แนวคิดการนำเสนอ "ศัพท์ปฎิรูปการศึกษาที่ควรรู้"


ส่งเสริมความรู้และสร้างความมั่นใจแก่กรรมการสถานศึกษา กรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้ปกครอง ประชาชน และผู้สนใจทั่วไป เพื่อการมีส่วนร่วมปฎิรูปการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ
          ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ2545 ได้กำหนดหลักการจัดการศึกษาข้อหนึ่งว่า ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยบุคคลแต่ละคน ครอบครัว ชุมชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันทางสังคมอื่นทั้งหมด ต้องมีส่วนร่วมและผนึกกำลังอย่างเข้มแข็ง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นพันธมิตรถาวร เพื่อการปฎิรูปการศึกษาที่ยั่งยืน

      การมีส่วนร่วมทางการศึกษาในรูปแบบคณะกรรมการบริหารในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาเป็นวิธีการบริหารอย่างหนึ่งที่กำหนดไว้ในกฎหมายทางการศึกษา ซึ่งสามารถมีส่วนร่วมได้หลายวิธี เช่น ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมกำกับติดตามการดำเนินงานของสถานศึกษา ร่วมระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา เป็นต้น

    แต่จากการวิจัยติดตามผลการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการศึกษา ของสภาการศึกษาแห่งชาติ พบว่า ประชาชนยังเข้ามามีส่วนร่วมทางการศึกษาไม่มากนัก กรรมการสถานศึกษาจำนวนมากยังมีศักยภาพ ความรู้ ความสามารถและคุณลักษณะยังไม่ถึงระดับที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งเท่ากับว่ารัฐได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา แต่ยังขาดมาตรการที่เอื้อต่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

     สาเหตุของปัญหาดังกล่าวอาจสืบเนื่องมาจาก ความหลากหลายของประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในแต่ละกลุ่มอาชีพที่อยู่นอกวงการศึกษา ซึ่งศักยภาพของผู้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน บางท่านก็มีความรู้ด้านการศึกษาน้อย ประกอบกับการไม่มีเวลาและขาดโอกาสในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้านการศึกษา โดยหน่วยงานทางการศึกษายังไม่สามารถจัดให้บริการความรู้ได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาการปฎิรูปการศึกษาครั้งนี้มากมายหลายเรื่อง

       ผมจึงเห็นว่า หากมีการคัดสรรรวบรวมศัพท์ปฏิรูปการศึกษาสำคัญที่ประชาชนควรรู้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มีเวลาไม่มากนักได้ศึกษา เพื่อจะได้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องการปฎิรูปการศึกษาในเวลาอันสั้น ก็จะทำให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ผมจึงได้พยายามศึกษาค้นคว้า รวบรวม และสรุป ศัพท์ปฏิรูปการศึกษาที่ควรรู้ ขึ้น ระหว่างที่กำลังรวบรวมต้นฉบับที่สมบูรณ์ ให้ผู้ทรงคุณวุฒิได้ตรวจสอบ และส่งให้โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าวจัดพิมพ์ จึงอยากนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในบล็อกนี้ก่อนสักวันละคำ หรือตามโอกาสอันสมควร

ธเนศ ขำเกิด

หมายเลขบันทึก: 22776เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2006 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท