แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่ององค์กรการเงินชุมชนระหว่างองค์กรการเงินจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดนครศรีธรรมราช


สรุปเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่ององค์กรการเงินชุมชนระหว่างองค์กรการเงินจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดนครศรีธรรมราช

ณ วัดป่ายาง ต.ท่างิ้ว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

วันพุธที่ 7 มกราคม 2551 ตั้งแต่เวลา 09.00 14.30 น.

 

ผู้เข้าร่วมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำนวน 21 คน ประกอบด้วย

  • คณะสงฆ์จำนวน  5  รูป  จังหวัดจันทบุรี นำโดย พระอธิการมนัส ขนฺติธรรมโม
  • พระอธิการสุวรรณ์ คเวสโก วัดป่ายาง ต.ท่างิ้ว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
  • รศ.วิทยากร เชียงกูล  คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
  • ดร.ประเสริฐ กิติรัตน์ตระการ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
  • คุณชูชาติ ผิวสว่าง วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
  • ตัวแทนจากสถาบันการเงินชุมชน ต.ควนกรด อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช จำนวน   2 คน
  • ตัวแทนจากองค์กรการเงิน ต.กะหรอ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช จำนวน   7  คน
  • คุณภีม ภคเมธาวี จากหน่วยจัดการความรู้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และผู้ช่วยฯ 2 คน 

 

ประเด็นการแลกเปลี่ยน

§         แนวคิดกลุ่มองค์กรการเงิน

§         รูปแบบการบริหารจัดการ

§         กิจกรรมกลุ่มองค์กรการเงิน

 

พระอธิการสุวรรณ์ คเวสโก วัดป่ายาง

            แนวคิดที่ได้มาพัฒนาความคิดของคนในชุมชนเริ่มต้น เพราะพระอธิการสุวรรณ์ เป็นคอมมิวนิสต์เก่า ในระดับผู้บริหารของ จ.นครศรีธรรมราช  ประสบกับปัญหามากมาย แต่เมื่อมาพบกับท่านพุทธทาสภิกขุ  จึงเปลี่ยนความคิดกลับกลายเป็นตั้งใจที่สุดที่มาขับเคลื่อนงานเพื่อสังคมส่วนรวม จึงตัดสินใจบวช (กิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการยึดแนวคิดของศาสนา คือดึงศาสนาออกมาให้ชัด ให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้คือแนวคิดที่ ยิ่งใหญ่ของท่านสุวรรณ์

เริ่มจากการจัดตั้งกองทุนชื่อว่า กลุ่มเมตตาธรรม ”   ปี พ.ศ. 2541 เดินทางไปร่วมสัมมนาพระนักพัฒนาจากทั่วประเทศที่วัดไผ่ล้อม จังหวัดตราดและมีโอกาสพบกับ พระสุบิน ปณีโต พระนักพัฒนาผู้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ โดยนำหลักพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้กับองค์กรการเงินชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาได้แปร กลุ่มเมตตาธรรม มาเป็น  กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต ปี 2542  เงินกองทุนที่เก็บมาแล้วครอบครัวละ 100 บาท จำนวน        8 ,000 บาท ก็ปรับเข้าเป็น กองทุนสวัสดิการ กิจกรรมกลุ่มดังกล่าวมีหลักการสำคัญที่คณะทำงานยึดเป็นแนวปฏิบัติ คือ     กลุ่มสัจจะฯ จะใช้แนวพุทธศาสนาเป็นแกนกลางในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มและแนวทางประชาสังคมมาจัดการปัญหา ไม่ใช้หลักกฎหมายและนิติศาสตร์ เวลาเกิดปัญหาก็จะเอาธรรม เอาศีล มาอธิบายชี้ให้เห็น ยกกรณี บาป - บุญ - คุณ - โทษ มาเป็นข้อบังคับโดยมีท่านสุวรรณ์ เป็นพี่เลี้ยง การบริหารจัดการ/บัญชี/การออม มีพระ และสมาชิกศึกษาด้วยตัวเอง ต่อมาในปี 2543 มีโครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม ( SIF ) สนับสนุนด้านการศึกษาดูงานกลุ่มสัจจะฯ และการผลิตปุ๋ยน้ำชีวภาพ ซึ่งนำมาสู่ธุรกิจชุมชนของ เครือข่ายฯ เป็นองค์กรชุมชนกลุ่มแรกในเมืองนครศรีธรรมราชที่นำกากน้ำตาล จากโรงงานที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มาจำหน่ายให้แก่สมาชิก และชาวชุมชนในบริเวณใกล้ๆ วัดโดยตรงในราคาถูก กำไรจากธุรกิจชุมชนกากน้ำตาล ร้อยละ 50 จัดสรรให้กลุ่มผู้ถือหุ้น ที่เหลืออีกร้อยละ 50 แบ่งไว้เป็นทุนการบริหารจัดสรรทุนขยายกิจการ  จากกิจกรรมการขายกากน้ำตาล นำไปสู่การจัดตั้ง กลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพปั้นเม็ด วัดป่ายางในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการระดมหุ้นจากสมาชิก และจากชาวบ้านทั่วไปที่สนใจด้วยพร้อมพัฒนาปรับปรุงขยายโรงงานทำปุ๋ย ในวงเงินประมาณ 5 ล้านบาท ปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ด เป็นกิจกรรมที่โด่งดังระดับภาคและระดับชาติ ในปี พ.ศ. 2546-2548 มีสมาชิกถือหุ้น 3 ประเภท  1. สมาชิกเครือข่าย 2. องค์กรชุมชนทั่วไป และ 3. บุคคลทั่วไป ต่อมาพระอธิการสุวรรณ์ คเวสโกได้ เริ่มตั้งโรงงานน้ำดื่มปี พ.ศ. 2549 โดยการระดมหุ้นจากกลุ่มเครือข่าย และกลุ่มสัจจะฯ ใน 14 กลุ่ม ใช้เงินลงทุน 3 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2549 ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเศรษฐกิจพอเพียง มีกิจกรรมในศูนย์ อาทิ แปลงปลูกผัก แปลงนาข้าว แปลงนาผักบุ้ง (ผักบุ้งแก้ว)

รูปแบบการบริหารจัดการ โดยทุกกลุ่ม ในแต่ละส่วนจะมีผู้จัดการกลุ่มละ 2 คน แยกเป็น ฝ่ายผลิต 1 คน ฝ่ายตลาด 1 คน และมีการจัดสรรงบบริหารจัดการ คือ บำรุงวัด 5% บำรุงกลุ่มสัจจะ 5% ประกันความเสี่ยง 5% เงินเดือนคนงาน/กรรมการ 25% และเพื่อการลงทุน 40%

คุณพัชรีย์ วารีพัฒน์ ตัวแทนกลุ่มองค์กรการเงินต.กะหรอ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช

            กล่าวถึงความเป็นมาในเรื่องของการขับเคลื่อนเรื่ององค์กรการเงินต.กะหรอ เริ่มต้นจากการมีเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน 9 หมู่บ้าน(เงินล้าน) หลังจากนั้นมีการพัฒนาระบบบัญชี และ มีการทำโครงการ โครงการที 1 เกี่ยวกับเรื่องการออมทรัพย์ โครงการที่ 2 การศึกษาเรื่องของบัญชี ในปี พ.ศ.2548 โครงการ 3 ร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำทีมโดยคุณภีม ภคเมธาวี ศึกษาเรื่องสวัสดิการจากการออมเพื่อกู้ เป็นการออมเพื่อให้ ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานของครูชบ ยอดแก้ว ที่ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา หลังจากนั้นได้กลับมาก่อตั้งกลุ่มสัจจะวันละ 1 บาทที่กะหรอ โดย Copy รูปแบบการบริหารจัดการทุกอย่างมา ตอนนี้มีสมาชิก 1,825 คน เงินทุนหมุนเวียน 1 ล้านกว่าบาท

            กิจกรรมที่เด่นของ ต.กะหรอพี่พัชมองถึงเรื่อง 1) เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของแต่ละหมู่บ้าน 2) กิจกรรมสัจจะวันละบาท สวัสดิการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย

            สิ่งที่อยากให้เกิดใน ต.กะหรอ คือ 1) ปี 2552 จะดำเนินการเรื่องสวัสดิการผู้นำ 2) สถาบันการเงิน

            รูปแบบการบริหารจัดการการเงินของ ต.กะหรอ มีกรรมการชุดเดียวบริหารจัดการทั้งหมดแต่แยกบัญชี มีบัญชี 3 บัญชี คือ บัญชี 1 บัญชีเงินล้าน บัญชี 2 คือ บัญชี เงินหุ้น ออมทรัพย์ สัจจะ และบัญชี 3 คือ ดอกผลของบัญชี 1

ตัวแทนจากสถาบันการเงิน ต.ควนกรด อ.ทุ่งสง จ.นครศรีฯ

            ต.ควนกรดมีหมู่บ้านทั้งหมด 13 หมู่บ้าน แต่รวมกลุ่มเป็นธนาคาร 9 หมู่บ้าน มีเงินทุนหมุนเวียน 9 ล้านบ้าน ดูแลบริหารจัดการเป็นเครือข่าย มีธนาคาร ธ.ก.ส เป็นพี่เลี้ยง

            สมาชิกของสถาบันการเงินมีทั้งรายบุคคล และกลุ่ม กิจกรรมมีการปล่อยกู้ ดอกผลที่ได้ก็จะจัดสรรเป็นสวัสดิการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

 

พระอธิการมนัส ขนฺติธรรมโม จากวัดโพธิ์ทอง จ.จันทบุรี

            พระมนัสได้ตั้ง กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จังหวัดจันทบุรี ที่บ้านเกิดท่านเป็นกลุ่มแรก ปัจจุบันการดำเนินงานกลุ่มสัจจะขยายการก่อตั้งในจังหวัดจันทบุรี 121 กลุ่มทั่วจังหวัดจันทบุรี มีเงินทุนหมุนเวียนหลายล้านบาท มีการนำดอกผลกำไรจากการการออมมาพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้าน อาทิ สร้างกองทุนการเงินชุมชน จัดแบ่งเป็นสวัสดิการชุมชน มีการปล่อยกู้ (กู้ไปเพื่อทำประโยชน์) เงินปันผลแบ่งปันทุกคนอย่างเท่าเทียม เจ็บไข้ป่วยนอนโรงพยาบาลเบิกได้ 300 บาท/คืน ใน 1 ปี สามารถเบิกได้ 20 คืน และที่สำคัญเมื่อสมาชิกเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือในการทำศพรวมทั้งสิ้น 19,000 บาท

            จุดเด่นของกลุ่มสัจจะที่นี่ คือ มีพระสงฆ์เป็นแกนนำ มีการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างพระสงฆ์กับชุมชน

ในส่วนของรูปแบบการบริหารจัดการของจันทบุรี จะแบ่งการบริหารจัดการแบบกลุ่ม(มีการประชุมประจำเดือน) เขต(มีการประชุมประจำเดือนโดยมีตัวแทนจากกลุ่ม 3-5 คนมาร่วมประชุมระดับเขต)  และระดับจังหวัด(มีการประชุมทุกวันที่ 8 ของเดือน โดยตัวแทนจากเขต) มีการบริหารจัดการแบบเครือข่าย เขต ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาที่ดี

ก่อนปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เปิดประเด็นเรื่องการพัฒนาคนซึ่งถือเป็นเป้าประสงค์ในการทำกิจกรรมรวมกลุ่มโดยใช้เงินเป็นเครื่องมือในการพัฒนา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องของการพัฒนาคนมากน้อย แค่ไหน อย่างไรนั้น พระอธิการมนัส ท่านได้กล่าวถึงเรื่องของการออม การช่วยเหลือกันและกันด้านสวัสดิการ เหล่านั้นทำให้คนมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น คนมีใจในการทำบุญ เข้าวัดเข้ามามากขึ้น

ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ยังไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ต้องใช้ระยะเวลาทำการศึกษาลงลึกมากขึ้น อาจจะต้องเข้าไปคลุกคลีตีโมงในพื้นที่สักระยะเพื่อถอดบทเรียนเรื่องการพัฒนาคน ว่าเกิดขึ้นจริงมากน้อยแค่ไหน อย่างไร เป็นประเด็นที่ทิ้งท้ายไว้ให้คิดกันของทีมประสานงานกลาง(หลังเวที)

คำสำคัญ (Tags): #ลปรร.ณ วัดป่ายาง
หมายเลขบันทึก: 234244เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2009 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีคะคุณหทัย

ขอบคุณที่นำเรื่องราวดีๆ มาเล่าสู่กันฟังคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท