จุดเริ่มต้นการทำงานของศึกษานิเทศก์


จุดเริ่มต้นการทำงานของศึกษานิเทศก์

จุดเริ่มต้นการเป็นศึกษานิเทศก์

                ศึกษานิเทศก์เป็นบุคคลที่ทำงานร่วมกับโรงเรียนหรือสถานศึกษาเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา จุดเริ่มต้นในการทำงานที่ถูกต้องของศึกษานิเทศก์ ก็คือ การรู้จักวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานและสถานศึกษา

                ปัญหา  หมายถึง เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาให้เกิดขึ้นกับหน่วยงานหรือสถานศึกษา แต่ปัญหาทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ นั่นคือนวัตกรรม ถ้าไม่มีปัญหาคนเราก็จะไม่แก้ปัญหา ก็ไม่เกิดสิ่งที่ใช้แก้ปัญหา ไม่เกิดนวัตกรรม ปัญหานั้นเป็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่คาดหวังหรือเป้าหมายหรือเกณฑ์มาตรฐานกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ถ้าหากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงดีกว่าหรือเหนือกว่าหรือสูงกว่าก็ไม่เกิดปัญหา แต่ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงต่ำกว่า ด้อยกว่า น้อยกว่าสิ่งที่คาดหวังหรือเป้าหมายหรือเกณฑ์มาตรฐาน ก็ทำให้เกิดปัญหา การสำรวจและการวิเคราะห์ปัญหาเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ  ในการวางแผนแก้ปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา   เมื่อใดก็ตามที่ศึกษานิเทศก์ จะทำงานในหน้าที่ตามมาตรฐานตำแหน่งเพื่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา สิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ควรรู้คือ การวิเคราะห์ระบบข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการจัดการศึกษาของหน่วยงานหรือสถานศึกษา

 

ระบบข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการจัดการศึกษา

ระบบข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการจัดการศึกษาของแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จะอยู่ที่กลุ่มนิเทศการจัดการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ประกอบด้วย

1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ได้แก่ ผลการประเมินคุณภาพนักเรียน ที่ประเมินโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.)(องค์การมหาชน) ที่ประเมินนักเรียนที่จะจบการศึกษาในแต่ละช่วงชั้น ผลการประเมินคุณภาพนักเรียนที่ประเมินโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลการประเมินคุณภาพในระดับท้องถิ่นที่ชั้นที่หน่วยงานดังกล่าวไม่ได้ทำการประเมิน

2. การประกันคุณภาพการจัดการศึกษา ประกอบด้วย การประกันคุณภาพภายในที่เป็นหน้าที่ของสถานศึกษาทุกแห่งจะต้องทำการจัดทำรายงานคุณภาพประจำปีรายงานต่อสาธารณชนและหน่วยงานต้นสังกัด และผลการประเมินภายนอก โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)(องค์การมหาชน)

3. ผลการนิเทศของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา

4. นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ได้จาการศึกษาค้นคว้าวิเคราะห์วิจัย

 

การวิเคราะห์ปัญหา

                ในการวิเคราะห์ปัญหาของศึกษานิเทศก์ ต้องใช้วิธีการเชิงระบบ(System Approach) เพื่อจะได้มองปัญหาที่เกิดรอบข้าง ได้ครอบคลุม ได้ทั่วถึง ไม่มองเพียงจุดใด จุดหนึ่ง นั่นคือ

                1. เริ่มที่การวิเคราะห์ด้านผลผลิต (Product) เริ่มมองที่คุณภาพด้านต่าง ๆ จากระบบข้อมูลสารสนเทศ นั่นคือ คุณภาพของนักเรียนที่เป็นผลผลิตเป็นไปตามมาตรฐานหรือเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ย่อมนำไปสู่ปัญหา

                2. การวิเคราะห์ปัญหาด้านกระบวนการ (Process) เป็นมองกระบวนการที่ส่งผลต่อผลผลิต ประกอบด้วย

2.1 กระบวนการเรียนการสอนของครู ว่าเป็นอย่างไร ครูมีทักษะการจัดการเรียนรู้หรือไม่ ถ้าครูไม่มีทักษะการจัดการการเรียนรู้ ตั้งแต่การวางแผนการจัดการเรียนรู้ การออกแบบการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การประเมินผลการเรียนรู้ การซ่อมเสริม หรือการแก้ปัญหาการเรียนรู้ เป็นต้น ก็ย่อมส่งผลต่อผลผลิตคือนักเรียน

2.2 กระบวนการบริหาร ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งกระบวนการบริหารมีผลอย่างยิ่งต่อคุณภาพหรือผลผลิต โดยเฉพาะทักษะการบริหาร การจัดครูเข้าสอน การนิเทศติดตาม การให้ขวัญกำลังใจ หรือการพัฒนาครูในด้านต่างมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาทั้งสิ้น

2.3 กระบวนการนิเทศ ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถมองได้ 2 ลักษณะ นั่นคือการนิเทศภายใน ที่ดำเนินการโดยโรงเรียนเอง และการนิเทศภายนอก ที่ดำเนินการโดยศึกษานิเทศก์ ว่าได้นิเทศครูเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพได้ตรงกับสภาพปัญหาหรือความต้องการหรือไม่

                3. ปัญหาด้านปัจจัย (Input) ซึ่งปัญหาด้านปัจจัยก็เป็นหาที่ส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งได้แก่ นโยบายที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ หลักสูตรการศึกษา งบประมาณ ความเพียงพอของจำนวนบุคลากร สื่อ อุปกรณ์ ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี เป็นต้น ซึ่งปัญหาด้านนี้ ถ้าเกิดบางปัญหาศึกษานิเทศก์ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้

 

สาเหตุของปัญหามาจากอะไร

สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ต้องเข้าใจปัญหาก่อนว่าปัญหาที่จะแก้ไขนั้นเกิดมาจากสาเหตุใด  โดยทั่วไปจะแยกวิเคราะห์สาเหตุปัญหาออกเป็น 3 ด้าน

1. ปัญหาด้านบุคคล ซึ่งหมายถึงผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ครูหรือนักเรียน อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถ ทักษะ กระบวนการ วัฒนธรรม ความเชื่อ สุขภาพ เจตคติต่อวิชา เป็นต้น

2. ปัญหาด้านวิธีการ/กระบวนการ ได้แก่ วิธีการสอน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การเลือกใช้สื่อ การวางแผนการสอน วิธีการ/กระบวนการบริหาร วิธีการ/เทคนิค/กิจกรรมการนิเทศ เป็นต้น

3. ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อม ได้แก่ การจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการบริหาร การจัดการเรียนรู้ ปัญหามลภาวะต่าง ๆ ทรัพยากรทั้งปริมาณและคุณภาพ เป็นต้น

ดังนั้นจึงสรุปได้  ลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้นกับคุณภาพการจัดการศึกษา  ในแต่ละองค์ประกอบนั้นสามารถ แบ่งเป็นด้านต่าง ๆ ได้ ดังนี้

1. ด้านความรู้ ความเข้าใจ ความคิด

2. ด้านทักษะ/กระบวนการ

3. ด้านเจตคติ ค่านิยม

                4. ด้านพฤติกรรม

                ซึ่งผู้นิเทศหรือศึกษานิเทศก์ต้องวิเคราะห์ให้ได้ปัญหาและสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง จึงจะสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยการจัดทำนวัตกรรมการนิเทศการศึกษาต่อไป

หมายเลขบันทึก: 240415เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2009 06:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ที่สำคัญในการนำเสนอนวัตกรรมคือการไม่ยอมรับตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีผู้สอนจำนวนมากที่ยังมีค่านิยมการแข่งขัน เช่น กลัวเด็นักเรียนทำขอสอบ O-net - A-net ไม่ได้ โดยไม่ยอมเปลี่ยนวิธีสอน ครับ ศน.ทศพล  ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท