watchdog ha


แม้จะอยู่ภายใต้ความกดดันต่าง ๆ เสียขวัญกำลังใจ แต่จิตใจของชาวโรงพยาบาลกะพ้อยังเต็มเปี่ยมไปด้วยคำว่า “ คุณภาพ”

เมื่อหลายเดือนก่อนท่านอ.ที่ปรึกษาของพรพ.ได้เดินทางไปเยี่ยมสำรวจที่โรงพยาบาลกะพ้อและท่านได้กรุณาจัดทำบันทึกเรื่องราวในการเข้าเยี่ยมครั้งนี้  มาให้เราพนักงานพรพ.ได้รับทราบถึงการดำเนินงานของโรงพยาบาลภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบด้วย     ซึ่งจากการบันทึกเรื่องราวของอาจารย์ในวันนั้นทำให้พวกเราชาวพรพ.ได้เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงความยากลำบากในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลเป็นอย่างยิ่ง  ดังนั้นเพื่อให้เพื่อนโรงพยาบาลที่มีใจรักในการพัฒนาคุณภาพได้ร่วมเป็นกำลังใจให้กับโรงพยาบาลกะพ้อ    วันนี้จึงขอหยิบยกเอาบันทึกของอาจารย์ ผ่อนพรรณ ธนา ที่ปรึกษาของพรพ. มาเล่าสู่กันฟัง     
                หลังจากรถโรงพยาบาลได้วิ่งออกจากตัวเมืองหาดใหญ่ ในจังหวัดสงขลา  ทีมที่ปรึกษาซึ่งร่วมเดินทางไปด้วยในวันนั้นต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  ตลอดเส้นทางที่รถวิ่งผ่านมา เพื่อมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางที่โรงพยาบาลกะพ้อ จังหวัดปัตตานีนั้นดูเงียบเหงาจัง  ระหว่างทางเห็นแต่ความเขียวและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ  สวนยาง  สวนผลไม้   แต่ไม่มีรถพลุกพล่านเลย  ยกเว้นเมื่อรถเข้าสู่เขตปัตตานี ยะลาและ นราธิวาส  จะพบว่าคนขับรถด้วยความเร็วสูงถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง    สภาพสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ดูปกติ  แต่จะพบจุดตรวจเป็นระยะ ๆ ซึ่งรถต้องชลอความเร็ว  เราพบบังเกอร์เป็นช่วง ๆ ตั้งอยู่ตลอดทาง มีทหาร ตำรวจ ที่มีอาวุธพร้อม   ข้างทางจะพบว่าในบริเวณสถานที่ราชการจะมีรั้วลวดหนามกั้นไว้สูง   และเมื่อทีมที่ปรึกษาเดินทางมาถึงโรงพยาบาลก็พบว่าทีมพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลรอรับอยู่บริเวณหน้าอาคาร ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสพร้อมกับดอกไม้ช่อเล็ก ๆ ที่บ่งบอกถึงมิตรไมตรีและความเป็นห่วงเป็นใยที่ให้กัน
                โรงพยาบาลกะพ้อ เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กมีจำนวน10 เตียง ลักษณะ อาคารต่าง ๆ ก็เป็นอาคารชั้นเดียว กะทัดรัด  ภายในอาณาเขตโรงพยาบาลมีการจัดแต่งสวนได้อย่างสวยงามน่ารักเหมาะกับอาคารด้านหลังของโรงพยาบาล คือภูเขาบูโด
                จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ตั้งแต่เดือน มกราคม 2547- จนถึงปัจจุบัน  ได้ส่งให้เจ้าหน้าที่บุคคลากรต่างก็เสียขวัญกำลังใจ  อย่างเช่นเหตุการณ์ พบวัตถุที่ใช้สำหรับวางระเบิดที่ป้องยามของโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2547 , เหตุยิงคนสวนของโรงพยาบาลเสียชีวิต  เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2548 , และเหตุการณ์โทรศัพท์ข่มขู่ฆ่าแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลเป็นต้น    โดยโรงพยาบาลจึงได้มีการประมวลเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและนำมาจัดทำแผนเตรียมการ ในการป้องกันเหตุการณ์ร้ายดังนี้  การจัดหาสถานที่ปลอดภัยที่สุดในโรงพยาบาล การสร้างรั้วลวดหนามหลังโรงพยาบาล การสร้างกำแพงปูนรอบโรงพยาบาล  การสร้างที่เก็บTANK ออกซิเจนให้มีความปลอดภัย    การให้เจ้าหน้าที่ ย้ายมานอนในโรงพยาบาล  และให้เจ้าหน้าที่ที่มีบ้านอยู่นอกโรงพยาบาลมาทำงานหลัง 7 โมงเช้า  และต้องกลับบ้านก่อน 1 ทุ่ม มีการเตรียมไฟฉุกเฉิน  มีถังดับเพลิงในทุกจุดซึ่งจะต้องเก็บเป็นความลับรู้เฉพาะกลุ่มเจ้าหน้าที่เท่านั้นเพื่อป้องกันการขโมยเอาไปทำระเบิด
 
                 นอกจากจะวางแนวความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่แล้วโรงพยาบาลยังได้มีการเชื่อมโยงความห่วงใยไปยังผู้ป่วยและชุมชนที่มีปัญหาด้านสุขภาพด้วย    โดยการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานในการสร้างชุมชนให้สามารถดูแลตนเองได้ในเบื้องต้น  แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำงานนอกพื้นที่โรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย จึงได้ปรับการดำเนินงานในส่วนของการติดตามผู้ป่วยจากเจ้าหน้าที่เปลี่ยนมาเป็น อสม. แทนซึ่งเป็นการปรับกลยุทธ์ให้อมส. เป็นเสมือนแขน   ขาของโรงพยาบาล อสม. มาประชุมในโรงพยาบาลทุกๆ เดือนอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามงาน และค้นหาผู้ป่วยในชุมชน ติดตามค้นหาเสียงสะท้อนในชุมชน   นอกจากนี่ยังมีการสร้างแรงจูงใจให้กับอสม.ที่เข้าร่วมการดำเนินงานกับโรงพยาบาล เช่น การจัดพาไปศึกษาดูงานด้วย

              การปรับเปลี่ยนระบบการทำงานอีกอย่างคือมีการประชุมวิเคราห์สถานการณ์เป็นระยะ ๆ เพื่อปรับระบบงาน (PDCA  ชัดเจนมาก) กล่าวคือเมื่อเกิดเหตุการณ์แต่ละครั้งก็นำมาวิเคราะห์หาสาเหตุและปรับปรุงทันทีเช่น การเดินทางโดยขี่มอเตอร์ไซค์ของบุคคลากรที่อยู่อำเภอสายบุรีมาโรงพยาบาลซึ่งไม่ปลอดภัยเพราะเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์มักจะเกิดก่อน 07.00 น.และเกิดกับคนขี่มอเตอร์ไซค์คนเดียวจึงปรับเป็นให้ไปมากันเป็นกลุ่มและเดินทางหลัง 07.00 น. และเดินทางกลับก่อน 18.00น.
                ชาวโรงพยาบาลกะพ้อแม้จะอยู่ภายใต้ความกดดันต่าง ๆ เสียขวัญกำลังใจได้มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ไม่ต่างกับชาวบ้านอำเภอกะพ้อ ที่เคยออกกรีดยางตี 2 เป็นกรีดยางตอน กลางวัน  แต่จิตใจของชาวโรงพยาบาลกะพ้อยังเต็มเปี่ยมไปด้วยคำว่า  “ คุณภาพ”
                นอกจากจะมองว่าเจ้าหน้าที่ต้องปลอดภัยที่สุดก็ยังเผื่อแผ่ที่จะให้ประชาชนที่ต้องรับผิดชอบ  ปลอดภัยจากการดูแลผู้ป่วยของทีมสหสาขาวิชาชีพในขณะอยู่โรงพยาบาลโดยมีการนำเอาปัญหา  ความเสี่ยง ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วมาพูดคุยกันประจำในตอนบ่าย ๆ กรณีที่ผู้ป่วยหรือประชาชนที่ไม่สามารถมาโรงพยาบาล  กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องค้นหา เพื่อที่จะให้การดูแลที่เหมาะสม ก็มีการพัฒนา อสม. ให้เป็นแขนขาให้เจ้าหน้าที่ เป็นการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งไม่ว่าจะเป็นการตั้งรับ และเชิงรุก ( สู่ชุมชน)
 
                เรื่องเล่าจากโรงพยาบาลที่อาจารย์ผ่องพรรณ  ธนาเขียนบันทึกไว้ยังคงมีเรื่องดี ๆ อีกมากมาย   เอาเป็นว่าจะทยอยเขียนมาเล่าให้ได้อ่านอีกคราวหน้าแล้ว

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2309เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2005 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท