ยิ่งเข้าใจตนเองได้มากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งสามารถเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้นเท่านั้น


"เมื่อใดก็ตามที่เรากำลังรู้สึกว่าไม่เข้าใจใคร เรายิ่งต้องเอาใจใส่ตนเอง พยายามทำความเข้าใจตนเองให้มากขึ้น"

 

คติธรรมจากต้นไม้

ต้นไม้ในวัดชลประทานฯ มีคติธรรมติดอยู่เกือบทุกต้น มีต้นหนึ่งเขียนว่า "คนผู้มีสติ มีความเจริญทุกเมื่อ" 

ผมอ่านแล้วก็คิดสงสัยว่าการมี "สติ" คืออะไร แล้วก็ตอบตนเองว่าคือการที่เราเห็นตัวตนหรืออัตตาของเรานั่นเอง นั่นคือเมื่อใดที่เรากำลังเห็นความรู้สึก ความคิด พฤติกรรมของเราที่กำลังเกิดขึ้นหรือกำลังแสดงออก เมื่อนั้นเราก็มีสติ เช่น เห็นว่าเรากำลังพูดแทรกคนอื่นที่กำลังพูดอยู่ กำลังออกนอกเรื่อง เห็นว่ากำลังใจลอยไม่ได้อยู่กับเรื่องราวของคู่สนทนา เห็นว่ากำลังรู้สึกโกรธ กำลังจะแสดงความโกรธออกไป เห็นว่ากำลังกลัว ฯลฯ

ประสบการณ์การฝึกสติของผมในระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่กำลังพยายาม "อยู่กับเนื้อกับตัว" ให้ได้ไม่ว่ากำลังทำอะไร ทำให้ผมได้เข้าใจขึ้นว่า ขณะที่เราสามารถมีสติเห็นตนเองในขณะที่อยู่ท่ามกลางผู้อื่นนั้น ทำให้เราสามารถเข้าใจตนเองได้มากขึ้น และพบว่า ยิ่งเราเข้าใจตนเองได้มากขึ้นเท่าไร เราก็จะสามารถเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้นเท่านั้น จากนั้นเราจึงจะสามารถทำสิ่งที่เรียกว่า "เอาใจเขาใส่ใจเรา" ได้ตรงกับที่ใจเขาต้องการอย่างแท้จริงได้มากขึ้น ตอบสนองคนรอบข้างรอบกายอย่างที่เขาต้องการจริงๆ ได้ตรงขึ้น ขณะที่เราเองก็มีสติไม่หลงลืม "ใจ" เราเอง ว่าต้องการอะไรด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่า เมื่อใดก็ตามที่เรากำลังรู้สึกว่าไม่เข้าใจใคร เรายิ่งต้องเอาใจใส่ตนเอง พยายามทำความเข้าใจตนเองให้มากขึ้น

ส่วนคำ "เจริญ" ในความหมายทั่วไปก็คงเป็นเรื่องเศรษฐกิจ-สังคมทั่วๆ ไป แต่เมื่อใส่คำว่า "ทุกเมื่อ" ลงไปด้วย เป็น "เจริญทุกเมื่อ" และคิดในความหมายที่ลึกขึ้น ก็น่าจะหมายถึง ผู้มีสติอยู่กับเนื้อกับตัวได้ทุกเมื่อ จะสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น สามารถใช้ศักยภาพของความเป็นมนุษย์อย่างเต็มที่มากขึ้น เรียกว่า ไม่เสียชาติ(ที่)เกิด(เป็นมนุษย์)ที่มีสมองพิเศษจากสัตว์ทั้งปวง ศักยภาพที่ว่านี้ก็คือ ความสามารถใช้ปัญญาในการเข้าถึงธรรม(ความจริง ความดี ความงาม ทั้งปวง) อันเป็นความสามารถที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่แต่เรายังไม่ได้นำออกมาใข้อย่างเต็มที่.

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๑๙ ธ.ค.๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 230568เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2008 07:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เรียน ท่านอาจารย์

  • มาน้อมนำธรรมไปปฏิบัติครับ
  • ขอบพระคุณครับ

อรุณสวัสดิ์ครับท่านอาจารย์

  • มาน้อมนำธรรมไปปฏิบัติครับ
  • ขอบพระคุณครับ

สวัสดีค่ะ

ตามมาอ่านเรื่องราวดีดี จะได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น มันเป็นปัจจัยภายในค่ะ โยนิโสมนสิการ การรู้เท่าทันอย่างแยบคาย ขอบคุณค่ะ

ที่เข้าใจยากกว่าเข้าใจคนอื่น ก็คือเข้าใจตัวเองนี่แหละครับ

สวัสดีคะ

ข้อเขียนนี้ดีจริง

เข้ามาอ่านและพร้อมน้อมรับ

ไปเที่ยวมาเลยเจอข้อเขียนนี้แปะไว้ ขออนุญาติคัดลอกมาฝากเช่นกันคะ

.......................

ถ้าทำอะไรด้วยสติ ปัญญา มิใช่ด้วยความอยากหรือความหวัง

ก็ไม่มีการที่จะเป็นทุกข์ เพราะความผิดหวัง

ดังนั้น เมื่อสิ่งใดแสดงอาการต่อต้านในลักษณะที่เรียกว่าผิดหวัง

ก็รีบสลัดโยนทิ้งสิ่งนั้นออกไปเสียก่อน เพื่อไม่ต้องมีความผิดหวัง

แล้วก็ทำสิ่งนั้นต่อไปด้วย สติปัญญาล้วนๆ โดยไม่ต้องหวัง

จนกว่าจะประสบความสำเร็จ

.....................พุทธทาสภิกขุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท