นักบริหารอยากเป็น “ยอดไม้หรือลำต้น" อ่านตรงนี้ เพื่อมี “ความอ่อนโยน กับ ตปะ” ประดับตน


ยอดไม้คือความอ่อนโยน ตปะคือความทรงเดช

เล่าเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรมที่นักปกครองหรือนักบริหารพึงมีมาแล้วสองตอน ต้องขอออกตัวก่อนว่าผลสัมฤทธิ์ของการมีหลักธรรมประดับตนนั้น ไม่ได้ชี้วัดกันที่ความสำเร็จด้านวัตถุ เกียรติยศชื่อเสียง ทรัพย์สินเงินทอง ลาภยศใด ๆ แต่วัดที่คุณค่าทางจิตใจที่ผู้ให้คือนักบริหารและผู้รับคือบริวารเท่านั้นที่ตระหนัก รับรู้ได้  โดยไม่จำเป็นว่านักบริหารคนนั้นจะมีตำแหน่งเล็กหรือใหญ่แค่ไหน

 

คงเคยได้ยินมาบ้างที่ว่าเมื่อผู้บริหารระดับสูงเกษียณอายุออกไปจากองค์กรตามวาระก็ดี หรือจากไปเพราะการโยกย้ายก็ดี   กลับไม่มีบริวารคนใดระลึกถึงหรือจดจำในสิ่งที่เขาได้เคยบริหารจัดการเอาไว้เลย  คงไม่ต้องตอบว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

 

ขอตั้งข้อสังเกตประการหนึ่ง  ไม่ทราบว่าเคยมีใครสังเกตคำว่า “หลักธรรม” กับ ”คุณธรรม” หรือไม่ หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีความพากเพียรในการแผดเผากิเลส ที่เรียกว่า “ตปะ”[1] อาจจะทราบความหมายที่มีความเกื้อหนุนซึ่งกันและกันแล้ว  ในที่นี้ ขออุปมาอุปมัยว่าหลักธรรมเปรียบเหมือนทะเล ส่วนคุณธรรมก็เปรียบเหมือนปลาที่แหวกว่ายอย่างสุขสงบอยู่ในทะเลแห่งธรรม

 

การสร้างคุณธรรมในตัวตนของเราจะส่งเสริมค้ำชูเราให้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติ หรือเป็นไปตามหลักธรรม (ชาติ) นั้นเอง และการจะกล่าวถึงธรรมข้อใดก่อนหลัง ก็ไม่สำคัญเท่ากับการพึงประดับไว้ให้ได้เสมอกัน ตอนแรกที่กล่าวถึงคุณธรรมที่นักบริหารพึงมี  เมื่อแรกก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง คือความเสียสละนั้น    ก็ถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของ “ทาน”  และตอนต่อมาก็กล่าวถึง “ความเที่ยงธรรม”  ซึ่งก็ล้วนอยู่ใน      “ทศพิธราชธรรม” [2]   โดยต่างมีความสำคัญไม่จำต้องลำดับว่าอะไรควรมีหรือมาก่อน ดังข้อความตอนหนึ่งของหนังสือ แผ่วผ่านธารน้ำไหล โดยท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่ว่า

“ว่าที่จริงแล้ว ธรรมทุกข้อหรือทุกระดับนั้น เปรียบเหมือนห่วงสร้อยหรือลูกโซ่ คือจับข้อใดก็สะเทือนถึงกันหมดทุกข้อ  ในพระบาลีนั้น เขาสรรเสริญกันว่า เหมือนพวงดอกไม้ อันร้อยไว้ได้ระเบียบดีนี้เป็นอุปมัยที่ประสงค์จะชมว่างดงาม คือพระธรรมนั้นงามในทุกระดับ งามทั้งต้น ทั้งกลาง และทั้งเบื้องปลายสุดแต่ที่เปรียบกับห่วงสร้อย หรือลูกโซ่นั้น ประสานเอาความสัมพันธ์การสะเทือนถึงกันหมดทุกข้อ ทุกระดับเป็นสำคัญ …”

ตอนนี้  ที่จะกล่าวถึงก็เป็นองค์ประกอบในทศพิธราชธรรมเช่นกัน นั่นคือ ความอ่อนโยน และ ความเพียร (ตปะ)”  การนำเสนอที่จะกล่าวต่อไปนี้ มิได้อาจเอื้อมสอนหลักธรรมผู้ใดประหนึ่งเป็นผู้ศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้ง   ผู้เขียนเองก็เป็นเพียงผู้พยายามเพียรแผดเผากิเลสคนหนึ่งเช่นกัน เนื้อหาบางส่วนอาจไม่ได้นำมาจากตำราใด ๆ  แต่นำมาจากการฟังผู้ปฏิบัติ การปรึกษาหารือผู้รู้  การปฏิบัติด้วยตนเองและความเข้าใจด้วยปัญญา ซึ่งอาจจะตื้นเขินบ้าง ก็ขอให้ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยน ถ้าคิดว่าใช้ได้จริงก็นำไปใช้  ใช้ไม่ได้ก็วางเอาไว้ที่เดิม  เพราะสัจธรรมเป็นหลักที่มีอยู่แล้ว มีคุณค่าโดยตัวเอง และไม่เป็นของของใคร เป็นประโยชน์หรือไม่อยู่ที่ผู้นำไปใช้                                                                     

ที่มาของการนำเสนอเรื่อง “ความอ่อนโยนและความเพียร” คู่กันในครั้งนี้ มาจากการสังเกตเห็นสิ่งที่อยู่ “คู่กัน” อย่างไม่เหมาะสม อย่างไม่งดงาม นั่นก็คือการเห็นนักบริหารบางท่าน “เบ่ง” “ก้าวร้าว” “ทำตัวใหญ่” เท่าหรือโตกว่าตำแหน่งที่เป็นอยู่ เห็นความพยายามทำให้ตัวตนเหนือแตกต่างจากผู้อื่นในเรื่องของอำนาจลาภยศ ไม่ใช่เรื่องคุณธรรม ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ทำให้ "หนึ่งในทศพิธราชธรรม" ข้อหนึ่งขาดหายไป นั่นคือ “ความอ่อนโยน อ่อนน้อมถ่อมตน”  

นอกจากนี้ ยังได้สังเกตเห็นความกลัว ไม่กล้าแสดงออกถึงภาวะผู้นำ การเป็นผู้ปกครองที่จะทำสิ่งดี ๆ เพื่อส่วนรวม สังคม หรือเพื่อการปกป้องบริวาร ดังถ้อยคำภาษาอังกฤษที่ใช้กันบ่อย ๆ ว่า “play safe” ที่ให้ความหมายว่า “การป้องกันความเสี่ยงหรือความล้มเหลว” แต่ได้ใช้ในบริบทผิดที่ ผิดกาละเทศะ  การไม่ทำอะไรเลย ดำรงอยู่ในตำแหน่งที่มี ประคับประคองมิให้หลุดจากเก้าอี้   เป็นการ “play safe” ไปได้อย่างไรกัน    

อาจเคยได้ยินคำบางคำที่ผู้บริหารบางคนพูดไว้ “รอให้ผมเกษียณไปก่อนแล้วกัน  พวกคุณค่อยริเริ่มโครงการใหม่  หรือแก้ไขปัญหาเรื้อรังนี้ต่อไป   ในสมัยผม ให้ชะลอไปก่อน   เป็นการ “play safe”     เผื่อเกิดอะไรผิดพลาดขึ้นมา ผมจะได้ไม่เจ็บตัว"   ดูซิ ขนาดจะเกษียณแล้ว ยังคิด “play safe” ในบริบทเพื่อตัวเองเช่นนี้ได้  การมีคุณธรรมจึงไม่ได้อยู่ที่คน ๆ นั้นมีตำแหน่งใหญ่โต หรืออายุมากแค่ไหน  แต่อยู่ที่รู้แจ้ง (“enlightenment”) เมื่อไรเท่านั้นเอง และก็น่าเสียดาย นี่มัน ก็ “บั้นปลาย” ชีวิตแล้ว                                          

สรุปความตัวอย่างที่ยกมานี้ เพื่อที่จะกลับมาประเด็นที่ว่า ที่ควรแสดงออกซึ่งความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ทำกลับทำตัวพองโตยิ่งใหญ่ แสดงออกซึ่งความก้าวร้าวถึงอำนาจที่มีอยู่…ที่ควรกล้าหาญทำคุณธรรมให้พองโต สร้างความดีเพื่อส่วนรวม เพื่อบริวาร  กลับทำตัวหดเล็กลงด้วยความขลาดกลัว   "ยิ่งสูง ควรยิ่งอ่อนน้อมถ่อมตน"  ทุกท่านคงคุ้นภาพ “ในหลวง” ของปวงชนชาวไทยที่ทรงโน้มพระวรกายลงมาหาหญิงชราชาวบ้านผู้หนึ่ง ยอดต้นไม้ยิ่งอยู่สูง ยิ่งพริ้วไหวอ่อนโยนมิใช่หรือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความอ่อนโยน เป็นข้อหนึ่งที่นักปกครอง นักบริหารพึงมีอย่างยิ่ง  การที่ทำตัวยิ่งใหญ่ เท่าหรือมากกว่าตำแหน่งที่ดำรงอยู่ก็เท่ากับทำตัวเป็นเพียงแค่ลำต้นไม้ ทั้งที่อยากจะบอกใคร ๆ ให้รู้ว่าตนมีตำแหน่งใหญ่โตแค่ไหน จึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้ง แต่ก็แสดงออกมาให้เป็นเช่นนั้น เพราะรู้ไม่เท่าทัน สำคัญผิดไป

                                                                                                           

ในส่วนของความกล้าหาญที่ควรจะมีเพื่อที่จะอุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือบริวาร  ก็กลายเป็นความขลาดกลัว ทำตัว “play safe” ในความหมายผิดๆอยู่นิ่ง ๆ ทำตัวตามกระแส หรือผันแปรตามผู้เป็นนายเหนือกว่า เพราะเกรงว่า “เด่นจะเป็นภัย” ขัดใจ เดี๋ยวจะมีคนใหม่มาสวมตำแหน่งแทน.. คิดกันเช่นนี้สืบไป จากรุ่นสู่รุ่น จนเป็นวัฒนธรรมของผู้นำในองค์กร ต่อให้ปฏิญาณตนไว้เช่นไร ก็คงไม่ซาบซึ้งความหมายเพราะไม่ได้เพ่งพิจารณาถึงสาระ "ธรรมะ" หรือสัจธรรมที่มีอยู่   

 

ความกล้าหาญ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่อยู่ใน “ความเพียร” หรือ “ตปะ” ซึ่งผู้พยายามเพียรแผดเผากิเลสนั้น ย่อมจะมีความแกล้วกล้า อาจหาญในการผดุงไว้ซึ่ความดี ความถูกต้อง  มีข้อสังเกตว่า “ความเพียร” ที่เรียกว่า “ตปะ” แตกต่างอย่างไรกับ “ความเพียร” ที่เรียกว่า “วิริยะ” หนึ่งในอิทธิบาท 4[4]  กรณีของ “วิริยะ” เป็นความขยันประกอบกิจการใดก็ตามด้วยความพยายามไม่ย่อท้อ  ส่วนตปะ ย่อมต้องเป็น “ความเพียร” ที่มีความพิเศษเป็นแน่แท้ มิเช่นนั้นคงไม่เป็นหนึ่งในทศพิธราชธรรม  นอกจาก จะมีผู้ให้ความหมายว่าเป็นความพยายามเพียรแผดเผากิเลสดังกล่าวมาแล้ว ตามพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้นิยามไว้ว่า                                         

 

          ตปะ คือความทรงเดช แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิต ระงับยับยั้งข่มใจ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียร ทำให้กิจสมบูรณ์”

 

จากความหมายข้างต้น “ตปะ” จึงไม่ใช่ความเพียรในระดับเดียวกับ “วิริยะ” เนื่องจากผู้ปกครองที่จะต้องเป็นที่พึ่งพิงแก่ผู้คนจำนวนมาก ย่อมต้องฝึกฝนตนให้จงหนัก เพียรพยายามมากกว่าคนทั่วไป กำจัดกิเลสส่วนตน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้สมกับการได้ชื่อว่าเป็นผู้ปกครองผู้คนจำนวนมาก จนเป็น “ผู้ทรงเดช” กล้าหาญที่จะทำความดี

 

กล่าวถึงตรงนี้แล้ว สรุปความได้ว่า ท่านผู้ปกครอง นักบริหาร ควรให้ความสำคัญกับ “ยอดไม้มากกว่าลำต้น” อ่อนโยนหรืออ่อนน้อมถ่อมตน บารมีก็จะบังเกิดโดยไม่ต้องทำตัวเองให้พองโต  เพราะมันพอง มันโตโดยตัวคุณธรรมที่มีอยู่เอง  และ “ตปะ” ก็จะทำให้ไม่ขลาดกลัว ไม่ต้องมัว “play safe”  ซึ่งบริวารรอบตัวท่านก็คงใฝ่ฝันอยู่ลึก ๆ และเฝ้ามองอยู่ว่าเจ้านายของพวกเขาจะมีคุณธรรมข้อใดข้อหนึ่งบ้าง และเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรหลบแดดหลบฝนได้หรือไม่

 

เชื่อเถอะว่าในวัยเด็กที่ยังไม่ทำงาน เราก็พึ่งพาอาศัยบุพการีเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้เราเพราะเราช่วยตนเองยังไม่ได้ ครั้นเติบใหญ่  ที่บ้านเรา เราก็เป็นที่พึ่งให้แก่ท่าน แต่ในที่ทำงานนั้น ผู้เป็นบริวารหรือลูกน้องต่างก็หวังจะอยู่ภายใต้การปกครองหรือการบริหารจากเจ้านายผู้มีคุณธรรม จริยธรรม  ถึงตรงนี้แล้ว หากนักบริหารท่านใดเข้าใจแจ่มแจ้ง ก็คงไม่อยากให้ตนพ้นตำแหน่งไปตามวาระ  และจบลงที่งานเลี้ยงอำลาเท่านั้น ควรจะฝากความทรงจำด้วยคุณงามความดีที่เรามีโอกาสทำเพื่อคนอื่นบ้าง

 

สุดท้ายนี้ ขอเน้นย้ำเช่นเดิมว่าหาก “รู้ตัว”   คนเราเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่แค่  Change เท่านั้น แต่ถึงขั้น Transformation เลยทีเดียว ซึ่งจะกล่าวถึงเรื่องนี้ต่อไปในโอกาสหน้า  และหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านไม่เพียงแค่รับรู้ แต่สามารถนำไปปฏิบัติได้  



[1] ตปะ โดยความหมายแปลว่า ทำให้ร้อน ไม่ว่าด้วยวิธีใด การบำเพ็ญตปะหมายความถึงการทำให้กิเลส ความรุ่มร้อนต่างๆ หมดไป หรือเบาบางลง ลักษณะการบำเพ็ญตปะมีดังนี้                                                                                 1. การมีใจสำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖ (อายตนะภายใน ๖ อย่าง) ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้หลง ติดอยู่กับสัมผัสภายนอกมากเกินไป ไม่ให้กิเลสครอบงำใจเวลาที่รับรู้อารมณ์ผ่านอินทรีย์ทั้ง ๖ (อินทรีย์สังวร)

2. การประพฤติรักษาพรหมจรรย์ เว้นจากการร่วมประเวณี หรือกามกิจทั้งปวง

3. การปฏิบัติธรรม คือการรู้และเข้าใจในหลักธรรมเช่นอริยสัจ เป็นต้น ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีล และถึงพร้อมด้วยสมาธิ และปัญญา โดยมีจุดหมายสูงสุด ที่พระนิพพาน กำจัดกิเลส ละวางทุกสิ่งได้หมดสิ้นด้วยปัญญา

อ้างอิงจาก http://www.dhammathai.org/treatment/poem/poem31.php

 

[2] ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ ได้แก่ ทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน และความเที่ยงธรรม  

                                                                                                                                              

[3] ภาษาบาลีใช้คำว่า วีร (วี-ระ), สุร (สุ-ระ) หรือ สูร (สู-ระ),

 

[4] ฉันทะ (ความพอใจ)  วิริยะ  (ความเพียร)  จิตตะ (ความคิด)  และวิมังสา (ความไตร่ตรอง)

โดย ศิลา ภู ชยา

หมายเลขบันทึก: 233296เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2009 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

หาก “รู้ตัว”   คนเราเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่แค่  Change เท่านั้น แต่ถึงขั้น Transformation เลยทีเดียว

 

ขอบคุณค่ะ

ผู้รักความเป็นธรรม

อยากเปลี่ยนแปลงด้วยคน ทำอย่างไรคะ "ไม่ลืมตัว" ต่างกับ "รู้ตัว" ไหมเอ่ย

ขอบคุณค่ะ สำหรับบันทึกทีคุณค่าเช่านี้ แล้วจะตามมาอ่านต่อตอนต่อไปค่ะ

  • ขอบพระคุณคุณครูปูที่แวะมาเยี่ยมชมนานแล้ว และขอบพระคุณผู้รักความเป็นธรรมด้วยค่ะ อาจจะตอบไม่ทั่วถึง ต้องขออภัยด้วยค่ะ
  • คำว่า Transformation มีความลึกซึ้งมากนะคะ คุณครูปูตาแหลมคมมากค่ะ ความคิดก็คมด้วยค่ะ
  • กรณีที่คุุณผู้รักความเป็นธรรมยกมาน่าสนใจค่ะ ไม่ลืมตัว มักจะเข้าใจว่าเป็นเรื่อง "ตรงกันข้ามกับการหลงลืมตัว" แต่ก็ให้นัยยะได้ว่า หาก "เรารู้ตัว"  ถึง "ลืมตัว" เราก็กำหนดรู้ ว่าลืมตัวได้ค่ะ
  • จึงอยากสรุปว่า หากรู้ตัว จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเราไม่ว่าด้านบวกหรือลบค่ะ เมื่อรู้เราก็จะพัฒนาไปสู่ขึ้นเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยน "รูป" จากที่เคยเป็นได้ค่ะ
  • การแลกเปลี่ยนนี้เป็นความเห็นส่วนตัว โปรดใช้ดุลพินิจของท่านโดยอิสระนะคะ

แสดงความเคารพท่านผู้มาเยี่ยมชม เปลี่ยนเสมือน "คุณครู" ที่จุดประกายให้คิดต่อยอดค่ะ

ผ่านมา เพื่อเห็นและเข้าใจครับ

  • ขอขอบคุณกับเรื่องที่มีสาระดี มีประโยชน์ค่ะ
  • วันนี้พี่คิมได้ทำกิจกรรมรำลึกถึงพระคุณของคุณครูในบันทึกใหม่
  • แล้วไปโรงเรียนค่ะ..เพราะเจ้าหน้าที่โรงเรียนมาบอกว่า..วันนี้เด็ก ๆ ได้นัดหมายกันมาถางหญ้า ไถที่ ปรับที่รกร้างว่างเปล่า เพื่อเป็นของขวัญวันครู
  • แอบไปเงียบ ๆ ค่ะ หาส้มตำ ข้าวเหนียวและไก่ย่างไปฝาก
  • ก็มีความพอใจค่ะ

สวัสดีครับ

แวะมาเรียนรู้ด้วยคนครับ

ศิลาไปแสดงความเคารพคุณครูคิมในช่วงแรก ๆ เลยค่ะ และรู้สึกชื่นชมยินดีมากค่ะ ดีใจแทนเด็ก ๆ ของคุณครูด้วยค่ะ

  • ขอบพระคุณค่ะท่านอาจารย์เพชรากรที่แวะมาเยือน
  • ขอแสดงความเคารพค่ะ

 

แล้วจะตามไปเยือนบ้านท่านอาจารย์เร็ว ๆ นี้ค่ะ มีความสุขมาก ๆ ค่ะ

 

 

หาผู้บริหารที่ทำตัวเป็นยอดไม้ยากเหมือนกันนะครับ ส่วนใหญ่จะเบ่งกันยอะ ไม่รู้เหมือนกันว่าค่านิยมผิด ๆ นี้เกิดขึ้นมาจากไหน หรือพื้นฐานจิตใจคนเราต้องการการยอมรับมากเกินไป จนแสดงออกผิดวิธี ขอบคุณครับ

ขอบคุณที่เเวะเยี่ยมผลงาน บันทึกสมุนไพรกระเจี๊ยบ ของผมครับ

ตปะ นั้นเปรียบเหมือนธาตุทองต้องเผาจนเกิดความร้อนสูงและหลอมละลายกลายเป็นทองเนื้อแท้

ขอบพระคุณคุณผู้ผ่านมาค่ะ...เชื่อว่าหากเราช่วยกันเผยแพร่หลักธรรมควบคู่ไปกับการบริหาร คงต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ค่ะ ถ้าเราเข้าใจว่าสิ่งที่เป็นอยู่เป็นค่านิยม ความเชื่อที่ไม่เหมาะสมตามหลักธรรม (ชาติ)... เราก็อาจจะปรับตัวเองให้เกิดการยอมรับมากขึ้น เป็นกระแสใหม่ที่รอคอยอยู่ค่ะ

เจริญพร โยมศิลา

เกียรติยศย่อมเจริญแก่ผู้ขยัน มีสติ มีการงานที่สะอาด

ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงกระทำ เป็นอยู่โดยธรรมและไม่ประมาท

เจริญพร

คุณศิลาคะ

ชอบมากคะ สำหรับบทความนี้ ได้เรียนรู้ในมุมมองที่ลึกซึ้งจริงๆคะ

  • ขอบพระคุณคุณสัมภเวสีค่ะ
  • คำว่า ตปะ นั้นลึกล้ำยิ่งนัก
  • หากปฏิบัติได้ จะหลุดพ้น

ผู้บริหารที่มีลักษณะเช่นนี้หายากมาค่ะ

ส่วนใหญ่คิดเองว่าตนเที่ยงธรรม จริง ๆ ต้องถามคนรอบข้างมากกว่าถามเองตอบเอง

ชอบมากค่ะ เห็นภาพนักบริหารที่มีคุณธรรมว่าต้องเป็นอย่างไร

  • เรื่องนี้ต้องตั้งใจอ่านทีละบรรทัด จึงจะซึ้งใจ
  • อ่านแล้วได้ความรู้ดีมาก

                ยอดไม้    และ    Play safe

                       ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท