรรมดีๆ (ร้อยละ 20) และบอกรักหรือแสดงความรักต่อกัน (ร้อยละ 17) ส่วนผู้ปกครองที่เห็นสอดคล้องกับเด็กและเยาวชนในกิจกรรมข้างต้นมีร้อยละ 40  27  19 และ  12  ตามลำดับ  สำหรับเด็กและเยาวชนชายที่เห็นว่าการชวนคนที่เรารักทำกิจกรรมดีๆ ในวันวาเลนไทน์มีมากกว่าเด็กและเยาวชนหญิง(ร้อยละ 21 และร้อยละ 18)   ส่วนเด็กและเยาวชนหญิงที่เห็นว่าการชวนคนที่เรารักทำความดีในวันดังกล่าวมีมากกว่าเด็กและเยาวชนชาย (ร้อยละ 25 และร้อยละ 22)  ผู้ปกครองหญิงที่เห็นว่ากิจกรรมที่ดีที่สร้างสรรค์ที่เด็กและเยาวชนควรทำในวันวาเลนไทน์  คือทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวมีมากกว่าผู้ปกครองชายค่อนข้างมาก คือมีร้อยละ 43 และร้อยละ 36

 

สถานที่สร้างสรรค์ที่เด็กและเยาวชนควรชวนกันไปในวันวาเลนไทน์

                เด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เห็นว่าสถานที่สร้างสรรค์ที่เด็กและเยาวชนควรชวนกันไปในวันวาเลนไทน์มากที่สุด  คือ  แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ (ร้อยละ 18)    รองลงมา คือ สวนสาธารณะ (ร้อยละ 17)    ห้างสรรพสินค้า (ร้อยละ 17)    โรงภาพยนตร์ (ร้อยละ 13)    ร้านอาหาร   (ร้อยละ 10)    พิพิธภัณฑ์ (ร้อยละ 7)   และศาสนสถาน (ร้อยละ 7)   สำหรับผู้ปกครองเห็นว่าเด็กและเยาวชนควรชวนกันไปที่แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ   ศาสนสถาน  และพิพิธภัณฑ์ มีร้อยละ 22   ร้อยละ 17  และร้อยละ 17  ตามลำดับ     ความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนชายและหญิงเกี่ยวกับสถานที่สร้างสรรค์ที่เด็กและเยาวชนควรชวนกันไปในวันวาเลนไทน์ไม่ค่อยแตกต่างกัน  และความคิดเห็นของผู้ปกครองชายและหญิงเกี่ยวกับสถานที่ดังกล่าวก็ไม่ค่อยต่างกันเช่นเดียวกัน

 

กิจกรรมที่คาดว่าจะทำในวันวาเลนไทน์

                ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552  ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์  เด็กและเยาวชนในเขตกรุงเทพฯ ถึงร้อยละ 70  ตั้งใจจะส่งการ์ดวาเลนไทน์ / ดอกกุหลาบแดง / ของขวัญ / ช็อคโกแลตไปให้บิดามารดา  คนรัก  เพื่อนหรือครู  ซึ่งส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 34  ส่งไปให้คนรัก    ร้อยละ 32  ส่งไปให้เพื่อน   และร้อยละ 26 ส่งไปให้บิดามารดา  ที่ตั้งใจทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวมีจำนวนพอๆ กัน  คือ  ร้อยละ 72    ส่วนที่ตั้งใจจะทำความดีในวันดังกล่าวมีร้อยละ 28   ผู้ที่เด็กและเยาวชนจะร่วมทำความดีในวันวาเลนไทน์นี้ประกอบด้วยบิดามารดา ร้อยละ 43    เพื่อน ร้อยละ 27   และคนรัก ร้อยละ 20   สำหรับผู้ปกครองที่ตั้งใจจะทำความดีในวันวาเลนไทน์นี้มีร้อยละ 34  และในจำนวนนี้จะทำความดีร่วมกับบุตร ร้อยละ 30    ส่วนกับ    คู่สมรส ร้อยละ 23   ผู้ปกครองที่จะทำกิจกรรมกับคนในครอบครัวมีร้อยละ 32

 

ความกังวลใจเกี่ยวกับปัญหาที่จะเกิดกับเด็กและเยาวชนในวันวาเลนไทน์

                                เด็กและเยาวชนมีความกังวลใจเกี่ยวกับปัญหาที่จะเกิดกับพวกตนเองในวันวาเลนไทน์ร้อยละ 29 ในขณะที่ผู้ปกครองมีความกังวลใจน้อยกว่า  คือ  มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ปัญหาที่เด็กและเยาวชนและผู้ปกครองเป็นกังวลมากที่สุดคือการมีเพศสัมพันธ์ร้อยละ 76 และร้อยละ 70 ตามลำดับ   ปัญหาเรื่องการไปเที่ยวและทำในสิ่งไม่ดี ร้อยละ 9 และร้อยละ 25  ปัญหาการตั้งครรภ์ ร้อยละ 4  และร้อยละ 0 เด็กและเยาวชนที่อยู่รวมกับผู้ปกครองกังวลใจน้อยกว่าเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้อยู่รวมกับผู้ปกครองมากกว่าเท่าตัว คือ ร้อยละ 21  และ ร้อยละ 45 และเด็กและเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษากังวลใจเกี่ยวกับปัญหาที่จะเกิดกับเด็กและเยาวชนในวันวาเลนไทน์มากกว่าเด็กและเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาลงมา สำหรับผู้ปกครองที่มีการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไปมีความกังวลใจเกี่ยวกับปัญหาที่จะเกิดกับเด็กและเยาวชนในวันวาเลนไทน์มากกว่าผู้ปกครองที่มีการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาลงมา

 

จากที่ นายกรัฐมนตรี ประกาศวาระแห่งชาติเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก ใน  มิติต่างๆ คือพื้นที่ความคิด พื้นที่สื่อ พื้นที่เล่น และพื้นที่การเรียนรู้  เมื่อวันเด็กแห่งชาติ  10 มกราคม 2552 ณ ทำเนียบรัฐบาล  4 ข้อคือ

1)   สนับสนุนพื้นที่สื่อสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นและผลักดันให้เกิดกองทุนสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว

2)   ส่งเสริมกลไกการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน โดยจัดให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆที่มีภารกิจเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ได้ดำเนินการให้เกิดประสิทธิผลอย่างเต็มที่

3)   ส่งเสริมกลไกการทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคสังคมทั้งที่มีอยู่แล้วและจะริเริ่มใหม่ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานตามวาระเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์ฯ

4)   ส่งเสริมบทบาทของกลไกระดับท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนวาระเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์ ให้เกิดการขยายออกไปทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ

และสิ่งเหล่านี้ที่รัฐบาลได้มอบให้เป็นของขวัญในวันเด็กแห่งชาติช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้าดูผลสำรวจเรื่องความกังวลใจ เกี่ยวกับปัญหาที่จะเกิดกับเด็กและเยาวชนในวันวาเลนไทน์ อันดับหนึ่งคือ เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ร้อยละ 76 และอันดับสอง ปัญหาเรื่องการไปเที่ยวและทำสิ่งที่ไม่ดีร้อยละ 70 ถ้าหากว่าสิ่งที่รัฐบาลได้ประกาศวาระแห่งชาติเมื่อวันเด็กต้นปีที่ผ่านมา และมีเจ้าภาพหรือหน่วยงานมาขับเคลื่อนในในเรื่องต่างๆเหล่านี้

ดังนั้นแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน(สสย.)มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และเครือข่ายพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและสังคมดังนี้

1.    ให้รัฐบาลเร่งรัดผลักดันขับเคลื่อนวาระแห่งชาติของเด็กและเยาวชนเรื่อง พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กตามที่ประกาศในวันเด็กแห่งชาติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์

2.    ให้หน่วยงานในชุมชนจัดกิจกรรมและพื้นที่ที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กอย่างทั่วถึง เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีกิจกรรมและสถานที่ดีๆรองรับในทุกๆวัน

3.       สนับสนุนห้องเรียน พ่อ แม่  พื่อสร้างพื้นที่สร้างสรรค์นครอบครัวในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งในการให้กำลังใจ ให้คำปรึกษากัน

4.    มาตรการการจ้างงานเพื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ควรส่งเสริมมาตราการที่ทำให้เกิดบุคลากรหรือพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กเพิ่มขึ้น เช่น การพัฒนานักจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ การพัฒนาสถานที่อ่านหนังสือ สนามเด็กเล่น เป็นต้น

จาก

เครือข่ายพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก

แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน(สสย.)

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.)

หมายเลขบันทึก: 242916เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2009 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 21:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท