ภาพพม่า (4)


พม่าปิดประเทศมานาน ต่อมาเปิดประเทศเพื่อการลงทุนและการท่องเที่ยว ผู้เขียนสังเกตว่า พม่าเป็นชาติที่ทำอะไรจริงจัง ไม่เหลาะแหละ และต้องมีเอกลักษณ์ เรื่องวีซ่าก็ต้องทำกันอย่างจริงจังเช่นเดียวกัน
พม่าปิดประเทศมานาน ต่อมาเปิดประเทศเพื่อการลงทุนและการท่องเที่ยว ผู้เขียนสังเกตว่า พม่าเป็นชาติที่ทำอะไรจริงจัง ไม่เหลาะแหละ และต้องมีเอกลักษณ์ เรื่องวีซ่าก็ต้องทำกันอย่างจริงจังเช่นเดียวกัน

วีซ่าพม่ามีพัฒนาการเป็นยุคสมัย มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ทุก 10 ปี...

10 ปีแรกให้นักท่องเที่ยวต่างด้าวเข้าไปได้คราวละ 1 วัน 10 ปีต่อมาเพิ่มเป็นคราวละ 1 สัปดาห์ และอีก 10 ปีต่อมาจึงเพิ่มเป็นคราวละ 1 เดือนจนถึงปัจจุบัน

การไปพม่าต้องทำวีซ่าก่อน เราขอให้คุณสุพรรณแห่งบริษัท เชียงใหม่ บี.ไอ.เอส. ทราเวล เชียงใหม่ช่วยจัดการให้

อาจารย์วิเชียรเล่าว่า คุณสุพรรณเป็นภรรยาชาวพม่า มีประสบการณ์จัดทัวร์ให้คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาหลายปี

บางปีมีการจัดทัวร์พม่าเป็นคณะใหญ่ก็ได้สามีคุณสุพรรณเป็นไกด์ไปพม่า เท่าที่ผ่านมานับว่า ผลงานดีทุกครั้ง ไม่ผิดหวังแน่นอน

ผู้การฐนัสและผู้เขียนทำวีซ่านักท่องเที่ยว (tourist visa) เมื่อเดือนมิถุนายน 2548 เป็นเงินคนละ 1,500 บาท มีสิทธิ์อยู่พม่าได้ 1 เดือน

อาจารย์วิเชียรมีหนังสือรับรองจากอดีตพระอุปัชฌาย์ของท่านคือ ท่านพระจะนะกะ ท่านเป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐาน มีวัดสำหรับให้คนต่างประเทศเข้าไปฝึกกรรมฐาน

หนังสือรับรองของวัดพม่ามีคำรับรองว่า จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง คำรับรองและกฎกติกาของวัดพม่านี้มีลักษณะเด็ดขาดตามแบบพม่าคือ “ให้ทำตาม ถ้าทำตามไม่ได้ก็ให้ออกไป (Follow or go out)”

อาจารย์วิเชียรและผู้การฐนัสตั้งใจจะเข้าไปอบรมกรรมฐานที่วัดพม่า ส่วนผู้เขียนตั้งใจจะไปไหว้พระเจดีย์ ไปเที่ยววัด และศึกษาค้นคว้าเรื่องเมืองพม่าเป็นหลัก

วีซ่าสำหรับเข้าไปฝึกกรรมฐาน (meditation visa) มีฐานะเทียบเท่าวีซ่านักธุรกิจ มีสิทธิ์อยู่พม่าได้ถึง 1 ปี ไม่ทราบว่า ประเทศอื่นจะมีวีซ่าแบบนี้หรือไม่

คุณสุพรรณบอกว่า คนที่ยื่นคำร้องขอวีซ่าเข้าพม่าจะต้องไม่เขียน “อะไร” ที่รัฐบาลพม่าไม่ชอบลงไป เช่น ไม่เขียนว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักข่าว เข้าไปทำกิจกรรมทางการเมือง ฯลฯ

ท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีนักข่าวไทยเข้าไปถ่ายทำสารคดีในพม่า เมื่อนำมาออกอากาศในไทยแล้วดูจะมีปัญหานิดหน่อย จึงขอวีซ่าเข้าพม่าครั้งต่อมาไม่ได้ ต้องลงทุนโกนหัว เปลี่ยนชื่อใหม่ จึงขอวีซ่าเข้าพม่าได้

การเดินทางไปพม่าจะไปทางบกก็ได้ แต่นับว่าทุลักทุเลมาก ถนนส่วนใหญ่ไม่ดี และอาจจะถูกปล้น

แม่บ้านไทยใหญ่(ฉาน)ที่บ้านคุณอาผู้เขียนเก็บหอมรอมริบ ใช้จ่ายอย่างประหยัด ตั้งใจจะนำเงินกลับบ้าน พอเดินทางกลับบ้านก็ถูกปล้น หมดตัวไปเหมือนกัน การเดินทางขึ้นเครื่องบินไปน่าจะสะดวกที่สุด

เราจะไปเที่ยวและทำบุญที่มัณฑเลย์ก่อนไปย่างกุ้ง เมืองหลวงพม่าคือย่างกุ้งอยู่ในระนาบแนวนอนเดียวกับพิษณุโลก ส่วนมัณฑเลย์อยู่เหนือขึ้นไป

การเดินทางออกจากเชียงใหม่สะดวกกว่ากรุงเทพฯ เพราะระยะทางจากเชียงใหม่ไปมัณฑเลย์และย่างกุ้งใกล้กว่ากรุงเทพฯ

ค่าโดยสารเครื่องบินแอร์มัณฑเลย์ (Air Mandalay) 3 เที่ยว จากเชียงใหม่ไปมัณฑเลย์ มัณฑเลย์ไปย่างกุ้ง และย่างกุ้งกลับเชียงใหม่เป็นเงินคนละ 7,500 บาท

อาจารย์วิเชียรบอกว่า ไปสายการบินแอร์มัณฑเลย์ดีกว่า เพราะมีพม่าเป็นหุ้นส่วน เวลาตรวจสัมภาระขาเข้าจะไม่เข้มงวดเท่าสายการบินของไทย

เรื่องนี้เมื่อเราเดินทางไปถึงสนามบินมัณฑเลย์ก็พบว่า จริงดังที่อาจารย์ว่าไว้ การตรวจกระเป๋าเป็นไปอย่างสะดวก สุภาพ มีเพียงการรูดซิปกระเป๋าเปิดออก แล้วรูดซิปปิดพอเป็นพิธี ไม่ได้เปิดกระเป๋าออกดู สมที่เป็นบ้านพี่เมืองน้องจริงๆ

คุณสุพรรณบอกว่า ช่วงที่เราไป(16 มิถุนายน 2548)อยู่นอกฤดูกาลท่องเที่ยว หรือเป็นโลว์ซีซั่น (low season) ค่าเครื่องบินจะถูกกว่าช่วงอื่นๆ

นักท่องเที่ยวนิยมไปพม่ามากที่สุดในเดือนธันวาคม-มกราคม หรือหน้าหนาว ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีอากาศเย็นสบาย ไม่ร้อน และไม่ค่อยมีฝนตก

ภาพที่ 4: สวดมนต์แบบครอบครัวที่พระเจดีย์ชเวซิกอง พุกาม

http://www.gotoknow.org/file/wullopporn/FamilyPray.jpg 

นักท่องเที่ยวที่ไปพม่ามากเป็นคนไทยและคนจีน ถ้ารัฐบาลพม่าหรือรัฐบาลไทยสร้างถนนจากชายแดนไทยเข้าไปแหล่งท่องเที่ยวในพม่าก็น่าจะดีมาก เพราะเป็นบ้านพี่เมืองน้อง และนับถือพระพุทธศาสนาคล้ายกัน คนไทยจะได้เข้าไปไหว้พระสะดวกขึ้น

ภาพที่ 5: สวดมนต์เดี่ยวหญิงที่พระเจดีย์ชเวซิกอง พุกาม

http://www.gotoknow.org/file/wullopporn/WomanPray.jpg    

คนที่เดินทางไปพม่าคงจะเตรียมของไปไม่เหมือนกัน ผู้เขียนเตรียมผ้าไตร ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ปากกาลูกลื่น ยา กล้องถ่ายรูป หน่วยความจำกล้อง ถ่านไฟฉายสำหรับกล้อง ร่มแบบพับได้ และรองเท้าแตะไปมากเป็นพิเศษ

งานนี้ขาดกล้องถ่ายรูปไม่ได้ ตอนนั้นผู้เขียนยังไม่มีกล้องดิจิตอล อาศัยยืมกล้องของหลานไปใช้ ของจำเป็นอีกอย่างสำหรับย่างกุ้งคือร่ม

ภาพที่ 6: นั่งสมาธิเดี่ยวชายที่พระเจดีย์ชเวซิกอง พุกาม

http://www.gotoknow.org/file/wullopporn/ManPray.jpg

มัณฑเลย์และเมืองรอบๆ อยู่ตอนกลางของประเทศ มีภูเขาดักไว้หลายชั้น ฝนไม่ค่อยตกเท่าไหร่ แต่ย่างกุ้งอยู่ตอนล่าง ไม่ไกลจากทะเล ฝนตกได้ตกดี และตกโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย(ไม่มีฟ้าคะนองนำ) คนพม่าจึงนิยมพกร่มคล้ายๆ กับคนอังกฤษ

เสื้อผ้านี่ตั้งใจว่า จะนำไปแต่น้อย เก็บกระเป๋าไว้ใส่ของทำบุญ และของพกพาที่จำเป็นดีกว่า

ผู้เขียนนำเสื้อเชิ้ตไปประมาณ 3 ตัว ไว้ใส่ขาไป ขากลับ และนำไปเผื่อขอแวะชมโรงพยาบาลอย่างละ 1 ตัว

ใช้เสื้อคอกลมผ้าบางมีกระดุมแบบที่ใส่นอนเป็นหลัก เสื้อแบบนี้ซักแล้วแห้งเร็ว เหมาะกับอากาศร้อนชื้นแบบพม่า

กางเกงนำไป 2 ตัว ไว้ใช้ขาไปและขากลับอย่างละ 1 ตัว นำโสร่งไปด้วย 3 ผืน และผ้าขาวม้าอีก 1 ผืน

ภาพที่ 7: สวดมนต์คู่สูงอายุที่พระเจดีย์ชเวซิกอง พุกาม

http://www.gotoknow.org/file/wullopporn/ElderlyPray.jpg 

ผ้าขาวม้าใช้เป็นผ้าเช็ดตัวหรือเป็นผ้านุ่งได้ดีมาก ซักแล้วแห้งไว แต่จะนำไปใช้นอกที่พักไม่ได้ เพราะพม่าถือว่า การสวมผ้าที่ไม่ได้เย็บเป็นวงกลมหรือเป็นถุงคล้ายโสร่งในที่สาธารณะไม่สุภาพ

ผู้เขียนฝากเพื่อนซื้อผ้าไตร(ผ้านุ่งห่มของพระ)ไป 2 ชุด เพื่อนแนะนำให้ซื้อผ้าสีกลักแดง สีเดียวกับที่พระพม่าในลำปางใช้ พระไทยส่วนใหญ่ใช้จีวรสีกลักเหลือง พระพม่าใช้จีวรสีกลักแดง

คนขายผ้าไตรเป็นคนใจดี ลดราคาผ้าไตรไปกราบไหว้สังเวชนียสถานที่อินเดียมาหลายครั้ง บางครั้งสมทบทุนค่าผ้าสีทองสำหรับนำไปถวายต้นโพธิ์ที่พุทธคยาด้วย ครั้งนี้ท่านก็ลดราคาผ้าไตรให้

อาจารย์วิเชียรบอกว่า พระพม่าชอบผ้าไตรของไทย ผ้าไตรพม่ามีไนล่อนผสมค่อนข้างมาก ห่มแล้วร้อน ผ้าไตรของไทยเป็นผ้าฝ้าย ห่มแล้วไม่ร้อน

ผู้เขียนชอบทำบุญด้วยยาสีฟันกับแปรงสีฟัน เพราะสุขภาพฟันไม่ดี เช่น ฟันกรามน้อยกรามใหญ่ที่มีอยู่ตอนนี้ผ่านการอุดฟันมาหลายซี่ มีฟันอยู่ซี่หนึ่งอุดมาแล้ว 3 ครั้ง ผ่าฟันกรามใหญ่มาอีก 2 ครั้ง ฯลฯ

คนที่มีปัญหาเรื่องฟันหรือช่องปากเช่นผู้เขียนนี่... พระท่านว่า เป็นเศษกรรมของมิจฉาวาจา หรือบาปทางปาก อาจเป็นชาติก่อนหรือชาตินี้ก็ได้

เมื่อทราบแล้วก็ต้องรีบเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงใหม่ พยายามรักษาปากใหม่ หัดกล่าววาจาดี(เท่าที่ทำได้) เช่น สวดมนต์ ชวนคนอื่นทำความดี ชมเชยคนอื่นตามจริง ฯลฯ หัดพูดคำจริง คำสุภาพ ถ้อยคำที่มีประโยชน์ และไม่ยุยงคนอื่นให้แตกแยกกัน

อีกทางหนึ่งที่ผู้เขียนทำคือ พยายามทำบุญที่เกี่ยวกับช่องปากให้มากหน่อย ปีนี้ (2549) มีโครงการฟันปลอมผู้สูงอายุ นี่เข้าข่ายบุญสายช่องปาก ต้องรีบสมทบทุนทันที

ปากกาลูกลื่นนี่ใช้ได้หลายอย่าง ใช้เป็นของแจกก็ได้ เป็นของทิป(ขอบคุณ)ก็ดี บางทีเราไม่มีใบย่อย(แบ๊งค์ย่อยหรือธนบัตร) ใช้ปากกาลูกลื่นแทนไปก่อนได้

เรื่องหยูกยาประจำตัวนี่ต้องนำไปเอง โรงพยาบาลพม่ามีงบประมาณค่อนข้างน้อย ท่านพระอาจารย์สมลักษณ์ วัดท่ามะโอเล่าให้ท่านพระอาจารย์เทพพนมว่า “โรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลจริงๆ ไม่มียา คนไข้และญาติต้องไปหาซื้อยาจากร้านขายยามาเอง”

ยาอะไรที่เราพอจะนำไปได้ควรนำไปเผื่อไว้ เผื่อเหลือดีกว่าเผื่อขาด โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้ปวด และยาปฏิชีวนะที่คาดว่าจะต้องใช้ในคราวจำเป็น

ถ้าประเทศไทยช่วยเพื่อนบ้านทางด้านสาธารณสุขได้น่าจะได้ทั้งมิตรภาพ และดีกับคนไทยไปด้วยในตัว เนื่องจากโรคระบาดหลายชนิดก็ระบาดข้ามชาติไปๆ มาๆ ตามชายแดนอยู่แล้ว

ต่อไปเป็นเรื่องกล้องดิจิตอล พม่าเป็นชาติที่มีศิลปวัฒนธรรมให้ถ่ายภาพมากมาย จึงต้องเตรียมถ่านไฟฉายไปทั้งแบบชาร์จได้ และแบบชาร์จไม่ได้ เตรียมหน่วยความจำกล้องไปมากหน่อย

กล้องของหลานผู้เขียนปิดจอภาพ (LCD) ไม่ได้ ทำให้เปลืองไฟมาก ถ้าเป็นกล้องที่ปิดจอภาพ (LCD) และมองภาพทางช่องมองภาพช่องเล็ก (viewfinder) ได้จะประหยัดไฟไปได้มาก

คนที่ใช้กล้องถ่ายภาพแบบฟีล์มมาก่อนแบบผู้เขียนต้องปรับตัวมากเมื่อใช้กล้องดิจิตอล(ชนิดราคาถูก)

กล้องแบบฟีล์มนั้นกดชัตเตอร์แล้วได้ภาพทันที กล้องดิจิตอลกดชัตเตอร์แล้วต้องรอให้เลนซ์โฟกัสภาพก่อน หลังจากนั้นจึงบันทึกภาพ กว่าจะถ่ายภาพใหม่ได้ก็เสียเวลาไป 1-2 วินาที

ปฏิกริยาของคนชาติต่างๆ เวลารู้ตัวว่า ถูกถ่ายรูป (photogenic effect) ไม่เหมือนกัน คนไทยมักจะอายนิดหน่อย

คนอินเดียมักจะดีใจ เต๊ะท่าเหมือนกับเป็นดารา หรืออาจจะนึกว่า เป็นราชาหรือรานี(รานีภาษาฮินดีหมายถึงราชินี)ไปชั่วคราว

ส่วนคนพม่าไม่ชอบให้ใครมาถ่ายรูป และถือเป็นธรรมเนียมว่า ใครจะถ่ายภาพต้องขออนุญาตก่อน คนพม่าหลายท่านโกรธเมื่อรู้ว่า ถูกถ่ายรูปโดยไม่ได้ขออนุญาต

ถ้าเป็นคนขายของ... ถ่ายภาพแล้วควรช่วยซื้อของ ถ้าไม่ซื้ออาจจะถูกต่อว่าได้ ความจริงถึงจะขออนุญาตก็อาจจะถูกปฏิเสธกลับมา เสียง “โน (No)” ชัดถ้อยชัดคำ เพราะคนพม่าเก่งภาษาอังกฤษ

ผู้เขียนถ่ายภาพคนขายของข้างๆ พระเจดีย์ชเวดากองไปหลายท่านโดยไม่ทันได้ขออนุญาตก่อน เมื่อเดินผ่านไปก็ไม่ทันได้พิจารณาว่า ควรช่วยซื้อของหน่อย เขาจะได้ไม่โกรธ พอเดินผ่านมีเด็กคนหนึ่งตะโกนเรียก “เฮ... เฮยู (Hey... Hey You)

ผู้เขียนนึกว่า เขาบ่นเป็นภาษาอังกฤษเฉยๆ บ่ายวันนั้นเดินทางกลับเมืองไทย มีหนังสือคู่มือสำนวนพม่า (Myanmar phrasebook) เล่มเล็กขายที่สนามบินมิงกะลาดอน ย่างกุ้ง ผู้เขียนซื้อมา 2 เล่ม เปิดอ่านดูศัพท์และสำนวนที่น่าสนใจ

ตำราท่านว่า “เฮ... เฮยู (Hey...Hey You)” นี่เป็นคำพ้องเสียง ฟังดูคล้ายเสียงเรียกในภาษาอังกฤษเฉยๆ แต่เสียง “ยู่” พม่าแปลว่า “ไอ้บ้า”

อ่านแล้วก็นึกชมว่า คนพม่านี่ช่างคิดช่างค้นคำได้เก่งจริงๆ

ถึงแม้เราจะต้องการถ่ายภาพให้ดูเป็นธรรมชาติ (snapshot) แต่เมื่อไปบ้านเมืองพม่าก็ควรเคารพคนพม่าด้วย จึงขอถือโอกาสกล่าวคำขอโทษชาวพม่ามา ณ ที่นี้

ต่อไปถ้ามีโอกาสไปพม่าอีกก็จะถ่ายภาพอีก คราวนี้จะพยายามใช้กล้องที่มีซูมถ่ายไกล (telephoto) หรือตั้งค่าความละเอียดภาพ (pixel) ให้สูงหน่อย ถ่ายให้ไกลหน่อย และไปขยายภาพทีหลัง จะได้ไม่ถูกต่อว่ามาอีก

คนพม่ามีธรรมเนียมที่ดีมากอีกประการหนึ่งได้แก่ การไม่นิยมถ่ายรูปกับของสูง เช่น พระเจดีย์ วัด ฯลฯ ท่านกล่าวว่า ถ้านำภาพไปไว้ที่ต่ำก็ดูจะขาดความเคารพ(ต่อของสูง) ถ้านำภาพไปไว้ที่สูง เช่น หิ้งพระ ฯลฯ ก็ดูจะไม่สมควร เพราะนำภาพตัวเราไปไว้ที่สูง

เรื่องนี้ผู้เขียนพิจารณาแล้วรู้สึกเคารพคนพม่าขึ้นมาทันที เพราะท่านเข้าใจคิดได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน

เรื่องนี้คล้ายกับพระพุทธรูปพม่าที่นิยมมีฉากหรือม่านปิดไว้ด้านหน้า เมื่อจะบูชาจึงเปิดฉากหรือม่านออก โดยเฉพาะพระพุทธรูปในบ้านมีความสำคัญมาก เพราะถ้าเปิดไว้ตลอดเวลาจะต้องแสดงความเคารพตลอดเวลา เช่น แต่งกายหน้าพระไม่ได้ ฯลฯ

“สาธุ สาธุ สาธุ” ขอกล่าวคำสาธุการให้กับแบบแผนประเพณีอันดีงามของชาวพม่า

แหล่งข้อมูล:

  • ขอขอบคุณ > Receipt No. Aox 939, Aox 944. Chiangmai B.I.S Travel. 12/1 Loikroh road, Changklan, Amphur Muang, Chiangmai 50100. Tel. 053.206738, 053.280.728, 053.279.111. May 28, 2005. (คุณสุพรรณ).
  • ขอขอบคุณ > Hey You! Burmese Phrasebook. Lonely Planet. 3rd ed. P.44.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง จัดทำ > ๓ เมษายน ๒๕๔๙ >
หมายเลขบันทึก: 23011เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2006 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 11:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ติดตามอ่านค่ะ

นักท่องเที่ยวผู้หญิงมีมากไหมคะ

  • มีอาหารทะเลส่งมาทางอำเภอสังขละบุรี กาญจนบุรี เป็นกุ้งแห้ง แถบที่คุณหมอไปมีสินค้าที่มาจากทะเลบ้างไหมครับ
  • ถ้ารัฐบาลไทยช่วยเหลือโรงพยาบาลของพม่าคงดีไม่น้อยนะครับ
  • ขอบคุณหมอมากครับที่นำเรื่องมาให้อ่าน
นพ.วัลลภ (ขิ่น หม่าว มยิต์)
  • ขอขอบคุณอาจารย์ JC, อาจารย์ขจิต และท่านผู้อ่านทุกท่าน...
  • ขอมูลสถิติของพม่าพบว่า คนที่เดินทางเข้าพม่าปี 2003 (2546) ซื้อทัวร์ไปเที่ยว (package) 27 %, ไปเอง (independent) 34 %, เข้าไปทำธุรกิจ 23 %, อื่นๆ 16 % ที่มา (April 8, 2006): http://www.myanmartravelinformation.com/myanmar-tourism-statistics/types-of-tourist.htm
  • นักท่องเที่ยวปี 2003 (2546) เป็นผู้ชาย 63 % ผู้หญิง 37 %; 58 %
  • อายุ 21-50 ปี = 58 %; 51+ ปี = 37 %; 1-20 ปี = 5 %
  • นักท่องเที่ยวปี 2003 (2546) มีเชื้อชาติต่างๆ ดังนี้ // (1). เอเชีย 59.04 % (ไทย 10.8 %, ไต้หวัน 9.55 %, ญี่ปุ่น 9.14 %, จีน 7.57 %, ฮ่องกง 0.81 %); (2). ยุโรปตะวันตก 28.29 % (เยอรมนี 6.49 %, ฝรั่งเศส 6.38 %, สหราชอาณาจักร 3.82 %); (3). อเมริกาเหนือ 7.67 % // ที่มา: http://www.myanmartravelinformation.com/myanmar-tourism-statistics/visitors-nationalities.htm
  • นักท่องเที่ยวปี 2003(2546) เข้าไปทางไหน // (1). ชายแดน (391,405) ส่วนใหญ่เป็นทางใต้และตะวันออก(ไทย-จีน); (2). ย่างกุ้ง (198,435); (3). มัณฑเลย์-พุกาม (7,175) // ที่มา: http://www.myanmartravelinformation.com/myanmar-tourism-statistics/index.htm
นพ.วัลลภ (ขิ่น หม่าว มยิต์)
  • ผมไปพม่าเพียงแค่ 22 วัน มีโอกาสไปตลาดพุกามเพียงที่เดียว ไม่ทันได้สังเกตว่า มีอาหารทะเลจำหน่ายหรือไม่ เท่าที่มองผ่านๆ ไม่พบครับ...
  • รพ.ชายแดนไทย โดยเฉพาะตาก เชียงรายจะมีคนไข้พม่าเข้ามามากทีเดียว
  • ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า ถ้ารัฐบาลไทยช่วยในเรื่องทุนการศึกษา หรือตั้งวิทยาลัยพยาบาล-สาธารณสุขข้ามชาติ (transnational schools) สอนเป็นภาษาอังกฤษ จะดีทั้งกับไทยและพม่า
  • อาจารย์พม่าเก่งภาษาอังกฤษ ขณะเดียวกันอาจารย์ไทยเก่งทางด้านสาธารณสุข ถ้ารวมกันแล้ว...ความเก่งจะเสริม (synergy) กันมากทีเดียว แบ่งนักเรียนกันคนละครึ่ง น่าจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (sum-sum game)
  •  ขอบคุณมากครับคุณหมอ
  • ทำอย่างไรรัฐบาลไทยจะสนใจช่วยปัญหาสาธารณะสุขเพื่อนบ้านเรา น่าสนใจนะครับ

             

       







นพ.วัลลภ (ขิ่น หม่าว มยิต์)
  • ขอขอบคุณอาจารย์ขจิต ท่านผู้อ่าน และท่านผู้ให้ข้อคิดเห็นทุกท่าน...
  • เรื่องการช่วยเหลือเพื่อนบ้านนี่... ผมเชื่อว่า เป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย และควรร่วมมือกันในรูปอาสาสมัคร การศึกษา การวิจัยอะไรทำนองนี้
  • ดูอย่างที่ญี่ปุ่นให้กับพม่า เขาให้รถคลังเลือด และมีอาสาสมัครเข้าไปทำงานด้วย เข้าใจว่า คงจะประทับใจคนพม่ามาก ถ้าให้แต่เงินจะดูไม่ดีเท่ากับการทำอะไรร่วมกัน
  • เชิญชมภาพแม่ค้าพม่าที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองพุกามhttp://www.gotoknow.org/file/wullopporn/Sleeping.jpg
  • อะไรเอ่ย...สาวพม่าท่านนี้กำลังทำอะไรอยู่หนอ http://www.gotoknow.org/file/wullopporn/What.jpg
-ขจิต ฝอยทอง( khajit's blog)
  • ดูเหมือนขายนำดื่มอะไรซักอย่างนะครับ
  • ช่วยเฉลยด้วยครับ
  • ขอบคุณครับ
นพ.วัลลภ (ขิ่น หม่าว มยิต์)
  • ขอขอบคุณอาจารย์ขจิต ท่านผู้อ่าน และท่านผู้ให้ข้อคิดเห็นทุกท่าน...
  • เฉลย >>> ภาพ "~What.jpg" สาวพม่าท่านนี้ขายน้ำเย็นใกล้กับตลาดเมืองมัณฑเลย์ครับ เมื่อยปล่อยน้ำให้ไหลผ่านก้อนน้ำแข็งลงด้านล่าง จะทำให้ได้น้ำเย็นแบบพม่า ดูเหมือนราคาประมาณ 1 จั๊ต
  • คำถามต่อไป >>> ชายพม่าท่านนี้นั่งทำอะไร?http://www.gotoknow.org/file/wullopporn/layman.jpg
ขอเดาว่าขายโน๊ตเพลงค่ะ
นพ.วัลลภ (ขิ่น หม่าว มยิต์)
  • ขอขอบคุณอาจารย์ JC ท่านผู้อ่าน และท่านผู้ให้ข้อคิดเห็นทุกท่าน...
    เฉลย >>> ท่านเป็นศรัทธาวัด/พระเจดีย์ หรือสัปบุรุษ ด้านหน้าท่านมีใบอนุโมทนา 3 ชุด ด้านซ้ายของท่านมีตู้รับบริจาค ทางขวามือของท่านมีแผ่นโลหะ 3 เหลี่ยม หรือ "กังสดาล" เหมือนกับกังสดาลของทางเหนือ
  • เมื่อมีคนทำบุญ ท่านจะตีกังสดาล คนพม่าเชื่อกันว่า เป็นการให้ส่วนบุญแด่เทวดาทั้งหลาย
  • ผมเข้าใจว่า เทวดาท่านคงจะรักคนพม่ามาก เพราะคนพม่าให้ส่วนบุญเทวดาบ่อย เช่น ก่อนพระออกบิณฑบาตก็ตีกังสดาลดัง "เก๊ง..."
  • อาจารย์บุญสอนบาลีที่วัดท่ามะโอกล่าวว่า การตีกังสดาลให้ตีทางข้าง ใกล้มุม 3 เหลี่ยม เสียงจึงจะดังกังวาล ถ้าตีตรงกลางเสียงจะตาย ไม่กังวาล 
  • ปีใหม่ไทยตรงกับปีใหม่พม่า(สงกรานต์) ขอคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายโปรดปกป้อง คุ้มครองอาจารย์ ท่านผู้อ่าน ท่านผู้แสดงข้อคิดเห็นทุกท่าน ขอคนไทยและคนพม่าพึงมีความสุข ความเจริญ ความปรารถนาที่ดีงามของทุกท่านพึงสำเร็จโดยเร็วพลันเทอญ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท