BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

นักเลงไม่กลัว กลัวใบฏีกา


นักเลงไม่กลัว กลัวใบฏีกา

วันนี้ มีโยมท่านหนึ่งอ้างชื่อว่า คนดิบ (ไม่ทราบว่าใคร) ถามความเห็นเรื่องการแจกจ่ายซองผ้าป่า (คลิกที่นี้ ดูที่ความเห็นแรก) ผู้เขียนคิดว่าสำคัญ จึงนำมาตั้งเป็นประเด็นความเห็นที่นี้ โดยท่านได้ถามเชิงปรารภว่า...

  • วันนี้ได้รับซองทำบุญมาจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินเพื่อร่วมทำบุญ
  • แต่ติดตรงที่กระผมขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเรี่ยไรการบริจาค เงินในทำนองนี้ กล่าวคือ ที่ผ่าน ๆ มาเคยแต่เป็นผู้ร่วมบริจาคนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่เคยเป็นรับเป็นผู้เรี่ยไรทำบุญมาเลยครับ
  • มีอยู่ครั้งหนึ่งได้รับมา 20 ซอง ตอนนั้นเป็นทุกข์มากเพราะไม่เคยเรี่ยไร ไม่รู้จะทำอย่างไรจึงตัดสินใจใส่เงินตัวเองเข้าไปแทนทั้งหมด อานิสงในครั้งนั้นก็ทำให้ผมเรียนรู้เรื่อง "ทาน" มากขึ้น และทำให้ผมเริ่มหันหน้ามาทำบุญทำทานมากขึ้นเป็นลำดับครับ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผมรับเป็นผู้เรี่ยไรได้เลย
  • มาถึงครั้งนี้ ผมได้รับมาอีก 30 ซอง พิจารณาดูจิตใจตนเองแล้วเป็นทุกข์น้อยลง แต่ก็ยังทำใจให้ออกไปเรี่ยไรไม่ได้อีกเหมือนเคยครับ
  • กระผมคิดว่า ชีวิตในวันข้างหน้าคงมีเหตุการณ์อย่างนี้อีกหลายครั้ง จึงอยากจะขอความรู้ คำแนะนำ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่ถูกต้องต่อไปในการดำเนินชีวิตครับ
  • กราบขอบพระคุณครับ

 

คิดว่า ญาติโยมใน GoToKnow คงจะเคยได้รับซองบุญทำนองนี้ ซึ่งโดยมากในสังคมไทยก็มักจะเป็นซองผ้าป่าจากวัด (สังคมอื่นไม่ทราบ...) แม้ผู้เขียนบวชเป็นพระภิกษุก็ยังได้อยู่บ้างเป็นครั้งคราว... จำได้ว่า ตอนเรียน มจร.วัดมหาธาตุ ก็มีเพื่อนพระ-เณรนำมาแจกเป็นประจำ โดยบางรูปนั้น ท่านอาจารย์หรือญาติโยมบ้านนอกเข้ามาขอความช่วยเหลือ บางรูปนั้นมีถี่เหลือเกิน จนกระทั้งเพื่อนรู้สึกระอา คิดว่าญาติโยมที่เป็นชาวบ้านก็คงทำนองเดียวกัน (หรือยิ่งกว่า....)

ภาษีสังคม คำนี้ผู้เขียนได้ยินมาตั้งแต่เป็นเด็ก นั่นคือ ต้องช่วยไปตามที่เห็นสมควร ถ้ามีความผูกพันน้อยก็อาจช่วยน้อย ถ้ามีความผูกพันมากก็อาจช่วยมาก หรือถ้าไม่พอใจก็ทิ้งไปเลย ไม่ต้องสนใจ... ประมาณนี้

สำหรับซองผ้าป่านั้น ถ้าเรารับมาเพียงซองเดียวก็คงจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าถูกยัดเยียดมาในสภาพบังคับครั้งละเป็นสิบหรือร้อยซอง คงจะเป็นที่หนักใจสำหรับผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องนี้... จำได้ว่าตอนที่ผู้เขียนทอดผ้าป่าซ่อมกุฏิเมื่อ ๒-๓ ปีก่อนนั้น อาชายของผู้เขียนบอกมาว่า ท่านแจกหรือเรี่ยไรไม่เป็น แต่จะทำบุญส่วนตัวและช่วยบอกญาติให้ ซึ่งความเห็นของท่านก็ทำนองเดียวกับคุณโยมที่ปรารภมา... คิดว่า ผู้ที่เคยมีประสบการณ์หรือเคยตัดสินใจเรื่องทำนองนี้ ก็คงจะไม่เป็นการลำบากนัก...

บอกคนที่ใจบุญ แม้เค้าจะไม่ร่ำรวย ถ้าเค้ารับปากจะช่วย เค้าจะช่วยได้ นี้คือคำแนะนำจากเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วย... บางคนนั้นชอบทำบุญและเป็นผู้มีน้ำใจยิ่งนัก โดยส่วนตัวแม้กำลังน้อย จึงต้องเรี่ยไรบอกบุญคนโน้นคนนี้ ใครจะตำหนิหรือหยอกล้อก็ไม่ถือโกรธ ซึ่งคนจำพวกนี้มักจะเป็นคนใจบุญจริงๆ... ส่วนพวกทำบุญและเรี่ยไรแบบขอมีส่วนแบ่งทำนองวัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง หรือประเภทอยากได้หน้าได้ตานั้น ผู้เขียนก็ยอมรับว่ามีอยู่จริงในสังคม...

สำหรับหัวข้อบันทึกนี้ว่า นักเลงไม่กลัว กลัวใบฏีกา นั้น ผู้เขียนจำติดใจมานาน ตั้งแต่ตอนบวช ๒-๓ ปีแรก จำได้ว่า ตอนนั้นผู้เขียนพักอยู่วัดสุวรรณคีรี เช้าวันหนึ่ง ผู้เขียนบิณฑบาตที่บ้านแหลมสน มีเสียงเพลงของ บุญโทน พระไม่ทำ เปิดมาจากงานบวชหรืองานศพในหมู่บ้านนี้แหละ จะเป็นเพลงอะไรก็จำไม่ได้ แต่เป็นเพลงสนุกๆ ขำๆ ผู้เขียนเดินไปก็ฟังไป แต่มีเพลงหนึ่ง มาจบลงด้วยคำว่า นักเลงไม่กลัว กลัวใบฏีกา ทำให้ผู้เขียนนึกขำมา จนกระทั้งปัจจุบัน (5 5 5...)

ในฐานะที่เรื่องนี้ใกล้ตัวทุกคน จึงใคร่จะทราบประสบการณ์และความคิดเห็นบ้าง ทำนองเล่าฟังกันเล่นพอเป็นข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ...

หมายเลขบันทึก: 235474เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2009 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 23:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ที่ทุ่งสักอาศรมเขียนคำขวัญหนึ่งไว้ในใจว่า

"การ์ดตาย ต้นไม้โต"

คนละเรื่องเดียวกันกับเรื่องนี้หรือเปล่าหนอ

นมัสการ

อายุบวร

...

P ครูกานท์

 

  • "การ์ดตาย ต้นไม้โต"

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

นักเลงไม่กลัว กลัวใบฎีกา สำหรับชาวฆารวาสพวกผม ที่หวยๆ หยับๆๆยุ่งๆเรื่องชาวบ้าน โดนกันมาก เพราะมีเครือยข่ายทั้งจังหวัด

ใบฎีกา ใบแขก ใบบอกงาน เดือนหนึ่งถ้าโดนเข้า 2 ไร่ก็กระเป๋าเบาไปในเดือนนั้นมันน่ากลัวกว่านักเลงจริงๆ

หมายเหตุ 4 งานเท่ากับ 1 ไร่ เดือนหนึ่ง 8งานพาหนักแล้วเพราะท่านผู้มีเกียรติที่ถูกเชิญ วัดความมีเกียรติด้วยเงินในซองครับ

Pบังหีม--ผู้เฒ่าnatachoei--

 

จะจำไปใช้บ้างมุขเรื่องกิ่ไร่เท่ากับงานนี้ (5 5 5...)

แต่อีกมุมมองหนึ่ง อาตมาเคยสังเกต บางคนที่ไม่เดือดร้อนด้วยกำลังจ่ายเวลา สุขภาพ และความประพฤติ ชอบที่จะไปงาน เพราะการออกสังคมทำนองนี้ ได้เที่ยวไปด้วย ทำให้คลายเบื่อ เซ็ง และจำเจในชีวิตประจำวันบ้าง...

  • กำลังจ่าย คือ บางคนขัดสน มีหนี้สิน ลูกกำลังเรียน ฯลฯ
  • วลา คือ บางคนการงานรัดตัว ยุ่งจริงๆ ไม่อาจปลีกเวลาไปไหนได้เลย ฯลฯ
  • สุขภาพ คือ บางคนเดินเหินไม่สะดวก เป็นอัมพาต พิการ หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ ฯลฯ
  • ความประพฤติ คือ บางคนสังคมไม่ยอมรับ (อาจเพราะลูก) หรือกำลังหนีคดีความ ฯลฯ

เคยคุยประเด็นนี้กับญาติผู้ใหญ่บางคนที่เจอทุกงาน ว่าจงภูมิใจเถิด เพราะไม่มีปัญหาเรื่องทำนองนี้ ซึ่งท่านก็เห็นด้วย โดยเทียบบรรดาญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของท่าน เช่น บางคนเป็นอัมพฤตมาไม่ได้ บางคนเพื่อนจ้องจะยิงหัวจึงไม่กล้ามา หรือบางคนลูกชั่ว รู้สึกอายและระแวงว่าเพื่อนจะถามจึงตัดสินใจไม่มา...

สรุปว่า ผู้ที่ยังไปงานบุญงานเลี้ยงได้ นับว่ายังมีบุญ (แม้จะเจอเดือนละ ๒-๓ ไร่ 5 5 5...) ลองคิดถึงพวกติดขัดมาไม่ได้ ก็อาจภูมิใจขึ้นมาบ้าง...

เจริญพร

เรียนพระคุณเจ้า ครูอาชีพเพื่อชาติ สุขสันต์วันครู

P เบดูอิน

 

ครูจัดว่าเป็น กัลยาณมิตร ซึ่งตามหลักพระพุทธศาสนาประกอบด้วยคุณสมบัติ ๗ ประการ ดังพระคาถาว่า...

  • ปิโย ครุ ภาวนีโย           วตฺตา จ วจนกฺขโม
  • คมฺภีรญจ กถํ กตฺตา       โนจฎฺฐาเน นิโยชเยติ ฯ
  • เป็นที่รัก๑ เป็นที่เคารพ๑ น่ายกย่อง๑ มักว่ากล่าว๑ อดทนต่อถ้อยคำ๑
  • อธิบายเรื่องลึกซึ้งได้๑ และไม่ชักจูงในเรื่องทีี่ไม่ควรชักจูง๑

เจริญพร

กราบนมัสการพระอาจารย์ ๓ ที่.

เป็นเรื่องที่รู้สึกเหมือนกับที่พระอาจารย์เล่ามา เวลารับมาหลายๆซองก็ถือว่า

เราไม่ได้แบ่งกับวัดครื่งนืง คนแจกครื่งนืง เลยพยายามทำใจบอกกับเพื่อนและญาติ

ว่าทำแล้วสบายใจถือว่าได้บุญแล้ว ชอบความเห็นของบังหีม ผู้เฒ่า ขอเอามุกไปใช้

บ้างน่ะขอรับ ๔งาน (เท่ากับ ๑ ไร่)มุกไม่เป๊กขอรับ.

อ่านเรื่องเล่าของพระอาจารย์ สมเป็นบัณฑิตจริงๆ มิได้แกล้งยกยอ

หาปลาน่ะขอรับ

กราบ ๓ หน

ยุทธศักดิ์ ว.

ไม่มีรูปยุทธศักดิ์ ว.

 

เจริญพร

นมัสการค่ะ

* อย่างนี้เป็นบุญที่ควรพิจารณาไหมคะ

* ใบฎีกา ขอเปลี่ยนเป็นกลัวการ์ดเปิดสัมโนครัวแจกเจ้าค่ะ

* นมัสการลาค่ะ

 

Pนาง พรรณา ผิวเผือก (ไม่มีชื่อกลาง)

 

บุญ ตามความรู้สึกธรรมดาก็คือความภูมิใจ สบายใจ อิ่มใจ ในสิ่งที่ตนกระทำลงไป... แต่ในการกระทำนั้นเราอาจรู้สึกหงุดหงิด กระทบกระทั้งจิต หรือริษยาบางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งเรียกว่า บาป ผสมผสานไปด้วย...

ในการดำเนินชีวิตนั้น ถ้าเราเพิ่มบุญลดบาปไปเรื่อยๆ สุขภาพจิตก็คงจะสดใสขึ้นไปเรื่อยๆ... แต่ถ้าเพิ่มบาปลดบุญไปเรื่อยๆ สุขภาพจิตก็คงย่ำแย่ไปเรื่อยๆ...

ส่วนการเปิดบัญชีหรือเปิดสัมโนครัวแจกตามรายชื่อนั้น เป็นวิธีการจัดการที่รวดเร็ว ให้ถือเสียว่าเป็นเรื่องธรรมดา...

เจริญพร

อ่านเรื่องนี้แล้ว ถ้าผมได้รับ 30 ซอง

ผมก็จะทำตามกำลังของตน เท่าที่จะทำได้ละครับ

ไม่ให้ตัวเองเป็นทุกข์ เพราะจะทำให้เสียกำลังศรัทธา

ไปเสียก่อน จนกลัว อย่างที่ว่า ใส่แทนคนอื่น 30 ซองทำแบบนั้นหลอกตนเองด้วย

หลอกคนอื่นด้วย คนที่นำมาให้เขาก็คงคิดว่า เราจะเอาไปแจกคนอื่น

ถ้าเขารู้ว่าเราใส่เอง เขาอาจจะกระอัก กระอ่วนใจที่จะให้ก็ได้นะครับ

บอกความจริงเขาไปก็สบายใจแล้วละครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท