การปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ด้วยระบบการศึกษาแนวใหม่แบบคู่ขนาน ปัญหาและแนวทางแก้ไข


ปัญหาของการศึกษาไทยเป็นปัญหาเชิงระบบและเป็นวัฏจักรที่เกี่ยวเนื้อที่สัมพันธ์กัน

ปัญหาและแนวทางแก้ไข

กล่าวโดยสรุปแล้วปัญหาของการศึกษาไทยจึงเป็นปัญหาเชิงระบบและเป็นวัฏจักรที่เกี่ยวเนื้อที่สัมพันธ์กันกล่าวคือ มีการแข่งขันสูงในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะสาขาวิชา คณะซึ่งเป็นที่นิยม และมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของรัฐ ซึ่งมีจำกัดและไม่เพียงพอ ข้อสอบที่ใช้ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ตั้งแต่ระบบเอนทรานซ์เดิม จนถึงระบบแอดมิชชั่น ถูกออกแบบให้ยากกว่าระดับมัธยมปลายเพื่อจะได้มีความสามารถในการคัดกรองนักเรียน ส่งผลทำให้เกิดลูกโซ่แห่งการเร่งเรียนจากระดับบนลงล่าง จากระดับอุดมศึกษาจนถึงระดับอนุบาล ตามมาด้วยการเรียนพิเศษและกวดวิชา

ระบบการศึกษาเช่นนี้ยังทำให้ผู้ปกครองและเด็กไทยหลายคนอยู่ในบริบทแห่งความกลัว กลัวว่าลูกจะสอบแข่งขันไม่ได้ ไม่มีโรงเรียน คณะหรือมหาวิทยาลัยดีๆให้ลูกเรียน นอกจากนี้ยังรู้สึกว่าตนเองไม่มีหลักประกันและไม่มั่นใจในอนาคตของระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุข และมีความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงโรงเรียนทางเลือกด้วย

แม้ว่ามีพ่อแม่ ผู้ปกครองส่วนหนึ่งสามารถเปลี่ยนจากระบบการศึกษาหลักไปสู่โรงเรียนนานาชาติ หรือส่งลูกไปศึกษาต่างประเทศได้ แต่นั่นคือการจำกัดสิทธิทางการศึกษาของเยาวชนส่วนใหญ่ เนื่องจากพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีฐานะทางการเงินดี เท่านั้นจึงสามารถทำได้ นอกจากนั้นเด็กในระบบการศึกษาที่เรียนรู้อย่างมีความสุขและบูรณาการย่อมจะไม่สามารถสอบแข่งขันเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษากับเด็กในระบบหลักที่เน้นวิชาการได้

หากปัญหาของการปฏิรูปการศึกษาเรียนรู้ รอบแรกคือเน้นที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการและทบวงมหาวิทยาลัยและหากการปฏิรูปการศึกษา รอบ 2กำลังจะเน้นที่คน โดยเฉพาะคุณภาพครู ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงระบบ การปฏิรูปการศึกษาอาจไม่สัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ และการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม ก็เป็นเรื่องดี แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และไม่สามารถได้มาด้วยการท่องจำวิชาศีลธรรม

 

 

ข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาเชิงระบบด้วยระบบการศึกษาแนวใหม่แบบคู่ขนาน (New parallel track)

เนื่องจากโครงสร้างของปัญหาการศึกษามีความซับซ้อนและจะกระทบผู้คนเป็นจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงทั้งระบบทั่วประเทศให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมจึงเป็นเรื่องยาก จึงขอเสนอให้กำหนดและจัดวางระบบการศึกษาแนวใหม่คู่ขนานไปกับระบบเดิมโดยมีรายละเอียดดังนี้

1. เสนอให้จัดนักเรียนระดับอนุบาลหรือชั้นประถมปีที่ 1 เข้าสู่ระบบการศึกษาแนวใหม่ตามความสมัครใจของพ่อแม่ และผู้ปกครอง จำนวนร้อยละ 5-10 เช่นจำนวนนักเรียนที่เข้าสู่ระบบการศึกษาในชั้นประถมปีที่1 ทั่วประเทศ จำนวนทั้งหมด 500,000 คน จัดเข้าสู่ระบบการศึกษาแนวใหม่ร้อยละ 10 คิดเป็น 50,000 คน เมื่อถึงระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 เหลือเด็กที่จะเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา 200,000 คน ก็จะเหลือเด็กในระบบการศึกษาแนวใหม่ ประมาณ 20,000 คน

 

2. จัดหลักสูตรการศึกษาใหม่ให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข บูรณาการความรู้ เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by doing)การเรียนรู้สู่ชุมชน การให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา มีการระดมสมองหรือมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยระบบการศึกษาตามคำแนะนำของศาสตราจารย์น.. วิจารณ์ พานิช ซึ่งจะเป็น หน่วยงานในกำกับของรัฐ ได้รับงบประมาณแต่มีอิสระ

ดังเช่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สวรส.

ระบบการศึกษาแนวใหม่อาจพิจารณาจากหลักสูตรการศึกษาที่ดี ซึ่งควรมีลักษณะสี่ประการ (4 part curriculum) ดังนี้

2.1. เป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคน (Personal-Growth Curriculum) ซึ่งต้องส่งเสริมให้เกิดปัจจัยต่อไปนี้

ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ (Enthusiasm for learning) มีความอยากรู้อยากเห็น

อารมณ์เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเรียนรู้ (Emotion is the gateway to learning) ซึ่งอารมณ์จะขึ้นกับปัจจัยเหล่านี้คือ

- ทักษะในการสื่อสาร (Communications Skills)

- ทักษะในการสร้างความสัมพันธ์ (Relationship Skills)

- แรงจูงใจ (Motivation)

- ความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-Esteem)

ทักษะในการพูดและฟังผู้อื่น (Real listening and Speaking Skills)

ความมั่นใจในตัวเอง และความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-Confidence and Self-Esteem)

การบริหารจัดการตนเอง (Self-Manager) ซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบคือ

- ทักษะการแก้ไขปัญหา (Problem-Solving)

- ความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) คือทักษะในการกลั่นกรองข่าวสาร ข้อมูล โต้แย้ง ท้าทาย สมมติฐานที่กล่าวอ้าง ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยการกระตุ้นให้คิด ให้ค้นหาคำตอบที่แท้จริง ค้นคว้าเพื่อหาทางเลือกต่าง ๆ

ทักษะการเป็นผู้นำ (Leadership Skills)

2.2 ส่งเสริมทักษะที่สำคัญของชีวิต (Lifeskills Curriculum) ซึ่งได้แก่

- การบริหารจัดการตนเอง (Self-Managing)

- การแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ (Creative Problem-Solving)

- การวางแผนอาชีพ (Career Planning)

- เศรษฐศาสตร์ (Economics)

- การบริหารความขัดแย้ง (Conflict-Management)

- เทคโนโลยีสารสนเทศ (Computer-Based Technology)

2.3. เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมการเรียนเพื่อที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Learning-How-to-Learn) และเรียนรู้ที่จะคิด (Learning-How-to-Think) ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ต่อไป การเรียนรู้ตลอดชีวิตนี่เอง จะทำให้การเรียนรู้สนุกสนาน มีชีวิตชีวา และมีประสิทธิภาพสูงสุด และสุดท้ายคือเรียนรู้ที่จะเป็นผู้บริหารจัดการชีวิตของตนเอง (Self-Acting Manager) ต่อไปในอนาคต เป็นหลักสูตรการศึกษาที่ทำให้ทุกคนเป็นครู เด็กนักเรียนทุกคน พ่อแม่ทุกคน และคุณครู ต้องไม่เป็นผู้เรียน แต่ต้องเป็นครูที่สอนผู้อื่นได้ด้วย

2.4. เป็นหลักสูตรที่มีการบูรณาการ (The Content Curriculum with Integrated Themes) เป็นหลักสูตรที่มีการเชื่อมโยงวิชาที่หลากหลายโดยมีการประสานสัมพันธ์กัน

 

3. จัดให้มีหน่วยงานใหม่เพื่อบริหารจัดการ ระบบการศึกษาแนวใหม่แบบคู่ขนาน (New parallel track) นื้เป็นการเฉพาะ อาจใช้ชื่อว่าสำนักงานคณะกรรมการนวัตกรรมการศึกษาแห่งชาติ หรือชื่ออื่นๆ โดยมีการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเพื่อรองรับการตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันและความมั่นใจให้พ่อแม่ ผู้ปกครองที่เลือกระบบการศึกษาแนวใหม่แบบคู่ขนาน ว่าจะไม่มีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

 

4 . สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ ร่วมกันกำหนดโควตาการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาตามอัตราส่วนนักเรียนในระบบการศึกษาแนวใหม่ เช่นกำหนดอัตราส่วนไว้ร้อยละ10 เมื่อมีนักเรียนที่จะเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา 200,000 คน สามารถรับเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐในปีนั้นได้ 40,000 คน เด็กในระบบการศึกษาแนวใหม่ มี 20,000 คน ควรรับเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐ 4000 คน โดยจัดให้มีการสอบและประเมินผลแยกออกมาจากนักเรียนในระบบหลักทั้งส่วนของการสอบแอดมิชชั่นและสอบตรง เนื่องจากระบบการศึกษาแตกต่างกัน และนักเรียนในระบบการเรียนรู้อย่างมีความสุขและบูรณาการย่อมจะไม่สามารถสอบแข่งขันเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษากับเด็กในระบบหลักที่เน้นวิชาการได้ เช่นเดียวกันกับที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า มีโควต้าให้นักเรียนโรงเรียนดรุณสิกขาลัย นอกจากนี้ยังอาจจะใช้ผลการเรียนในโรงเรียนประกอบการคัดเลือกได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมาตรฐานแต่ละโรงเรียนไม่แตกต่างกัน หรืออาจร่วมกับการสอบคัดเลือกกลางโดยความร่วมมือสถาบันวิจัยระบบการศึกษา เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินผลซึ่งแตกต่างจากนักเรียนในระบบหลัก

 

5. การดำเนินการจัดการศึกษาแนวใหม่แบบคู่ขนานสามารถใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนที่มีอยู่แล้ว เช่นจัดให้มี 1 ห้องต่อระดับชั้น ตัวอย่างเช่นโรงเรียนหนึ่งมีห้องเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งจำนวน 5 ห้อง จะจัดห้องที่ใช้ระบบการศึกษาแนวใหม่แบบคู่ขนานไว้ 1 ห้อง โดยจำกัดจำนวนนักเรียน 20 คน/ห้อง เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการจัดการศึกษา ระยะแรกไม่มีความจำเป็นต้องทำทุกโรงเรียน อาจดำเนินการนำร่องในจังหวัด ที่มีมหาวิทยาลัย เช่นกรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และจังหวัดใหญ่ๆ เช่น นครราชสีมา อุดรธานี พิษณุโลก นครศรีธรรมราช

 

6. สร้างสถาบันฝึกอบรมครูระบบการศึกษาแนวใหม่แบบคู่ขนาน ซึ่งอาจใช้เวลาบ้าง แต่ในระยะเริ่มแรกสามารถใช้คุณครูจากระบบเดิมที่เห็นด้วยและมีความรู้ ความเข้าใจในระบบการศึกษาแนวใหม่ไปก่อน ครูจะค่อยๆถูกปรับเปลี่ยน โดยระบบและหลักสูตรเอง เป็นการให้หลักสูตร (Curriculum) ซึ่งเป็นระบบ (System ) ไปเปลี่ยนคน (Person) ดังเช่นครูที่เข้ามาระบบการศึกษาปริญญาตรีนานาชาติ (International Baccalaureate I.B. ) เปลี่ยนวิธีการสอนตามระบบ ซึ่งง่ายและมีประสิทธิภาพกว่าให้คนคือครูแต่ละคนเปลี่ยนระบบทั้งหมด

 

หมายเลขบันทึก: 242832เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2009 22:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ร่วมปฎิวัติการศึกษาเพื่อความเป็นไท

http://gotoknow.org/blog/plays-learns/320506

เห็นด้วยกับความคิดนี้ เพราะถ้าจะให้เปลี่ยนทั้งโรงเรียน ในแต่ละโรงเรียนดูแล้วจะไม่ได้ผล ถ้าโรงเรียนไหนพร้อมควรทดลอง

ทำทีละห้องจะดีกว่า แล้วประเมินดูผลลัพธ์ เมืองไทยชอบบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด โดยไม่ดูความพร้อมของคน หน่วยงานในองค์กร และไม่มีการประเมินว่าของเก่ากับของใหม่มีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท