รางวัลสุดคะนึง......ความรู้สึกจากก้นบึ้งของหัวใจ


ณ วันนี้จุดประสงค์ของการบันทึกลงใน Blog ไม่ใช่เรื่องของการวิจัย มันมีคุณค่ามากไปกว่านั้นมากมาย

            เมื่อวานนี้เวลา 5 ทุ่มกว่าๆ  เกือบเทียงคืน  ผู้วิจัยได้เข้าไปที่ Blog ของตัวเองตามปกติ  เพื่อที่จะเช็คดูว่าบันทึกที่ได้เขียนมา (เมื่อสักครู่นี้) เข้าสู่ Blog ของตัวเองแล้วหรือยัง  พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นว่าบันทึกของวันที่ 10 เมษายน  2549  ซึ่งเป็นบันทึกล่าสุดก่อนที่ผู้วิจัยจะไม่ได้เข้ามาเขียน 1 วัน  มีความคิดเห็นเข้ามา ตอนนั้นก็คิดว่าคุณภีม (ผู้ประสานงานโครงการวิจัย  “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน”) เข้ามาเขียนแนะนำอะไรสักอย่างหนึ่ง  หรือไม่ก็คงเป็นหนูเคเอ็มที่น่ารัก  หรืออาจจะเป็นน้องเบียร์ที่น่ารัก (เหมือนกัน) เข้ามาเขียนให้กำลังใจ  ก็เลยเปิดอ่านสักหน่อย  ปรากฎว่าไม่ใช่ทั้ง 3 คน  กลายเป็น อ.จันทวรรณ  ที่เข้ามาเขียนความเห็นว่า “ยินดีด้วยกับรางวัลสุดคะนึงคะ อาจารย์คะช่วยใส่รูปถ่ายในบล็อกด้วยคะ หลายๆ ท่านอยากรู้จักคะ และดิฉันก็จะได้นำมาใส่ไว้ในหน้าแรกของ GotoKnow.org”  ตอนแรกที่อ่านความเห็นจบ  ผู้วิจัยยังไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างข้อความนั้นจริงๆ  คิดว่าเป็นบรรดามิตรสหายเข้ามาเขียนล้อเล่นมากกว่า  ก็ยังนั่งคิดในใจว่าพรุ่งนี้จะต้องโทรไปเช็คบิลเสียหน่อย  เล่นอะไรไม่รู้จักคิด  แต่พอนั่งคิดไปคิดมาว่าจะโทรไปเฉ่งใคร  เพราะ  เพื่อนเราแต่ละคนแม้จะชอบหยอกล้อแรงๆ  ก็ไม่น่าจะถึงขนาดเอาเรื่องอย่างนี้มาล้อเล่น  ผู้วิจัยก็เลยเข้าไปในหน้าหลักของ  gotoknow.org ปรากฎว่าเห็นชื่อของผู้วิจัยอยู่ในส่วนของผู้ที่ได้รับรางวัลสุดคะนึงประจำเดือนมีนาคมด้วย 
            เมื่อเห็นเช่นนั้น  ผู้วิจัยรู้สึกดีใจมาก  (ขอบอกว่าดีใจมากจริงๆค่ะจนกระทั่งนอนไม่หลับเลยทั้งคืน) ระคนกับความกังวลใจว่าจริงหรือเปล่า (ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ทำให้นึกย้อนไปเมื่อตัวเองเรียนปริญญาตรีปี 3 ที่ มช.  ตอนนั้นจำได้ว่าเทอม 1 ตัวเองดูผลการสอบทางอินเตอร์เน็ต  ปรากฏว่าได้เกรดเฉลี่ย 3.92  พอเห็นอย่างนั้นก็เป็นลมไปเลย  ฟื้นขึ้นมาอีกทีผู้วิจัยก็ถามเพื่อนว่า เราทำได้จริงๆหรือเปล่า  เราดูผิดหรือเปล่า  เพื่อนที่อยู่ด้วยกันก็บอกว่าทำได้จริงๆ  ไม่ได้ดูผิด ผู้วิจัยถึงกับร้องกรี๊ดเลย  แล้วความดีใจ  ภูมิใจ  ก็เข้ามา  แต่ยังไม่ทันไร  ก็มีเพื่อนคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า  “สงสัยสำนักทะเบียนกรอกเกรดผิด  แกระวังให้ดีก็แล้วกัน  เดี๋ยวเขาจะเรียกแกไปแก้เกรด  หรือไม่ก็แก้ให้แกเลย” พอผู้วิจัยได้ยินเพื่อนพูดอย่างนั้น  ความวิตกกังวลก็เข้ามาแทนที่  ช่วงนั้นเวลามีใครโทรศัพท์มาหา  ผู้วิจัยไม่ยอมรับสายเลย  เพราะ  กลัวสำนักทะเบียนเรียกไปแก้เกรด  โดนเพื่อนคนอื่นๆเทศนาไปหลายกัณฑ์  สติจึงกลับคืนมา)
            ความดีใจที่เกิดขึ้น  คงจะเป็นเพราะ  รู้สึกว่ายังมีคนที่เห็นความสำคัญของการทำงานของเรา  ในการทำโครงการวิจัย “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน” ของผู้วิจัยและอาจารย์พิมพ์ในครั้งนี้  ผู้วิจัยยอมรับว่าในฐานะหัวหน้าโครงการที่ดำเนินการอยู่กับเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง    มีความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลากหลายมาก  ครั้งแรกก่อนที่จะเซ็นต์สัญญารับทำงานวิจัยชิ้นนี้  มีเพื่อนบางคนถึงกับพูดว่า “มือถึงหรือเปล่า  ทำงานมายังไม่ครบ 2 ปีเลย  คิดจะทำงานใหญ่ขนาดนี้เลยหรือ?”  แต่ผู้วิจัยก็ไม่สนใจ  พอเซ็นต์สัญญาแล้ว  วันดีคืนดีคุณภีมก็สื่อสารบอกมาว่าขอให้เปิด Blog และเขียนความเคลื่อนไหวในการทำงานลงใน Blog เพื่อเป็นการสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  ผู้วิจัยขอสารภาพตามตรงเลยว่าไม่อยากจะเปิดเลย (จริงๆ ค่ะ) เพราะ  รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่เขียนได้ไม่ดี  แถมเรายังมีโลโก้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ติดอยู่ด้วย  เกรงว่าจะทำให้มหาวิทยาลัยขายหน้าเสียเปล่าๆ  แต่ด้วยความที่ไม่อยากจะขัดคุณภีม  ก็เลยเปิด Blog  gotoknow.org/km-lampang แต่ก็ไม่ได้บันทึกอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน  จนกระทั่งถึงวันรายงานความก้าวหน้าของโครงการ  วันที่ 30 พฤศจิกายน  2548  ผู้วิจัยถึงได้สำนึก  เพราะ 
            1.ทีมอื่นเขาเขียนบันทึกกันเต็มเลย  เวลาเขารายงานความก้าวหน้า  เนื้อหาก็มาจากการบันทึกนั่นแหละค่ะ  (แต่เรียบเรียงใหม่ให้เป็นหมวดหมู่) ในขณะที่ทีมลำปางของเรา  มีเพียงบันทึกเดียว  แถมเวลารายงานก็พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง  เนื้อหารายงานก็เบาหวิว  ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าเราเขียนรายงานไม่ทัน  ขนาดอดนอนตั้ง 3 คืน  ถ้าผู้วิจัยเชื่อคุณภีมตั้งแต่แรก  เขียนบันทึกสม่ำเสมอคงไม่เป็นอย่างนี้  (ตอนนั้นสงสารทั้งเครือข่ายฯ  ทั้งคุณภีม  ทั้งคนที่ร่วมงานกับเราคนอื่นๆด้วย)
            2.ตั้งแต่ทำโครงการมา 6 เดือน (นับถึงเดือนพฤศจิกายน) ผู้วิจัยขอสารภาพเลยว่าทุกข์ใจมาตลอด  เพราะ  ไม่รู้ว่าที่ตัวเองทำไปใช่การจัดการความรู้หรือเปล่า  ผู้วิจัยรู้สึกว่าถ้าตัวเองเขียนบันทึกตั้งแต่แรก  และสื่อสารกับทีมอื่นๆตลอดคงไม่ต้องมานั่งทุกข์ใจอย่างนี้
            เมื่อดวงตาเห็นธรรม  จิตก็เริ่มสั่งตัวเองว่าเมื่อการเขียนบันทึกลงใน Blog มีประโยชน์อย่างนี้  ก็ควรเริ่มเขียนตั้งแต่วันนี้  แก้ตัวตอนนี้ยังไม่สายเกินไป แต่ก็ต้องใช้เวลาในการทำใจอยู่พอสมควรกว่าจะเริ่มเขียนได้อย่างเป็นจริงเป็นจัง  ตอนเขียนอย่างเป็นจริงเป็นจังแรกๆ  ก็มีเพื่อนพูดเข้าหูว่า “ชั้นจะดูว่าแกจะเขียนได้สักกี่วัน”  แต่ผู้วิจัยก็ไม่สนใจ  เขียนมาเรื่อยๆจนถึงวันนี้  แล้วก็มีคนเห็นในความตั้งใจของผู้วิจัย 
            รางวัลนี้สำหรับผู้วิจัยแล้วมีคุณค่าทางจิตใจมาก  ผลจากการเขียนบันทึกลงใน BLog ทำให้ผู้วิจัยได้รับสิ่งต่างๆตามมามากมาย  ทั้งความรู้  มิตรภาพ  เครือข่าย  และอะไรอีกหลายอย่างที่บางครั้งก็บรรยายออกมาไม่ได้ 
            ขอขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจ  ทุกความคิดเห็นค่ะ  ผู้วิจัยขอสัญญาว่าจะพยายามรักษาสิ่งดีๆที่เราทำเอาไว้  รับรองว่าแม้จะจบงานวิจัยไปแล้วก็จะเขียนบันทึกลงใน Blog เหมือนเดิม  เพราะ  ณ วันนี้จุดประสงค์ของการบันทึกลงใน Blog ไม่ใช่เรื่องของการวิจัย  มันมีคุณค่ามากไปกว่านั้นมากมาย


หมายเหตุ :  อ.จันทวรรณ  แนะนำให้ผู้วิจัยเอารูปลงใน Blog ความจริงผู้วิจัยก็อยากเอาลงมากๆค่ะ  และอยากเอาลงมานานแล้ว  พยายามไปหารูปที่ไปวัดตอนสายๆได้  ก็ได้รูปมาจำนวนหนึ่ง  แต่ที่ยังไม่ได้เอาลง  เพราะ  เอาลงไม่เป็นค่ะ  พยายามหลายครั้งแล้ว  หนูเคเอ็มก็พยายามช่วยทั้งอธิบายทางโทรศัพท์  ทั้งเขียนลงใน Blog  แต่ด้วยความที่ผู้วิจัยเป็นคนที่มีความรู้  ความสามารถด้านเทคโนโลยีต่ำมากก็เลยยังเอาลงไม่ได้ค่ะ  แต่จะพยายามต่อไปค่ะ  อดใจรอสักนิดนะคะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23868เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2006 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านวิธีการในบันทึกนี้นะคะ http://gotoknow.org/archive/2005/08/12/00/20/50/e2414 ไม่เข้าใจก็สอบถามมาได้คะที่ http://gotoknow.org/contact นะคะ :)

ชอบอ่านที่อาจารย์เขียนนะคะ สนุกดีและได้ความรู้ด้วยคะ และเป็นตัวอย่างของ storytelling ที่ดีคะ

ขอบคุณมากคะ :)

     ยินดีด้วยนะครับ อ่านแล้วเห็นภาพไปด้วยได้เลย ชัดเจนดีครับเรื่องเล่าเรื่องนี้ ได้ทั้งภาพและอารมณ์ความรู้สึก

บอกแล้วงัยว่าพี่เขียนดี

ยินดีด้วยนะคะ รางวัลนี้ คิคิคิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท