ไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่นครฯ ตอนที่ 1


ไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่นครฯ

            วันนี้ต้องเดินทางไกลอีกแล้ว แต่จะว่าไปก็ไม่ได้ไกลมากมายนักเพราะว่าไปที่นครศรีธรรมราชเท่านั้นเอง

            หลังจากกลับจากการเดินทางไกลและได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย มาพบกับฝนตกต่อเนื่องนานหลายวัน นานจนน่าพรั่นสะพรึงว่าหาดใหญ่จะถูกถล่มด้วยภัยพิบัติอีกรอบ ผมคุยกับจิ๋มว่า นี่น่าจะเป็นบททดสอบระบบระบายน้ำของในหลวง ซึ่งก็ได้รับการพิสูจน์ได้อย่างดีเยี่ยมที่สุด คลองระบายน้ำต่างๆสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ดีมากขนาดไหน

            เสร็จจากเรื่องน้ำท่วมก็ต้องมาคอยสืบข่าวดูว่า กำหนดการที่ต้องออกเดินทางไปนครฯเพื่อตรวจเยี่ยมสถาบันฝึกอบรมแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือ intern ซึ่งพบว่า กำหนดการยังคงเดิม เพราะฝนหยุดตก น้ำระบายออก โรงพยาบาลทำงานได้ ถนนแห้ง ฟ้าใสบ้างครึ้มบ้าง ล้อรถของเราจึงหมุนออกจากคณะแพทย์ในเวลา 7.30 น. ไปเลยครับ โรงพยาบาลทุ่งสง โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ตามมาด้วยโรงพยาลค่ายวชิราวุธ และโรงพยาบาลสิชล

            ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากระบบการฝึกอบรมแพทย์ของแพทยสภา ที่หลังจากเรียนจบแพทยศาสตรบัณฑิตมาแล้ว คุณหมอจบใหม่เหล่านั้นต้องเพิ่มพูนทักษะต่อที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ต่างๆ ก่อนที่จะมีความพร้อมในการออกไปทำงานจริงๆในปีต่อไป ซึ่งโรงพยาบาลใดที่รับแพทย์อินเทิร์นไปนั้น ต้องมีมาตรฐานตามเกณฑ์ของแพทยสภา จึงจะสามารถรับคุณหมอจบใหม่ไปได้ จึงเป็นที่มาของการประเมินโรงพยาบาลด้วยประการฉะนี้

            คุณหมอจบใหม่มีความเสี่ยงหลายประการ ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือความเสี่ยงของคนไข้ เพราะเขาเป็นหมอใหม่ ประสบการณ์ยังน้อย การดูแลคนไข้จึงมีข้อผิดพลาดได้ง่ายๆ และความผิดพลาดที่น่ากลัวของการเป็นหมอก็คือความบาดเจ็บ ความพิการ ไปจนถึงอันตรายต่อชีวิต ทางแพทยสภาจึงกำหนดให้มีการเพิ่มพูนทักษะขึ้นมาอีก 1 ปีนั่นเอง โครงการนี้เกิดมานานตั้งแต่ก่อนผมเรียนจบ 2 ปี ก็ราวๆ ปี พ.ศ. 2536 กระมัง และใครไม่ผ่านการเป็นอินเทิร์นก็ไม่สามารถไปเรียนต่ออะไรได้ แม้กระทั่งไปเมืองนอกก็ยังไม่ได้เลย

            ผมและทีมครั้งนี้ประกอบไปด้วย อาจารย์บุญประสิทธิ์ เป็นหัวหน้าทีม อาจารย์สุภาภรณ์ ในฐานะผู้ดูแลบัณฑิต อาจารย์บุญสิน อาจารย์นพดล อาจารย์ปิยวรรณ และผม ขอย้ำอีกนิดหนึ่งว่า เรามาตรวจเยี่ยมในนามของแพทยสภานะครับ

โรงพยาบาลทุ่งสง

            ถ้าใครเคยขับรถขึ้นไปทางกรุงเทพ เมื่อผ่านอำเภอทุ่งสง เหลือบมองไปทางขวามือก็จะเห็นป้ายขนาดใหญ่ของโรงพยาบาลทุ่งสงอยู่ แต่นั่นเป็นตัวลวงครับ เพราะว่าเมื่อเรากลับรถเพื่อเข้าโรงพยาบาล ผมก็งงเป็นไก่ตาแตกว่า ทำไมหนอโรงพยาบาลนี้จึงมีทางเข้าอยู่ที่ด้านข้าง แต่เอ๊ะ..คนขับรถกลับขับเลยรั้วของโรงพยาบาลไปอีก เลยถามไปว่า ไปไหนกัน เราเลยโรงพยาบาลไปแล้ว ฮ่า ฮ่า ที่ไหนได้ ท้ายซอยนั้นกลับเป็นโรงพยาบาลจริงๆตั้งอยู่ อ้าว แล้วไอ้ตึกที่มีป้ายโรงพยาบาลที่เราขับผ่านมามันคืออะไร คำตอบก็คือ มันเป็นโรงเรียนกีฬาครับ ดีนะที่ผมไม่ได้ขับรถเอง มิฉะนั้นคงหน้าแตกตายคาห้องเรียนแน่ๆ

            คุณหมอจรัส ซึ่งเป็นผู้อำนวยการออกมาต้อนรับทีมของเรา ท่านได้อธิบายให้เราทราบคร่าวๆว่า โรงพยาบาลทุ่งสงเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ มีเตียงที่สามารถรับผู้ป่วยในได้ 150 เตียง แต่การครองเตียงจริงๆก็ราว 220 เตียง มีแพทย์เฉพาะทางขาดเพียงหมอดมยาเท่านั้น โรงพยาบาลมี 2 ส่วน นั้นคือส่วนโรงพยาบาลเก่าซึ่งอยู่ในเมืองเขามีไว้เพื่อตรวจคนไข้นอก และตึกที่เราอยู่ตอนนี้เป็นโรงพยาบาลใหม่ มีไว้สำหรับคนไข้ในและฉุกเฉินอย่างเดียว ทั้ง 2 แห่งห่างกันราว 6 กิโลเมตร อันนี้ทำให้เรางงเล็กน้อย แต่ไม่เป็นไรครับ เพราะเมื่อเลี้ยวรถเข้ามาก็เวียนหัวไปทีหนึ่งแล้วนี่นา      

            ที่นี่มีน้องอินเทิร์น 8 คน เป็นเด็กที่จบ ม.อ. 5 คน จุฬาฯ 2 คน และรามาฯ 1 คน ทุกคนดูหน้าตาท่าทางสดชื่น ลูกศิษย์ผมบางคนดูอ้วนท้วนขึ้นด้วยซ้ำไป อาจารย์สุภาภรณ์เป็นคนแนะนำอาจารย์ให้เด็กรู้จัก มื่อมาถึงผมท่านก็แนะนำว่า ท่านนี้ชื่ออาจารย์ธนพันธ์ เป็นหมอสูติฯแน่นอน เอ๊..เกิดคำถามขึ้นมาทันที ว่ามันเป็นอย่างไรครับ หน้าตาผมจึงเป็นหมอสูติฯแน่นอน ฮ่า ฮ่า  

            พวกเขาดูมีความสุขครับ เราถามว่าได้รับการดูแลดีไหม คำตอบคือดี ข้าวฟรี 3 มื้อ เวลาทำงานก็มีอาจารย์รุ่นพี่ดูแล ตามมาดูคนไข้ก็ง่าย ได้ทำหัตถการภายใต้การควบคุมดูแลตามที่แพทยสภากำหนดไว้ และเมื่อทำจนชำนาญแล้วก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง อยู่เวรก็ไม่หนักมาก ราวๆ 21-22 วันต่อเดือน เวรก็ไม่ได้ยุ่งจนเกินไป ตามด้วยการให้คะแนนความน่าอยู่ของที่นี่ ตกอยู่ที่ 8 เต็ม 10 และถ้าเลือกใหม่ได้ก็จะมาอยู่ที่นี่อีก แบบนี้เรียกว่า happy ending ใช่ไหมครับ

            จากนั้นเราก็มาคุยกับกลุ่มอาจารย์ครับ (ทั้งสองกลุ่มนี้เราต้องแยกกันคุยคนละเวลาครับ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันอำนาจมืดที่จะทำให้เด็กๆไม่กล้าแสดงความคิดเห็น) ก็พบว่า สัมพันธภาพของอาจารย์และลูกศิษย์ที่นี่เป็นไปได้อย่างดี แพทย์จบใหม่รุ่นนี้มีความรู้ความสามารถเหมาะสม ไม่มีปัญหาเรื่องความประพฤติ ซึ่งก็ happy ending เช่นเดียวกันนะครับ

            ที่นี่ผมได้เจอหมอที่รู้จักกันมาก่อนก็คือ พี่เอ๋ เป็นหมอเด็กรุ่นพี่ผม 2 ปี เจอหมอน้อย เพื่อนเก่าที่สุดในคณะ เพราะว่าเรามาจากโรงเรียนเดียวกันตั้งแต่ ม.1 เขาเป็นหมอหูคอจมูก แต่น้อยเปลี่ยนไปมากครับ ฮ่า ฮ่า สังขารตามอายุเพศชายอย่างไรเล่า เหมือนผมเปี๊ยบ ไม่ว่าจะพุงเอย ฯลฯ (อย่างอื่นไม่กล่าวครับ เพราะมันเข้าตัว)

            เรากินข้าวเที่ยงด้วยกัน ทั้งหมอประจำ อินเทิร์น และนักศึกษาแพทย์ปี 4 ที่มาเรียนวิชา selective กับข้าวอร่อย แต่มันขาดไปอย่างหนึ่ง นั่นก็คือกาแฟ

            เรื่องกาแฟนี่มีเรื่องเล่า เจ็บจิตนัก เพราะว่าพวกเราที่มากันนั้น มีคนเป็นโรคพิษกาแฟเรื้อรังหลายท่าน แบบว่า เมื่อกินข้าวเสร็จต้องกลั้วคอด้วยกาแฟ มิฉะนั้นข้าวไม่อิ่ม น้ำลายเหนียว (อันนี้มากไป) และง่วง แต่ที่นี่ไม่มีกาแฟบริการ เหตุผลน่ะหรือครับ เพราะที่นี่คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ฉะนั้น กาแฟและชาไม่มีบริการ ปุดโธ่ การดื่มกาแฟมันเสียสุขภาพตรงไหนหนอ กินแล้วแก่ หัวล้าน สมองกลวง กระดูกเสื่อม ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผมหาคำตอบไม่ได้เลย แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวไปกินที่โรงพยาบาลมหาราชก็ได้ แล้วเราก็บอกลาจากกันโดยปราศจากกาแฟ...ฮา

            เราย้อนกลับมาทางร่อนพิบูลย์ เลี้ยวซ้ายที่แยกสวนผัก ตรงไปอีกอึดใจก็ถึงมหาราชนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลอันเป็นจุดกำเนิดรักของครอบครัวผม เมื่อปี 2538 นั้น ผมกับจิ๋มมาบอกรักกันที่นี่ครับ เราเป็น extern ที่นี่ มีลูกด้วยกันที่นี่ เอ้ย.. ไม่ใช่ ตอนนั้นเป็นเด็กกำพร้าที่แม่ทิ้งที่นี่ และพวกเรา extern ทั้ง 15 คนต่างช่วยกันเลี้ยงจนจบหลักสูตร extern ที่นี่ (เฮ้ย..นอกเรื่องไปไกลแล้วเฟ้ย)

โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

            ที่นี่เป็นโรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งของภาคใต้ ขนาด 931 เตียง เรื่องยุ่งนะหรือครับ ไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นที่เลื่องลือขนาดที่เมื่อก่อนไม่อยากมี extern มาหมุนเวียนที่นี่หรอกครับ

            ปีนี้โรงพยาบาลมหาราชฯมีอินเทิร์นจำนวน 29 คน จากที่ทุกปีมีราว 10 คน และจากการที่เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ งานเยอะ จึงมีปัญหามากมายจากอินเทิร์นที่นี่ คุณหมอใหม่ส่วนใหญ่จบมาจากรามาฯ มีที่มาจาก ม.อ. 5 คน จุฬาฯ 3 คน รังสิต 3 คน และ มศว. 1 คน ปัญหาที่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ก็คือ ไม่มีห้องพักที่เพียงพอครับ เวรยุ่ง ยุงมาก (อันนี้ขอแค่คล้องจองครับ) บางคนบอกว่ายังไม่ได้ทำหัตถการอย่างที่ต้องการ เช่น การผ่าตัดไส้ติ่ง การผ่าท้องคลอด ดัชนีชี้วัดความสุขไม่มากเท่าน้องๆที่อยู่ที่ทุ่งสง

            วอร์ดที่เป็นอันดับหนึ่งในดวงใจก็คือ ศัลยกรรมกระดูก ที่อาจารย์ทุกท่านใจดี ไม่ดุ ตามง่าย สัมพันธภาพดีมาก วอร์ดอายุรกรรมเป็นที่สอง โดยปัจจัยที่สำคัญก็คือ การที่อาจารย์มาดูแลอย่างใกล้ชิด

            เมื่อถึงเวลาที่กลุ่มอาจารย์เข้ามา อันนี้ต้องพูดได้เลยว่า คิดถึง เพราะหลายท่านเป็นอาจารย์ที่ดูแลผมเมื่อครั้งกระโน้น ยังไงก็ดูเหมือนเดิม ผมทักอาจารย์สมศักดิ์ว่าทำไมดูไม่แก่ กินวิตามินอะไร ท่านบอกว่า ดองเค็ม ฮ่า ฮ่า

            เราได้พูดคุยปรึกษากันในเรื่องต่างๆ อยู่นาน (จนเกินเวลาไปมาก) หารือในปัญหาเรื่องห้องพัก พฤติกรรมที่อาจจะต้องแก้ไขบางอย่างของน้องๆ การประเมินการปฏิบัติงาน จนกระทั่งเวลา 5 โมงจึงแยกย้ายจากกัน

            ข้อคิดเห็นจากการมาเยี่ยมที่นี่ที่ไม่เกี่ยวกับอินเทิร์นก็คือ ที่นี่ไม่มีกาแฟบริการ เพราะว่าเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ พระเจ้าช่วย นี่มันอะไรกัน เขาบริการน้ำหวาน (เจี๊ยบ) พร้อมขนมบราวน์นี่เค้ก นี่ไง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ แล้วพวกคนแก่ลงแดงแถวนี้ล่ะ จะให้ทำอย่างไร หลังจากเดินขึ้นเดินลงชั้น 2 ก็ยังหากาแฟไม่พบ น้องเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งก็กรุณาเดินไปเอากาแฟของผู้อำนวยการมาเสริฟ กาแฟใส่ครีมและน้ำตาล

            มื้อเย็นนี้เราจะไปกินกันที่ร้านโกโอ่ง ผมไม่รู้หรอกครับว่าที่ไหน แต่ก็โทรศัพท์ไปชวนคุณหมอน้องจอย ศันสนีย์ เพื่อให้ไปกินด้วยกัน เธอก็บอกว่า โกอ่างค่ะอาจารย์ แล้วเราก็ฮากันอีกรอบ การฮารอบสองก็คือว่า น้องจอยไปถึงก่อนเราเสียอีก เพราะเราหลงทางไปออกปากนคร

            เมื่อจบมื้อพุงกางแล้ว เรายังไปกางพุงต่อที่ร้านขายโรตีแถวท่าวัง ซึ่งขอบอกว่าอร่อยมาก ชาร้อนไม่หวานจัด โรตีมีหลายแบบ เราสั่งแบบไม่ยั้ง แต่คนขายบอกว่าใจเย็นๆ เดี๋ยวจะเหลือ อันจะทำให้เขาเสียชื่อ เพราะกินที่นี่ไม่ควรเหลือครับ ของอร่อยต้องกินจนหมด

            เรื่องดีเรื่องสุดท้ายของวันนี้ก็คือ เราได้พบท่านอาจารย์มยุรีโดยบังเอิญ เลยได้เสวนาสังสรรค์กันอีกยาวยืด เอาให้หายคิดถึง เพราะหลังจากที่ท่านเกษียรราชการมาแล้ว ก็มารับตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ท่าศาลานี่เอง

            คืนนี้เราพักที่โรงแรมตราดอกบัวคู่ ลองทายซิครับ ว่าที่นี่เขาแจกยาสีฟันยี่ห้ออะไรเอ่ย  

หมายเลขบันทึก: 227565เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2008 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 02:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขำปัญหาจังค่ะ ตกลงแจกไหมคะและยี่ห้อชื่อโรงแรมหรือเปล่า

ใช่ครับพี่โอ๋

ทั้งยาสีฟัน ยาสระผม และสบู่ ล้วนแล้วแต่ตราดอกบัวคู่ทั้งน้าน

โอ๊ยโหยว..แสดงว่าต้นตำรับอยู่ที่นี่เหรอคะ เพิ่งรู้นะนี่ แล้วก็เพิ่งรู้ด้วยว่านอกจากยาสีฟันแล้วยังมียาสระผมกับสบู่อีกด้วย ไม่เห็นมีขายเลยนะคะ แต่ยาสีฟันน่ะพี่โอ๋ชอบใช้มากๆค่ะ ใช้อะไรๆก็สู้ไม่ได้ต้องวนกลับมาที่ดอกบัวคู่ทุกที จนเลิกเปลี่ยนแล้ว (แต่ก็ใช้อยู่คนเดียวนะคะ ทั้งบ้านเค้าใช้อย่างอื่นกัน..อิ...อิ...)

ทุกวันนี้ผมก็ใช้ดอกบัวคู่ครับ

พี่โอ๋ลองเอายาสีฟันมาขัดลิ้นดูสิครับ มันสะอาดเป็นที่สุดเลย

ที่นี่ไม่ได้เป็นต้นตำรับหรอกครับ เขามาซื้อกิจการโรงแรมที่นี่ต่างหาก

สมัยก่อนเป็นของใครไม่รู้ ดอกบัวคู่มาซื้อต่อแล้วเปลี่ยนโลโก้ของโรงแรมเป็นดอดบัวสองดอก

หวัดดีครับ ผมตามหาคุณครูคนหนึ่ง ชื่อมยุรี แมลงภู่ทอง บ้านเกิดที่ทุ่งสง นคนศรีธรรมราช

เคยสอนผมที่นครพนม สมัยประถม ไม่ไม่ทราบ ว่ามีใครรู้จักหรือเปล่าครับ ถ้ารู้จักส่งข่าวให้

รู้ด้วยครับ อยากรู้ ว่าคุณครู ยังสบายดีหรือเปล่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท