โดย จารุพรรณ กุลดิลก
ประมาณครึ่งปีก่อน มีบทความจิตวิวัฒน์ที่ชื่อว่า “การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ” เขียนโดยวิจักขณ์ พานิช นักเรียนไทยที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ ประเทศสหรัฐอเมริกา (มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เน้นการเรียนรู้คุณค่าของชีวิต เป็นมหาวิทยาลัยนอกกระแสหลักที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในขณะนี้) โดยวิจักขณ์ แปลมาจากคำว่า Contemplation ซึ่งเป็นชื่อวิชาที่นักการศึกษาระดับแนวหน้าของโลกกำลังให้ความสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นวิชาที่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องการเรียนรู้ของมนุษย์อย่างได้ผล เนื่องจากปัญหาของมนุษย์ที่พบเห็นอยู่เสมอ คือบางครั้งคนเก่งอาจตัดสินใจทำอะไรลงไปโดยหลงลืมแง่มุมของจริยธรรม หรือคนมีจริยธรรมอาจขาดศิลปะในการทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม สิ่งเหล่านี้ได้รับการอธิบายจากผู้ทรงคุณวุฒิทั่วโลก ว่าเป็นผลมาจากการศึกษาอย่างแยกส่วน วิชาความรู้กับความจริงของชีวิตถูกสอนแยกกันโดยสิ้นเชิง เราจึงไม่รู้ว่าคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่แท้คืออะไร คุณภาพด้านนอกและด้านในของมนุษย์จึงไม่สอดคล้องกลมกลืนไปด้วยกัน
ดังนั้น ภายใต้ความคิดกระแสหลักทั้ง ๒ สายในปัจจุบัน คือปัจเจกเสรีนิยมและสังคมนิยมที่ต่อต้านการแบ่งแยกชนชั้น ซึ่งต่างพัฒนาไปคนละทิศอย่างสุดขั้ว จึงล้วนไม่สามารถทำให้มนุษย์พบกับอิสรภาพอย่างแท้จริงได้ และหากปราศจากการใคร่ครวญอย่างจริงจัง ย่อมจะปักใจเชื่อไปตามกระแสใดกระแสหนึ่งอย่างสุดโต่ง แต่ถ้าตั้งโจทย์ให้กับสังคมเสียใหม่ว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีทั้งความเก่งที่จะสามารถดำรงตนให้อยู่รอด และมีความดีที่ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น สามารถรังสรรค์ชุมชนของตนให้น่าอยู่ ยังจะเกิดการต่อสู้เพื่อกระแสใดกระแสหนึ่งอีกกระนั้นหรือ ดังนั้นหนทางที่ตรงและเร็วที่สุดในการทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขคือ การปฏิวัติการเรียนรู้ของมนุษย์ ทั้งหมด เพื่อบ่มเพาะให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี ซึ่งในที่นี้หมายถึง เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ที่ตนศึกษาอย่างถ่องแท้ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการพัฒนาคุณภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในระดับจิตวิญญาณหรือจิตสำนึกใหม่ ที่รู้จักรับผิดชอบต่อการดำรงอยู่ของสังคมและมีหัวใจที่จะดูแลโลกให้ร่มเย็นเป็นสุขสืบไป อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพอย่างที่ฝัน เนื่องจากศาสตร์แนวหน้าต่างๆ ล้วนมีความยากและซับซ้อน เพียงการถ่ายทอดแต่ละวิชาให้นักเรียนเข้าใจก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว ดังนั้น การจะนำเรื่องแก่นปรัชญาในเชิงคุณธรรมจริยธรรมของแต่ละศาสตร์มาประยุกต์ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เป็นเรื่องยากเสียยิ่งกว่า และเป็นที่รู้กันว่า เรื่องใดยาก จะทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่เกิดความท้อใจและเบื่อหน่ายต่อการเรียนรู้ในที่สุด ดังนั้น เมื่อจบออกไป คนเหล่านั้นจะยังคงมีความสับสนในชีวิต วิชาการก็ไม่แม่นยำ แก่นแท้ก็ไปไม่ถึง เป็นอันตรายต่อการสร้างชาติอย่างยิ่ง เพราะถ้าบุคลากรในประเทศไม่สามารถนำวิชาความรู้มาแก้ไขความทุกข์ซึ่งเป็นเรื่องจริงของชีวิตได้ มิหนำซ้ำยังเอาไปหาประโยชน์ใส่ตัว เบียดเบียนผู้อื่นและเกิดการบริโภคอย่างเกินพอดี ยิ่งจะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคม จนกลายเป็นสังคมแห่งความทุกข์ จนเมื่อถึงวันหนึ่งที่ความสุขด้านนอกตัวไม่สามารถตอบสนองต่อเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริงของคนในสังคมได้แล้วนั่นแหละ จึงค่อยย้อนกลับมาสู่ประตูธรรม หันหน้าเข้าพึ่งพาความรู้ที่ช่วยเยียวยาจิตใจ เช่น หลักศาสนาของตน เป็นต้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากบุคลากรของชาติมัวไปเสียเวลากับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชาติโดยรวม กว่าจะเข้าใจชีวิตและหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ อาจใช้เวลาเกือบทั้งชีวิต ซึ่งเราไม่สามารถรอได้นานขนาดนั้นแล้ว เนื่องจากวิกฤตการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันกำลังรุมเร้าเข้ามา ทั้งภัยธรรมชาติและภัยที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์เอง เป็นสัญญาณบอกเหตุว่าถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ทั้งหมดจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด และหันมาร่วมมือกันแก้ไขสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
การเรียนรู้หลักๆ ของจิตตปัญญาศึกษาคือ ศาสตร์ต่างๆ บนโลกที่สามารถอธิบายความเป็นหนึ่งเดียว ของทุกสรรพสิ่ง และทำให้ทุกคนเข้าใจได้อย่างง่ายๆ เช่น ความรู้เรื่องนิเวศวิทยาแนวลึก (Deep Ecology) หรือจักรวาลวิทยา (Cosmology) เป็นต้น รวมทั้งการฝึกฝนในเรื่องของจิตใจ การฝึกสติ สมาธิ ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรปฏิบัติควบคู่ไปกับวิชาในห้องเรียน เพื่อให้เกิดการเปิดรับข้อมูลหรือความรู้อย่างเต็มที่ สุขภาพกายและใจจะดีขึ้น ผลการเรียนย่อมจะดีขึ้นด้วย เรียกว่าเรียนอย่างมีความสุข ซึ่งมีงานวิจัยมากมายทั่วโลกที่อธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างเป็นสากล และหนทางในการฝึกฝนจิตใจ ก็มีมากมายหลายวิธีตามความเหมาะสมกับคนแต่ละวัย มีทั้งความสนุกและได้สติ-สมาธิไปพร้อมๆ กัน เช่น การฝึกโยคะ การรำกระบอง เป็นต้น
มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเช่น ฮาร์เวิร์ด โคลัมเบีย แมสซาชูเซ็ท ฯลฯ ได้นำเรื่องของจิตตปัญญาศึกษาบรรจุเข้าไปในหลักสูตรในสาขาวิชาต่างๆ แล้ว รวมทั้งสถาบัน The Center for Contemplative Mind in Society ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของศาสตราจารย์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำเรื่องเหล่านี้ไปใช้ประกอบในการเรียนการสอนและการอบรมทางวิชาการอย่างเป็นระบบ นักศึกษาสามารถฝึกฝนกระบวนการเรียนรู้ การใคร่ครวญ อย่างสม่ำเสมอ จนสุดท้ายจะเข้าใจคุณค่าของวิชาชีพได้ด้วยตนเองจริงๆ เกิดความเข้มแข็งและความมั่นใจในการใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม
ขณะนี้ได้เกิดภาคีการเรียนรู้จิตตปัญญาศึกษาขึ้นในประเทศไทยแล้วเช่นกัน โดยความร่วมมือของหลายองค์กร เช่น สถาบันอาศรมศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนสัตยาไส สถาบันขวัญเมือง เสมสิกขาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โครงการจิตวิวัฒน์ (แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ เนื่องจากรากฐานทางวัฒนธรรมที่แท้ของสังคมไทยเป็นเรื่องเดียวกันนี้เอง ดังนั้นการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ รวมทั้งการวิจัยจึงเป็นเรื่องไม่ยากนัก อีกทั้งผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการศึกษาหลายคนมีความตระหนักแล้วว่า ถึงเวลาที่คนไทยควรจะกลับมาเรียนรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ เพราะเรามีประเพณีและกิจกรรมมากมายที่งดงามและส่งเสริมต่อการพัฒนาจิตใจ หากสามารถนำมาประยุกต์เชื่อมโยงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน มีการอธิบายให้ชัดเจนโดยใช้ศาสตร์ใหม่ๆ ชุดคำใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก จะทำให้คนเป็นอันมากสามารถมองเห็นและเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น และย่อมจะเกิดผลต่อการพัฒนาความรู้ให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ที่ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และการทำร้ายทำลายกัน แต่เกิดเป็นทางออกที่แสดงถึงปัญญาร่วมของมนุษย์ในที่สุด
DOWNLOAD จาก http://www.jitwiwat.org/
ไม่มีความเห็น