พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร


การปกครองท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร

พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร

บาว นาคร*

กรุงเทพมหานคร หรือ บางกอก เมืองหลวงของประเทศไทยเริ่มก่อตั้งภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงครองราชย์ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายนเดือนห้าแรม 9 ค่ำ ปีขาล พ.ศ. 2325 พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออกเนื่องจากเป็นชัยภูมิที่ดีกว่ากรุงธนบุรีเพราะมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแนวคูเมืองทางด้านตะวันตก และด้านใต้อาณาเขตของ กรุงเทพมหานครในขั้นแรกถือเอาแนวคูเมืองเดิมฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี คือ แนวคลองหลอดตั้งแต่ปากคลองตลาดจนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า เป็นบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์มีพื้นที่ประมาณ 1.8 ตารางกิโลเมตร บริเวณที่สร้างพระราชวังนั้นเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพระยาราชเศรษฐีและชาวจีนซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปอยู่ที่สำเพ็ง ในการก่อสร้างพระราชวังโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิบดีกับพระยาวิจิตรนาวีเป็นแม่กองคุมการก่อสร้าง ได้ตั้งพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันอาทิตย์เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที (21 เมษายน 2325) พระราชวังแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ. 2328 จึงได้จัดให้มีพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบแผนรวมทั้งงานฉลองพระนครโดยพระราชทานนามพระนครใหม่ว่ากรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยน คำว่า บวรรัตนโกสินทร์เป็น อมรรัตนโกสินทร์และในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีได้รวมจังหวัด ธนบุรีเข้าไว้ด้วยกันกับกรุงเทพฯ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 

กรุงเทพมหานครเป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษภายใต้กฎหมายระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2528 มาเป็นเวลาเกือบ 30  ปีแล้ว ในขณะที่สภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับปัญหาของกรุงเทพมหานครที่ทวีความรุนแรง สลับซับซ้อนมากขึ้นทุกขณะ เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหามลภาวะ ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาอาชญากรรม เป็นต้น

ส่วนพระราชบัญญัติที่กรุงเทพมหานครยังคงยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ณ ปัจจุบันนี้ ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 4 ฉบับ ด้วยกันคือ1) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528  2) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 3) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2539 4) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2542 เนื่องด้วย สภาพการณ์ในแต่ละช่วงเวลานั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงจึงทำให้ต้องปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายบางประการให้สอดรับสภาพความเป็นจริงของเหตุการณ์ ณ ช่วงเวลานั้นๆ โครงสร้างการบริหารงานของกรุงเทพมหานครในฐานะหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง 

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบันเป็นไปตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติคล้ายกับการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เว้นแต่ (1) ถือว่าพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมดเป็นเขตเลือกตั้งเดียว (2) กรณีที่ผู้สมัครได้รับคะแนนเท่ากันให้จับสลากต่อหน้าปลัดกรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ้นจากตำแหน่งตามวาระต้องจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นสุดวาระ แต่ถ้าตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่างลงโดยเหตุอื่น ต้องทำการเลือกตั้งใหม่ภายใน 90 วัน และผู้ได้รับการเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งโดยเริ่มนับวาระใหม่      

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ทั่วไปตามพระราชบัญญัติไว้ในมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ดังนี้ (1) เร่งกำหนดนโยบาย และบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามกฎหมาย  (2) สั่ง อนุญาต อนุมัติ เกี่ยวกับราชการของกรุงเทพมหานคร  (3) แต่งตั้งและถอดถอนรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งตามมาตรา 55 ได้กำหนดให้มีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เกิน 4 คน ตามลำดับที่ผู้ที่ราชการกรุงเทพมหานครจัดไว้ ทำหน้าที่ช่วยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการบริหารราชการกรุงเทพมหานครตามที่ผู้ว่าฯ มอบหมาย คำสั่งแต่งตั้ง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ฉะนั้นจะเห็นไว้ว่ารองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มิได้เป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนกับดังที่เคยบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ที่ถูกยกเลิกไปนอกจากรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้ว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และแต่งตั้งถอดถอนผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา หรือคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใด ๆ ได้อีกด้วย เช่น บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย วางระเบียบเพื่อปรับปรุงงานของกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร  อำนาจหน้าที่อื่นที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และกฎหมายอื่น ๆ  เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานคร และมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายอื่นได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี หรือคณะเทศมนตรี แล้วแต่กรณีโดยอนุโลม ทั้งนี้ เว้นแต่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครจะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

สาระสำคัญของ" วาระแห่งกรุงเทพมหานคร" ไว้ 10 ประการ คือ 1) ยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนา กทม.สู่ความยั่งยืน-น่าอยู่อาศัยยิ่งขึ้น 2) การนำเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครสู่ความยั่งยืน 3) การใช้มาตรการทางผังเมืองเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคน กทม. 4) การปรับโครงสร้างการจราจรและขนส่งเพื่อเพิ่มคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม 5) การลงทุนเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร 6) การให้บริการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ที่ให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งความสะอาด 7) การมุ่งเน้นธรรมรัฐในกรุงเทพมหานครเพื่อเผชิญกับความท้าทายในอนาคต 8) การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของกรุงเทพมหานคร ได้โดยง่ายและสะดวก 9) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 10) การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนากรุงเทพมหานคร

ดังนั้น กรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของประเทศและ กรุงเทพมหานครในฐานะองค์กรบริหารมหานครหลวงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงหรือการปฏิรูปองค์กรขนาดใหญ่เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีขีดความสามารถในการปฏิบัติงานที่สูง (High Performance Organization) ในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน และบริหารการพัฒนาให้ไปสู่วิสัยทัศน์ และเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการบริหารมหานคร

ในอีกไม่ถึง 1 เดือนข้างหน้านี้ กรุงเทพมหานคร ได้จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ในวันที่ 11 มกราคม 2552 และนโยบายของผู้สมัครแต่ละคนในการหาเสียงเลือกตั้งจะสามารถนำไปเป็นนโยบายในการพัฒนาเมืองหลวงของประเทศได้มากน้อยแค่ไหนต้องติดตามกันต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

ปธาน สุวรรณมงคล. การปกครองท้องถิ่นไทย ในบริบทของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

พุทธศักราช 2540. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2547.

อรทัย ก๊กผล. สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวด 3 พัฒนาการและรูปแบบการปกครอง

            ท้องถิ่นไทย ลำดับที่ 5 เรื่อง  กรุงเทพมหานคร. สถาบันพระปกเกล้า, 2547.

http://city.bangkok.go.th/th/

http://203.155.220.230/Internet/agenda21/vara1.htm



* บุญยิ่ง ประทุม . [email protected]

หมายเลขบันทึก: 231508เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2008 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ 

มาเรียนรู้ค่ะ

ขอบคุณนะคะ

อยากทราบว่า หลังการเลือกตั้งแต่ละครั้งที่ผ่านมา มีหน่วยงานใดสรุปข้อมูลเกี่ยวกับผู้มาเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ไว้บ้างไหมว่า มีคนกรุงเทพฯโดยแท้ๆมาเลือกตั้งกี่เปอร์เซ็นต์ และคนกรุงเทพแฝงกี่เปอร์เซ็นต์  ขอบคุณค่ะ

อยากทราบว่า เรียน รัฐประศาสนศาสตร์ ทำไมต้องเรียน อปท ด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท