BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ลูกแหยงไข่


ลูกแหยงไข่

วันก่อนให้ความเห็นในบันทึกของบังหีมเกี่ยวกับลูกแหยงไข่ (คลิกที่นี้ ดูความเห็นที่ ๓) ก็ตั้งใจว่าจะนำมาเล่าแต่ก็ปล่อยเลย... หลายวันต่อมา บังก็ไปปรารภกับอาจารย์ท่านหนึ่งว่า ถ้าผู้เขียนทำราคาได้กิโลละ ๒๐๐-๒๕๐ จะทดลองเลี้ยง (ขออภัยบังด้วย ครอบครัวเลิกค้าปลามาสิบกว่าปีแล้ว)... ก็กระตุ้นให้ใคร่จะเขียนอีกคราว แต่ก็ปล่อยผ่านไป จนกระทั้งคืนนี้จึงได้มีโอกาสเขียน...

ลูกแหยงไข่ ก็คือ ปลาแขยงที่มีไข่ นั้นเอง... นอกประเด็นนิด ภาษาปักษ์ใต้บ้านเรานั้นคำว่า ลูก หรือบางท้องถิ่นอาจออกเสียงเพี้ยนว่า โลก ใช้เรียกสิ่งทั่วไปที่ค่อนข้างจะเล็กหรือเป็นชนิดเล็กๆ ถ้าเป็นจำพวกปลาก็เช่น ลูกกริม (ปลากัด) ลูกหมอ (ปลาหมอ) ลูกเด่ (ปลากระดี่) ลูกหลังเขียว (ปลาหลังเขียว)...

ปลาแขยง หรือ ลูกแหยง นี้ ตามความจำในสมัยเด็ก แบ่งเป็น ๒ ชนิด ถ้าตัวใหญ่ๆ เรียกกันว่า แหยงหมู แต่ถ้าตัวเล็กๆ เรียกกันว่า แหยงขี้ไก่... รอบทะเลสาบสงขลาเมื่อ ๓๐-๔๐ ปี ก่อนนั้น ทุกริมน้ำของทะเลสาบจะมีลูกแหยงอาศัยอยู่ ซึ่งการละเล่นสำหรับเด็กๆ อย่างหนึ่งในสมัยนั้นก็คือใช้เบ็ดเล็กๆ ตกลูกแหยง... เฉพาะบ้านคูขุดในสมัยนั้น สำหรับเรือนที่มีบางส่วนอยู่ในทะเลจะมีส้วมยื่นลงในทะเลสาบ ซึ่งพอถ่ายอุจจาระลงน้ำ จะมีลูกซิวและลูกแหยงนับร้อยนับพันตัวโผล่ขึ้นมากิน ซึ่งภาพเหล่านี้ชินตาในสมัยนั้น (ส่วนเรือนที่ถัดมาจากริมทะเลมักจะมีส้วมซึมใช้)

พอย่างเข้าฤดูฝน เมื่อฝนตกผ่านไปๆ น้ำทะเลเริ่มขยับรุกล้ำพื้นที่ในหมู่บ้าน และไม่นานถนนภายในหมู่บ้านก็จะเปลี่ยนเป็นคลอง ทุกหลักคาเรือนจะใช้เรือสัญจร... ซึ่งในช่วงที่ยังไม่ใช้เรือ น้ำตามถนนประมาณตาตุ่มถึงแข้งนี้เอง จะมีลูกแหยงลอยหัวอยู่ทั่วไป ดังนั้น จะเดินไปไหนภายในหมู่บ้าน นอกจากจะต้องลุยน้ำลุยโคลนแล้ว ก็ต้องระวังจะเหยียบลูกแหยงอีกต่างหาก... การลุยน้ำลุยโคลนและระวังลูกแหยงทำนองนี้ ปีหนึ่งจะมีสองครั้งคือช่วงต้นฤดูฝน และช่วงหมดฤดูฝนเข้าสู่ฤดูร้อน... พวกคนในท้องถิ่นมักจะแบ่งฤดูตามสภาพการสัญจรภายในหมู่บ้านว่า ฤดูน้ำ ฤดูโคลน และฤดูแห้ง...

กลับมาว่าเรื่องลูกแหยง... สมัยนั้น แม้ลูกแหยงจะมีมาก แต่ก็มีคนนิยมกินกันค่อนข้างน้อย เหตุผลเพราะมีกุ้งปูปลาอย่างอื่นที่น่ากินเยอะแยะ และเพราะความเชื่อว่าลูกแหยงกินขี้ (ประการนี้สำคัญ) ดังนั้น ลูกแหยงจึงเป็นปลาที่ไม่มีราคา จะทำให้มีราคาขึ้นได้ก็ต้องทำเป็นปลาแห้ง (ปลาเค็ม) ซึ่งก็เป็นสินค้าออกอย่างหนึ่งในสมัยนั้น....

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเทียบรสชาดของลูกแหยงในเมื่อนำมาประกอบเป็นอาหาร ไม่ถือว่าขี้เหร่นัก เพราะมีความคาวน้อยกว่ามาก หากจะเทียบกับปลาหัวโม้ง (เคยเล่าไว้ คลิกที่นี้) และลูกแหยงก็อาจนำมาแกงส้มหรือแกงเผ็ดเป็นต้น ตามประสาอาหารปักษ์ใต้ได้เหมือนกับปลามีเงี่ยงไม่มีเกล็ดอื่นๆ เช่น ปลากด ปลาหัวโม้ง ปลาดุก ปลามิหรั่ง (ดุกทะเล)... ข้อด้อยของปลาแหยงก็เพียงแต่ตัวเล็กเกินไป ส่วนข้อเด่นก็คือ ไข่ปลาแหยงอร่อยมาก กล่าวได้ว่า ไข่ปลาข้างต้นที่ยกตัวอย่างมา ไม่อาจเทียบได้กับไข่ปลาแหยงเลย...

ดังนั้น  พ่อครัวหรือแม่ครัวในสมัยนั้น ถ้าเห็นว่าปลาแหยงมีไข่ ก็มักจะคัดเลือกเฉพาะตัวที่มีไข่มาแกงส้มหรือผัดเผ็ด... ผู้เขียนมั่นใจที่จะยืนยันว่า ถ้าไปกินข้าวบ้านใคร หากบ้านนั้นมีผัดเผ็ดหรือแกงส้มลูกแหยงไข่ ชนิดที่ตัวเท่านิ้วก้อยแต่ไข่เท่าหัวแม่มือ ไว้คอยรับรองแขกผู้มาเยือนแล้ว น่าจะเป็นที่ถูกปากชอบใจและได้รับการสรรเสริญเยินยอเป็นแน่แท้... ทั้งนี้เคยลองค้นหาความเห็นในอินเทอร์เน็ต ก็มีผู้ชมเชยความอร่อยของลูกแหยงไข่ไว้บ้างเหมือนกัน

ปัจจุบันนี้ ปลาตามธรรมชาติมีน้อย แม้กระทั้งลูกแหยงก็ใกล้สูญพันธุ์ ผัดเผ็ดลูกแหยงตัวเท่านิ้วก้อยไข่เท่าหัวแม่มือนั้น ครั้งสุดท้ายที่ได้ฉันก็เมื่อสิบกว่าปีก่อนโน้น วันก่อนมีโอกาสคุยกับบัง จึงฉุกคิดเรื่องนี้ขึ้นมา... ถ้าเราเลี้ยงแล้วควบคุม คัดเลือกเอาเฉพาะชนิดที่ไข่อย่างดีไว้ขาย โดยส่งตามร้านอาหารทั่วไป ผู้เขียนคิดว่าเป็นไปได้ และราคาต้องสูงแน่นอน...

คิดง่ายๆ เขียนไว้ที่หน้าร้านว่า วันนี้... มีผัดเผ็ดปลาแขยงไข่. จะมีคนหวลระลึกถึงรสชาดในอดีตแล้วแวะร้านนั้นทันที...

หมายเลขบันทึก: 242836เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2009 23:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

นมัสการพระคุณเจ้า เรื่องลูกแหยง ไข ผมได้นำปคุย ต่อในวงกลุ่มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มมีการเลี้ยงปลา ดุก ปลากด ปลาทับทิม ปลากะพง และปลาขี้ตัง แต่ไม่มีสมาชิกคนใด มีความรู้เรื่องลูกแหยง และวิธิเลี้ยง ผมอยากสนับสนุน ก็รับว่าจะหาข้อมูลจากศูนย์เพาะเลี้ยงชายฝั่งสงขลามาให้ในการประชุมครั้งหลัง แต่จนวันนี้ผมก็ยังไม่ได้ทำไหรที ครับ เรื่องลูกแหยงไขผมคิดว่าคงคุยต่อ ขอบพระคุณพระคุณเจ้าที่จุดประกายครับ

Pวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

 

  • อนุโมทนา...

ลืมไปนิดหนึ่ง ของบางอย่าง แม้อย่างเดียวกัน แต่คุณภาพที่แตกต่างกันทำให้ราคาแตกต่างกันมาก เช่น ปลาหมอนาบ้านเรา (มิใช่ปลาหมอเลี้ยงจากภาคกลางในปัจจุบัน) เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ถ้าปลาเป็นกิโล ๖๐ -๗๐ แต่พอปลาตายกิโลหนึ่งเหลือ ๑๐-๒๐ ... แต่เดี่ยวนี้ปลาหมอนาบ้านเรากิโลเท่าไหร่ก็ไม่มีขาย มีสภาพใกล้สูญพันธุ์เหมือนกับลูกแหยง...

อีกอย่างก็ความแตกต่างของราคาปูม้า ชนิดมีไข่กับไม่มีไข่... บังคงเคยได้ยิน ตามร้านอาหารหาปูไข่ไม่ได้ จึงใช้ไข่ไก่เอาเฉพาะไข่แดง แล้วก็ใช้หลอดฉีดเข้าไปในตัวปูสดๆ ก่อนที่จะนำไปนึ่งหรือประกอบอาหารอื่นๆ...

สำหรับลูกแหยง ไม่เคยได้ยินว่ามีการคัดเฉพาะตัวมีไข่มาขายเลย... ถ้าเราเลี้ยง ควบคุมคุณภาพ คัดเอาเฉพาะชนิดที่มีไข่เท่านั้น ราคาสูงแน่นอน และต่อไปจะต้องได้รับการนิยม...

เจริญพร

 

นมัสการค่ะ เป็นความรู้อย่างมากๆค่ะ

อ้อ คุณพ่อดิฉัน เป็นคนสงขลา เรียกเงาะ ว่า ลูกเงาะค่ะ

นมัสการพระคุณเจ้า ขอแลกเปลี่ยนต่อเรื่องปลาหมอ ต่อน่ะครับปลาหมอนาที่อร่อยที่สุด ต้องเป็นปลา หมอ หยามข้าวท้อง ถ้าสังเกตุให้ดี ปลาหมอ หยามนี้จะมีขีดที่หัว คนแต่แรกบอกว่า ฟ้าผ่าหัวปลาหมอ ลมหักคอไม้ไผ่(คือเป็นช่วงเดียวกันที่หนอไม้ไผ่หักตรงคอครับ) ส่วนว่าปลาแหยงไข ได้ความคืบหน้าจะนำมาเรียนครับ

เรียนพระคุณเจ้า เดียวนี้ปลาแขยงไม่ค่อยเห็นเลยนะ ทำให้นึกถึงสมัยเด็กๆครับ

PSasinand

 

เห็นด้วยกับคุณโยม นอกจากปลาขนาดเล็กแล้ว ผลไม้ชนิดเล็กๆ ก็มักจะเรียกว่าลูก เช่น ลูกเงาะ ลูกโถะ ลูกกำชำ ลูกเนียง ลูกตอ ลูกท้อน ลูกแป้น ลูกหว้า (แหม่ จังเสียเหม็ด !)

แต่ถ้าชนิดใหญ่ขึ้นมา มักจะไม่เรียกว่าลูก เช่น เรียน (ทุเรียน) หนุน (ขนุน) จำดะ (จำปะดะ) ฯลฯ ... แต่ถ้าเรียกว่า ลูกเรียน ลูกหนุน ลูกจำดะ ฯลฯ จะหมายถึงยังอ่อน และมีขนาดเล็ก...

...........

Pวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

 

 

  • ฟ้าผ่าหัวปลาหมอ ลมหักคอไม้ไผ่

สำนวนนี้ไม่เคยได้ยิน แต่ขีดบนหัวลูกหมอนาเคยเห็น... เท่าที่พอจำได้ ลูกหมอนา นี้ ยังจำแนกออกเป็น หมอข้าว ซึ่งตัวใหญ่ และ หมอน้ำค้าง ซึ่งตัวเอียด...

พูดถึงเรื่องปลานี้ ทำให้นึกไปถึงแกงส้มปลาสมรมในอดีต นั่นคือ ลูกหมอมั้ง ลูกแหยงมั้ง ขี้ตังมั้ง ช่อนมั้ง ตรับมั้ง ฯลฯ มาแกงรวมในหม้อเดียวกัน ก็หรอยไปอีกแบบ บังว่าหม้าย ? (5 5 5...)

............

Pเบดูอิน



ลูกแหยงไข่ ซึ่งเป็นของธรรมดาในสมัยก่อนซึ่งขาดหายไปนั้น ปัจจุบันถ้าเรานำมาเลี้ยงแล้วพัฒนาในเชิงพาณิชก็อาจรุ่งเรืองได้ไม่ยาก...

อีกอย่างก็ ยอดมวง เอามาต้มกระดูกวัว นิยมกันมาก จึงมีการปลูกเก็บยอดขาย เดียวนี้จึงหาได้ไม่ยาก... หลายเดือนก่อนไปงานไหนแล้วจำไม่ได้ ต้มยอดขาม รู้สึกถูกปาก ทำให้นึกขึ้นได้ว่าไม่เจอนานแล้ว ทำให้นึกว่า ถ้าเราปลูกต้นขามเก็บยอดขายโดยเฉพาะ ก็น่าจะพอไปได้...

เมืองไทยพื้นฐานเดิมอุดมสมบูรณ์ ของเก่าๆ ธรรมดาๆ ที่ขาดหายไป ใครนึกได้ นำมาพัฒนาในเชิงพานิชก็อาจรุ่งเรืองได้ไม่ยาก อาจารย์ว่ามั้ย ?

........

เจริญพรทุกท่าน

 

นมัสการพระอาจารย์

ติดป้ายด้วยนะครับว่า พระมหา...ชวนชิม 

คราวนี้ทั้งฆราวาสทั้งพระ แน่นตรึม อิ อิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท