ใบความรู้ที่
1
ความหมาย ความสำคัญ
และประเภทของการวิจัยในชั้นเรียน
การวิจัยในชั้นเรียน
เป็นการวิจัยที่ครูผู้สอนในวิชานั้นๆ
หรือครูผู้มีหน้าที่ควบคุม ดูแลการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรทำขึ้น
เพื่อแก้ไขปัญหาในชั้นเรียน
โดยมีการวางแผนการวิจัยอย่างมีระบบและมีการนำผลการวิจัยไปพัฒนาการเรียนการสอนของตนเองได้
อย่างมีประสิทธิภาพ การวิจัยในชั้นเรียน
มีความหมาย ความสำคัญและประเภทของการวิจัยในชั้นเรียน ดังนี้
ความหมายของการวิจัยในชั้นเรียน
การวิจัย เป็นกระบวนการหาความรู้ใหม่
โดยอาศัยการทำงานอย่างมีระบบ โดยหวังว่าข้อมูลที่ได้
จะมีความน่าเชื่อถือสูงและสรุปผลได้ถูกต้อง
การวิจัยในชั้นเรียน
เป็นการวิจัยที่ดำเนินการควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานของครู
โดยครูเป็นผู้วิจัย (Teacher as a Research) ดังนั้น
การวิจัยในชั้นเรียน จึงมีวิธีการวิจัยที่มีลักษณะเป็น
การวิจัยปฏิบัติการ (Action Research)
การวิจัยปฏิบัติการ
เป็นการวิจัยที่ผู้ปฏิบัติงานศึกษาทำความเข้าใจในงานหรือกิจกรรมในหน้าที่
เพื่อค้นหาวิธีการแก้ไขปรับปรุงและพัฒนางานหรือกิจกรรม
ดังนั้น
การวิจัยในชั้นเรียน จึงเป็นการศึกษาค้นคว้าของครู
ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในชั้นเรียน
เพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอนหรือพฤติกรรมของนักเรียน
ค้นหาคำตอบต่อข้อสงสัยและคิดวิเคราะห์เพื่อพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาใช้ใหม่
ในการเรียนการสอน โดยศึกษาค้นคว้าหาความรู้ใหม่
เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาการเรียนการสอนในชั้นเรียน
หรือมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนให้ดีขึ้น ความรู้ใหม่ๆนี้เรียกว่า
นวัตกรรมทางการศึกษา
โดยสรุป การวิจัยในชั้นเรียน หมายถึง
การหาความรู้วิธีการใหม่หรือพัฒนานวัตกรรม
เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการเรียนการสอนในชั้นเรียน
ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน
หรือแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอน
โดยอาศัยการทำงานอย่างมีระบบตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์
เพื่อให้เกิดประสิทธิผลกระบวนการเรียนการสอนต่อไป
ความสำคัญของการวิจัยในชั้นเรียน
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 24 ข้อ 5
ระบุว่า
ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริม
สนับสนุนให้ผู้สอนสามารถ จัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน
และอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
และมีความรอบรู้ รวมทั้ง สามารถใช้การวิจัย
เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ รวมทั้งสาระในมาตรา 30 ระบุว่า
ให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ
รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้สอน สามารถวิจัย
เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่ เหมาะสมกับผู้เรียน
ในแต่ระดับการศึกษาและยังมีการกำหนดมาตรฐานครูในระบบประกันคุณภาพการศึกษาในมาตรฐานที่
23 ด้วยว่า ครูต้องมีความสามารถในการแสวงหาความรู้ คิด
วิเคราะห์และสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนโดยแบ่งออกเป็น
3 ตัวบ่งชี้ คือ 1) ครูต้องมีนิสัยรักการแสวงหา 2)
ครูต้องทำการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน 3)
ครูต้องรู้วิธีการวิเคราะห์
และการแก้ไขปัญหาในชั้นเรียนของตัวเองได้
การวิจัยในชั้นเรียน
เกิดจากแนวคิดในการบูรณาการวิธีการปฏิบัติงานกับการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ
โดยมีความสำคัญดังนี้
1.
เป็นการพัฒนาหลักสูตรและการปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนด้วยการวิจัย
2. เป็นการพัฒนาวิชาชีพครู
3. เป็นการแสดงความก้าวหน้าทางวิชาชีพครู
ด้วยการเผยแพร่ความรู้
ที่ได้จากการปฏิบัติ
4. เป็นการส่งเสริม
สนับสนุนความก้าวหน้าของการวิจัยทางการศึกษา
การวิจัยในชั้นเรียน จึงมีความสำคัญ
เพราะเป็นวิธีการที่ช่วยในการพัฒนาวิชาชีพครู
เนื่องจากได้ข้อค้นพบ
ที่มาจากกระบวนการสืบค้นที่เป็นระบบและเชื่อถือได้
ทำให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาการเรียนรู้
และครูเกิดการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน
โดยสรุป การวิจัยในชั้นเรียน
มีความสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครูผู้ทำวิจัย
ที่ได้มีการดำเนินการพัฒนาการเรียนการสอน
โดยใช้การวิจัยในการแก้ไขปัญหาในการเรียนรู้ของนักเรียน
ประเภทของการวิจัยในชั้นเรียน
จากการสังเคราะห์งานวิจัยในชั้นเรียน
สามารถจำแนกประเภทการวิจัยในชั้นเรียนได้ 2 ประเภท คือ
การวิจัยเพื่อความเข้าใจปัญหาในชั้นเรียน
และการวิจัยเพื่อการแก้ไขปัญหา/พัฒนาในชั้นเรียน
โดยในแต่ละประเภทมีการใช้รูปแบบการวิจัยแตกต่างกัน ดังนี้
ประเภทของการวิจัยในชั้นเรียน
การวิจัยเพื่อความเข้าใจ การวิจัยเพื่อการแก้ปัหา/พัฒนา
รูปแบบการวิจัย รูปแบบการวิจัย
- การสำรวจในชั้นเรียน - การวิจัยเชิงทดลอง
- การวิเคราะห์พฤติกรรมในชั้นเรียน - การทดลองเฉพาะราย / เฉพาะกลุ่ม
- การศึกษารายบุคคล / รายกลุ่ม
- การศึกษาเชิงความสัมพันธ์
เอกสารอ้างอิง
กรมวิชาการ.
วิจัยเพื่อการเรียนรู้. กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์การศาสนา, 2542.
กาญจนา วัฒานยุ.
การวิจัยในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน.
นครปฐม : สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา, 2544.
ทัศนา แสวงศักดิ์.
“การวิจัยในชั้นเรียน” วารสารวิชาการ (3) 72 – 77 :
พฤษภาคม 2543.
ประวิต เอราวรรณ์.
การวิจัยในชั้นเรียน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า,
2542.
มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี. การวิจัยในชั้นเรียน
(ออนไลน์). แหล่งที่มา :
www.kru.ac.th/commit/education/e-training/e-training.html.
8 มีนาคม 2549.
สุวิมล ว่องวานิช.
การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน. กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์อักษรไทย, 2544.
คำสั่ง เมื่อทำการศึกษาสาระตามใบความรู้ที่
1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทางไกลทำกิจกรรมตามแบบฝึกปฏิบัติที่ 1
เมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ให้ส่งผลการปฏิบัติกิจกรรมได้ที่
[email protected] (ระหว่างคำว่า
web กับคำว่า trat ใช้ _
) ภายในวันที่ 16 เมษายน 2549