การประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 3/2549 (3.1) ต่อ


คำว่า “เครือข่าย” คือ พวกเราทุกคนนะครับ จะโทษใครไม่ได้ จะโทษว่าคนนี้ไม่ทำ คนนั้นไม่ทำไม่ได้ นี่คือความยากของคำว่าเครือข่ายฯ แต่ถ้าเราเข้าใจ มันก็จะเดินไปได้ เราแค่เอาความรู้ที่พวกเรามีอยู่มาแก้
            การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในด้านการบริหารจัดการกองทุนจะเป็นอย่างไร  คณะกรรมการจะเห็นด้วยหรือไม่  กลุ่มและเครือข่ายฯจะต้องทำอะไรต่อไป  สามารถติดตามรายละเอียดได้ดังนี้ค่ะ
            วาระที่ 3  เรื่องสืบเนื่อง (ต่อ)
            ประธาน  กล่าวต่อว่า  ผมอยากถามว่ามีความเข้าใจตรงกันในเรื่องกองทุน 20% นี้ไหม?  เราต้องทบทวนกันตรงนี้ให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า
            1.เครือข่ายฯ  คือใคร?
            2.กองทุนกลางมีไว้เพื่ออะไร?
            ทุกท่านต้องตอบนะครับ  เพราะ  เงินของพวกท่านไหลเข้ามาที่เครือข่ายฯ มีตัวเลขอยู่  มีเงินอยู่ พวกท่านจะทำอย่างไร  พี่นก  ยุพิน  ตอบว่า  นกคิดว่าเข้าใจนะคะ    แต่การตัดสินใจของแต่ละคนนั้นต่างกัน  นี่คือปัญหา  ประธานได้กล่าวต่อว่า  นี่ไง  ถ้าการตัดสินใจของเราไม่เป็นหนึ่ง  ไม่พูดจากัน  ไม่ถกเถียงกันก่อน  ตัดสินใจเพียงคนเดียว  เวลามีปัญหาก็จะโทษคนนั้น  คนนี้  คำว่า “เครือข่าย”  คือ  พวกเราทุกคนนะครับ  จะโทษใครไม่ได้  จะโทษว่าคนนี้ไม่ทำ  คนนั้นไม่ทำไม่ได้  นี่คือความยากของคำว่าเครือข่ายฯ  แต่ถ้าเราเข้าใจ  มันก็จะเดินไปได้  เราแค่เอาความรู้ที่พวกเรามีอยู่มาแก้  ตอนนี้ผมเชื่อว่าทุกคนคิดว่าเครือข่ายฯ  คือ  สามารถ  คือคมสัน  คืออุทัย  คือดาบไพศาล (ทั้ง 3 ชื่อหลังนี้เป็นชื่อของรองประธานค่ะ) มันก็เลยโยนกันไป  โยนกันมา  อย่างเงิน 20% ที่ตอนแรกมีการกระจายออกไป  แล้วตอนหลังดึงกลับเข้ามาก็เพราะว่า  ผมเห็นแล้วว่าจะต้องมีปัญหา  ผมนั่งอยู่ข้างบน  ผมเห็นเลยว่าจะต้องเกิดปัญหาแน่  ถ้ายังขืนกระจายออกไป  เพราะอะไร  ก็เพราะอย่างที่ อ.ธวัช  เคยพูดเอาไว้ว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่เงินไหลเข้ามาที่เครือข่ายฯเป็นเงิน 200,000 บาท  มันมีระเบียบอยู่ว่าแต่ละกลุ่มจะต้องส่งเงินเข้ามาอย่างไร  แต่ถ้าเราไม่เอาระเบียบมาเป็นที่ตั้ง  นึกจะถอนก็ถอนออกไป  ก็จะเกิดความเสียหาย  ไม่มีใครรับผิดชอบ  เพราะ  เราไม่ได้หลอมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน  ทีนี้มาลองฟังดูนะครับว่าที่เราเขียนแผนที่   ภาคสวรรค์ไว้  เราเข้าใจตรงกันหรือเปล่า 
            กองทุนกลางที่มีเอาไว้  เพื่อเป็นกองทุนเฉลี่ยทุกข์  เฉลี่ยสุขในกรณีต่างๆ  ทุกคนลองนึกภาพว่าถ้าทุกกลุ่มส่ง 20% มาที่เครือข่ายฯตั้งแต่เริ่มต้น  ให้พวกเรามามาดูกัน  สมมติว่าตอนนี้มีประเด็นเรื่องการตาย  บางคนก็เอาไปนั่งคิดว่าส่งมาก  ส่งน้อย  เราจะไม่อาประเด็นนั้นมานั่งคุยกันนะครับ  แต่ผมเสนอว่าตอนนี้มีเรื่องการตาย  ถ้าเอาเงินที่เก็บจากสมาชิกมาแบ่งออกเป็น 3 ส่วน  ส่วนหนึ่ง 50% (กองทุนสวัสดิการครบวงจรชีวิต)   อีกส่วนหนึ่ง 30% (กองทุนธุรกิจชุมชน) และอีกส่วนหนึ่ง 20% (กองทุนกลาง) ถ้าเอา 20% (กองทุนกลาง) มาไว้ตรงกลางร่วมกัน  เรียกว่า  เฉลี่ยทุกข์  เฉลี่ยสุข  สมมติว่าเรามีปัญหาในเรื่องการจ่ายสวัสดิการ  เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  อย่างการตาย  เราก็เอาเงินตรงนี้ไปช่วยได้  เพราะ  ถ้าทุกกลุ่มส่งเงินเข้ามา  มันก็จะมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง 
            ตอนนี้กองทุนสวัสดิการครบวงจรชีวิต (จริงๆ  คือ 50% แต่แบ่งไปไว้ที่กองทุนเพื่อการศึกษา  และกองทุนชราภาพ รวม 10%) 40%  คิดเป็นเงิน  12 บาท/เดือน/คน (ถ้าเดือนนั้นเก็บเงินออมได้      30บาท/คน)  จะอยู่ที่กลุ่ม  ถ้ากลุ่มไหนตั้งมาครบ 6 เดือน  แสดงว่ากลุ่มนั้นก็จะมีเงินอยู่ก้อนหนึ่งที่จะนำมาจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก (เพราะ  ในช่วง 6 เดือนแรกของการตั้งกลุ่ม  รวมทั้งคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ยังไม่ครบ 6 เดือน  ทางกลุ่มจะยังไม่จ่ายสวัสดิการให้)  ในเรื่องการตาย  ให้มาเอาที่เครือข่ายฯ (การที่จะมาเอาเงินที่เครือข่ายฯได้  ทุกกลุ่มจะต้องส่งเงินที่เรียกว่ากองทุนร่วมมาที่เครือข่ายฯ  ซึ่งแต่ละเดือนจะไม่เท่ากัน  ขึ้นอยู่กับว่ามีการจ่ายค่าศพมากหรือน้อย  และมีสมาชิกเครือข่ายฯเป็นจำนวนเท่าใด) โดยเงินที่กลุ่มส่งมาที่เครือข่ายฯในกรณีของกองทุนร่วมนี้ก็เอามาจาก 40% ที่ใช้จัดสวัสดิการของกลุ่ม)  เราเรียกว่า  กองทุนร่วม  ที่ผ่านมากองทุนร่วมได้เรียกเฉลี่ยเก็บในแต่ละเดือนเกิน 12 บาท  แสดงว่าทุกกลุ่มอยู่ไม่ได้  เพราะ  มีเงินอยู่ที่กลุ่มแค่ 12 บาท  แล้วเราจะทำอย่างไร?  วันนั้นผมได้นั่งคิดกับลุงคมสัน  กับอุทัย  ในเรื่องค่าเฉลี่ยศพ  ปรากฎว่าบางเดือนก็จ่ายมาก  บางเดือนก็จ่ายน้อย  ตกหัวละ 18 บาท  (แล้วประธานก็พูดใหม่ว่าหัวละ 14 บาท  ไม่ใช่ 18 บาท) แสดงว่ากลุ่มอยู่ไม่ได้แล้ว  ทุกคนก็โวยวาย  แต่ไม่คิดแก้ปัญหา  ตอนนี้ก็เลยมีความคิดใหม่ว่า  ถ้าเดือนไหนที่จ่ายเกิน 12 บาท (รวมทั้งที่จ่ายมาแล้ว) เราจะใช้เงินในกองทุนกลางจ่ายคืนไปให้ท่าน  อย่างถ้าเดือนไหนกลุ่มต้องจ่ายค่าเฉลี่ยศพ 16 บาท  เครือข่ายฯก็จะจ่ายคืนไปที่กลุ่ม 4 บาท  ถ้าเดือนไหนกลุ่มต้องจ่ายค่าเฉลี่ยศพ 15 บาท  เครือข่ายฯก็จะจ่ายคืนไปที่กลุ่ม 3 บาท  ถ้าเดือนไหน 18 บาท  เครือข่ายฯก็จะจ่ายคืนไป 6 บาท  (ทั้งนี้จ่ายเท่ากับยอดสมาชิกในเดือนนั้น) เพราะฉะนั้นเงินก็จะไหลจากกองทุนกลางเข้าไปยังกลุ่มต่างโดยที่ไม่ต้องกู้  ไม่ต้องยืม  แสดงว่ากองทุนกลางตัวนี้จะเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่องถ้าหากเดือนไหนกลุ่มต้องจ่ายค่าเฉลี่ยศพเกิน 12 บาท  ถ้าอย่างนี้กลุ่มต้องอยู่ได้  ทีนี้ก็จะเกิดคำถามต่อไปว่า  ถ้าเกิดเดือนไหนกลุ่มจ่ายค่าเฉลี่ย 12 บาทพอดี  แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้กับสมาชิกที่ป่วย (นอนโรงพยาบาล) ผู้ด้อยโอกาส  ตรงนี้อย่าลืมว่าแต่ละกลุ่มก่อนที่จะเข้ามาร่วมกับเครือข่ายฯมีต้นทุนของกลุ่มตัวเองที่เก็บเงินออมจากสมาชิกมาแล้ว 6 เดือน  ตรงนี้แต่ละกลุ่มมีเงินจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว  เงินอีกก้อนหนึ่งที่จะเอามาเสริมสภาพคล่องตรงนี้ได้ก็คือ  เงิน30 % ในส่วนของกองทุนธุรกิจชุมชน  ซึ่งอยู่ที่กลุ่มอยู่แล้ว  สามารถนำมาใช้จ่ายได้เลย  ถ้ากลุ่มไหนที่ยังไม่ได้ทำให้ดึงมาจ่ายเป็นสวัสดิการให้กับสมาชิกได้เลย  เพราะ  ให้คุณไปทำแล้วแต่คุณไม่ทำ  แต่ถ้าจะเอาเงิน 30% ไปทำธุรกิจ  เพื่อก่อให้เกิดรายได้  แล้วเอารายได้มาจัดสวัสดิการก็จะทำให้อยู่ได้
            ผมจะไล่เป็นลำดับให้ฟังอีกครั้งนะครับว่า  ถ้าสมติว่าเงิน 30% ที่แยกไปแล้วไม่เอาไปทำธุรกิจชุมชนก็ต้องเอากลับคืนมาให้กับสมาชิก  เพราะ  เป็นเงินของสมาชิก  ไม่ใช่เงินของคณะกรรมการ  แต่ถ้าหากเอาไปทำธุรกิจ  มันต้องก่อเกิดรายได้  ต้องเอารายได้นั้นไปจัดสวัสดิการที่มันเกิดขึ้นในแต่ละรอบเดือน  ถ้าท่านบริหารอย่างนี้จะทำให้อยู่ได้  ดังนั้น  เงิน 20% ที่ไหลเข้ามาที่เครือข่ายฯ  เราจะคืนให้ท่าน  แต่ขอให้แต่ละกลุ่มเคลียร์บัญชีก่อน  การจ่ายคืน  จะจ่ายผ่านค่าเฉลี่ยศพ  ถ้าบัญชีเป็นปัจจุบัน  กองทุนร่วม (ค่าเฉลี่ยศพ) จะเรียกเงินจากท่านเดือนละไม่เกิน 12 บาท (แต่ทุกกลุ่มก็ต้องส่งเงิน 20% ซึ่งเป็นเงินกองทุนกลางมาที่เครือข่ายฯเหมือนปกติด้วย) ที่เกิน 12 บาท  กองทุนกลางจะต้องเป็นผู้จ่ายแทน  มันก็จะทำให้อยู่ได้  แต่การที่จะอยู่ได้  ทุกคนต้อง
            1.ส่งกองทุนกลางให้เป็นปัจจุบัน
            2.จะต้องเฉลี่ยความเสี่ยงให้เป็นปัจจุบัน
            ไม่เช่นนั้นจะทำอะไรไม่ได้เลย  ที่ต้องตัดสินใจทำอย่างนี้ก็เพราะว่า  กลุ่มน้อยๆมันจะได้มีเงินเสริมสภาพคล่อง  ถ้าทำอย่างนี้คิดว่าจะได้อยู่ได้ไหมครับ 
            พี่พิกุล  ซึ่งเป็นประธานกลุ่มเกาะคา  และเป็นเจ้าภาพในวันนี้ด้วย  ตอบว่า  อยู่ได้  พร้อมกับตั้งคำถามว่าแล้วเมื่อไหร่จะทำ?
            เรื่องนี้ยังไม่จบค่ะ  แต่ผู้วิจัยขอจบเพียงเท่านี้ก่อน  ความจริงผู้วิจัยก็มีความเห็นในประเด็นนี้อยู่พอสมควรเหมือนกัน  แต่ขอยกยอดเอาไปไว้ช่วงท้ายของการพูดคุยในประเด็นนี้ก็แล้วกันนะคะ
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23870เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2006 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท