การรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการกับกระบวนการจัดการความรู้


การจัดการความรู้,ชุมชนที่ไม่เป็นทางการ, ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

วันก่อนเจอรุ่นน้อง (คุณจตุพร วิศิษฐ์โชติอังกูร นักวิจัยท้องถิ่นจังหวัดแม่ฮ่องสอน)ถามเรื่องการหารูปแบบแนวทางการจัดการรวมกลุ่มในบรรยากาศมิตรภาพและกันเองในหมู่คนทำงานวิจัยและพัฒนาชุมชนในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นแนวคิดที่กระตุกต่อมความสนใจผมไม่ใช่น้อย

ผมดองคำตอบเอาไว้สามวันตามประสาคนคิดช้า และช่วงนี้ก็มีงานฝึกอบรมเยาวชนยุ่งๆอยู่ มาวันนี้งานก็เพลาลง แม้ไม่หมดซะทีเดียว แต่อันไหนเบี้ยวได้ก็เบี้ยวบ้าง เผื่อจะได้มีเวลาอยู่กับลูกกับเมียและอยู่กับตัวเอง ให้ต่อมขี้เกียจมันได้ทำงานบ้าง


                    สายๆ นอนเต็มอิ่ม กินเต็มพุงแล้ว คำถามของรุ่นน้องก็ผุดขึ้นมา  ก็ตอบเลยดีกว่า และก็คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆได้

เกี่ยวกับเรื่องการเปิดวงสังสรรค์ว่าด้วยงานพัฒนาชุมชนที่เขาถามมานั้น ผมแสดงความเห็นไปว่า

“ ก็ดีใจนะครับที่มีคนให้ความสำคัญกับการสร้างกลุ่มคนทำงานโดยใช้รูปแบบการจัดเวทีเล็กๆทุกเดือน ในบรรยากาศที่ไม่เป็นทางการ อันนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง และคิดว่าหลายๆพื้นที่ก็ได้ทำไปแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ถูกนำมาจัดระบบการจัดการให้เป็นการจัดความรู้ที่เป็นรูปแบบชัดเจนขึ้น
ต้องถามใจตัวเราเองดูก่อนว่า เราอยากจะให้คนในวงการนักพัฒนามาพูดคุยหารือกันอย่างสภากาแฟของชาวบ้านหรือเปล่า ซี่งผมก็ทึกทักเอาตามระดับความไม่รู้ของผมว่ามันน่าจะเป็นไปในทำนองนั้น  ซึ่งไม่ผิดหรอกครับ ที่เราจะชื่มชมชื่นชอบกุศโลบายของชาวบ้านในการแก้ปัญหาโดยการใช้วิธีรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการ ปัญหาก็คือ เราจะทำอย่างชาวบ้านได้จริงหรือ?


มีความแตกต่างอย่างมหาศาลระหว่างการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการของชาวบ้าน กับการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการของบรรดานักพัฒนา อย่างน้อย 4 มิตินะครับ
1.     มิติชนชั้นหรือเศรษฐกิจ
2.     มิติว่าด้วยอุดมการณ์หรือวิธีคิด วิธีมองปัญหา ซึ่งนี่ก็สำคัญมาก เช่น ชาวบ้านอธิบายการถูกกดขี่ภายใต้กรอบความเชื่อเรื่องบุญกรรม แต่นักพัฒนาเห็นว่าเป็นผลจากระบบทุนนิยม มีตรรกะที่ต่างกันอย่างชัดเจน
3.     มิติการศึกษา
4.     มิติว่าด้วยจริต รสนิยม อารมณ์ความรู้สึก สุนทรียะ 


ช่องว่างเหล่านี้ เป็นปัญหาของทั้งสามฝ่ายนะครับ ทั้งกลุ่มชาวบ้าน และกลุ่มนักพัฒนา (รวมถึงพวกที่ไม่ใช่ชาวบ้านรากหญ้า และพวกที่ไม่ใช่นักพัฒนาตามนิยามของเรา?) ผมคิดว่าก็โอเคนะถ้าจะมีการรวมกลุ่มของนักพัฒนา แต่ต้องถามว่าสิ่งที่เราต้องการจริงๆนั้นคืออะไร? ถ้าเพื่อการประสานงานคล่องตัวก็ไปได้ แต่เพื่อจะเปิดสมอง กระโดดออกจากกะลาล่ะก็ผมว่ามันยังไปไม่ถึง  ดีไม่ดีจะเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อตอกย้ำหรือผลิตซ้ำความเชื่อในกลุ่มวิชาชีพของตนเองมากกว่า

เพราะฉะนั้น ก่อนจะพูดถึงการจัดการความรู้ หรือการจัดรูปแบบการรวมกลุ่ม ผมอยากฝากประเด็นให้พิจารณา 3 เรื่อง คือ


1.     การวิเคราะห์โครงสร้างและระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงปัจจัยด้านจิตวิทยา
2.     สร้างรูปแบบการรวมกลุ่มที่มุ่งข้ามพ้นพรหมแดนทางสังคมวัฒนธรรมทุกอย่าง
3.     กำหนดระบบการจัดการความรู้ที่จะมารองรับให้ชัดเจน


1) แรกสุด เราต้องวิเคราะห์โครงสร้างและระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงปัจจัยด้านจิตวิทยา ซึ่งมีสามระดับย่อยนะครับ
            1.1 วิเคราะห์โครงสร้างและระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงปัจจัยด้านจิตวิทยา โดยเริ่มจากตัวเราเอง ก้าวแรกนี่สำคัญมากนะครับ ต้องเข้าใจและแยกสลายตัวเองก่อน โดยแต่ละคน น่าจะได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของตัวเอง ว่ามีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร มีบริบทอะไร มีเงื่อนไข ข้อจำกัด ความมืดบอดอย่างไร สภาวะจิตของตัวเราเป็นอย่างไร ไม่เพียงแต่ให้ตัวเองเข้าใจตัวเอง แต่ยังเปิดข้อมูลเหล่านี้ ให้คนอื่นมองดูความกลวงโบ๋ของกันและกันได้ด้วย ผลพลอยได้ ก็อาจจะเป็นการลดทอนอัตตาซึ่งกันและกันได้อีกทางหนึ่ง ว่างๆจะลองทำดูก็ได้ แล้วอาจจะรู้สึกว่าตัวเองเบาขึ้นเยอะ
            1.2 วิเคราะห์โครงสร้างและระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงปัจจัยด้านจิตวิทยา ระหว่างสมาชิกในกลุ่ม
            1.3 วิเคราะห์โครงสร้างและระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงปัจจัยด้านจิตวิทยา ระหว่างสมาชิกในกลุ่มกับคนที่อยู่นอกกลุ่ม


หากไม่เข้าใจกระจ่างถึงโครงสร้างและระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจรวมถึงปัจจัยด้านจิตวิทยา ที่พันธนาการตัวเราเอง ,ระหว่างสมาชิกในกลุ่มด้วยกันเอง ,รวมถึงตัวละคร (actor) อื่นๆที่อยู่นอกกลุ่ม อีกทั้งบริบททางสังคมวัฒนธรรมการเมืองที่เข้ามาเป็นเงื่อนไข ก็ยากที่จะทำให้เกิดการร่วมกลุ่มที่ดี (ผมหมายถึงรวมกลุ่มอย่างเข้าใจ จริงใจ มีสาระ ต่อเนื่อง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และไม่ก่อให้เกิดความก้าวร้าวรุนแรง (หรือเรียกง่ายๆอย่างที่ในหลวงท่านว่า “รู้”+ “รัก” +”สามัคคี”)


ส่วนจะวิเคราะห์โครงสร้างและระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงปัจจัยด้านจิตวิทยา อย่างไรนั้น จะอธิบายก็ยาวมาก ถ้าสนใจค่อยมาคุยกันคราวต่อๆไปนะครับ


2) นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของรูปแบบการรวมกลุ่มก็เป็นสิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้ หากจะก้าวข้ามช่องว่างเหล่านี้ ผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องจัดการรวมกลุ่มในบรรยากาศอย่างที่คุณว่า อย่างน้อยในสามรูปแบบ คือ 1. กลุ่มวิชาชีพนักพัฒนา(ราชการ + เอกชน) รวมกลุ่มคุยกันเอง 2. กลุ่มชาวบ้านรากหญ้า ปะทะสังสรรค์กับกลุ่มวิชาชีพนักพัฒนา 3. กลุ่มที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลประโยชน์ในพื้นที่มาพบกับกลุ่มที่ 1 และ 2 โดยต้องหากระบวนการที่แต่ละฝ่ายไม่เอายศ ชื่อเสียง อำนาจ อายุ เพศ สถานภาพทางสังคมของตนเองมาข่มใส่กันอีกด้วย


3) ประการสุดท้าย คือระบบที่จะมารองรับ
 
คือ หากไม่มีการคิดเรื่องระบบรองรับ สิ่งที่ตามมาก็จะเป็นเหมือนนัดมาทานข้าว รู้จักสนิทสนมเป็นการกระชับความสัมพันธ์ซึ่งน่าจะช่วยให้งานประสานกันง่ายขึ้น ไม่ต่างจากการประชุมของหน่วยงานต่างๆ แต่ความรู้ที่จะได้จากการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการนี้ ใครเล่าจะเป็นผู้มาจัดการให้เป็นระบบมากขึ้น เราควรจะเปิดกว้างให้สมาชิกทั้งหมดในกลุ่มร่วมหารือถึงการสร้างระบบจัดการความรู้เหล่านี้ด้วยดีไหม ลำพังผมคิดว่า ให้แต่ละคนเขียนลงในบล็อกมันก็ทำใครทำมัน จริงอยู่ความสัมพันธ์และการสร้างความเข้าใจระหว่างงานเลี้ยงมันจะกระชับขึ้น แต่เรื่องการจัดการความรู้จะดูหลวมเกินไปถ้าไม่มีการหารือร่วมกันไว้ก่อน เพราะฉะนั้น แม้จะเป็นการรวมกลุ่มสังสรรค์กัน แต่ถ้าจะให้มีเรื่องการจัดการความรู้เข้ามา ผมว่าต้องระบุชัดและชี้แจงสมาชิก รวมถึงสรรหาวิธีที่ให้ทุกคนเข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ และร่วมรับผลด้วยนะครับว่าเรากำลังจะทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม และอย่างไร


                 "ที่กล่าวมาทั้งหมดนี่ ก็เป็นการตีความของผมเอง ตามประสบการณ์ที่ผมพอจะผ่านมาบ้าง ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถยึดถือเป็นแบบแผนสากลแต่ประการใด  ก็แค่เป็นเครื่องมือทางความคิดชิ้นหนึ่ง  เอาไปใช้ได้จริงแค่ไหน ก็คงต้องเอาไปปรับใช้ให้เหมาะสมนะครับ”

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 22805เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2006 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ขอขอบพระคุณ คุณวิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์ ที่ให้ความกรุณาเข้าร่วมกับ ชุมชน: ศูนย์รวมความรู้องค์กรพัฒนาเอกชน

  สวัสดีครับพี่วิสุทธิ์

       ขอบคุณมากครับ  สำหรับความคิดเห็นนี้  อ่านแล้วผมรู้สึก

   เข้าใจดีครับ(ดีกว่าตอนฟังเพราะอ่านซ้ำแลวคิดตามได้ครับ)

   เรื่องการรวมกลุ่มกันของคนหลายสาขาอาชีพในอำเภอเรา

   เป็นสิ่งที่ท้าทาย  ในเบื้องต้นผมว่าแค่มีคนคิดทำโครงการนี้

   ก็ถือว่ายอดเลยครับ(ชื่นชมท่าน พช.)

         ผมว่ากรอบความคิดที่จะนำมาสร้างกระบานการทั้งหมด

   เพื่อการจัดการความรู้กับกลุ่มที่เราตั้งขึ้นนี้  ก็เป็นสิ่งที่ดีและ

   อาจจะไม่ดีในตัวครับ  เบื้องหลังที่พี่วิเคราะห์นั้นเป็นสิ่งที่ผม

   เห็นด้วยครับและคิดว่ามันละเอียดมาก คงต้องเรียนรู้รับรู้ไว้

   เช่นกันครับ

         แต่ผมอยากจะมองโมเดลง่ายๆกันก่อนครับ  เป็มมุมมอง

 ส่วนตัวคือ  ถ้าผมเป็นคนหนึ่งในสมาชิกกลุ่มสิ่งแรกที่ผมคิดคือ

 เป้าหมายของการมาร่วมกันคิด  ร่วมกันทำ  คิดว่าเป้าหมายควรจะชัดเจนครับ

  ต่อมาคือ เรื่องของกระบวนการ  วิธีการที่เรามาร่วม ลปรร.กัน

  ผมเห็นว่า สุนทรียสนทนา  คือสิ่งที่เราควรจะนำมาใช้มากที่สุด

  โดยความหมาย  แนวทาง  และกระบวนการนี้แล้ว มันจะตัดปัจ

  -จัยหรืออิทธิพลที่พี่กังวลหรือคิดว่าต้องจัดการและทำความ

  เข้าใจกันก่อน   แต่จริงๆแล้วตอนนี้ผมก็ยังไม่เก่งเรื่องนี้มากนะ

  คิดว่าจะต้องเรียนรู้และฝึกต่อไปครับ

            พี่ครับ ผมคิดว่าแนวทางการจัดการความรู้ของท่าน

  อาจารย์หลายๆท่านในนี้โดยเฉพาะ อ.ประพนธ์ ผมคิดว่าพอจะ

  เป็นแนวทางที่เราจะนำมาประยุกต์ใช้กับกลุ่มที่จะเกิดขึ้นครังนี้

  ได้นะครับ  ผมมองว่าบุคคลต่างๆที่จะเข้าร่วม ล้วนเป็นคุณกิจ

   และเรามีคุณเอื้อที่สำคัญครับคือท่าน นอภ.คนใหม่และท่า

   พช.ซึ่งท่านให้ความสำคัญและพยามขับเคลื่อนงานนี้ครับ

   จะเป็นกังวลก็แต่คุณอำนวยเท่านั้นครับ  ผมเคยเสนอพี่เอกว่า

   เราต้องหาคุณอำนวบจากที่อื่น  หรือไม่ พี่ก็ให้ความเห็นว่าก็

   คงจะยัง  ควรจะเป็นพวกเรากันเองนี่ละครับ(คิดว่าเป็นพี่เอก  ท่าน พช  และพี่วิสุทธ์)

    ซึ่งในความเห็นส่วนตัวนั้นคิดว่าเราก็สามารถทำได้ ไม่เป็นไร

 เป็นสิ่งที่ท้าทายเหมือนกันที่เราทำ KM ทั้งอำเภอด้วยตัวเราเอง

  และผมก็รู้สึกยินดีครับถ้าจได้มีโอกาสเข้าร่วม การ ปลรร ครั้งนี้

 

 

พี่ยอดดอย และ น้อง bukpat ดีใจและก็มีกำลังใจ ผมคิดว่า ถนนสายนี้มันอีกยาวไกลครับ การเริ่มต้นคิดจะทำทาง นั่นก็หมายความว่าคุณพร้อมที่จะ เหนื่อย และ ต้องมีกำลังใจที่จะทำ บรรดาหมู่มวลมิตร ที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไม่ว่าจะในบล็อกผมก็ตาม และผมก็ตามมาที่นี่อีก องค์ความรู้ที่ทรงพลังจากการ ลปรร. ทั้งหลายเหล่านี้ จะถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลในการ ประชุมสภากาแฟ ของเรา ที่จะจัดขึ้นอีกไม่นานนี้ครับ
พี่ยอดดอย และ น้อง bukpat ดีใจและก็มีกำลังใจ ผมคิดว่า ถนนสายนี้มันอีกยาวไกลครับ การเริ่มต้นคิดจะทำทาง นั่นก็หมายความว่าคุณพร้อมที่จะ เหนื่อย และ ต้องมีกำลังใจที่จะทำ บรรดาหมู่มวลมิตร ที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไม่ว่าจะในบล็อกผมก็ตาม และผมก็ตามมาที่นี่อีก องค์ความรู้ที่ทรงพลังจากการ ลปรร. ทั้งหลายเหล่านี้ จะถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลในการ ประชุมสภากาแฟ ของเรา ที่จะจัดขึ้นอีกไม่นานนี้ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท