ทคพย : วางแผนงานปี ๒๕๕๒


มีความเป็นกันเองมากขึ้น รู้จักกันมากขึ้น รู้สึกไว้วางใจกันมากขึ้น

เมื่อวันที่ ๘-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ มีการจัดสัมมนาของที่ประชุมคณบดีและหัวหน้าสถาบันการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ของรัฐ (ทคพย.) เพื่อวางแผนการทำงานในปี ๒๕๕๒ ที่โรงแรมเดอะรอยัล เจมส์ ลอดจ์ ๒๐๐๐ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม

การประชุมครั้งนี้มี รศ.ดร.จอนผะจง เพ็งจาด ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ในฐานะเลขานุการที่ประชมฯ ทำหน้าที่ประสานงาน มีผู้เข้าประชุมประมาณ ๒๐ คน

การจัดการสัมมนาของเราเป็นไปแบบง่ายๆ ผู้บริหารสถาบันการศึกษาหลายท่านเดินทางมาจากต่างจังหวัด เราก็นัดหมายไปรับและเดินทางไปด้วยกันอย่างกันเอง

ดิฉันขับรถไปเองและรับหน้าที่รับ ดร.เบญจา เตากล่ำ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มรภ.สวนดุสิต ที่มีบ้านอยู่ในละแวกย่านเดียวกัน รศ.วลัยพร นันทศุภวัฒน์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหาสารคาม คอยอยู่ใกล้ๆ กับห้างเซ็นทรัล รามอินทรา และ ศ.ดร.ประนอม โอทกานนท์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ม.นเรศวร คอยอยู่ที่สภาการพยาบาล

ออกเดินทางจากบ้านเวลาเกือบ ๐๘ น. แวะรับทุกท่านไปตามลำดับ วันนี้การจราจรไม่ติดขัด ควรจะถึงโรงแรมตั้งแต่ประมาณ ๙ น. แต่ไปพลาดตอนจะเข้าถนนไปศาลายา ขึ้นสะพานผิดเป็นสะพานกลับรถ เสียเวลาย้อนไปกลับรถถึงแถวตั้งฮั่วเส้ง จับเวลาไป-กลับเกือบครึ่งชั่วโมง สมาชิกในรถไม่มีใครอารมณ์เสีย บอกว่าไม่เป็นไรจะได้มีเวลาคุยกันยาวๆ แถมได้มาเยี่ยมมองคณะพยาบาลศาสตร์ของ มรภ.สวนดุสิตด้วย

แผนที่ไปโรงแรมที่เราได้มา ตัวหนังสือเล็กมาก บอกว่าเมื่อเลย ม.มหิดลให้เลี้ยวขวาตรงไฟแดงที่ ๒ (เพราะทางปกติกำลังปรับปรุงถนน) เราจึงไม่ได้เข้าโรงแรมทางประตูหน้า แต่เป็นประตูเล็กๆ อีกด้านหนึ่ง ขับรถหาที่ทำการโรงแรม ถามทางแล้วก็ยังไปไม่ถูก จนไปเจอป้อมยามที่มีเจ้าหน้าที่ใจดีขับมอเตอร์ไซด์นำทาง จึงถึงที่หมาย

การประชุมเริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ ๑๐.๒๐ น. รศ.ดร.ฟองคำ ติลกสกุลชัย คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหิดล ทำหน้าที่ประธาน บอกให้ที่ประชุมรู้ว่าสิ่งที่อยากได้คือแผนปฏิบัติการในปี ๒๕๕๒ และจะมีการประชุมกลุ่มย่อยในเรื่องสมรรถนะพยาบาลวิชาชีพที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ และการวางแผนการใช้กรอบมาตรฐาน NQF

การประชุมมีบรรยากาศแบบสบายๆ เป็นการคุยกันไม่ใช่การประชุมที่เคร่งเครียด ทุกคนมีอิสระในการคิดว่าในปี ๒๕๕๒ นี้อยากรู้อะไรอยากทำอะไร เรื่องการประชุมกลุ่มย่อยที่วางแผนไว้จึงถูกยกเลิกไป แต่ก็ไม่ได้ทิ้งประเด็นที่ตั้งไว้ไปเสียเลย เอามาคุยกันในที่ประชุมรวมแทน

อาจารย์ฟองคำเอาข้อตกลงของที่ประชุมฯ ที่เคยทำไว้หลายปีแล้วมาทบทวนกันใหม่และปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น วาระของประธานที่ประชุมฯ การกำหนดบุคคลที่จะเป็นรองประธาน เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ เป็นต้น นอกจากนั้นยังกำหนดกรอบในการประชุมแต่ละครั้งว่าควรมีวาระอะไรบ้าง ส่วนวันประชุม เราได้กำหนดไว้ล่วงหน้าทั้งปีแล้ว

 

บรรยากาศที่ประชุม

โครงการที่จะมีการดำเนินการในปี ๒๕๕๒ มีหลายเรื่อง เช่น การศึกษาความต้องการกำลังคนบุคลากรพยาบาล ปัจจัยการลาออกและย้ายสถานที่ทำงานของพยาบาลวิชาชีพ การสำรวจสถานภาพ/ศักยภาพของสถาบันการศึกษาพยาบาลในโครงการผลิตเพิ่ม การพัฒนามาตรฐานหลักสูตรฯ เรายังพูดกันถึงการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ๕ ปี ฯลฯ

 

มุมนี้ย้อนแสงเลยมืดไปหน่อย

ระหว่างการประชุมเราคุยกันว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่โน่นที่นี่ทำอย่างไรกันบ้าง มีหลายอย่างที่เราไม่รู้กันว่าใครทำอย่างไร หรือต่างที่ต่างทำไม่เหมือนกัน จึงเกิดเป็น “โครงการการจัดการความรู้ภายในเครือข่าย” ซึ่งจะผนวกไปกับการประชุมสัญจรไปตามสถาบันต่างๆ โดยมีการกำหนดประเด็นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละครั้งเอาไว้ล่วงหน้า ดิฉันอาสารับผิดชอบโครงการนี้ (โครงการเดียว) ชวนอาจารย์จอนผะจง และ ผศ.นพพร มาทำงานด้วย ทุกคนดูตื่นเต้นกับโครงการนี้ รู้สึกอยากให้ถึงวันประชุมเร็วๆ

ที่ประชุมยังฝากให้ทีมของดิฉันรวบรวมเรื่องราวความเป็นมา พัฒนาการ และผลงานของที่ประชุม ทคพย. ด้วย นานๆ ไปคนชักจะลืมเลือน เพราะผู้ที่อยู่ในที่ประชุมแห่งนี้ผลัดเปลี่ยนกันตามวาระผู้บริหารของแต่ละสถาบัน วันนี้เรายังถามกันว่าโลโก้ของ ทคพย.มีความหมายอย่างไร

เราประชุมกันแบบต่อเนื่อง สมาชิกขอพักประชุมระหว่างเวลา ๑๘.๐๐-๒๐.๐๐ น. เพื่อติดตามละครเกาหลีเรื่องลีซาน จบละครแล้วกลับมาประชุมกันต่อจนถึงกว่า ๒๑ น. (ต้องประชุมเพราะมีการสั่งอาหารมื้อค่ำเอาไว้) สมาชิกบางส่วนมีธุระขอกลับไปก่อน จะกลับมาใหม่ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น

 

คุยกันที่โต๊ะอาหาร และเกี๊ยวน้ำมื้อค่ำ

วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เราเริ่มประชุมเมื่อประมาณ ๐๙ น. วันนี้เราช่วยกันทบทวนและตรวจความถูกต้องของข้อตกลงฯ เพื่อจะได้ลงชื่อร่วมกันไว้ คุยกันว่าจะประชุมสัญจรกันอย่างไร เมื่อไหร่จะไปที่ไหน หลังพักรับประทานอาหารว่างก็แยกย้ายกันจับกลุ่มช่วยกันร่างโครงการที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ ใช้เวลาไม่นาน ก็สามารถร่างโครงการนำเสนอต่อที่ประชุมได้ ที่ประชุมซักถามเพื่อความชัดเจนและให้ข้อเสนอแนะ

 

การประชุมช่วงสุดท้าย

การประชุมเสร็จสิ้นพร้อมกับถึงเวลารับประทานอาหารกลางวัน ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับ ดิฉันสังเกตเห็นว่าผู้บริหารทุกท่านมีความเป็นกันเองมากขึ้น รู้จักกันมากขึ้น รู้สึกไว้วางใจกันมากขึ้น คุยกันในเรื่องที่เดิมไม่บอกกันมากขึ้น....... แตกต่างจากการประชุมตามปกติเดิมๆ ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าการประชุมครั้งนี้ได้งานเยอะจริงๆ คุ้มค่ากับเวลา (ในวันหยุด)

ขากลับ ดิฉันมีอาจารย์เบญจาเป็นผู้โดยสารเหมือนขามา และอาจารย์ปราณี เทียมใจ หัวหน้าสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา ที่มีบ้านพักอยู่ในซอยลาดพร้าว ๗๑ ติดรถมาด้วย

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 242829เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2009 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท