ข้อเสนอสำหรับการเรียนรู้เพื่อเข้าถึงอิสรภาพของคนและชุมชน (ตอนที่1)


การจัดการความรู้, การเรียนรู้ร่วมกัน, ปฏิจจสมุปบาท, ปัญญาเชิงปฏิบัติ

การร่วมกันเรียนรู้ความเป็นจริงของโครงสร้างทางสังคมตามหลักปฏิจจสมุปบาท
A Participative Learning of Patฺiccasamuppādan Social Structure Reality

ก่อนหน้าที่มนุษย์จะสถาปนาสังคมตัวเองว่าเป็นยุคสมัยแห่งการรู้แจ้ง (The Age of Enlightenment) หรือยุคสมัยใหม่ (Modern Age) มนุษย์ฝากชีวิตไว้กับอำนาจสูงสุดที่มีเทพเจ้าเป็นศูนย์กลาง  มนุษย์เป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ในจักรวาล  อำนาจดังกล่าวถูกใช้โดยผ่านการตีความของผู้มีความรู้และอำนาจสูงกว่า   ผลจากการที่มนุษย์ฝากชีวิตไว้กับอำนาจสูงสุดและอำนาจสูงสุดถูกนำไปใช้โดยผ่านการตีความของผู้มีความรู้และอำนาจสูงกว่าเพื่อเข้าข้างตัวเองดังกล่าว   ทำให้เกิดการกดขี่ขมเหงระหว่างผู้ใช้อำนาจกับผู้ได้รับผลแห่งการใช้อำนาจนั้น  เมื่อการกดขี่ข่มเหงนั้นเลยขีดจำกัด  การลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความสมดุลของอำนาจจึงปะทุขึ้นในแผ่นดินนั้น
การปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๑๗๘๙  เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงผลของการกดขี่จากการตีความอำนาจสูงสุดเพื่อเข้าข้างตัวเองของผู้มีความรู้และอำนาจสูงกว่า  ซึ่งการกดขี่ข่มเหงดังกล่าวนั้นกินเวลายาวนานนับพันปีมาแล้วก่อนที่จะเกิดการลุกขึ้นต่อสู้นั้น  อย่างไรก็ตาม  การปฏิวัติดังกล่าวไม่อาจส่งผลอย่างรุนแรงได้  หากไม่ได้รับพลังผลักดันจากความสำนึกในความเสมอภาคที่มาจากยุคแห่งการรู้แจ้ง  เพราะในยุคแห่งการรู้แจ้งนี้มนุษย์เริ่มตระหนักถึงสิทธิและอำนาจของตัวเองอย่างเข้มข้น  ทำให้เกิดนักคิดที่ปฏิเสธอำนาจสูงสุด  และปฏิเสธการใช้อำนาจสูงสุดนั้นโดยผ่านการตีความของผู้มีความรู้และอำนาจสูงกว่า   จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายแห่งในห้วงเวลานั้นในเวลาใกล้ชิดกันบนแผ่นดินยุโรป   ซึ่งเป็นผลจากการไหลมาประจวบกันของปรากฏการณ์สองปรากฏการณ์คือ  การถูกกดขี่อันยาวนานกับความต้องการแสวงหาความเสมอภาคอย่างแรงกล้าของประชาชน  จนกลายเป็นพลังทางสังคมอันยิ่งใหญ่ที่สามารถผลักดันอำนาจซึ่งสั่งสมมานานนับพันปีให้สั่นคลอนได้
จึงจะเห็นได้ว่า  ความเป็นจริงทางสังคมก่อนยุครู้แจ้ง  เป็นความเป็นจริงที่ถูกผูกขาดโดยอำนาจสูงสุด ที่ผ่านการตีความของผู้มีอำนาจและความรู้สูงกว่าเพื่อเข้าข้างตัวเอง  ผลของการผูกขาดความรู้ดังกล่าวนั้น  ทำให้เกิดการกดขี่ข่มเหงทางสังคมที่ยาวนานนับพันปี  เมื่อมาประจวบกับพลังสำนึกแห่งความเสมอภาคจากยุคสมัยใหม่  ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นของประชาชนผู้ถูกกดขี่ดังที่ได้กล่าวไปแล้วตอนต้น
ก่อนที่พายุแห่งการเปลี่ยนแปลงจะพัดมาถึงแผ่นดินยุโรป  พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มก่อตัวขึ้น การก่อตัวเริ่มต้นจากการเปลี่ยนมุมมองของมนุษย์ต่อตัวเองและต่อโลก  เป็นจุดเปลี่ยนจากยุคสมัยเก่าสู่ยุคสมัยใหม่   ในยุคสมัยใหม่นี้ความรู้ไม่ได้ผูกติดไว้กับอำนาจสูงสุดอีกต่อไป  ความรู้เป็นสิ่งที่มนุษย์ปัจเจกสามารถสร้างขึ้นมาเองได้โดยผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเหตุผลของมนุษย์ที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาและพิสูจน์โดยเหตุผลของมนุษย์เอง   ทำให้มนุษย์หันหลังให้กับอำนาจสูงสุด  หันหลังให้กับธรรมชาติแล้วมายึดตัวเองเป็นศูนย์กลางแทนธรรมชาติ  มนุษย์พยายามหาวิธีเอาชนะธรรมชาติที่ทำให้มนุษย์รู้สึกไม่สะดวกสบาย  ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกแขนงมีจุดเริ่มต้นจากยุคนี้
ผลจากการปฏิวัติความเป็นจริงทางสังคมในยุคสมัยใหม่นี้  ทำให้มนุษย์มีอิสระมากขึ้นในการแสวงหา  ในการบริโภค  ในการสะสมทรัพยากร  ผลจากการปฏิวัติสู่ยุคสมัยใหม่ดังกล่าวด้านหนึ่งทำให้มนุษย์รู้สึกราวกับว่าสังคมเข้าสู่ยุคแห่งแสงสว่างอย่างแท้จริง  แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจเป็นความมืดที่แผ่ปกคลุมสังคมมนุษย์โดยที่มนุษย์ไม่รู้ตัวหรืออาจรู้ตัวแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญ   ผลด้านมืดจากการปฏิวัติความเป็นจริงทางสังคมดังกล่าว  นำไปสู่การทำลายล้างครั้งใหญ่ที่สุดของมนุษย์นับแต่มีมนุษย์อุบัติขึ้นมาบนโลก  ผลิตผลด้านมืดของการปฏิวัติความเป็นจริงทางสังคมในยุคสมัยใหม่นั้นเริ่มก่อตัวขึ้น  เมื่อชาติรัฐต่าง ๆ เร่งแสวงหาทรัพยากรเพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตที่ชาติรัฐตัวเองสามารถผลิตได้มากขึ้น  เนื่องจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีเพิ่มขึ้น
การแก่งแย่งทรัพยากรระหว่างชาติรัฐที่มีอำนาจนำไปสู่วงจรแห่งสงครามอีกเหมือนครั้งก่อน   แต่สงครามคราวนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อความเสมอภาคของประชาชน  หากแต่เป็นสงครามที่เป็นไปเพื่อสนองตัณหาของชาติรัฐที่มีอำนาจทั้งหลายในยุคนั้น  เป็นสงครามที่น่าหวาดกลัวมากกว่าสงครามของประชาชนเกินกว่าจะพรรณนา  ปรากฏการณ์เช่นนี้  แสดงให้เห็นว่าความรู้ที่ได้มาจากยุคสมัยแห่งการรู้แจ้งเป็นเสมือน “ยาเบื่อ” ที่เมื่อมนุษย์เสพเข้าไปแล้ว  บางพวกเกิดอาการหิวกระหาย  บางพวกเกิดอาการหลอนประสาทเห็นกงจักรเป็นดอกบัว  สังคมที่เป็นผลิตผลแห่งการปฏิวัติความเป็นจริงทางสังคมของยุคสมัยใหม่จึงดูเหมือนจะพบกับทางตัน   ทำให้เกิดนักคิดที่มีแนวคิด “เพี้ยน” ขึ้นหลายคนในแผ่นดินยุโรป  นักคิด “เพี้ยน” เหล่านั้นถูกเรียกหรือจัดอยู่ในกลุ่มนักคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodern) หรือหลังโครงสร้างนิยม (Post-structuralism)
ความเป็นจริงทางสังคมของยุคหลังสมัยใหม่หรือหลังโครงสร้างนิยมนี้ยังคงมีพลังผลักดันจากนักคิดปัจเจกชนเช่นเดียวกับนักคิดในยุคสมัยใหม่  นักคิดยุคหลังสมัยใหม่นั้น  สำหรับในบางทรรศนะเห็นว่านักคิดสำนักนี้ให้คุณูปการอันใหญ่หลวงกับสังคม   แต่ในบางทรรศนะกลับเห็นว่า  นักคิดหลังยุคสมัยใหม่เหล่านี้ ไม่ได้แตกต่างไปจากนักคิดในยุคสมัยใหม่เลยในแง่การนำไปสู่ปัญหาใหม่  ในทางกลับกันอาจเห็นว่านักคิดหลังสมัยใหม่ให้คุณค่าที่เป็นรูปธรรมแก่สังคมน้อยกว่านักคิดในยุคสมัยใหม่ด้วยซ้ำไป   ทางสำนักหลังสมัยใหม่โต้แย้งว่า  รูปธรรมที่นำเสนอโดยนักคิดสมัยใหม่ในนามของ  ประชาธิปไตยบ้าง  สังคมนิยมบ้าง  เป็นเสมือนมายาคติ (mythology) ที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นทาส (enslave) ของมายาคติทางสังคมเท่านั้น   ฉะนั้นมนุษย์จึงสมควรได้รับการปลดปล่อยสู่ความเป็นอิสระ (emancipation)  อย่างไรก็ตาม  วิธีการของนักคิดยุคหลังสมัยใหม่ที่กระทำเพียงวิพากษ์ (critic) รื้อถอน (deconstruct) เพื่อปลดปล่อย (emancipate) ผู้คนจากมายาคติทางสังคม  แต่ไม่ได้เสนอตัวแบบความเป็นจริงทางสังคมที่ชัดเจนเพื่อเป็นแนวทางสำหรับสังคม  เป็นผลให้แนวความคิดของนักคิดยุคหลังสมัยใหม่รบกวนจิตใจนักปรัชญาสังคมศาสตร์ที่ชื่นชมความรู้จากยุคสมัยใหม่อยู่เนือง ๆ
ผลต่อชีวิตและสังคมที่สืบเนื่องมาจากการเข้ามามีอิทธิพลของความเป็นจริงทางสังคมยุคหลังสมัยใหม่  มีความซับซ้อนเป็นหลายเท่าทวีคูณเมื่อเทียบกับการเข้ามามีอิทธิพลของความเป็นจริงทางสังคมยุคสมัยใหม่แทนความเป็นจริงทางสังคมยุคคลาสสิก  เพราะเป็นธรรมดาที่ปฏิสัมพันธ์ในจำนวนสามมีมากกว่าปฏิสัมพันธ์ในจำนวนสอง   ยิ่งไปกว่านั้น  การแทนที่ทางความคิดไม่เหมือนการแทนที่ทางวัตถุที่สามารถรับรู้ทางประสาทสัมผัสได้ง่ายและชัดเจน  แต่การแทนที่ทางแนวความคิดอาจเปรียบได้กับการแทนที่ของกระแสลมที่อาจดูแผ่วเบาแต่นำมาซึ่งผลกระทบอันยิ่งใหญ่  ตัวอย่างเช่น  การไหลมาแทนที่ของกระแสลมเย็นในบริเวณที่กระแสลมร้อนลอยตัวสูงขึ้น  ในธรรมชาติกระแสลมแค่เพียงสองกระแสคือร้อนกับเย็น  ยังทำให้เกิดความซับซ้อน  สับสน  วุ่นวายในธรรมชาติได้ใหญ่หลวงขนาดนี้  ในสังคมมนุษย์  กระแสแห่งความเป็นจริงทางสังคมที่ยังคงไหลเวียนอยู่  มีอย่างน้อยสามกระแสใหญ่ ๆ ความซับซ้อน  สับสน  วุ่นวายทางสังคม  จึงเป็นสภาวะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย  สภาวะดังกล่าวเป็นสภาวะที่ยากยิ่งในการหาคำอธิบายที่ชัดเจน  หรืออาจไม่มีทางเป็นไปได้เลย
คำอธิบายสังคมของนักคิดยุคหลังสมัยใหม่นั้น  อาจทำได้ดีที่สุดเพียงคิดคำใหม่ ๆ ขึ้นมาทั้ง ๆ ที่อาจไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าคำเหล่านั้นอธิบายสังคมได้จริงหรือไม่   แต่ก็พยายามอธิบายเพื่อทำความเข้าใจสังคม  และหาหนทางนำสังคมสู่ความสงบสุข  ในที่สุดนักคิดกลุ่มหนึ่งก็ได้พยายามเสนอทางออกสำหรับอธิบายความเป็นจริงทางสังคม  โดยเสนอว่าความรู้ทั้งหลายเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา นักคิดกลุ่มนี้อาจเป็นที่รู้จักในนาม “สัจจะนิยมสรรค์สร้าง” (Constructive Realism) หรือบางคนอาจเรียกกลุ่มนี้ว่าพวก “พ้นหลังสมัยใหม่” (After Postmodern)   อย่างไรก็ดี มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่านักคิดกลุ่มนี้กำลังกลับไปสู่การเริ่มต้นของความเป็นจริงทางสังคมแบบสมัยใหม่อีกครั้งหนึ่ง  แม้อาจจะไม่วนซ้ำรอยเดิมแต่ก็อาจมีลักษณะวงจรที่คล้ายกัน  คือเริ่มจากคิดค้น  สร้างความรู้ขึ้นมา  จนยึดติดกับความรู้นั้นในระดับที่ก่อให้เกิดปัญหา  แล้วก็วิพากษ์หักล้าง  เมื่อหักล้างแล้วก็สร้างขึ้นมาใหม่เป็นวัฏฏะจักรไม่รู้จบสิ้น  ทำให้เกิดคำถามว่า  แล้วเมื่อไหร่สังคมมนุษย์จะพบกับสันติ  หรือว่านี่เป็นวิถีความเป็นจริงทางสังคมของมนุษย์  เป็นไปธรรมชาติ  เป็นวัฏฏะจักรของสังคมมนุษย์
วิวัฒนาการของความเป็นจริงทางสังคมที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้นนั้น  ชี้ให้เห็นความพยายามของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยว่า  มนุษย์ได้พยายามดิ้นรนเพื่อแสวงหาสันติสุขให้กับมนุษย์และสังคม  แต่ด้วยวิธีการของการสืบค้นความเป็นจริงทางสังคมที่ใช้ในการแสวงหาความรู้ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการคาดเดา  โดยที่นักปรัชญาสังคมศาสตร์เหล่านั้นอาจไม่เคยเห็น  หรือไม่เคยรู้จักสังคมจริง ๆ เลย  เขาจึงใช้วิธี “คลำ” สังคมในการหาความรู้เกี่ยวกับสังคม  เมื่อคลำไปพบส่วนใดส่วนหนึ่งของสังคมแล้วก็สร้างข้อสรุป  โดยใช้การคาดเดาหรือการ “ทึกทักเอา”  วิธีการของนักปรัชญาสังคมศาสตร์ดังกล่าว  จึงไม่ต่างไปจากวิธีการของ “ตาบอดคลำช้าง” ทำให้การสืบค้นความเป็นจริงทางสังคมที่ได้มาจากวิธีการของ “คนตาบอด” ไม่สามารถนำมนุษย์กับสังคมไปสู่จุดหมายได้  ยิ่งไปกว่านั้น  ในวิวัฒนาการการสืบค้นความเป็นจริงทางสังคมที่กล่าวมาแล้วนั้น  ยังชี้ให้เห็นอีกว่า  ความพยายามของมนุษย์ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีนั้น  นอกจากจะไม่สามารถนำมนุษย์กับสังคมไปสู่สันติสุขได้แล้ว  ยังดูเหมือนว่าจะนำมนุษย์และสังคมออกห่างจากจุดหมายมากขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าสังคมมนุษย์เราจะตกอยู่ในมือของนักค้นหาความเป็นจริงทางสังคมแบบ “ตาบอดคลำช้าง” มาเป็นเวลาหลายศตวรรษนับแต่ยุคสมัยแห่งการรู้แจ้งหรือการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) เป็นต้นมาแล้วก็ตาม  สังคมมนุษย์ก็มิใช่จะมืดมิดเสียทีเดียว  ภูมิปัญญาที่เคยนำสันติสุขมาสู่มนุษย์และสังคมมาเป็นระยะเวลาหลายพันปี  ก่อนที่มนุษย์จะละทิ้งภูมิปัญญาเหล่านั้นไป  เพราะมนุษย์เข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นผู้รู้แจ้ง  เข้าใจผิดว่าตัวเองสามารถอยู่เหนือธรรมชาติได้  แล้วกลับไปยึดวิธีการ “คาดเดา” วิธีการ “ทึกทักเอา” ที่มนุษย์ตั้งชื่อเสียใหม่เพื่อจะให้สังคมศาสตร์มีความแข็งแกร่งแบบวิทยาศาสตร์ว่า “วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์” (scientific method)  ซึ่งกว่าที่มนุษย์จะรู้ว่าเป็นการเดินผิดทางก็ล่วงไปเกือบสามร้อยปีแล้ว  ช่วงเวลาสามร้อยปีอาจดูเหมือนยาวนานถ้าเทียบกับอายุของมนุษย์คนหนึ่ง  แต่ถ้าเทียบกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแล้ว  เป็นเวลาเพียงชั่วอึดใจ  สัดส่วนของเวลาเพียงชั่วอึดใจ  กับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และสังคม
ภูมิปัญญาที่เคยสร้างสันติสุขแก่มนุษย์และสังคมเมื่อหลายพันปีก่อน  เป็นภูมิปัญญาที่มีอยู่กับโลก  ไม่ว่าโลกตะวันตก  หรือโลกตะวันออก  ในโลกตะวันตกเรียกว่า “ปัญญาแห่งการปฏิบัติอันลุ่มลึก” (Phronesis) สอนโดยอริสโตเติ้ล   ในโลกตะวันออกเรียกว่า “การปฏิบัติธรรม” สอนโดยพระพุทธเจ้า   ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “ปัญญาแห่งการปฏิบัติอันลุ่มลึก” หรือคำว่า “การปฏิบัติธรรม” ก็ไม่ทำให้ความหมายแตกต่างกัน  เพราะเน้นที่คำว่า “ปฏิบัติ” เพราะฉะนั้น  หากจะก้าวล่วงวิธีการค้นหาความเป็นจริงโดยวิธีการ “คาดเดา” และ “ทึกทักเอา” ก็ต้องไปให้ถึงการค้นหาความเป็นจริงด้วยการปฏิบัติจริง  “การจัดการความรู้” เพื่อนำไปสู่ “การเรียนรู้” เป็นวิธีการแห่ง “การปฏิบัติ” วิธีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถทำให้มนุษย์เข้าถึงความรู้ตามความเป็นจริง  ทำให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน” (transformations)  ขึ้นในตัวมนุษย์และโครงสร้างทางสังคมของมนุษย์
โครงสร้างทางสังคมเป็นหนึ่งในความเป็นจริงทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์มากที่สุด  เพราะโครงสร้างทางสังคมเป็นเสมือน “คุกทางสังคม”  ที่กักขังมนุษย์ไว้ไม่ให้เข้าถึงเสรีภาพที่แท้จริง  ในประวัติศาสตร์การค้นหาความเป็นจริงทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อระบบการศึกษาของโลกที่ผ่านมา  ดูเหมือนว่านอกจากจะไม่สามารถทำให้มนุษย์เห็นโครงสร้างทางสังคมตามจริงแล้ว  ยังดูราวกับว่าจะไปทำให้โครงสร้างทางสังคม หรือ “คุกทางสังคม” มีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก  ยิ่งวิธีการในการค้นหาความเป็นจริงทางสังคมในระบบการศึกษายิ่งก้าวหน้ามากเท่าไหร่  ยิ่งเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้ “คุกทางสังคม” มากขึ้นเท่านั้น

ในขณะที่มนุษย์ในซีกโลกตะวันตกพยายามค้นหาวิธีการสืบค้นความเป็นจริงทางสังคมและเผยแพร่ปรัชญานั้นจนแผ่อิทธิพลไปทั่วโลก  หากย้อนหลังไปก่อนหน้านั้น  ก่อนหน้าที่เขาจะประกาศว่าสังคมเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการรู้แจ้งมากกว่าสองพันปี  ในซีกโลกตะวันออก  ในดินแดนของชมพูทวีป  มีมหาบุรุษผู้หนึ่งนามว่า “เจ้าชายสิทธัตถะ”  พระองค์ทรงค้นพบกฎธรรมชาติ   กฎที่วิธีการสืบค้นความเป็นจริงทางสังคมไม่อาจเทียบเคียงได้  กฎที่อธิบายทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติ  ตั้งแต่เศษธุลีดิน  ชีวิต  ไปจนถึงดวงดาวและเอกภพ  กฎที่ทำให้ผู้ที่เห็นแจ้งด้วยใจตนเอง  กลายเป็นผู้ที่เข้าถึงความรู้ที่สมบูรณ์   เป็นความรู้ที่ไม่ต้องคาดเดาแบบปรัชญาเชิงศาสตร์ทั้งมวล  กฎนั้นคือกฎแห่งสภาพที่อาศัยกันเกิดขึ้นของสรรพสิ่ง  กฎนั้นมีภาษาเรียกดั้งเดิมว่า “ปฏิจจสมุปบาท” (Dependent Origination)
กฎแห่งธรรมชาติที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทนั้น  แม้องค์มหาบุรุษผู้ทรงค้นพบเองยังทรงยอมรับว่าเป็นธรรมที่ลึกซึ้ง ยากแก่การเข้าใจของคนทั่วไป   แต่ด้วยพระเมตตาที่ยิ่งใหญ่จึงทรงหาหนทางที่จะสอนธรรมนี้แก่ผู้ที่อยู่ในวิสัยที่จะเข้าใจได้  ปฏิจจสมุปบาทจึงได้รับการนำออกเผยแพร่ และให้คุณูปการแก่มนุษย์ชาติมามากกว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว
ปฏิจจสมุปบาทโดยความเป็นธรรมบริสุทธิ์นั้น  พระองค์ทรงสอนเพื่อให้มนุษย์ใช้เป็นหนทางในการทำความเข้าใจชีวิตเพื่อความพ้นทุกข์ของมนุษย์  ในอรรถกถาจารย์ฝ่ายเถรวาทเองได้มีการตีความต่างกัน  ตามยุคสมัยและภาษาที่เปลี่ยนไป  โดยอาจจับการตีความได้เป็นสามแนวทางคือ การตีความเพื่ออธิบายการหลุดพ้นแบบข้ามภพข้ามชาติ   การตีความเพื่ออธิบายการหลุดพ้นในชาตินี้และเดี๋ยวนี้   โดยทั้งสองแนวทางนั้นมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย   และตีความปฏิจจสมุปบาทเพื่อนำมาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม   โดยแนวคิดนี้มีได้รับอิทธิพลจากการตีความของแนวทางที่สอง  อย่างไรก็ตาม  ผู้วิจัยเห็นด้วยกับนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาร่วมสมัยท่านหนึ่งที่สรุปว่า “ปฏิจจสมุปบาทอธิบายทั้งขณะปัจจุบันและการเวียนว่ายตายเกิด”   ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้เพื่ออธิบายอะไร  แต่ยังคงมีเป้าหมายร่วมกันคือ  เพื่อให้มนุษย์เห็นธรรมทั้งหลายตามจริง  เพื่อการละวางความยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งหลาย  เพื่อความดับสนิทแห่งทุกข์ทั้งมวล
การนำธรรมะในพระพุทธศาสนามาประยุกต์เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมและชีวิตสมัยใหม่มีปรากฏให้เห็นอยู่เนือง ๆ   รวมทั้งธรรมะหมวดปฏิจจสมุปบาทด้วยแม้จะไม่ปรากฏให้เห็นบ่อยนัก    การนำปฏิจจสมุปบาทมาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมดังกล่าวนั้น  ได้อธิบายกฎความสืบเนื่องต่อกันเพียงในระดับของกิจวัตรประจำวันของมนุษย์และปรากฏการณ์ธรรมชาติโดยทั่วไปเท่านั้น  ยังไม่ได้นำปฏิจจสมุปบาทไปอธิบายความเป็นจริงของโครงสร้างทางสังคมในประเด็นที่ว่า  อวิชชา  สังขาร  วิญญาณ  นามรูป  สฬายตนะ  ผัสสะ  เวทนา  ตัณหา  อุปาทาน  ภพ  ชาติ  และทุกข์  อธิบายโครงสร้างทางสังคมไอ้อย่างไร  เมื่อวิเคราะห์โดยหลักปฏิจจสมุปบาท
นอกจากนี้การนำปฏิจจสมุปบาทมาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมเท่าที่ปรากฏ  ยังไม่ครอบคลุมถึงประเด็นที่ว่า  ความไม่รู้ของมนุษย์ทำให้เกิดการปรุงแต่งเป็นสังขาร  สังขารนำไปสู่วิญญาณ  วิญญาณนำไปสู่นามรูป  นามรูปนำไปสู่สฬายตนะ  สฬายตนะนำไปสู่ผัสสะ  ผัสสะนำไปสู่เวทนา  เวทนานำไปสู่ตัณหา  ตัณหานำไปสู่อุปทาน  อุปาทานนำไปสู่ภพ  ภพนำไปสู่ชาติ  และชาตินำไปสู่ทุกข์  เป็นโครงสร้างทางสังคมได้อย่างไร  เมื่อวิเคราะห์โดยหลักปฏิจจสมุปบาท
ยิ่งไปกว่านั้น  การนำปฏิจจสมุปบาทมาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมเท่าที่ปรากฏ  ยังไม่ได้นำเสนอในประเด็นที่ว่า  จะสร้างและจัดกระบวนการเรียนรู้รู้ร่วมกันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ความเป็นจริงเรื่องโครงสร้างทางสังคมตามจริงตามหลักปฏิจจสมุปบาทได้อย่างไร  ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญที่สุด  เพราะปฏิจจสมุปบาทและธรรมอื่น ๆ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้  เป็นธรรมอันประเสริฐที่ตรัสไว้ดีแล้ว  สมบูรณ์แล้วในตัวเอง  ศาสนิกชนเพียงแค่คิดหาอุบายวิธีและทดลองปฏิบัติด้วยตัวเอง  การเข้าถึงธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนเป็นสิ่งที่พึงคาดหวังได้อย่างแน่นอน
จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด  ทำให้เห็นได้ชัดว่าวิธีการค้นหาความเป็นจริงทางสังคม (social reality inquiry) ที่มีอิทธิพลต่อสังคมมนุษย์และกำลังชี้นำสังคมมนุษย์อยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น  เป็นการแสวงหาความรู้ที่ทำให้มนุษย์ได้ความรู้ทางสังคมที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ  ความรู้นั้นได้นำพามนุษย์และสังคมไปสู่ความมืด  ขณะเดียวกันวิธีการค้นหาความเป็นจริงทางสังคมที่จะนำมนุษย์และสังคมไปสู่ความสว่างกลับไม่มีอิทธิพลต่อสังคม  และไม่มีโอกาสชี้นำสังคม  หรือหากมีก็ไม่มีกำลังมากพอที่จะขับไล่ความมืดที่กำลังปกคลุมมนุษย์และสังคมได้
ดังนั้น  การมองย้อนกลับไปทบทวนวิธีการค้นหาความเป็นจริงทางสังคมที่ผ่านมาของปรัชญาสังคมศาสตร์ในอดีตเพื่อหาจุดบกพร่อง  แล้วหันกลับไปทบทวนคำสอนของมหาบุรุษผู้ค้นพบกฎธรรมชาติที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทเพื่อค้นหาคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า  มีการตีความและอธิบายอย่างไร  จึงสามารถทำให้มนุษย์ในแต่ละยุคแต่ละสมัยเข้าใจคำสอนและนำไปปฏิบัติได้  เพื่อเป็นแนวทางของการตีความและอธิบายสำหรับปัจจุบันและอนาคต  และก่อให้เกิดความพยายามหาคำอธิบายสำหรับคำถามที่ว่า  ทำอย่างไรจึงจะสามารถนำเอากฎธรรมชาติที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นมาบูรณาการเป็น “การเรียนรู้ความเป็นจริงในโครงสร้างทางสังคม” เพื่อให้มนุษย์ในยุคปัจจุบันและอนาคตเห็นสังคมตามจริงได้  เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง  เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการขับไล่ความมืดแล้วนำแสงสว่างมาสู่มนุษย์และสังคมอย่างยั่งยืนสืบไป
 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 24019เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2006 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
     อาจารย์ครับ ผมนิ่งอยู่หน้าจอเพื่ออ่าน คิดตาม อ่าน พยายามจะตกผลึก แต่ยังไม่ได้ รู้เพียงแต่นี่แหละจริต ขอเชิญอาจารย์เข้าร่วมในชุมชน วิจัยและพัฒนาระบบสาธารณสุข เพื่อผมและทีมงานจะได้ติดตามงานอาจารย์กันต่อไปครับ

ความมืด...ในความสว่างแห่งปัญญา

"ปัญญา.."..เป็นสิ่งที่มีและก่อเกิดใน "ตน" ของบุคคล
สิ่งที่แยกแยะ..ความเป็น"สิ่งมีชีวิต"...>>> "ปัญญา"
"ปัญญา"...
ไม่เคยแยกแยะการก่อเกิดและขึ้นอยู่กับเงื่อน.."มืดหรือสว่าง"
หาก.."นิ่ง"..."สติ"..ไม่ว่ามืดหรือสว่างย่อมจะมองเห็น "ปัญญา"..ได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน

ขอบคุณครับคุณหมอที่สละเวลาอ่าน    โครงการวิจัยของผมโครงการนี้  ออกแบบเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในเรื่อง "ความเป็นจริงของโครงสร้างทางสังคมตามหลักปฏิจจสมุปบาท"  โดยผมคาดหวังว่า  เมื่อผู้เรียนเห็นความเป็นจริงทางสังคมตามหลักปฏิจจสมุปบาทดังกล่าว  ผู้เรียนจะเกิดความเป็นอิสระจากโครงสร้างเหล่านั้นครับ แต่นั่นเป็นเพียงความคาดเดาครับ  ผมในฐานะที่เป็นผู้เรียนรู้คนหนึ่งจะไม่มีทางรู้ได้  จนกว่าจะได้ปฏิบัติไปด้วยกันกับผู้เรียนครับ
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้แลกเปลี่ยนความรู้กับคุณหมอ  และท่านผู้สนใจท่านอื่นในโอกาสต่อไปครับ
ด้วยความเคารพ
สวัสดิ์  พุ้มพวง
พิพัฒน์ พสุธารชาติ

เรียน คุณสวัสดิ์

ผมได้รับอีเมลของคุณสวัสดิ์ เพื่อให้วิจารณ์บทความชิ้นนี้ คุณสวัสดิ์บอกว่าเป็นโครงการที่ใช้ในการศึกษา

ผมขออนุญาตวิจารณ์บทความของคุณสวัสดิ์ โดยการตั้งคำถามนะครับ

 1. ผมอ่านตอนต้นๆของบทความแล้วมีปัญหาบางอย่าง กล่าวคือ คุณสวัสดิ์เล่าถึงสมัยก่อนยุคแห่งการรู้แจ้งว่า มีการใช้อำนาจผ่านการตีความของผู้มีความรู้และอำนาจสูงกว่า ทำให้เกิดการกดขี่ข่มเหง และอื่นๆตามมา สุดท้ายคุณสวัสดิ์กล่าวว่า "ความเป็นจริงทางสังคมก่อนยุครู้แจ้ง เป็นความจริงที่ถูกผูกขาดโดยอำนาจสูงสุด...เพื่อเข้าข้างตัวเอง"

คำถามคือ ความเป็นจริงทางสังคมในประโยคข้างต้น คืออะไร?  

2. ในยุคสมัยใหม่ คุณสวัสดิ์เล่าว่า ความรู้ไม่ได้ผูกติดกับอำนาจสูงสุด แต่เป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลสร้างขึ้นได้เอง ผลของการปฏิวัติความเป็นจริงทางสังคมในยุคนี้ ทำให้มนุษย์มีอิสระมากขึ้น แต่ผลด้านมืดจากการปฏิวัติความเป็นจริงทางสังคมนี้ นำไปสู่การทำลายครั้งใหญ่ของมนุษย์

คำถามคือ ความเป็นจริงทางสังคมในยุคสมัยใหม่นี้คืออะไร? เหมือนหรือแตกต่างจากความเป็นจริงทางสังคมในยุคก่อนหน้านี้อย่างไร?

3. ประโยคที่ว่า "ความรู้ที่ได้มาจากยุคสมัยแห่งการรู้แจ้งเป็นเสมือน ยาเบื่อ ที่มนุษย์เสพเข้าไป เกิดการหิวกระหาย เป็นกงจักรเป็นดอกบัว" ความรู้ในประโยคนี้คืออะไร?  มีความเหมือนหรือความแตกต่างกับความเป็นจริงในสังคม ตามความหมายของคำเดียวกันที่ใช้ในคำถามข้อที่สองนี้หรือไม่?

4. ความเป็นจริงทางสังคมของยุคหลังสมัยใหม่ ที่นักคิดหลังยุคสมัยใหม่ไม่ได้เสนออย่างชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับสังคม

ความเป็นจริงทางสังคมนี้คืออะไร? เหมือนหรือแตกต่างจากความเป็นจริงทางสังคมในยุคต่างๆที่เล่ามาก่อนหน้านี้หรือไม่?

5. คุณสวัสดิ์เขียนว่า  "แม้ว่าสังคมมนุษย์เราจะตกอยู่ในมือของนักค้นหาความเป็นจริงทางสังคมแบบ “ตาบอดคลำช้าง” มาเป็นเวลาหลายศตวรรษนับแต่ยุคสมัยแห่งการรู้แจ้งหรือการปฏิวัติวิทยาศาสตร์เป็นต้นมาแล้วก็ตาม  สังคมมนุษย์ก็มิใช่จะมืดมิดเสียทีเดียว  ภูมิปัญญาที่เคยนำสันติสุขมาสู่มนุษย์และสังคมมาเป็นระยะเวลาหลายพันปี  ก่อนที่มนุษย์จะละทิ้งภูมิปัญญาเหล่านั้นไป"

คำถามคือ "ภูมิปัญญาที่เคยนำสันติสุข" เกิดขึ้นในยุคไหน? ก่อนยุครู้แจ้ง หรือยุคก่อน...ก่อนยุครู้แจ้ง อันเป็นยุคที่คุณสวัสดิ์ไม่ได้กล่าวถึงเลยในตอนต้นของบทความนี้ใข่หรือไม่? คุณสวัสดิ์กล่าวถึง Phronesis ของอริสโตเติล กับการปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า ตีความได้ว่า ภูมิปัญญาที่ว่านี้ เกิดในกรีกกับในอินเดียสมัยพุทธกาลใช่หรือไม่? ถ้าเกิดขึ้นในอินเดีย ทำไมคุณสวัสดิ์จะต้องเท้าความถึงประวัติศาสตร์ของชาวตะวันตก ทำไมไม่เล่าถึงประวัติของคนเอเชียด้วยกันเองตั้งแต่แรก?

6. สุดท้าย คุณสวัสดิ์เขียนว่า  "นอกจากนี้การนำปฏิจจสมุปบาทมาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมเท่าที่ปรากฏ  ยังไม่ครอบคลุมถึงประเด็นที่ว่า  ความไม่รู้ของมนุษย์ทำให้เกิดการปรุงแต่งเป็นสังขาร  สังขารนำไปสู่วิญญาณ  วิญญาณนำไปสู่นามรูป  นามรูปนำไปสู่สฬายตนะ  สฬายตนะนำไปสู่ผัสสะ  ผัสสะนำไปสู่เวทนา  เวทนานำไปสู่ตัณหา  ตัณหานำไปสู่อุปทาน  อุปาทานนำไปสู่ภพ  ภพนำไปสู่ชาติ  และชาตินำไปสู่ทุกข์  เป็นโครงสร้างทางสังคมได้อย่างไร"

ประโยคนี้หมายความว่าอะไร? หมายความว่า โครงสร้างทางสังคมคือ ทุกข์ อย่างนั้นหรือ? คุณสวัสดิ์จะเอาหลักปฏิจจฯ มาอธิบายความทุกข์ของสังคมอย่างนั้นหรือ? แล้วความทุกข์ของสังคม ไปเกี่ยวอะไรกับความเป็นจริงทางสังคมในยุคต่างๆที่คุณสวัสดิ์อธิบายมาทั้งหมด? แล้วความทุกข์ของสังคมในยุคต่างๆนั้นมีความแตกต่างหรือเหมือนกันหรือไม่? คุณสวัสดิ์สามารถรู้เรื่องความทุกข์ของสังคมในยุคต่างๆได้อย่างไร?

ผมคิดว่าถ้าคุณสวัสดิ์ตอบคำถามเหล่านี้ได้ชัดเจน ก็คงจะทราบความหมายในสิ่งต่างๆที่ตัวเองได้อธิบายในบทความนี้

พิพัฒน์ พสุธารชาติ

เรียน คุณพิพัฒน์

ขอบคุณครับกรุณาที่สละเวลาอ่านและถามคำถามที่จะทำให้งานผมมีความกระจ่างมากยิ่งขึ้น

ประเด็นคำถามแต่ละคำถาม  ผมจะนำไปค้นหาคำตอบและจะพัฒนาบทความนี้  เมื่อพัฒนาเสร็จแล้วผมจะนำบทความมาอัพโหลดและจะแจ้งคุณพิพัฒนาเพื่อขอความรับกรุณาข้อให้คิดเห็นอีกครับ

อย่างที่คุณพิพัฒน์อ่านข้อคิดเห็นก่อนหน้านะครับ  ผมรอว่าเมื่อไหร่จะมีคำถามที่จะช่วยทำให้งานผมมีความชัดเจนขึ้น  บัดนี้ผมได้รับแล้วครับ  ขอบคุณมากครับ

ด้วยความเคารพ
สวัสดิ์  พุ้มพวง

คุณสวัสดิ์ครับ...

ครั้งแรกที่คุณสวัสดิ์เชิญชวนให้มาอ่านบทความนี้...ผมอ่านด้วยความลำบากพอควร...เพราะไม่มีประโยคเน้น...เป็น Keyword...แบบที่เคยพบเคยเห็นทั่วไป...

การให้สีก็จะช่วยได้เช่นกันครับ...

 

การเสนอเรื่องราว...หรือบทความใด ๆของแต่ละคน...ผมเข้าใจว่ามักจะเกิดจากอาการ ตกผลึก ทางความคิดในระดับหนึ่งแล้วอ่ะครับ...

อ่านของคุณสัวสดิ์แล้ว....ประมาณว่าคุณสวัสดิ์กำลังเกิดอาการปิ๊ง(Get) กับ ปฏิจจสมุทปบาท เป็นช่วงเกิดกำลังสูงสุดในความมุ่งมั่น(Peak) ที่จะใช้เป็นกุญแจสำคัญในการไขปัญหาค้างคาใจที่มีอยู่...

โดยยกองค์ประกอบของปัจจัยร่วมเข้ามาอธิบาย...ซึ่งจะทำให้แตกแขนงไม่รู้จบ...

สิ่งที่คุณพิพัฒน์เสนอ...เปรียบได้กับเพื่อนแท้ผู้ใช้วิชาดรรชนีจี้เข้าจุดสำคัญของร่างกาย...

 

ส่วนผมเห็นว่า...คุณสวัสดิ์มีพันธมิตรที่มีฝีมือระดับจอมยุทธ์อยู่ไม่น้อย... การหยั่งลึกเข้าไปในเรื่องปริศนาธรรม...โดยเฉพาะ ปฏิจจสมุทปบาท เป็นเรื่องลึกซึ้ง เกินกว่าที่ปุถุชนจะเหยียบย่างเข้าไปได้...นอกจากกระเทาะเปลือกกิเลสให้บางลงเสียก่อน...

 

ผมเคยมีอาการตกผลึกเช่นนี้ประจำครับ แล้วก็กลายเป็นอาการฝันค้าง...โชคดีที่ผมไม่เลยไปถึงอาการไฟธาตุแตกเหมือนรุ่นน้องที่ต้องเสียชีวิตไปโดยที่ยังข้องใจอยู่ว่า มนุษย์บนโลกใบนี้ช่างงี่เง่าสิ้นดี...ไม่รู้จักศึกษาสุดยอดวิชชาที่พุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้...แล้วเขาก็ถูกคนกว่า 99 % บอกว่าบ้า....

 

ปล. คุณสวัสดิ์เขียนแผนภูมิคล้ายกับ System Thinking ของ อาจารย์ชัยวัฒน์  ถิระพันธ์ นะครับ...ไม่ทราบรู้จักหรือไม่ หากสนใจลองคุยกับเขาดูก็ได้ครับ...

ขอบคุณในคำชี้แนะ  และการแวะมาทักทายครับ  ผมรู้สึกได้ถึงความอบอุ่นที่แผ่ออกมาครับ

สวัสดิ์
รออ่านตอนต่อไปอยู่ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท