ดาบสองคมของตลาดไหมมัดหมี่แบบรสนิยมคนนอก


เรื่องเล่าจากโรงทอผ้า

เดิมแม่หญิงอีสานทุกคนต้องทอผ้าได้ เพราะในวิถีวัฒนธรรมนั้นต้องการผ้าทอมืออยู่ในทุกวิถีชีวิต ดังนั้นการก้าวผ่านจากผู้สาว สู่การเป็น แม่บ้านแม่เรือนนั้นต้องทอผ้าได้  ความหมายของ ได้ คือมีความสามารถในการมีผืนผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน

 

ผู้สาวอีสานก่อนแต่งงานต้องสะสมผ้าเอาไว้ สมมา ให้แก่ญาติฝ่ายผู้ชายพ่อแม่ของเจ้าบ่าว ส่วนใหญ่จะได้เครื่องสมมาไหมกัน เช่น พ่อสามีจะได้ของสมมาเป็นผ้าโสร่งไหม ผ้าขาวม้าไหม หมอนขิด  แม่สามีจะได้ของสมมาเป็นผ้าสิ่นไหม ผ้าขาวม้าไหม หมอนขิด  ส่วนญาติฝ่ายสามีในลำดับถัด ๆ ไปก็ลดลงตามความใกล้ชิดของญาติ

 

เมื่อผ่านกระบวนการทอผ้าได้ การพัฒนาของแม่หญิงอีสานส่วนใหญ่ไม่ได้หยุดลงเพียงเท่านี้ ยังมีการพัฒนาการทอผ้าในขั้นต่อไป ผมเรียกการพัฒนาจาก ทอได้  ไปสู่ กระบวนการที่ได้รับการยกย่องเป็น ซ่าง

 

ทอผ้าได้ ต่างจากการเป็น ซ่าง โดยสิ้นเชิง แม่หญิงอีสานที่นับว่าเป็นคนทอผ้าสวย ๆ หรือที่ได้รับการยกย่องว่า ซ่าง นั้น คือผู้ที่เข้าใจแตกฉานในกระบวนการทอผ้าตั้งแต่การเตรียมวัสถุดิบจนถึงกระบวนการใช้งาน ในขณะเดียวกันจะต้องมีความเป็นครูอยู่ในตัวเพราะคนที่ได้รับการยกย่องว่า ซ่าง นั้นจะมีลูกหลานมาขอเรียนรู้ด้วย เป็นการฝึกแบบเรียนรู้ร่วมกัน

 

ดังนั้น ซ่าง จึงมีทั้งทักษะแห่งวิชาชีพการทอผ้าและทักษะแห่งความเป็นครู  ในชุมชนหนึ่ง ๆ จะมีคนที่ทอได้และได้รับการยกย่องว่าเป็น ซ่าง นั้นมีอยู่ในทุกคุ้มบ้าน ดังนั้นผ้าทอในแต่ละคุ้มบ้านจึงมีคุณภาพดีเพราะมี ซ่าง ช่วยกำกับและบอกสอน

 

ปัจจุบันกระบวนการพัฒนาสู่การเป็น ซ่าง นั้นดูจะลดลง มีเหตุผลประการหนึ่งที่ส่งผลต่อกระบวนการเป็น ซ่าง นั้นคือ กรณีการตลาดแบบใหม่โดยใช้รสนิยมของคนนอกมากำหนดคุณภาพของคนทำงาน

 

ผมว่าหลายท่านคงเคยได้ยินว่า เสน่ห์ของผ้าไหมมัดหมี่อีสานอยู่ที่ความไม่เรียบร้อย ความเหลื่อมของสีและลาย  ความดิบ ๆ ของสี ความไม่นิ่งของลาย แต่สำหรับผมเห็นว่าการโปรโมทการตลาดแบบนี้แบบเดียวเป็นการทำลายกระบวนการสู่ความเป็น ซ่าง  เพราะกลุ่มแม่บ้านหลายกลุ่มตอนนี้มักง่ายในการสร้างลายและการทอ  เพราะเข้าใจว่าเสน่ห์ของไหมมัดหมี่เป็นดั่งที่การตลาดของคนนอกว่าเอาไว้ โดยลืมกระบวนการพัฒนาตนเองสู่การเป็น ซ่าง และรักษาคุณภาพการทอไหมมัดหมี่ที่งดงาม สมบูรณ์และปราณีต  คนทอผ้าจึงให้ความสำคัญกับความประณีตของงานและการเรียนรู้น้อยลง

 

บ้านชลบถพิบูลย์ที่เรากำลังจะเปิดในเร็ววันนี้ จะสนับสนุนการพัฒนาการทอผ้าของแม่หญิงอีสานให้ก้าวสู่ การเป็น ซ่าง อย่างสมบูรณ์ทั้ง คุณภาพ และ คุณครู

 

หมายเลขบันทึก: 232693เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2008 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรียน ท่านออต ผ้างามมากครับ

  • สวัสดีปีใหม่ค่ะ น้องออต
  • กำลังอยากได้ผ้าที่อยู่ในรูป
  • ช่างใจมานานว่าจะโทรหาน้องออต เพื่อขอซื้อเสื้อที่คล้ายๆกับที่ดงหลวงต้องทำอย่างไร
  • ----
  • ป้าแดงชื่นชอบการทอผ้ามาก แต่เคยลองอยู่หลายครั้งต้องถอดใจ เพราะไม่มีหัวทางด้านนี้เลย แม่เลยไม่สิทธิ์วิชาให้ เสียดายมากๆ
  • คิดกับพี่ที่ทำงานคนหนึ่ง ว่าอยากทำบ้านทอผ้า แต่คิดไปคิดมา ทุนไม่มีเลยต้องถอย
  • -----
  • มีความสุขในปีใหม่และต่อๆๆไปนะคะ

ผ้าสวยมากจริงๆค่ะ จะได้เห็นในงานกลางเดือนมกราคมนี้มั้ยคะ

แวะมาเยี่ยมน่ะออต ผ้าสวยจริง ๆ แหละ

ดีใจจังที่น้องออตมีความสุขกับชีวิตและการงาน

กลับเมืองไทยจะแวะไปเยี่ยม "ชลบถพิบูลย์" นะจ๊ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท