จุดประกายจากงานของชาวบ้าน


การจัดการความรู้ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ว่าคนกลุ่มไหนก็สามารถร่วมกันดำเนินการจัดการความรู้ได้

 

เมื่อวานศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ได้กรุณามอบหนังสือเกี่ยวกับการจัดการความรู้เรื่องดิน "ดินดิ้นได้ : การจัดการความรู้ชาวบ้านฉบับตำราดิน" ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นจากข้อมูลสรุปรายงานโครงการฟ้าสู่ดินที่บุรีรัมย์ ซึ่งมีครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ จากสถาบันภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นหัวหน้าโครงการ  

โครงการนี้สนับสนุนโดย สคส. มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสร้างและการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชาวบ้าน โดยใช้กรณีศึกษาในเรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์และกินดีอยู่ดีของชาวบ้าน โดยผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งชาวบ้านเป็นผู้จัดขึ้นเอง

น้องๆ เจ้าหน้าที่ของ สคส. บอกดิฉันว่าได้หนังสือแล้วต้องมีการบ้านนะ

เมื่อได้รับหนังสือมาแล้วต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดิฉันจึงเริ่มอ่านตั้งแต่เมื่อคืน และอ่านต่อตอนเช้ามืดและตอนสายของวันนี้ อ่านจนจบเล่ม โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อหาของชาวบ้านจะอ่านละเอียดหน่อย ดิฉันเป็นลูกชาวนา (แต่ทำนาไม่เป็น) ใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่บ้านนอกที่เป็นชนบท เมื่ออ่านหนังสือจึงจินตนาการเห็นภาพและเข้าใจได้ไม่ยาก

ดิฉันคิดว่าความสำเร็จของโครงการนี้ นอกจากจะเกิดขึ้นเพราะภาวะผู้นำของครูบาสุทธินันท์แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นอีกคือ (๑) ดิน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการทำมาหากินและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน (๒) โจทย์ที่ใช้คือโจทย์ความจริง (๓) ชาวบ้านได้รับการ "เอื้ออำนาจ" มีอิสระในการคิด การทำ การเรียนรู้ (๔) ผู้นำ ครูบาสุทธินันท์ รู้จักหาและใช้แหล่งประโยชน์ที่เหมาะสม (๕) ได้รับการสนับสนุน เอื้ออำนวย (ไม่ใช่การนำ) จาก สคส. และนักวิชาการ

โครงการนี้แสดงให้เห็นว่าการจัดการความรู้เป็นกระบวนการที่ไม่รู้จบ มีโจทย์ให้เราดำเนินการต่อได้เรื่อยๆ

ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เขียนคำนิยมของหนังสือเล่มนี้ ส่วนหนึ่งว่า

"สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) จัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือเล่มนี้ด้วยจุดมุ่งหมายให้สังคมไทยได้ร่วมเรียนรู้เทคนิควิธีการดำเนินการจัดการความรู้ฉบับชาวบ้าน และเรียนรู้ความรู้เกี่ยวกับการบำรุงดินเพื่อการเกษตร และด้วยจุดมุ่งหมายให้หนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องมือจุดประกายให้เกิดการจัดการความรู้ในทุกภาคส่วนของสังคมไทย ให้เห็นว่าการจัดการความรู้ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ว่าคนกลุ่มไหนก็สามารถร่วมกันดำเนินการจัดการความรู้ได้"

ชาวบ้านจัดการความรู้ได้ ดิฉันยิ่งมั่นใจว่าผู้ป่วยเบาหวานก็จัดการความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองได้เช่นกัน  เรื่องการดูแลตนเองใกล้ตัวเสียยิ่งกว่าเรื่องดินอีก เพราะมีผลโดยตรงต่อสุขภาพ ชีวิต และคุณภาพชีวิตของเขา 

ในหนังสือบทที่ ๕ กว่าดินจะดิ้นได้ บอกแนวทางการดำเนินงานที่น่าจะนำไปประยุกต์ได้

อยากให้สมาชิกช่วยกันคิด ช่วยกันออกแบบ การจัดการความรู้ของผู้ป่วยเบาหวานค่ะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๘

 

หมายเลขบันทึก: 2300เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2005 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ คุณหมอวัลลา

 ก่อนอื่นขอแนะนำตัวก่อนค่ะ ชื่อ จิราวรรณ  หรือ น้ำ (thewater) เป็นทีมประชาสัมพันธ์ ของสคส. ค่ะ ก่อนหน้านี้กคุณธวัช หมัดเต๊ะ คงเล่าคร่าวๆ ให้คุณหมอทราบบ้างแล้วค่ะ

ทางทีมประชาสัมพันธ์ภายใต้โครงการเคลื่อนกระแสการจัดการความรู้สู่สังคม มีความประสงค์ขอนัดสัมภาษณ์ คุณหมอวัลลา เกี่ยวกับ เครือข่ายเบาหวานของรพ.เทพธารินทร์ ทั้งนี้เพื่อประกอบข้อมูลในการนำเสนอภาคีเครือข่ายการจัดการความรู้ ในงานมหกรรมการจัดการความรู้ครั้งที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 1-2 ธันวาคม 2548 นี้ที่โรงแรม มิราเคล แกรนด์ค่ะ พร้อมกันนี้ก็จะขอเชิญรพ.เทพธารินทร์เข้าร่วมจัดงาน ซึ่งประเด็นหลังนี้ อ.วิจารณ์บอกว่าขอเชิญเข้าร่วมจัดงาน แบบห้ามปฏิเสธค่ะ

ซึ่งประเด็นที่ทีมประชาสัมพันธ์จะเรียนสัมภาษณ์ ก็คือ

จุดเริ่มต้นในการสร้างเครือข่ายหมอเบาหวาน และผู้ป่วยเบาหวาน ,เป้าหมาย ,รูปแบบหรือวิธีดำเนินงาน ,ผลงานที่เกิดขึ้น, เครือข่ายของเบาหวานที่เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนของรพ.เทพธารินทร์, และนำ KM ไปใช้ในรูปแบบใดค่ะ

พร้อมกันนี้ก็ขอเรียนปรึกษาด้วยค่ะว่า หากจะไปดูของจริง เวลาหมอ หรือ ผู้ป่วยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน จะไปดูที่ไหน เมื่อไหร่ค่ะ

ซึ่งวันและเวลาแล้วแต่คุณหมอวัลลาสะดวกค่ะ...

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบพระคุณไว้ล่วงหน้าก่อน ค่ะ หากคุณหมอมีความคืบหน้าอย่างไร รบกวนติดต่อน้ำได้ใน blog หรือ 02-6199701 มือถือ 051611839 หรือ [email protected] ก็ได้ค่ะ

อ.วัลลาคะ

        ดีใจจังค่ะที่เมื่ออาจารย์ได้รับขุมทรัพย์แล้ว ก็รีบเปิดดูค้นหาทรัพย์สินทางปัญญา แล้วก็ช่วยย่อยเนื้อหาเป็นเล่มเล็กๆ เป็นการเริ่มต้นจุดประกายให้แก่คนที่ยังไม่ได้อ่าน ได้รู้เรื่องราวโดยย่อ เป็นการเรียนลัดก่อนที่จะไปตามหาขุมทรัพย์ฉบับเต็มดังที่อาจารย์ได้ทำก่อนแล้ว

      และหากอาจารย์จะมีความคิดเห็นในมุมมองอื่นๆ ในหนังสือดินดิ้นได้   blog นี้มีที่พิเศษสำหรับอาจารย์เสมอค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท