ข่าวฟ้องนกแอร์ “คดีผู้บริโภค” และข้อพิจารณาที่น่าสนใจ ตอนจบ


ข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับความพิเศษของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551

จากบทความของท่านอาจารย์ ดร. เจิมศักดิ์ ในฐานะผู้ฟ้องคดี คงแทบไม่เหลืออะไรที่จะให้ข้อพิจารณาเพิ่มเติมอีก เพราะท่านเป็นอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการให้ความรู้ได้อย่างละเอียดลึกซึ้งอยู่แล้ว  อย่างไรก็ดี  เพื่อให้ผู้เขียน (ที่นำเสนอข่าวมาเล่าสู่กันฟังในตอนที่แล้ว) ได้รู้สึกว่าทำงานค้นคว้ามาบ้าง  จึงขอให้เป็นข้อสังเกตเพิ่มเติมสำหรับความพิเศษของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ดังนี้

 

 

1.      อำนาจศาล    คดีผู้บริโภคยังอยู่ในอำนาจศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีแพ่งทั่วไป ไม่มีการจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นใหม่

 

2.      คดีแพ่ง      พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเฉพาะคดีแพ่งเท่านั้น จะนำไปใช้กับคดีอาญาไม่ได้  แม้ว่าคดีอาญานั้นจะมีข้อพิพาทส่วนแพ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการบริโภคสินค้าหรือบริการอยู่ด้วย

 

3.      ผู้วินิจฉัยว่าเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่    กรณีมีปัญหาว่าคดีใดเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ ให้ประธานศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด ตามมาตรา 8

 

 

4.      เขตอำนาจศาล      ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจจะฟ้องผู้บริโภค ตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้เพียงแห่งเดียว  ในขณะที่ผู้บริโภคก็ยังคงมีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลย (ผู้ประกอบการ) มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้เช่นเดิม

 

5.      ผู้บริโภค  ผู้บริโภคตามพระราชบัญญัตินี้ กำหนดไว้ใน มาตรา 3  ผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และให้หมายความรวมถึงผู้เสียหายตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยด้วย

เมื่อพิจารณา พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 3 ซึ่งให้คำนิยามว่า

"ผู้บริโภค" หมายความว่า ผู้ซื้อหรือได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ และหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม

6.      ผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค กฎหมายไม่ได้นิยามไว้ ซึ่ง

ท่านชาญณรงค์  ปราณีจิตต์  ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ “คำอธิบายพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดี ผู้บริโภค พ.ศ. 2551  ว่า “เป็นที่เข้าใจได้ว่าจะต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้บุคคลนั้นมีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้โดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4 ฉบับ คือ มาตรา  19 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้   พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค .. 2522 พระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ซึ่งโดยสรุปแล้ว ผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคมีด้วยกัน 3 องค์กร คือ

ก.     คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

ข.     สมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

ค.     มูลนิธิที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

 

7.      การฟ้องคดีโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ  ผู้บริโภคมีสิทธิฟ้องคดีโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ได้ทำนิติกรรมตามแบบที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา   10

 

8.      อายุความ    ก็ขยายขึ้นสำหรับกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย โดยผลของสารที่สะสมอยู่ในร่างกายของผู้บริโภคหรือเป็นกรณีที่ต้องใช้เวลาในการแสดงอาการ ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในสามปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องรับผิด แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย ตามมาตรา 13

 

9.      อายุความสะดุดหยุดลง  ถ้ามีการเจรจาเกี่ยวกับค่าเสียหายที่พึงจ่ายระหว่างผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ไม่นับในระหว่างนั้นจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้บอกเลิกการเจรจา ตามมาตรา 14

 

10. ยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียม    ในการดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งปวงให้แก่ผู้บริโภค ไม่ว่าผู้บริโภคจะอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ จำเลย หรือผู้ร้องสอด แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด ตามมาตรา 18   ซึ่งหมายความว่าเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี ศาลอาจจะสั่งให้ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภครับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้เสียไปได้เหมือนกัน

 

 

11. อำนาจศาลในการวินิจฉัยเกินคำขอบังคับ       ศาลมีอำนาจที่จะวินิจฉัยหรือกำหนดวิธีการบังคับเกินกว่าคำขอบังคับของโจทก์ได้ ตามมาตรา 39

ในคดีที่ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคเป็นโจทก์ ถ้าความปรากฏแก่ศาลว่าจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ถูกต้องหรือวิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขเยียวยาความเสียหายตามฟ้อง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องหรือกำหนดวิธีการบังคับให้เหมาะสมได้  แม้จะเกินกว่าที่ปรากฏในคำขอบังคับของโจทก์ก็ตาม แต่ข้อที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยนั้น จะต้องเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงที่คู่ความยกขึ้นมาว่ากล่าวกันแล้วโดยชอบ”

 

ในความเป็นจริง  ยังมีความพิเศษของพระราชบัญญัติฉบับนี้ อีกทั้งรายละเอียดเพิ่มเติมอีกมากมาย   หากท่านผู้รู้ท่านใดประสงค์จะเพิ่มเติมข้อมูล และแลกเปลี่ยนเป็นความรู้

เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาแก่ประชาชนทั่วไป (อย่างเรา ๆ )   ก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง 

ผู้เขียนเพียงนำเสนอในเบื้องต้นเท่าที่อ่านกฎหมายฉบับนี้ ประกอบกับคำอธิบาย

พระราชบัญญัติฉบับนี้โดยท่านผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชาญณรงค์  ปราณีจิตต์  ดังได้กล่าว

มาแล้ว  และเห็นว่ามีประโยชน์ใกล้ตัวกับเราในฐานะเป็นผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่  และบาง

ท่านเป็นผู้ประกอบการก็ควรที่จะทราบไว้ด้วยเช่นกัน เพื่อการเตรียมพร้อมกับการ

เปลี่ยนแปลงตามยุคสมั  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันมิให้ตกเป็นจำเลยเพราะ

ความไม่รู้เท่าทัน "กฎหมายวันนี้"

จึงหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านไม่มากก็น้อย

หมายเลขบันทึก: 234246เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2009 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มองย้อนไปก่อนกฎหมายนี้ออกมา ผู้บริโภคเสียเปรียบมากเลย

ดีจัง มีกฎหมายใหม่ จะได้ไม่ต้องทุบรถโชว์กันอีก

ต้องขอขอบคุณแทนผุ้บริโภค และพวกเราทุกคนนะคะ

สวัสดีครับ

เพิ่มเติม "พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ฉบับนี้ยังบัญญัติให้ศาลมีอำนาจในการกำหนดค่าเสียหายเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าสินไหมทดแทนจากผู้ประกอบที่กระทำไม่สุจริตมากยิ่งขึ้น โดยแม้ว่าผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้บริโภคจะเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนน้อย แต่หากศาลเห็นว่าความเสียหายนั้นน้อยเกินไปและผู้ประกอบการกระทำไม่สุจริตศาลสามารถกำหนดค่าเสียหายเพิ่มขึ้นอีกได้ ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายที่เกินกว่าความเป็นจริงนั้นถือได้ว่ามีความแตกต่างไปจากหลักกฎหมายทั่วไปในระบบประมวลเรื่องค่าเสียหาย ซึ่งโดยหลักศาลจะกำหนดให้ได้ตามความเสียหายที่แท้จริงเท่านั้น ทำให้เห็นได้ว่า หลักเกณฑ์ของการกำหนดค่าเสียหายในเชิงลงโทษตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ฉบับนี้นั้นได้มีพัฒนาการแนวความคิดของการกำหนดค่าเสียหายในทางแพ่งในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะลงโทษหรือยับยั้งป้องปรามจำเลยซึ่งลักษณะคล้ายกับการลงโทษในทางอาญา ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีอยู่ในกฎหมายของประเทศที่ใช้กฎหมายจารีตประเพณี (common law) และพระราช บัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 มาตรา 13 (3) พระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 มาตรา 11 โดยได้นำเอาหลักเกณฑ์การกำหนดค่าเสียหายในเชิงลงโทษมาบัญญัติไว้เช่นเดียวกัน"

ขอบพระคุณมากค่ะ ท่านอาจารย์ ดร. เมธี สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทุกท่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท